ตำนานตระกูลหวั่งหลีและธุรกิจของเขาที่ไม่เปิดออกยังมีอีกมาก อาจจะเรียกเป็นภาคผนวกก็ได้
(โปรดทบทวนเรื่องหวั่งหลีในฉบับที่ 39 ธันวาคม 2529 ประกอบ)
ตันซิวเม้ง ผู้นำตระกูลหวั่งหลี มีบทบาทสำคัญมากในการสร้างรากฐานธุรกิจในประเทศไทย
ไม่เพียงเท่านั้นเขายังมีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับความเป็นชาวจีนโพ้นทะเล
คำถามที่ไม่มีคำตอบจนถึงวันนี้กว่า 40 ปีก็คือ เขาต้องถูกสังหารทั้ง ๆ ที่เขาคือคนที่ชาวจีนโพ้นทะเลให้ความยกย่องนับถืออย่างยิ่ง
ตันซิวติ่ง เข้ามาสวมแทนบทบาทผู้นำตระกูลภายหลังตันซิวเม้งเสียชีวิต หลายคนประเมินบทบาทเขาต่ำเกินไปเพียง
"ผู้เฝ้าทรัพย์" รอลูก ๆ ตันซิวเม้งกลับจากศึกษาในต่างประเทศ หากจะประเมินอย่างเป็นธรรมแล้วเขาควรจะได้รับการยกย่องไม่น้อยเหมือนกัน
วันที่ 8 ธันวาคม 2482 ที่ญี่ปุ่นบุกไทยนั้น ตันซิวเม้งในฐานะผู้นำชาวจีนในประเทศไทยที่มี
ความสัมพันธ์กับทางจีนแผ่นดินใหญ่อย่างล้ำลึกต้องหลบหนีไปซ่อนตัวที่คลองบางหลวง
ปทุมธานี ห่างจากดอนเมืองไม่ไกลนัก แต่ถูกญี่ปุ่นจับได้ในที่สุด เขาถูกบังคับให้เป็นประธานหอการค้าไทย-จีนภายใต้อาณัติญี่ปุ่น
เขาได้กลายเป็น "กันชน" มิให้ญี่ปุ่นทำลายชีวิตและทรัพย์สินของชาวจีนในไทย
ไม่ว่าเขาจะไปไหนทหารญี่ปุ่นจะต้องส่งคนติดตามทุกฝีก้าว
เดือนพฤษภาคม 2486 ทหารญี่ปุ่นควบคุมผู้คนสร้างทางรถไฟสายยุทธศาสตร์กาญจนบุรี-พม่า
ชาวจีนในไทยกว่าหมื่นคนถูกเกณฑ์ด้วย ชาวจีนพากันหลบหนีภัยความโหดร้ายทารุณของทหารญี่ปุ่น
ตันซิวเม้งออกหน้าแก้ไขสถานการณ์ต่างประกาศเชิญชวนชาวจีน โดยเสนอให้มีค่าจ้างแรงงาน
อาหาร ที่พัก และยารักษาโรค ฯลฯ ด้วยทางออกเช่นนี้ ชาวจีนโพ้นทะเลจึงพ้นภัยจากทหารญี่ปุ่น
ในขณะเดียวกันตันซิวเม้งอ้างกับญี่ปุ่นว่า ควรสร้างหลุมหลบภัยทางอากาศที่บางบัวทอง
ไม่ไกลจากสนามบินดอนเมือง แต่แท้ที่จริงเขากำลังซ่องสุมผู้คนอาวุธยุทโธปกรณ์
เสบียงอาหารเพื่อคอยโอกาสต่อสู้กับทหารญี่ปุ่น และเพื่อรับพลร่มฝ่ายสัมพันธมิตรที่ร่วมมือกับเสรีไทย
ที่ร้ายแรงที่สุดในชีวิตตันซิวเม้งคือเขาไม่สามารถทัดทานญี่ปุ่นที่ปลอมแปลงเอกสารในนามของเขา-ประธานหอการค้าไทย-จีน
ส่งถึงเมืองนานกิง-ต่ง-เก่ง เสนอให้รัฐบาลจีนร่วมมือกับญี่ปุ่น จากจุดนี้เองมีผู้คนไม่น้อยเข้าใจผิดตลอดมา
ต้นเดือนสิงหาคม 2488 ญี่ปุ่นยอมแพ้ รัฐบาลจีนจะส่งคณะผู้แทนตรวจการมายังเมืองไทยในวันที่
16 สิงหาคม วันเดียวกันนั้นตันซิวเม้ง ได้ออกจากที่ทำการหอการค้าไทย-จีน
เมื่อเวลา 16.00 น. เขาเดินทางกลับบ้านโดยรถยนต์เพื่อเตรียมการต้อนรับผู้แทนทางการจีน
รถยนต์ถึงท่าเรือแองโกลไทยเพื่อข้ามฟากไปบ้านหวั่งหลี ฝั่งธนบุรี ขณะยืนรอเรืออยู่นั้น
ทันใดก็เกิดเสียงปืนดังสนั่น เขากลับไปมองพบว่าคนคุ้มครองของเขากำลังต่อสู้กับคนร้าย
5-6 คน ท่ามกลางหน้าสิ่งหน้าขวาน ตันซิวเม้งยังเจรจาหว่านล้อมคนร้ายทั้งหมด
แต่ไม่เป็นผล ในที่สุดเขาต้องจบชีวิตลงตรงนั้น
นี่คือประวัติส่วนที่ขาดหายไปของตันซิงเม้ง ซึ่ง"ผู้จัดการ"
เก็บตกจากหนังสืองานศพของเขา (แปลจากต้นฉบับภาษาจีน) เมื่อปี 2488
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ตระกูลหวั่งหลีได้แบ่งออกเป็น 2 ปีก ที่ฮ่องกงและไทย
ตันซิ่วติ่งเคยพำนักที่ฮ่องกงต้องเดินทางมาดูแลกิจการของตระกูลหวั่งหลีในประเทศไทยแทนตันซิวเม้ง
เขาเพียงดำเนินกิจการค้าข้าว-โรงสีต่อไป กิจการอื่นซบเซาอย่างมาก ภายใต้แรงกดดันรอบด้าน
การเมืองกำลังผันผวน ทายาทไม่มี และความขัดแย้งทางแนวความคิดระหว่างหวั่งหลีในฮ่องกงและไทย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขาเข้ามาเป็น "หลักศิลา" ของตระกูลท่ามกลางอาการ
"ช็อค" เพราะการจากไปอย่างกระทันหันของตันซิวเม้ง
ตันซิวติ่งคือหลักศิลากลางน้ำเชี่ยวกรากอย่างแท้จริง
ที่สำคัญประการหนึ่งคือรักษากฎการดำเนินธุรกิจของตระกูล
ธุรกิจหวั่งหลี มีความมั่นคงและเติบโตมาได้ในช่วง 120 ปี ก็เพราะผู้นำตระกูลทุกรุ่นปฏิบัติเป็นวัฒนธรรมของตระกูลเลยก็คือ
บริษัทแยกออกจากส่วนตัวอย่างเด็ดขาด
วุฒิชัย หวั่งหลี ทายาทคนหนึ่งของตันซิวติ่งเล่าว่า ผลตอบแทนของคนในตระกูลนั้นมาจาก
2 ทาง หนึ่ง-เงินปันผลตามสัดส่วนของหุ้นเมื่อกิจการมีกำไร สอง-เป็นผู้บริหารบริษัท
ซึ่งมีเงินเดือนแน่นอน นอกจากนี้ทุกคนไม่มีทางจะได้ประโยชน์เงินทองจากบริษัทอีกเลย
บริษัทหวั่งหลี และหวั่งหลีโฮลดิ้ง เป็นแกนกลางของตระกูลในประเทศไทย หุ้นจะถูกโอนตามสายเฉพาะผู้ชายเท่านั้น
หากกรรมการคนหนึ่งคนใดเพียงคนเดียวไม่เห็นด้วยกับการโอนหุ้นก็ไม่สามารถกระทำได้
นี่คือระเบียบของบริษัทนี้
ปัจจุบันหากไม่รวมกลุ่มพูลผลแล้ว บทบาทของคนตระกูลหวั่งหลีในฮ่องกงจะมีอำนาจมากกว่า
ว่ากันว่าบ่อยครั้งที่ธนาคารหวั่งหลี (นครธนในปัจจุบัน) ไม่สามารถเพิ่มทุนได้
ก็เพราะคนหวั่งหลีในฮ่องกงไม่เห็นด้วย
ทายาทหวั่งหลีปัจจุบันภูมิใจเสมอว่า กฎของตระกูลที่แยกบริษัทออกจากส่วนตัวนี้
เป็นหัวใจรักษาธุรกิจหวั่งหลีให้มั่นคงถาวรมากว่า 100 ปี จวบจนทุกวันนี้