ความซวยของยนตรกิจเหตุเพราะยอดขายบีเอ็ม, เปอร์โยต์พุ่งแรงมากไป?


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

นอกจากจะได้อิมเมจอย่างดีเยี่ยมจากการชนะเลิศไทยแลนด์กรังปรีซ์ไปเมื่อปลายปีที่แล้ว ยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของค่ายยนตรกิจทั้ง 2 ยี่ห้อไม่ว่าจะเป็นบีเอ็มดับบลิวหรือเปอร์โยต์นั้น ก็ดูเหมือนว่าจะยั้งกันไม่หยุดฉุดกันไม่อยู่เสียจริง ๆ

เซียนวงการรถหลายคนให้เหตุผลว่า น่าจะเป็นเพราะภาวะค่าเงินเยนแข็งตัวมาก ๆ ก็เลยทำให้รถสกุลยุโรปของค่ายยนตรกิจขายกันระเบิด แซงหน้ารถญี่ปุ่นชนิดต้องมองค้อนทีเดียวเชียว

ส่วนอีกหลายคนยืนยันถึงภาพพจน์และแผนการตลาดที่ทุ่มหลายด้านไม่ว่าจะเป็นทางด้านการหั่นราคารถบางรุ่นลง การโปรโมชั่นอย่างทุ่มไม่อั้น น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญรวมอยู่ด้วย

รวม ๆ แล้วก็เห็นจะต้องบอกว่า ท่ามกลางบรรยากาศเศรษฐกิจตกต่ำกำลังซื้อหดเช่นหลายปีที่ผ่านมานี้ ยนตรกิจของครอบครัว "ลีนุตพงษ์" โชคดียิ่งกว่าถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 เสียอีก

จะจริงเท็จแค่ไหนเรื่องนี้ทีมงานกองบรรณาธิการ "ผู้จัดการ" รายเดือนกำลังศึกษากันอย่างคร่ำเคร่ง

จากสถิติที่เก็บรวบรวมโดยนิตยสารรถมีชื่อหลาย ๆ ฉบับนั้น ระบุว่ายอดขายของรถบีเอ็มดับบลิวทะยานแซงหน้ารถญี่ปุ่นไปแล้วหลายค่าย อย่างเฉพาะเดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคม 2529 รถบีเอ็มก็มียอดขายถึง 1,913 คัน จัดอยู่ในอันดับ 2 ด้วยส่วนแบ่งตลาด 13.62% ในตลาดรถยนต์นั่ง จะเป็นรองก็แต่โตโยต้าที่มียอดขายช่วงเดียวกัน 3,815 คัน (ส่วนแบ่งตลาด 27.15%)

ส่วนเปอร์โยต์ก็ตามมาติด ๆ เป็นอันดับ 3 มียอดขาย 1,741 คัน ส่วนแบ่งตลาด 12.39%

เรียกว่ากวาดเรียบทั้งอันดับ 2 และอันดับ 3 ปล่อยให้แชมป์เก่าค่ายสยามกลการนำนิสสันตกไปอยู่อันดับ 4 ด้วยส่วนแบ่งตลาด 11.55%

และก็มีแนวโน้มว่าบีเอ็มดับบลิวและเปอร์โยต์ยังจะมียอดขายพุ่งแรงต่อไปเรื่อย ๆ

ยนตรกิจก็คงจะเป็นปลื้มกันไปโดยถ้วนหน้า พร้อม ๆ กับเหตุการณ์ธรรมดา ๆ ก็มีอันให้เกิดขึ้นอย่างช่วยไม่ได้

คือคนงานในโรงงานประกอบรถยนต์จำนวนหนึ่งจากจำนวนทั้งหมดกว่า 500 คน มองว่าเมื่อบริษัทประสบความสำเร็จทางธุรกิจก็น่าจะถือโอกาสนี้เจียดจ่ายผลกำไรออกมาเป็นรายได้และสวัสดิการแก่คนงานเพิ่มขึ้นบ้าง

มีการยื่นหนังสือเรียกร้องและเมื่อไม่ได้รับคำตอบเป็นที่สบายใจก็ตระเตรียมผละงานครั้งใหญ่

แล้วเรื่องก็เงียบไปพร้อม ๆ กับการปลดคนงานออกเกือบ 50 คน

เป็นเหตุการณ์ธรรมดา ๆ ที่ผู้บริหารยนตรกิจเพียงออกแรงนิดหน่อยเท่านั้นจริง ๆ โดยเฉพาะที่ปรึกษาฝ่ายประชาสัมพันธ์ที่ปัจจุบันได้ดิบได้ดีใน อสมท. ไปแล้ว ก็เพียงยกหูโทรศัพท์ไปถึงเจ้าของหนังสือพิมพ์บางฉบับข่าวทั้งหมดนี้ก็กลายเป็นเหตุการณ์สามัญที่ไม่ต้องไปเขียนถึงอีกต่อไป

ซึ่งถ้าจะอธิบายก็น่าจะต้องบอกว่าเป็นความซวยอันเนื่องมาจากยอดขายพุ่งแรงมากไปกระมัง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.