|
ทางเลือกของเป๊ปซี่?
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(6 พฤษภาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
“ฮิว กิลเบิร์ต” ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด
คนไทยหลายคนโดยเฉพาะบรรดาสาวกเป๊ปซี่ในระดับแฟนพันธุ์แท้ เริ่มออกมาแสดงความกังวลแล้วว่า เครื่องดื่มน้ำดำสายพันธุ์นี้จะสูญหายไปจากตู้แช่ร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน หลังจากที่เห็นรายงานข่าวว่า ผู้ถือหุ้นใน บมจ.เสริมสุข ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มเป๊ปซี่ในเมืองไทย เห็นพ้องให้ยกเลิกสัญญาการจัดจำหน่ายและการผลิตเครื่องดื่มยี่ห้อนี้
ปรากฏการณ์ความขัดแย้งระหว่าง “เป๊ปซี่ โค” และ “เสริมสุข” ชวนให้นึกถึง Case Classic ระหว่างพิซซ่า ฮัท และไมเนอร์กรุ๊ป ที่แม้ทั้งคู่จะเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกันมายาวนานหลายสิบปี แต่สุดท้ายเมื่อผลประโยชน์ไม่ลงตัว เจ้าของลิขสิทธิ์ก็มักจะลงเอยในรูปแบบเดียวกับ “พิซซ่า ฮัท”
นั่นคือ การลงมาเริ่มนับหนึ่งใหม่ในตลาดเดิมๆ ที่ตัวเองเคยครอบครองทุกอย่างไว้ในกำมือ
คำถามคือ ชะตากรรมของ “เป๊ปซี่” จะมีเส้นทางเดียวกันกับ “พิซซ่า ฮัท” หรือไม่?
เพราะบทเรียนการขัดแย้งกับพาร์ตเนอร์ธุรกิจในประเทศนี้ ล้วนมีบทสรุปที่ไม่แตกต่างกันนัก แม้ว่า คำตอบที่ผู้คนส่วนใหญ่ในแวดวงเครื่องดื่มจะโฟกัสไปที่ “พันธมิตรใหม่” ของเสริมสุขมากกว่าว่า “ใคร...?” จะมาแทนที่ “เป๊ปซี่”
แต่กระนั้น ผู้สันทัดกรณีก็ยังเชื่อว่า “เป๊ปซี่ ยังทิ้งไพ่ไม่หมด”
พวกเขาเชื่อว่า กลุ่มเป๊ปซี่ โค น่าจะยังมีไม้เด็ดที่จะเป็นแนวทางในการต่อสู้ เพราะคงไม่มีเจ้าของธุรกิจคนไหน จะทิ้งหม้อข้าวใบเขื่อง ที่สร้างเม็ดเงินมหาศาลถึงปีละนับหมื่นล้าน
ที่สำคัญประเทศไทยเป็นตลาดไม่กี่แห่งในโลก ที่ทำให้คนของเป๊ปซี่สามารถเชิดหน้าได้อย่างภาคภูมิว่า เหนือกว่าคู่แข่งตลอดกาลอย่าง “โค้ก”
แล้วอะไร คือไม้เด็ดของเป๊ปซี่?
นักวิเคราะห์อีกราย บอกว่า ข่าวดีประการหนึ่ง สำหรับแฟนพันธุ์แท้เป๊ปซี่ไทย รวมไปถึงกลุ่มผู้ถือหุ้นเป๊ปซี่ โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง ใน บมจ.เสริมสุข ประมาณ 40% นั่นก็คือ การยกเลิกสัญญานี้อาจจะเป็น “โมฆะ”!
แม้ว่า คณะกรรมการบริษัทเสริมสุข จะออกมาย้ำหลายครั้งว่า การบอกเลิกสัญญานี้สามารถทำได้ฝ่ายเดียว เพราะเป็นสัญญาตามกฎหมายนิวยอร์ก ที่สามารถบอกเลิกได้โดยไม่ต้องรอการยินยอมจากคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งก็ตาม
หากจำกันได้ ก่อนหน้านี้เป๊ปซี่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง เมื่อวันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 2/2553
การประชุมในครั้งนั้นทางฝั่งผู้ถือหุ้นเป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง ถูกตัดสิทธิ์จากบริษัทเสริมสุข ไม่ให้ลงมติออกเสียงในการเจรจาแก้ไขสัญญาระหว่างบริษัทเสริมสุขกับเป๊ปซี่ และรับทราบแผนธุรกิจในอนาคต ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การยกเลิกสัญญากับเป๊ปซี่ในที่สุด
ดังนั้น ถ้าศาลแพ่งตัดสินให้เพิกถอนมติการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 2/2553 มติใดๆ ที่มีผลจากการประชุมในวันนั้นจะถูกยกเลิกเป็นโมฆะทันที แน่นอนรวมไปถึงมติล่าสุดของผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 29 เม.ย. ที่ผ่านมา ที่เสียงส่วนใหญ่ให้ยกเลิกสัญญากับเป๊ปซี่ เพราะเป็นผลมาจากการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 2/2553
ไม่เพียงเท่านี้ ข้อต่อสู้ทางกฎหมายของเป๊ปซี่ โค ยังมีสำรองกันเหนียวอีกชั้น ในกรณีที่ผลลัพธ์ออกมาตรงกันข้าม นั่นก็คือ การยื่นเรื่องคำร้องฉุกเฉิน เพื่อขอยกเลิกคำสั่งศาลแพ่งของ “บริษัท เอสบีเค เบฟเวอเรจ จำกัด” ที่ถูกตัดสิทธิ์ขั้นพื้นฐานในการเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทเสริมสุข
เป็นที่รู้กันว่า “เอสบีเค” ถูกจัดตั้งขึ้นมาโดยกลุ่ม “ซันโตรี่” ซึ่งเป็นพันธมิตรและผู้ถือหุ้นของเป๊ปซี่ โค โดยมีจุดประสงค์เพื่อรวบรวมจำนวนหุ้นให้มากที่สุด เพื่อเป็นฐานเสียงในการโหวต และการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร บมจ.เสริมสุข
ดังนั้น การที่ผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยยึดครองที่นั่งในบอร์ดบริษัทเสริมสุขไว้ได้ทั้งหมด ทำให้เป๊ปซี่ โค อยู่ในภาวะเพลี่ยงพล้ำ โดยมีผู้ถือหุ้นรายย่อยซึ่งเป็นตัวแปรมาตลอดโหวตให้ เพราะฉะนั้นทางออกของเป๊ปซี่ ก็คือ ต้องภาวนาให้ศาลแพ่งยกเลิกคำสั่งคุ้มครองเพื่อให้กลุ่มซันโตรี่มีสิทธิ์ออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น
“ถ้าศาลเห็นว่าซันโตรี่เข้ามาอย่างถูกต้อง และซันโตรี่ยืนอยู่ฝ่ายเป๊ปซี่ โค จริง ทั้งคู่อาจจับมือกัน เพื่อยึดคืนบริษัทเสริมสุขกลับคืนมาในภายหลัง เพราะ เป๊ปซี่ โค มีหุ้น 41.54% บวกกับที่ทาง ซันโตรี่ถืออยู่จะรวมเป็น 50.67% เกินกึ่งหนึ่ง ดังนั้น เรื่องนี้คงยังไม่จบเท่านี้”
อย่างไรก็ตาม การประกาศกดปุ่มนับถอยหลัง การจำหน่ายแบรนด์เป๊ปซี่ของบอร์ดเสริมสุขว่า จะสิ้นสุดลงในวันที่ 1 เม.ย.55 ไม่ได้หมายความว่าเป๊ปซี่เหลือเวลาอีกแค่ 12 เดือน เพราะทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับคำตัดสินของศาลแพ่งทั้งสองกรณี
ไม่ว่าการพิจารณาจะกินระยะเวลายาวนานแค่ไหน แต่เมื่อมีผลตัดสินออกมาเข้าทางเป๊ปซี่ พวกเขาก็มีสิทธิ์ที่จะกลับมาทวงอำนาจคืนได้ทุกเมื่อ
แหล่งข่าวในวงการเครื่องดื่มที่เกาะกระแสเรื่องนี้มาโดยตลอด ให้ความเห็นอีกมุมหนึ่งว่า “ในกรณีที่เป๊ปซี่ไม่ใช้วิธีหักด้ามพร้าด้วยเข่า ก็ยังมีวิธีประนีประนอมแบบบัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น อยู่ ด้วยการขอเปิดเจรจาใหม่เกี่ยวกับเงื่อนไขสัญญา ในระยะเวลาที่เหลืออยู่อีก 12 เดือน ก็ทำได้ เพียงแต่ว่าจะต้องนำเสนอเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาและเสนอต่อผู้ถือหุ้นให้ทราบตามขั้นตอน ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาจะเลือกวิธีไหน”
ไม่มีใครรู้ว่า บอร์ดของเป๊ปซี่ โค จะเลือกแนวทางไหนในการต่อสู้ในวันข้างหน้า แต่สิ่งที่ปรากฏในวันนี้คือ การเร่งหาพันธมิตรใหม่ของเสริมสุข ที่คาดว่าจะต้องเกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 เมษายนปีหน้าประมาณ 6 เดือน เพื่อเริ่มผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มใหม่ให้ทัน กับรายได้ที่จะสูญเสียไปถึง 70% จากที่ไม่มีเครื่องดื่มเป๊ปซี่
ถึงวันนั้น ไม่แน่ว่าเมืองไทยอาจจะมีเครื่องดื่มน้ำอัดลมยี่ห้อใหม่ที่มีชื่อว่า “ช้างโคล่า” เกิดขึ้นมาก็เป็นได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|