ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ "ลูกหนี้ตัวอย่าง"

โดย บุญศิริ นามบุญศรี
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

ในฐานะนักจัดสรรบ้านและพัฒนาที่ดิน ไชยวัฒน์ได้รับรางวัลนักธุรกิจตัวอย่างเป็นอนุสรณ์ ยืนยันความสำเร็จ แต่ในฐานะผู้ประกอบกิจการสวนสนุก ไชยวัฒน์ มีหนี้สินเป็นอิสริยาภรณ์ประดับกาย หากในปี 2529 ซึ่งถือได้ว่าเป็นปีที่ธนาคารหลายแห่ง "เจ็บปวด" และ "หัวปั่น" จากลูกหนี้ยอดแสบ ไชยวัฒน์น่าจะได้รับการยกย่องเป็น "ลูกหนี้ตัวอย่าง" ที่สุด !

เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะนักจัดสรรบ้านและพัฒนาที่ดินที่ประสบความสำเร็จ โครงการของไชยวัฒน์ไม่ว่าจะเป็น เธียรสวนนิเวศน์ อมรพันธ์ ศูนย์การค้าพหลโยธิน อมรพันธ์นิเวศน์ ฯลฯ ล้วนแต่ทำเงินให้เขาเป็นกอบเป็นกำทั้งสิ้น จากความสำเร็จนี้ทำให้ไชยวัฒน์ได้รับรางวัลนักธุรกิจตัวอย่างเป็นคนแรกเมื่อปี 2522

ในช่วงเวลานั้นชื่อของไชยวัฒน์เหมือนเครื่องหมายรับรองความสำเร็จของโครงการบ้านจัดสรรที่ดิน ไชยวัฒน์มีเครดิตดีและเป็นเจ้าของกิจการหลายบริษัท เช่น บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ช. อมรพันธ์ บริษัทเงินทุนไฟแนนเชียลทรัสต์ บริษัทปัญจมิตรวิสาหกิจ บริษัทอมรพันธ์นคร บริษัทอมรพันธ์เคหะกิจ กล่าวได้ว่ากิจการจัดสรรบ้านและที่ดินของเขาเกือบครบวงจร ไชยวัฒน์มีตั้งแต่บริษัทจัดสรรที่ดิน ก่อสร้าง จนถึงบริษัทเงินทุนสนับสนุนโครงการ

ปี 2530 ไชยวัฒน์เป็นที่รู้จักดีในนามประธานกรรมการบริหารบริษัทอมรพันธ์นคร สวนสยามเจ้าของกิจการ "สวนสยาม" สวนสนุกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยบนเนื้อที่ 300 ไร่ที่พร้อมไปด้วยอุปกรณ์ เครื่องเล่น สวนพักผ่อน สวนสัตว์ และสวนน้ำซึ่งมีทะเลเทียมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย เหล่านี้ไชยวัฒน์แลกมาด้วยกำลังกาย กำลังใจ และหนี้สินสะสมมาตั้งแต่เริ่มกิจการเมื่อปี 2523 รวมแล้วกว่า 400 ล้านบาท

ตั้งแต่ไชยวัฒน์เริ่มทำสวนสยามก็มีข่าวเป็นระลอก ๆ ไม่แพ้คลื่นในทะเลเทียมที่กระหน่ำอยู่ตลอดเวลาสวนสยาม "เจ๊งแน่" พร้อม ๆ กับข่าวไชยวัฒน์หิ้วกระเป๋าใบใหญ่ไปต่างประเทศเหมือนบรรดาลูกหนี้อัปยศทั้งหลายกระทำกัน แต่ตั้งแต่ข่าวลือครั้งแรกจนถึงครั้งล่าสุดซึ่งเป็นครั้งที่เท่าไรแล้วก็ไม่รู้ ไชยวัฒน์ก็ยังยืนสง่าในฐานะประธานกรรมการบริหารสวนสยาม วิ่งหาเงินมาใช้หนี้อยู่จนถึงทุกวันนี้!

ไชยวัฒน์มีตำนานการก่อร่างสร้างตัวไม่แพ้นักธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ของเมืองไทยหลายคน ที่ไม่ได้มาจากตระกูลที่ร่ำรวยหรือมีพื้นฐานการศึกษาที่สูงส่ง เขาสร้างตัวด้วยความมานะอดทนและการริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ

จากเด็กชายที่วิ่งอยู่แถวทุ่งบางเขน จบ ป. 4 มาเป็นกระเป๋ารถเมล์ คนขับรถรับจ้างส่งของ คนขายปลา จนถึงเจ้าของโครงการหมู่บ้านจัดสรรใหญ่ ๆ จะว่าไปตำแหน่งราชาบ้านจัดสรรและที่ดินก็น่าจะพอแล้วสำหรับไชยวัฒน์ .... แต่อะไรล่ำทำให้ไชยวัฒน์ตัดสินใจทำสวนสยามต่อไปอีก

"ผมได้กำไรจากประชาชนมามากแล้วจากการทำบ้านจัดสรร ก็หาทางคืนเงินให้ประชาชนโดยสร้างแหล่งพักผ่อนหย่อนใจขึ้นมา เป็นสวนสนุก เป็นอุทยานอเนกประสงค์ เป็นแหล่งพักผ่อนของคนทั่วประเทศ" ไชยวัฒน์ ให้เหตุผลกับ "ผู้จัดการ" ถึงการเข้ามาทำกิจการสวนสนุก

ถ้าจะวิเคราะห์เชิงจิตวิทยาถึงการทำสวนสยามตามเหตุผลที่ไชยวัฒน์กล่าวข้างต้น ตามทฤษฎีความต้องการขึ้นพื้นฐานของมนุษย์แล้ว คงอธิบายได้ว่าขณะนั้นไชยวัฒน์มีพร้อมแล้วเรื่องปัจจัย 4 ความมั่นคงในชีวิต ชื่อเสียงและการยอมรับ สิ่งเดียวที่ไชยวัฒน์ยังต้องการอีกคือความสำเร็จในชีวิตตามที่ตั้งใจไว้ และเขาคงคิดว่าสวนสยามจะสนองความต้องการของเขาได้

ไชยวัฒน์เคยพูดเสมอว่าอยากให้สวนสยามเป็นเหมือนดิสนี่ย์แลนด์ที่วอลท์ ดิสนีย์ ราชาการ์ตูนของโลกสามารถเนรมิตไร่ส้ม 500 ไร่ ในแคลิฟอร์เนียให้เป็นโลกแห่งความฝันที่ปรากฎอยู่บนโลกแห่งความจริงได้ เพราะแรงดลใจที่เห็นลูกสาวนั่งเล่นม้าหมุนในสวนสนุกแห่งหนึ่ง

แต่สำหรับไชยวัฒน์ราชาบ้านจัดสรรและที่ดิน เขาจะพลิกผืนนา 300 ไร่บริเวณถนนสุขาภิบาล 2 สร้างสวนสยามให้เป็น "โลกแห่งความสุข สนุกไม่รู้ลืม" เพราะต้องการคืนกำไรให้กับประชาชนแค่นั้นหรือ?

ถ้าจะหาเหตุผลอื่นประกอบคงต้องย้อนไปดูสถานการณ์เมื่อปี 2522

เริ่มตั้งแต่ต้นปีน้ำมันขึ้นราคา เป็นผลทำให้ราคาสินค้าต่าง ๆ ขึ้นตาม รวมทั้งราคาวัสดุก่อสร้างด้วย ประกอบกับขณะนั้นประชาชนตื่นตัวกับการถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าของโครงการต้องลงทุนเพื่อจัดสาธารณูปโภคให้ได้มาตรฐานตามที่ ปว. 286 กำหนดไว้ ซึ่งทำให้ต้นทุนการดำเนินการสูงขึ้นอีกมาก

และกลางปี พ.ร.บ. เครดิตฟองซิเอร์ถูกนำมาใช้ควบคุมกิจการเช่าซื้อบ้านและที่ดิน รวมทั้งควบคุมระดมเงินฝากจากประชาชนและการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยด้วย สถานการณ์เหล่านี้ล้วนมีผลกระทบต่อกิจการบ้านจัดสรรและที่ดินของไชยวัฒน์ทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีผลต่อสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทในเครือ

"ไชยวัฒน์รู้สึกผิดหวังกับเรื่องสาธารณูปโภคที่ต้องลงทุนไปมาก เขาคิดว่ามันไม่ยุติธรรมกับเจ้าของโครงการ" แหล่งข่าวคนหนึ่งพูดถึงไชยวัฒน์ในช่วงที่กิจการบ้านจัดสรรเริ่มมีแนวโน้มไม่ดีทำให้ไชยวัฒน์ต้องคิดหาลู่ทางการลงทุนใหม่ และสวนสนุกเป็นการลงทุนอย่างหนึ่งที่ไชยวัฒน์ใฝ่ฝันจะทำ

แต่ที่ลึก ๆ ไปกว่านั้นต้องไม่ลืมว่าไชยวัฒน์เป็นนักพัฒนาและจัดสรรที่ดินด้วยความช่ำชองในธุรกิจนี้ เขาย่อมตระหนักดีว่าที่ดินบริเวณสวนสยามนั้นเมื่อพัฒนาแล้ว ราคาจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าใจหายเลยทีเดียว!

ไชยวัฒน์ตัดสินใจลงเสาเข็มเพื่อเริ่มกิจการสวนสนุก ด้วยการจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทอมรพันธ์นคร สวนสยาม ในปี 2523 ด้วยทุน 40 ล้านบาท เพื่อดำเนินการ "สวนสยาม" ในขณะเดียวกันเพื่อให้คุ้มกับการลงทุนด้านสาธารณูปโภคก็จัดสรรที่ดินบริเวณนั้นทำโครงการหมู่บ้าน "สวนสยาม" ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท อมรพันธ์นครด้วย

เมื่อแรกเริ่มสวนสยามไชยวัฒน์คาดว่าจะใช้เงินลงทุนพลิกผืนนาให้เป็นสวนสนุกประมาณ 500 ล้านบาท

แต่ลงทุนทำสวนสยามได้ปีกว่าไชยวัฒน์เริ่มสำนึกได้ว่าเงินลงทุนแค่นั้นไม่พอและการทำสวนสนุกนั้นไม่ใช่เรื่องสนุกเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสวนสนุกที่รวมไว้ด้วยสวนน้ำ สวนสัตว์ที่ใหญ่โตมโหฬารอยู่กลางทุ่งนาอย่างสวนสยาม

ไชยวัฒน์เริ่มเข้าใจแนวคิดทำสวนสนุกลักษณะนี้ดีว่า ต้องใช้เงินลงทุนสูงและระยะเวลาคืนทุนยาว

สวนสยามตอนนั้นไม่ต่างอะไรกับต่างจังหวัดทั้งที่อยู่แค่บางกะปิ ด้านหนึ่งติดถนนสุขาภิบาล 2 ด้านหนึ่งติดถนนรามอินทรา โดยมีถนนสวนสยามเชื่อมแต่ขณะนั้นไม่มีรถเมล์ผ่าน ไม่มีหมู่บ้านมากมายเหมือนทุกวันนี้ ที่สำคัญไม่มีคนเข้าไปเที่ยวเนื่องจากการเดินทางไม่สะดวก

ข่าวสวนสยามล้มสะพัดไปทั่ว "เขาว่าเจ๊งมันก็ต้องเจ๊งนั่นแหละ" ไชยวัฒน์ยอมรับว่าทำได้ปีแรกเงินทุนจมไปกับสาธารณูปโภคและสิ่งก่อสร้าง ประกอบกับความไม่สะดวกในการเดินทางทำให้คนไม่ไปเที่ยวรายได้ไม่เป็นไปตามที่คาด สภาพคล่องเริ่มมีปัญหา แต่สวนสยามต้องการเงินลงทุนเพิ่มขึ้นอีก!

ปลายปี 2523 เพื่อรักษาสวนสยามไว้ไชยวัฒน์ต้องตัดสินใจขายบริษัทเงินทุนและกิจการบ้านจัดสรรรวม 4 บริษัทคือ บริษัท ปัญจมิตรวิสาหกิจ (2511) บริษัทเครดิตฟองซิแอร์ ช. อมรพันธ์ (2514) บริษัทเงินทุนไฟแนนเชียลทรัสต์ (2515) บริษัท อมรพันธ์เคหะกิจ (2521) ให้กลุ่มสากลเคหะของสุรินทร์ ตุลย์วัฒนจิตในราคาประมาณ 200 ล้านบาท

"เมื่อเริ่มทำสวนสยามไชยวัฒน์เอาที่ 300 ไร่ที่ทำสวนสนุกนั้นไปค้ำประกันเงินกู้จากแบงก์กรุงเทพมาประมาณ 180 ล้านบาท เป็นเงินกู้ระยะสั้นไม่เกิน 2 ปี พอทำไปแล้วสวนสยามจะเจ๊ง เลยต้องขายที่ดินกับบริษัทในเครือออกไป เอาเงินมาใช้หนี้" แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับไชยวัฒน์กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงการขายสมบัติครั้งแรกของไชยวัฒน์เพื่อนำเงินมาใช้หนี้

ที่จริงแล้วไชยวัฒน์เป็นหนี้ธนาคารกรุงเทพ สาขาลาดพร้าวอยู่ประมาณ 80 ล้าน ซึ่งกู้มาเสริมสภาพคล่องให้กิจการบ้านจัดสรรและที่ดินเมื่อครั้งกิจการนี้ทรุดก่อนหน้าทำสวนสยาม โดยนำที่ดินไปค้ำประกันเงินกู้ได้แก่ ที่ดินหมู่บ้านอมรพันธ์ 9 บางเขน 30 ไร่,ที่ดิน อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี 100 ไร่ และอาคารพาณิชย์พร้อมที่ดิน ถ. รามอินทรา ก.ม. 7 อีกประมาณ 3 ไร่

เพื่อนำเงินมาใช้หนี้ธนาคารกรุงเทพที่กู้มาลงทุนในสวนสยามให้ได้ตามกำหนด และหักลบหนี้เก่าด้วย ไชยวัฒน์จึงตัดสินใจขายที่ดินและกิจการทั้ง 4 บริษัทดังกล่าวให้กลุ่มสากลเคหะ เพื่อแลกเอาสวนสยามและเครดิตของตนไว้

การขายที่ดินและกิจการทั้ง 4 บริษัทครั้งนั้นเหมือนลางบอกเหตุว่า การขายทรัพย์สินของไชยวัฒน์จะมีครั้งต่อ ๆ ไปอีก

เพราะถึงอย่างไรก็ตามสถานการณ์เลวร้ายก็ยังคงอยู่เป็นเพื่อนไชยวัฒน์ ในปี 2524 อัตราดอกเบี้ยสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 20-21% ต่อปี สถาบันการเงินส่วนใหญ่ไม่มีนโยบายปล่อยกู้ระยะยาว แต่สวนสยามต้องการเงินลงทุนเพิ่มอีก ไชยวัฒน์ต้องขายที่ดินอีกหลายแปลงพร้อม ๆ กับขอกู้จากธนาคารกรุงเทพเพิ่มเติม

ถึงปี 2526 สถานการณ์ต่าง ๆ ยังไม่ดีขึ้น ซ้ำปลายปีน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯนานกว่า 3 เดือน ยิ่งพากันฉุดให้ปีนั้นเป็นปีที่สวนสยามตกต่ำที่สุด ทั้งที่ไชยวัฒน์พยายามปรับปรุงและพัฒนาเครื่องเล่นตลอดจน เน้นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ แต่รายได้ก็ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้และปีนี้เป็นปีที่สวนสนุกแฮปปี้แลนด์ยอมลาจากโลกสวนสนุกเพราะทนภาวะขาดทุนต่อไปไม่ไหว

ตามเอกสารทางการเงินจากกระทรวงพาณิชย์ ปี 2526 สวนสยามมีหนี้สินกว่า 310 ล้านบาท ขาดทุนสะสม 135 ล้านบาทมากกว่าเงินทุนจดทะเบียนที่มีอยู่ 40 ล้านบาทกว่า 3 เท่า

ข่าวไชยวัฒน์จะขายกิจการเพราะเบื่อเมืองไทยสะพัดอีกครั้ง

"ช่วงนั้นประกาศขาย เราทำงานอยู่ในประเทศไทยทำสถานที่พักผ่อนหย่อนใจซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐควรให้แก่ประชาชน แต่รัฐไม่เคยสนใจเราเลย เพื่อนที่อเมริกาที่อยู่ในสมาคมสวนสนุกโลกด้วยกันเขามาขอซื้อ บอกให้ไปอยู่อเมริกาดีกว่า เขาจะใช้หนี้ให้แล้วแถมเงินให้อีก" ไชยวัฒน์เล่าถึงข้อเสนอจากอเมริกา

จะว่าไปก็เป็นข้อเสนอที่น่าสนใจสำหรับไชยวัฒน์อยู่หรอก เพราะเวลานั้นมีเงื่อนไขหลายประการที่สนับสนุนว่าไม่ควรทำสวนสยามต่อ เช่น ขอรับสิทธิการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนก็ไม่ได้ ขอให้ทาง ข.ส.ม.ก. จัดรถเมล์วิ่งผ่านก็ไม่ได้ เพราะเห็นว่าวิ่งไปก็ขาดทุน ขอให้ลดค่ากระแสไฟฟ้าให้คิดในอัตรากิจการอุตสาหกรรมก็ไม่ได้ มิหนำซ้ำอัตราดอกเบี้ยสูงและสถาบันการเงินไม่ยอมปล่อยกู้ง่าย ๆ อีกต่อไปด้วย

ในเวลานั้นสวนสยามอยู่ในภาวะวิกฤต ไชยวัฒน์เซ็นเช็คติดสปริงเป็นว่าเล่น ซึ่งยังผลให้ปีต่อ ๆ มาคดีฟ้องร้องเรื่องเช็คกับไชยวัฒน์จึงเป็นเพื่อนสนิทที่พบกันเกือบทุกวัน

แต่ไชยวัฒน์ก็ไม่ยอมขายสวนสยามยังกัดฟันทำต่อไป เขาโชคดีที่ธนาคารกรุงเทพให้โอกาสอีกครั้ง

ปี 2527 สวนสยามจึงต้องเพิ่มทุนอีก 220 ล้านบาท เป็นทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 260 ล้านบาท คราวนี้ที่ดินของสวนสยามทั้งหมด อาคารและอุปกรณ์ ทั้งใบหุ้นส่วนหนึ่ง จำนองและจำนำไว้เพื่อเป็นหลักทรัพย์ประกันเงินกู้งวดใหม่เข้ามา

ว่ากันว่าในช่วงวิกฤตทางการเงินของสวนสยามนั้น เจ้าหนี้รายใหญ่ถึงกับส่งเจ้าหนี้มาดูแลการเก็บเงินค่าผ่านประตูวันต่อวันเลยทีเดียว

จนถึงวันนี้สวนสยามลงทุนไปแล้วทั้งสิ้นประมาณ 800 ล้านบาทสำหรับสาธารณูปโภค เครื่องเล่นในสวนสนุก สวนน้ำ และสวนสัตว์ ขาดทุนสะสมติดต่อกันมาตั้งแต่เริ่มดำเนินการประมาณ 300 ล้านบาท เป็นหนี้เฉพาะธนาคารกรุงเทพฯอย่างเดียวเกือบ 400 ล้านบาท

ถึงอย่างไรไชยวัฒน์ก็ยอมสู้กับภาวะหนี้สินและหาทางหมุนเงินมาจ่ายดอกเบี้ยตลอดเวลาโดยไม่หนีหน้าไปไหน คงไม่ผิดถ้าจะยกไชยวัฒน์ให้เป็น "ลูกหนี้ตัวอย่าง" ที่ยืนสง่าสู้หน้ากับเจ้าหนี้อย่างทรนง

แม้บางช่วงเวลาจะหาเงินกู้จากสถาบันการเงินไม่ได้ ไชยวัฒน์ก็ยอมหักใจขายทรัพย์สินที่ดินที่เขาสะสมมาตลอดชีวิตการทำงานออกไปทีละแปลง สองแปลง เพื่อนำเงินมาลงทุนในสวนสยามและจ่ายเงินกู้ที่ถึงกำหนดชำระคืน

ตั้งแต่ปี 2524 ถึงปัจจุบัน ไชยวัฒน์ทยอยขายที่ดินของเขาออกไปแล้วมูลค่ากว่า 100 ล้านบาทไม่ว่าจะเป็น

ที่ดินข้างปั๊มน้ำมัน หน้าสำนักงานใหญ่ น.ส.พ.ไทยรัฐ 40 ล้านบาท

ที่ดินและร้านอาหารถ.ช้างเผือก จ. เชียงใหม่ 10 ล้านบาท

ที่ดินที่ลาดกระบัง 300 ไร่ 40 ล้านบาท

ที่ดินที่มีนบุรี 20 ไร่ 8 ล้านบาท

ที่ดิน ถ. รามอินทรา ตรงข้ามทางเข้าสวนสยาม 16 ไร่ 10 ล้านบาท

ที่ดิน 700 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินที่ซื้อพร้อมกับที่ดินสวนสยามขณะนี้ ทยอยขายไปในราคาประมาณ 100 ล้านบาทในนามบริษัทอมรพันธ์นคร ซึ่งไชยวัฒน์ถือหุ้นอยู่ 25% จึงได้ส่วนแบ่งมาประมาณ 25 ล้านบาท

ที่ดินที่เขาอีดำ จ. ระยอง 30 ไร่ 40 ล้านบาท

และที่ดินที่กำลังต่อคิวรอการขายเพื่อนำเงินมาเสริมสภาพคล่องของสวนสยามอีกคือที่ดินบริเวณ ถ. รัชฎาภิเษกแยกบางเขน 16 ไร่ จะขายราคาประมาณ 100 ล้านบาท และที่ดินที่ อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี 100 ไร่ จะขายในราคา 140 ล้านบาท

ไชยวัฒน์เคยรำพึงรำพันว่า "สวนสยามก็เหมือนกับทะเลนั่นแหละน้ำที่นี่ดูดเงินลงไปหมด"

ก็คงไม่ใช่เพราะการทำสวนสนุกนั้นเป็นการลงทุนไปกับทรัพย์สินถาวรมากแต่ไม่เพียงเท่านั้นยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้สวนสยามดูดเงินลงไปชนิดจมหาย ๆ

เริ่มจากการบริหารทางด้านการเงิน เพราะเมื่อแรกเริ่มสวนสยามวางแผนการเงินระยะยาวไม่รัดกุม เงินลงทุนส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ระยะสั้น ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง ขณะที่กิจการสวนสนุกเป็นการลงทุนที่ระยะคืนทุนยาว แต่เงินกู้ส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ระยะสั้น เมื่อระยะคืนทุนกับเงินกู้ไม่สัมพันธ์กัน ทำให้มีปัญหาเรื่องเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งไชยวัฒน์แก้ปัญหาโดยการขายทรัพย์สินที่ดินส่วนตัวออกไปเรื่อย ๆ เพื่อนำเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นทางออกที่ต้องทำติดต่อกันเหมือนลูกโซ่ที่เชื่อมต่อกันไม่มีวันจบ

"ไชยวัฒน์ไม่มีความชำนาญเรื่องการเงิน" แหล่งข่าวใกล้ชิดกับไชยวัฒน์เมื่อครั้งทำกิจการเงินทุนกล่าวกับ "ผู้จัดการ" และเพราะไชยวัฒน์เป็นผู้บริหารการเงินของสวนสยามเอง จึงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมไชยวัฒน์ต้องหมุนเงินจนหัวปั่นจนถึงทุกวันนี้

ทางด้านการตลาดสวนสยามไม่มีการเตรียมการทางด้านการตลาดที่เป็นระบบไม่ว่าจะเป็นด้านการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ หรือกลยุทธ์ทางการตลาดอื่น ๆ ที่ชักชวนให้คนมาเที่ยว

"เมื่อคิดอะไรออกก็ทำ ๆ ไปตามประสบการณ์" ไชยวัฒน์สารภาพกับ "ผู้จัดการ" ถึงการตลาดและการส่งเสริมการขายที่สวนใหญ่มาจากความคิดของไชยวัฒน์ตามแต่สะดวก

ครั้งหนึ่งเมื่อปี 2525 ไชยวัฒน์จัดงานสวนสยามเอ็กซ์โปร์เพื่อร่วมฉลอง 200 ปี กรุงเทพมหานคร ทั้งที่ไม่มีการเตรียมพร้อมล่วงหน้าอะไรมากนัก โดยเฉพาะความร่วมมือจากทางภาครัฐบาลผลจากงานนั้นสวนสยามขาดทุนอีกไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท

หรือแม้แต่บัตรฟรี เข้าสวนสยามซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการขายที่งบประมาณปีละ 3-5 ล้าน ก็ไม่มีการควบคุมการใช้อย่างรัดกุม ว่ากันว่าในฤดูการเลือกตั้งไชยวัฒน์พิมพ์แจกเป็นใบปลิวเลยทีเดียว

และที่สำคัญระบบการตัดสินใจของสวนสยามนั้นขึ้นอยู่กับไชยวัฒน์เพียงคนเดียว ถึงแม้ไชยวัฒน์จะมีที่ปรึกษามากมายหลายคณะ หลายกลุ่ม ที่สามารถเสนอคำแนะนำและความคิดเห็นได้เสมอ แต่สำหรับคำแนะนำที่นอกเหนือไปจาก SENCE หรือความตั้งใจของไชยวัฒน์แล้วคำแนะนำนั้นจะไร้ความหมายทันที

ไชยวัฒน์ทำงานแบบ ONE MAN SHOW ตั้งแต่ระดับตัดสินใจ จนถึงขั้นปฏิบัติงาน เขาทำได้หมด บางครั้งเขาตัดสินใจซื้อเครื่องเล่นราคา 40-50 ล้านบาทด้วยตนเอง คิดจัดงานส่งเสริมการขายที่ต้องใช้เงินทุนนับล้านเพื่อนสนองความต้องการของตนเอง และในบางเวลาที่เดินตรวจตราสวนสนุกไชยวัฒน์ก็เก็บไม้เสียบลูกชิ้นลงถังขยะอย่างหน้าตาเฉย

การบริหารงานของสวนสยามก็ยังคงเป็นระบบครอบครัว เพราะไชยวัฒน์และครอบครัวเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ทั้ง ๆ ที่ไชยวัฒน์เองก็พูดเสมอว่าจะพยายามให้สวนสยามบริหารงาน โดยมืออาชีพ และต้องการให้คนนอกเข้ามามีส่วนในการบริหารงาน แต่ยังไม่รู้เหมือนกันว่าวันนั้นจะมาถึงเมื่อไร

"สวนสยามผมทำคนเดียวเกือบทุกอย่าง คนเราเมื่อสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาได้แล้วก็อยากลงทุนอยากขยายงาน มันท้าทายให้เราทำอะไรโดยไม่ได้พิจารณาฐานเลยว่าแน่นหรือยัง" ไชยวัฒน์พูดถึงจุดอ่อนของการเป็นเถ้าแก่ และการไม่คำนึงถึงฐานด้านการเงิน ซึ่งมีส่วนทำให้สวนสยามเป็นการลงทุนชนิดจมหาย ๆ และมีหนี้สินมาก

แต่ขณะนี้สถานการณ์สวนสยามเริ่มดีขึ้น เครดิตของไชยวัฒน์เริ่มกลับมาอีกครั้ง เขาคาดว่าปี 2530 นี้จะเป็นปีแรกที่สวนสยามดำเนินกิจการคุ้มทุน เพราะปีนี้เป็นปีท่องเที่ยวไทยที่คาดว่าการท่องเที่ยวจะคึกคักเป็นพิเศษ

สวนสยามได้ร่วมกับทาง ท.ท.ท. จัดงานหลายงาน และมีการวางแผนการตลาดที่เป็นระบบยิ่งขึ้น โดยเริ่มด้วยการให้ลินตัสทำโฆษณาด้วยงบประมาณ 20 ล้านบาท มีการเตรียมพนักงานประชาสัมพันธ์และต้อนรับเป็นพิเศษและจัดพนักงานขายที่จะออกไปติดต่อกับกลุ่มต่างๆ ให้เข้ามาเที่ยวสวนสยามโดยเจาะเป็นกลุ่ม ๆ เช่น โรงเรียน บริษัท ห้างร้านต่าง ๆ และตั้งเป้าไว้ว่าปีนี้จะมีคนมาเที่ยวสวนสยามประมาณ 2 ล้านคน

สวนสยามขณะนี้ก่อสร้างเสร็จแล้ว 90% ทุนที่ลงไปกว่า 800 ล้านบาท เริ่มแสดงผลกลับมาให้เห็น สวนสยามกำลังจะเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจที่สมบูรณ์ มีสาธารณูปโภคพร้อม มีรถเมล์เข้าถึง ถ. สุขาภิบาล 2 กำลังปรับปรุงให้เป็นถนนคอนกรีต 4 ช่องทางที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 2 ปี โครงการถนนวงแหวนรอบนอกที่จะทำให้การเดินทางจากที่ต่าง ๆ มาสวนสยามเป็นไปได้อย่างสะดวกสบายกำลังปะติดปะต่อเป็นรูปเป็นร่าง

เมื่อทุกอย่างในสวนสยามเสร็จสมบูรณ์และพื้นที่บริเวณรอบ ๆ ได้พัฒนาเต็มที่แล้ว คงเป็นเวลาที่ไชยวัฒน์ทำสวนสยามได้ 10 ปี และตามที่ไชยวัฒน์เคยพูดไว้ว่าทุน 1,000 ล้านบาทที่ลงไปจะเห็นผลในระยะเวลา 10 ปี ซึ่งขณะนี้ก็ใกล้เวลานั้นเข้ามาแล้ว และเมื่อถึงเวลานั้นที่ดิน 300 ไร่ของสวนสยามที่ไชยวัฒน์ซื้อไว้ในราคาไร่ละ 1 แสนบาท จะมีราคาไม่ต่ำกว่าไร่ละ 3 ล้านบาท

และนั่นคือบทพิสูจน์ที่ว่าไชยวัฒน์เป็นนักพัฒนาที่ดินจริง!

แต่กว่าจะถึงวันนั้น ในปีนี้ไชยวัฒน์ต้องทำให้สวนสยามมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทจึงจะคุ้มทุนที่จะต้องหักเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการประมาณ 60 ล้านบาท ค่าดอกเบี้ยอีกประมาณ 40 ล้านบาท ในเฉพาะหน้านี้ไชยวัฒน์ต้องพยายามเต็มที่และหยุดไม่ได้ที่จะดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายนั้น แม้จะต้องขายทรัพย์สินส่วนตัวออกไปอีกก็ตาม

"ผมขายอะไรมามากแล้ว ขายจนไม่มีอะไรจะขายแล้ว เคยมีคนบอกให้ผมหยุด แต่ผมหยุดไม่ได้เพราะถ้าหยุดผมตายทันที" ไชยวัฒน์กล่าวทิ้งทายกับ "ผู้จัดการ"

ใช่! ไชยวัฒน์ยังหยุดไม่ได้และยังตายไม่ได้ เพราะมีอีกหลายคนที่ต้องการให้ไชยวัฒน์อยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหนี้รายใหญ่ที่ชื่อ "แบงก์กรุงเทพ"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.