พัฒนสินฯ กับ ESB. โฉมหน้าใหม่ของ "ข้อมูล" การลงทุน

โดย นพ นรนารถ
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

สิ่งที่พัฒนสินทำ เป็นการพิสูจน์ว่ากิจการที่เล็กๆ แต่มีการบริหารที่ดี ผู้บริหารมองการณ์ไกลสามารถทำ "สิ่งใหม่ ๆ" ได้ แม้จะยังไม่อาจประเมินผลสะเทือนอันยิ่งใหญ่ได้ในเวลาสั้น แต่ก็เป็นการ "จุดประกาย" ให้กับธุรกิจค้าหลักทรัพย์ "ระบบข้อมูล" อันเป็นเครื่องมือสำคัญยิ่งในการลงทุนในตลาดหุ้นบ้านเรา ซึ่งหมายความว่าจะขยายไปสู่อาณาเขตใหม่ ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ตลาดหุ้นในปัจจุบันกำลังคึกคักมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจึงมี "นักลงทุน" หน้าใหม่เยี่ยมกรายเข้ามาอย่างผิดปกติ ผู้คร่ำหวอดในตลาดหุ้นตั้งข้อสังเกตว่า ที่คึกคักเพราะนักลงทุนรายเก่า ๆ ที่ผ่านโบรกเกอร์กระตือรือร้นมากขึ้น พร้อมกับนักลงทุนหน้าใหม่ 3 กลุ่ม ต่างประเทศ คหบดีมีเงินเก็บที่เคยฝากเงินแบงก์ ไฟแนนท์กินดอกเบี้ย พอดอกเบี้ยถูกพร้อม ๆ กับตลาดหุ้นมีชีวิตชีวาจึงกระโดดเข้า กลุ่มสุดท้ายพ่อค้าพืชไร่แถว ๆ ทรงวาด เป็นนักเสี่ยงอยู่แล้ว ครั้งตลาดต่างประเทศซบเซาสู้ปล่อยให้รัฐบาลขายขาดทุนดีกว่า สวมวิญญาณนักเก็งกำไรลงลุยตลาดหุ้นด้วย

พ่อค้าทรงวาดมีมาดลงทุนที่หวือหวากว่าทุกกลุ่มก็ว่าได้

ส่วนบรรดาโบรกเกอร์นั่นเล่าก็สายแบงก์นั่นแหละที่เอาการเอางานที่สุด โดยเฉพาะธนาคารไทยพาณิชย์

เพราะเหตุนี้จึงมีคนพัฒนา "เครื่องมือ" (TOOLS) ในการลงทุนดังกล่าวมากขึ้น

เริ่มต้นด้วยการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เองก็เปิดบริการข้อมูลการลงทุนใหม่ ๆ อาทิ รายการวิทยุเอเอ็มรายงานภาวะหุ้นหรือบริการข้อมูลทางโทรศัพท์ซึ่งถือว่าเป็นบริการล่าสุดของหน่วยงานนี้ออกโรงประกาศไปหลายเดือนแล้ว จนถึงวันนี้คลื่นกระทบไปแล้วหรืออย่างไร

ด้านสื่ออื่น ๆ อาทิ ทีวี หนังสือพิมพ์ ฯลฯ เท่าที่ "ผู้จัดการ" สำรวจพบว่าให้ความสนใจรายงานภาวะและข้อมูลการลงทุนตลาดหุ้นกันมากขึ้น ก็คงทำกันไปในทำนองนี้เท่านั้น

เป็นที่น่าสังเกตในบรรดานักลงทุนที่เรียกกันว่าโบรกเกอร์ ซึ่งทำหน้าที่ด้านปรึกษาการลงทุนกลับเงียบๆ บางคนตั้งความหวังว่าอาจจะมีบริการพิเศษเฉพาะลูกค้าของตน

ในที่สุดของปัญหาการลงทุนก็มาลงที่ "ข้อมูล" และข่าวสาร

ไม่ว่าทั้งนักลงทุนประเภทคร่ำหวอดหรือหน้าใหม่ ซึ่งกลุ่มหลังจะสำคัญมากกว่า ก็เพราะไม่เคยค้าหุ้นไม่มีประสบการณ์ ก็มักจะคิดว่าการ "เล่นหุ้น" เหมือนการ "เล่นหวย" เสียด้วย

บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พัฒนสินไวกว่าเพื่อนในรายการนี้ ซุ่มเงียบ ๆ เพียง 3 เดือนผลิตสินค้าหรือผลิตใหม่ออกสู่ตลาดแล้ว

เรียกว่าระบบ เลือกข้อมูล หรือ ELECTRONIC SECURITIES BULLETIN (ESB.)

บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พัฒนสินเพิ่งจะเปลี่ยนชื่อมาจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์โนบูระ เมื่อต้นปี 2528 เพราะผู้ถือหุ้นต่างประเทศถอนออกไป อันได้แก่ โนมูระ ซีเคียวริตี้ ธุรกิจหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น เพราะยุทธศาสตร์ทั่วโลกของฝ่ายนั้น ที่ต้องการจะขยายตัวการลงทุนในกิจการหลักทรัพย์ในเมืองไทยอย่างเต็มที่ ถึงขั้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่เนื่องจากติดกันในแง่กฎหมาย จึงขอถอนตัวเหลือเพียงสำนักงานตัวแทน ที่มีเจ้าหน้าที่เพียงคนเดียว ดำเนินในด้าน UNDERWRITER ต่อไป

ธนาคารกรุงเทพในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ฝ่ายไทย ได้เข้าซื้อหุ้นจากโนมูระ โชติ โสภณพานิช กรรรมการรองผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ได้รับหน้าที่รับผิดชอบพัฒนสินต่อไป

พัฒนสิน-โบรกเกอร์เบอร์ 14 ในฐานะผู้บุกเบิกตลาดหุ้นเมืองไทยรายหนึ่งได้กรรมการผู้จัดการใหม่เข้าแทนที่ญี่ปุ่น-วิชรัตน์ วิจิตรวาทการทายาทคนรองสุดท้องหลวงวิจิตรวาทการ

"โดยส่วนตัวผมสนใจการวิวัฒนาการทางด้านคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว โดยเฉพาะสนใจว่าเครื่องจะมาช่วยในแง่การตัดสินใจ และการดำเนินงานต่าง ๆ ของบริษัทให้ดีขึ้น" วิชรัตน์ บอก "ผู้จัดการ" ถึงพื้นฐานของความสนใจของเขา

และแล้วที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง วิชรัตน์ วิจิตรวาทการก็ได้พบกับพันศักดิ์ วิญญรัตน์ อดีตนักหนังสือพิมพ์อาวุโสซึ่งได้กลายเป็น COMPUTER CONSUTANT ไปแล้ว เจ้าตัวเคยบอกว่าสนในเครื่องคอมพิวเตอร์พีซีตั้งแต่รุ่นแรกที่ออกมาในตลาด สมัยเคยทำงานอยู่ในสหรัฐอเมริกา ทั้งสองสนทนาภาษาคอมพิวเตอร์ ในที่สุดก็มีมติว่าฝ่ายแรกจะป้อนข้อมูลว่าธุรกิจของเขาต้องการให้คอมพิวเตอร์มาช่วยอย่างไรโดยพุ่งเป้าไปที่เสริมบริการลงทุน ส่วนฝ่ายหลังจะเป็นพัฒนาโปรแกรมนั้น

พันศักดิ์ร่วมกับเพื่อนคนหนึ่งคือเสนีย์ ถิรวัฒน์ คนทั้งสองมิใช่ผู้ที่ร่ำเรียนวิชาการคอมพิวเตอร์ ไม่ได้เรียนจบด้านนั้นแต่ "ทั้งสองคนเป็นคนที่ ACQUISITIVE MIND มีความอยากรู้อยากจะลอง มีความสนใจอิเล็กทรอนิกส์ และมีพื้นความรู้ลึกซึ้งที่จะพัฒนาอะไรได้ ผมคิดว่าคนไทยที่จะพัฒนาระบบแบบนี้ได้มีไม่กี่คน พูดจริงๆ Blackground นี้มีน้อยมากคนที่เรียนทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ก็จะมีการพัฒนาด้านเทคนิคมากๆ โดยส่วนใหญ่ไม่มี Explosure จากประสบการณ์" วิชรัตน์ วิจิตรวาทการพูดถึงทีมงาน 2 คนซึ่งในที่สุดเขาได้ตัดสินใจเลือกเป็นผู้พัฒนาโปรแกรม อันเป็นที่มาของระบบเลือกหาข้อมูลหุ้นของพัฒนสิน

พันศักดิ์ และเสนีย์ เรียกตัวเองว่า พีแอนด์เอส ได้ใช้เวลาพัฒนาโปรแกรมนี้ 3 เดือน

"สิ่งที่ท้าทายเราคือ ความสามารถในการเอาโทรคมนาคม คอมพิวเตอร์ ดาต้าเบส สต็อกเอ็กเช้นซ์รวมกัน และเราต้องการพิสูจน์ว่าในประเทศโลกที่สามการให้บริการแก่ประชาชน โดยใช้เทคโนโลยีเสริมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ในราคาที่เหมาะสมกับประเทศโลกที่สาม ไม่จำเป็นเสมอไปที่จะต้องเข้าสู่เมนเฟรม โดยจ้างซอฟท์แวร์เฮ้าส์จากต่างประเทศเข้ามาหรือต้องจ่ายค่าเช่าทุกเดือน เราต้องการพิสูจน์ว่าบริษัทเล็กๆ นี้มีอินโนเวทีฟ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ โดยใช้ซอฟท์แวร์จากต่างประเทศ ซึ่งเป็นเพียงแต่ "เครื่องมือ" ไม่ใช่ซอฟท์แวร์สำเร็จรูปซึ่งมันพัฒนาไปได้ไม่สิ้นสุด" ทีมงานพีแอนด์เอสว่าถึงแรงจูงใจของพวกเขา

ในเวลา 3 เดือน ทั้งเสนีย์ และพันศักดิ์ สรุปถึงอุปสรรคของการค้นคว้าและพัฒนาโปรแกรมนี้ว่า หนึ่ง-เราต้องการใช้โทรศัพท์ในการติดต่อ ดังนั้นอัตราความเร็วจึงถูกจำกัดด้วยข้อจำกัดของโทรศัพท์ที่มักจะมีปัญหาเสมอ ๆ ของบ้านเรา สอง-อ่านคู่มือซอฟท์แวร์จากต่างประเทศไม่ออก "ตัวซอฟท์แวร์ที่เราซื้อเรารู้ว่าดีมาก แต่ต้องใช้เวลาในการแกะออกมา ในที่สุดก็รู้เรื่องทั้งๆ ที่เขียนไม่รู้เรื่องเลย" ในประเด็นหลัง ขยายความต่อว่า บริษัทซอฟท์แวร์ของสหรัฐสนใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างมาก จนบางครั้งละเลยบางจุดไป โดยเฉพาะการเขียนคู่มือ

ในที่สุดความสำเร็จก็มาถึง

ระบบเลือกข้อมูลหุ้นของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พัฒนสิน ใช้ระบบฐานข้อมูล (DATA BASE) ระบบการสื่อสารด้วยอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โดยมีจุดเด่นตรงที่ความเร็วในการค้นหาข้อมูลในเบื้องแรก

ปัจจุบันผู้ที่ต้องการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ และต้องการข้อมูลล่าสุดประกอบการตัดสิน มีทางที่จะได้ข้อมูลจากแหล่งข้อมูล เช่น การฟังจากรายการวิทยุ เอ เอ็ม ของตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือใช้โทรศัพท์ดังที่กล่าวมาแล้ว ยังมีวิธีที่นิยมทำกันก็คือโทรศัพท์ถามไปยังบริษัททำการค้าหลักทรัพย์ หรือไปนั่งในห้องลูกค้าหลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์ต่าง ๆ แต่แหล่งข้อมูลที่กล่าวถึงนี้สามารถบอกราคาหุ้นทีละตัว ไม่สามารถจะให้ข้อมูลย้อนหลัง หรือข้อมูลเปรียบเทียบได้ในทันที

ความแตกต่างระหว่างระบบข้อมูลของพัฒนสิน กับแหล่งข้อมูลอื่นมีหลายประการทีเดียว

หนึ่ง - ความรวดเร็วในการค้นหา

สอง- การเปรียบเทียบราคาหุ้น หรือจำนวนที่มีการค้าภายในวันเดียวกันกับราคาหุ้นที่ผ่านมาย้อนหลังอย่างน้อยสามเดือน

สาม - หากท่านติดต่อเข้ามา ที่เครื่องคอมพิวเตอร์ของพัฒนสิน ระหว่างเวลาทำการของตลาดหลักทรัพย์ฯ ท่านจะได้ราคาหุ้นหลังมีการเสนอขายหรือเสนอซื้อไม่เกิน 15 นาที ปรากฏบนจอคอมพิวเตอร์ของท่าน

สี่ - ฐานข้อมูลของพัฒนสิน มีรายละเอียดบริษัท (PROFILE) ที่เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เกี่ยวกับผู้ถือหุ้นใหญ่ ผู้บริหาร ทุนจดทะเบียนหรือสถานที่ติดต่อเพื่อท่านสามารถเรียกดูได้ และพัฒนสินจะเพิ่มเติมข้อมูลล่าสุดให้สมบูรณ์อยู่เสมอ

ห้า - สมาชิกระบบฐานข้อมูล ยังจะสามารถติดต่อกับคอมพิวเตอร์ของพัฒนสินได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อส่งคำสั่งให้พัฒนสิน ปฏิบัติตามเพื่อซื้อ หรือขายหุ้นเมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯเปิดทำการ

หก - นอกจานั้นพัฒนสินสามารถส่งข่าวหรือติดต่อกับสมาชิกได้เมื่อสมาชิกเรียกเข้ามาในระบบฐานข้อมูล จะสามารถเลือกรายการ "รับข่าว" เพื่ออ่านข่าวหรือข้อมูลที่พัฒนสิน หรือสมาชิกรายอื่นส่งถึงตนด้วย โดยที่สมาชิกผู้อื่นไม่สามารถอ่านข่าวที่ระบุชื่อเฉพาะผู้รับได้

พัฒนสินว่าระบบฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์เช่นนี้ ให้ความสะดวกต่อผู้ใช้บริการมาก ไม่ว่าสมาชิกจะอยู่ ณ ที่ใด หรือจุดใดของโลกก็ตาม หากมีเครื่องมือต่อไปนี้

โทรศัพท์

เครื่องคอมพิวเตอร์

โมเดม-เครื่องแปลงสัญญาณจากสัญญาณคอมพิวเตอร์ เป็นสัญญาณเสียง เพื่อทำให้สามารถส่งสัญญาณนั้นผ่านสายโทรศัพท์ และแปลงกลับจากสัญญาณเสียงเป็นสัญญาณคอมพิวเตอร์ที่ปลายทาง

ระบบฐานข้อมูลนี้มีประโยชน์อย่างเป็นการเป็นงานตรงที่ หากท่านไม่ใช่ "ผู้เชี่ยวชาญ" ท่านเลือกซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯได้อย่างไร?

การซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของคนที่ไม่ใช่ "ผู้เชี่ยวชาญ" ก็คือ "ฟังเขาเล่ามา" เพราะฉะนั้น "คุณช่วยซื้อหุ้นนี้ให้หน่อย"

ถ้าหากมีคนมาบอกท่านว่า "ก่อนซื้อหุ้นควรจะต้องรู้ราคาเปรียบเทียบ ต้องศึกษาการเคลื่อนไหวของหุ้นตัวนั้นก่อน" ท่านก็จะบอกว่า "ไม่มีเวลา และไม่รู้จะไปค้นจากที่ไหน ถ้ายุ่งนักก็ไม่ซื้อมันล่ะ เล่นหวยดีกว่า" แต่ถ้าท่านไม่พูดเช่นนั้นท่านเสี่ยงตาม "เขาว่า.." การซื้อหุ้นของท่านก็ไม่ผิดกับการเล่นหวยมากนัก

หลังห้าโมงเย็นของทุกวันตลาดหลักทรัพย์เปิดรายละเอียดของการซื้อขายหุ้นนั้นก็จะมีพร้อมให้ท่านเรียกดูได้ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ไหนของโลก บางคืนที่หนังจีนน่าเบื่อ ท่านจะลองเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์เรียกหาข้อมูลจากฐานข้อมูลเพื่อการตัดสินใจได้ ในบรรยากาศที่สงบเงียบในบ้านของท่านเอง

"การพัฒนาระบบฐานข้อมูลเช่นนี้ สอดคล้องนโยบายของรัฐบาลไทย ที่ส่งเสริมการระดมทุนที่เป็นระดม" พัฒนสินเขาว่า

"เราเริ่มทดลองมาแล้วสัก 1 สัปดาห์เศษ ๆ" วิชรัตน์ วิจิตรวาทการบอกกับ "ผู้จัดการ" เมื่อกลางเดือนมีนาคม

ในการทดลองมาเป็นระยะ ๆ ได้ผลดี โดยเฉพาะสามารถเรียกข้อมูลได้ในเวลารวดเร็วขึ้น "เราเพิ่งเริ่มทดลองกับลูกค้าในต่างประเทศ ก็ได้ผลดีเช่นกัน" เขาบอกต่อ

ปัจจุบันพัฒนสินเริ่มโครงการนี้ด้วยการมีสมาชิกประมาณ 40 คนทั้งในและต่างประเทศ ต่อไปหากบริการนี้มีผู้สนใจก็จะขยายบริการ พร้อมทั้งการพัฒนาระบบฐานข้อมูลอยู่ตลอดเวลา ให้สมาชิกได้ข้อมูลมากขึ้น

และพร้อมจะร่วมมือกับรายอื่น ๆ ด้วย !



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.