พายุโหมสหกลแอร์ ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ปีกจะหักเสียแล้ว!


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

การลงทุนธุรกิจการบินหากไม่หล่นหลุมอากาศก่อนเวลาอันควรเสียก่อน โอกาสที่จะฟันกำไรในระยะยาว ก็อยู่ไม่ไกลเกินฝันนัก ด้วยเหตุนี้หมอผ่าตัดชื่อดัง ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ จึงกล้าที่จะละธุรกิจทุกอย่าง หันมาทุ่มเทอย่างจริงจัง พร้อมตั้งความหวังสูงสุดว่า วันหนึ่งจักต้องเป็นจ้าวเวลาให้จงได้ แต่เส้นทางบินที่ผ่านมาไม่นานนัก พายุปัญหาซึ่งถั่งโถมโหมกระหน่ำทุกทิศทุกทาง ได้ตั้งคำถามขึ้นมาแล้วว่ายังจะกร้านแกร่งอยู่อีกหรือ ?

ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เกิดในตระกูล "ช้างบุญชู" ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังอย่างมากเกี่ยวกับเวชกรรมโอสถต่างๆ ทองคำ ช้างบุญชู ซึ่งเป็นอาและเป็นผู้ประสิทธิประสาทวิชาแพทย์ให้เขามาแต่เด็ก ๆ เป็นหมอพื้นบ้านที่ได้รับการยอมรับนับถือจนสามารถเข้านอกออกในเขตพระราชฐานสมัยก่อนได้อย่างสบายและไม่ขัดเขิน

ทองอยู่ ช้างบุญชู ผู้เป็นพ่อเป็นผู้ที่เปลี่ยนนามสกุลใหม่เป็น "ปราสาททองโอสถ" พร้อมตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายยาหอมขึ้นเป็นครั้งแรกบริเวณห้าแยกพลับพลาไชย ยาหอมปราสาททอง ยาหอมอินทรแท่งทอง ยาข่าหอมปราสาททองฯลฯ ชื่อเหล่านี้เป็นที่รู้จักกันดีแต่อดีตสืบต่อจนปัจจุบัน

พี่น้อง "ปราสาททอง" เกือบทุกคนไม่แตกต่างจากลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นเพราะจบการศึกษาถ้าไม่สาขาแพทย์ เภสัช ก็วิทยาศาสตร์ ทว่าที่ปรากฏในวงสังคมบ่อย ๆ ก็มี ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ปราไพ ปราสาททองโอสถ อดีตพี่เลี้ยง นางสาวไทยและประสพสุข ปราสาททองโอสถ อดีตผู้อำนวยการนิตยสารการเมืองฉบับหนึ่ง

ตัวปราเสริฐเรียนจบด้านศัลยแพทย์จากศิริราช เขาเป็นหมอผ่าตัดในจำนวนไม่มากนักที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ในความสามารถผลงานที่สร้างชื่อมากที่สุดก็คือ การผ่าตัดนายทหารนักบินคนหนึ่งที่หมอทุกคนลงความเห็นว่า "ไปไม่รอด" แต่ปราเสริฐ กลับช่วยชีวิตไว้ได้ราวปาฏิหาริย์

ปราเสริฐแม้ไม่ใช่ จักร ศัลยประจิตรตัวละครเอกคนหนึ่งในนิยายชื่อดังของ "อิงอร" แต่ทั้งคู่ก็มีแนวความคิดคล้ายคลึงกันที่ว่า จักรไม่เคยเรียกชื่อตัวเองนำหน้าว่านายแพทย์ เพราะกระดากที่ตั้งคลีนิคทำการค้าส่วนปราเสริฐ ไม่คิดที่จะตั้งคลีนิครักษาคนไข้ "มันดูเหมือนกับว่าเรากำลังทำลายจรรยาแพทย์" เขากล่าวสั้น ๆ กับ "ผู้จัดการ"

และนี่กระมังที่เป็นจุดหักเหในชีวิตที่ทำให้เขากระโจนลงสู่สนามการค้า

"เมื่อคิดว่าตัวเองไม่สามารถเป็นหมอเช่นคนอื่น ๆ เขาได้ ในขณะที่ชีวิตต้องการแสวงหาความก้าวหน้า ก็มองเห็นช่องทางว่า การทำธุรกิจการค้าน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด "ผมตัดสินใจเลิกอาชีพหมอหลังจากที่ทำมาแล้วถึง 5 ปี" ปราเสริฐเล่า

ปราเสริฐจับงานธุรกิจก่อสร้างเป็นงานแรกโดยร่วมกับ สุจินต์ ศิริทรัพย์ ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกับวัลลีย์ภรรยาของเขาและยังมีสุธรรม ตัณฑไพบูลย์ (เจ้าของเรือซีทรานควีน) เพื่อนนักเรียนรุ่นพี่อัสสัมชัญเข้ามาช่วยเหลือเกื้อหนุนอีกแรงในนามบริษัท "สหกลเอ็นยิเนียเริ่ง" ที่ต่อมาเป็นบริษัทในเครือ "กรุงเทพสหกล"

เป็นจังหวะดีของการเสี่ยงมาก ๆ เนื่องจากระยะนั้นเป็นระยะที่สหรัฐอเมริกามีโครงการจัดตั้งฐานทัพในเมืองไทย จึงมีการลงทุนก่อสร้างต่าง ๆ มากมาย ก็ด้วยความสามารถทั้งเหนือเมฆและใต้ดินสหกลเอ็นยิเนียริ่ง นับเป็นบริษัทเดียวที่คว้างานเหล่านั้นไว้ได้มากที่สุด โครงการที่สร้างชื่อให้ลือลั่น และทำกำไรอย่างมหาศาลก็คือ การสร้างสนามบินอู่ตะเภาที่สัตหีบ

"ปราเสริฐกับสุธรรมเป็นคนที่มีเพื่อนสนิทเป็นนายทหารมากมาย และยังเข้าถึงผู้หลักผู้ใหญ่ของประเทศได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.อ. ทวี จุลละทรัพย์ ที่คุมอำนาจสมัยนั้น ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะประมูลงานของสหรัฐไว้ได้ ส่วนสุจินต์เขารับหน้าที่คุมงานมากกว่าเพราะช่ำชองที่สุด" ผู้ใกล้ชิดคนทั้งสามกล่าว

งานแรกฉลุย งานอื่น ๆ ก็เคลื่อนตาม สามสหายเริ่มปฏิบัติตัวเป็น "หนวดปลาหมึก" ที่จะเกาะเกี่ยวธุรกิจอื่น ๆ เพิ่มเติม ซึ่งก็เลือกเอาด้าน การขนส่ง และพลังงานโดยตั้งแผนกขนส่งทางอากาศขึ้นมาอีกแผนกหนึ่งในบริษัทกรุงเทพสหกล เมื่อปี 2509 และตั้งบริษัท ไทยปิโตรเลี่ยมเซอร์วิส จำกัด (TPS) คุมด้านพลังงาน (ให้บริการต่าง ๆ กับบริษัทขุดเจาะน้ำมัน)

แต่ต่อมาต่างคนก็ต่างแยกย้ายกันไปสุธรรมหันกลับไปคุมกิจการเดินเรือของครอบครัว สุจินต์รับงานสหกลเอ็นจิเนียริ่งโดยไม่มีปราเสริฐร่วมแรง ส่วนปราเสริฐก็มุ่งมั่นกับกิจการขนส่งทางอากาศและธุรกิจด้านพลังงานอย่างไม่อินังขังขอบเช่นกัน

"เป็นธรรมดาเราร่วมงานกันมานานชีวิตจิตใจบางครั้งมันก็นึกเบื่อ จึงตัดสินใจผ่าบริษัทออกเป็น 3 เสี่ยง สุจินต์รับด้านก่อสร้าง สุธรรมก็กลับไปคุมธุรกิจเดินเรือที่ชอบมาแต่เด็ก ส่วนผมนั้นใฝ่ฝีนอยากจะเป็นนักบินมาแต่เด็กเลยจับด้านนี้เป็นหลัก" ปราเสริฐกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ทว่าแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดเล่าว่า จุดแตกแยกนั้นน่าจะเกิดจากการเป็นวันแมน โชว์ ของปราเสริฐมากกว่า เพราะเขาเชื่อในการตัดสินใจที่ค่อนข้างจะเด็ดเดี่ยวของตัวเองว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทั้งนี้อาจจะมาจากพื้นฐานการเป็นหมอที่ต้องมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง กอปรกับระยะหลังๆ เขาไม่ค่อยจะไว้เนื้อเชื่อใจใครนัก !

"ไม่แต่เพื่อนเท่านั้น แม้แต่ปราไพที่เป็นน้องสาว และเข้ามาคุมด้านบริหารการเงินป้องกันรั่วไหลได้เป็นอย่างดี ก็ไม่อาจทนกับแบบแผนการทำงานที่ยึดถือตัวเองคือความถูกต้องของพี่ชายได้ ซึ่งความคิดนี้ยังสะสมในตัวหมอมาจนถึงปัจจุบันที่มีการผลัดเปลี่ยนผู้บริหารที่เป็นคีย์แมนในบริษัทไม่มีที่สิ้นสุด" แหล่งข่าวกล่าว

ปราเสริฐ ยอมรับตรงไปตรงมาว่า "ครับผมเป็นคนที่เชื่อมั่นใจตนเองสูง" แต่ดูเหมือนจากภาวะบีบคั้นต่าง ๆ ในปัจจุบัน มีข่าวว่า "ปราเสริฐดึงปราไพกลับมาร่วมงานเช่นเดิมแล้ว"

และข้อดีของปราเสริฐในสายตาผู้ร่วมงานที่ผ่านมาทุกคนบอกว่า "ถึงแม้หมอจะบริหารงานแบบรวมอำนาจผูกขาด แต่ก็ได้ชื่อว่าเป็นคนที่มีความเอื้อเฟื้อมากที่สุดคนหนึ่ง"

ถึงปราศจากแม่ทัพที่เคยกรำศึกฝ่าความยากลำบากกันมาแต่ต้น ทว่าปราเสริฐยังคงเป็นนักสู้ที่ท้าทายภาระหนักหน่วงทุกรูปแบบอย่างไม่ย่อท้อ และอาจะเป็นโชคที่พระเจ้าจงใจหยิบยื่นแก่เขาก็ได้ทำให้ทั้งกิจการขนส่งทางอากาศ (AIR TAXI) และด้านบริการแรงงาน แวร์เฮาส์ (โกดังเก็บเครื่องมือ) ให้กับบริษัทขุดเจาะน้ำมันเมื่อสิบปีก่อน ไม่มีคู่แข่งมากนัก ปราเสริฐผงาดขึ้นมาจนได้รับการขานรับว่าเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่ง

กินการการบินที่ไม่เคยตกหลุมอากาศ ที่สุดเมื่อปี 2527 เขาจึงตัดสินใจยกระดับแผนกนี้ขึ้นเป็นบริษัทต่างหากคือ สหกลแอร์ ด้วยทุนจดทะเบียนครั้งรแก 1 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 1,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 1,000 บาท มีผู้ร่วมก่อตั้งและถือหุ้น 7 คนคือ

น.พ. ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ถือหุ้นใหญ่ 4,497 หุ้น

ประสพสุข ปราสาททองโอสถ 2,499 หุ้น

รณรงค์ วรรณพฤกษ์ 2,500 หุ้น

ขจิต หัพนานนท์ ปราภา นวลสกุล เทียมจันทร์ อินทุวงศ์ และอรพินทร์ จงจิตกมล คนละ 1 หุ้น

ต่อมามีการเพิ่มทุนบริษัทขึ้นอีก 9 ล้านบาท พร้อมกับที่ ปราไพ ปราสาททองโอสถ, ธีระ อูนากูล และนิพนธ์ จันทร เข้ามาเป็นกรรมการแทน อรพินทร์,ขจิต และรณรงค์ ที่ขอลาออก ซึ่งนิพนธ์ จันทร ต่อมาเป็นมือขวาของปราเสริฐที่รับภาระกิจการการบิน

ธุรกิจการบินแต่เดิมเป็นการให้บริการบินเช่าเหมาเท่านั้น จนกระทั่งเมื่อประมาณกลางปี 2528 คณะรัฐมนตรีมีมติให้บริษัทเอกชนเข้าดำเนินธุรกิจการบินประเภทเครื่องบินโดยสารแบบประจำมีกำหนดเช่นเดียวกับในต่างประเทศ

ด้วยความพร้อมที่มีอยู่ไม่น้อย ปราเสริฐเริ่มตั้งความหวังในใจว่า "เขานี่แหละที่จะขอเป็นเอกชนรายแรกที่เข้ามาเล่น และขอให้กิจการการบินพาณิชย์โดยเอกชนเป็นที่ยอมรับให้จงได้" ซึ่งความใฝ่ฝันนี้ได้รับการสนับสนุนจากบุคคลต่างๆ เป็นอย่างดี

กระทรวงคมนาคมสมัย สมัคร สุนทรเวช เป็นรัฐมนตรีนั้นเปิดให้บริษัทเอกชนที่บริการด้านเครื่องบินเช่าเหมาเสนอหลักการประกอบการบินโดยสาร สหกลแอร์ก็เป็น 1 ใน 4 บริษัทที่แสดงความจำนงที่เหลือก็มี บริษัท เอราวัณแอร์ จำกัดของกลุ่ม พล.ต. ชาติชาย ชุณหะวัณ (ที่อกหักจากการขอเปิดบินไปจีน) บริษัท ไทยฟลายอิ้งเซอร์วิส จำกัด (ของธีรเดช ไม้ไทยที่พาคณะอธิบดี ศิววงศ์ จังคศิริ โหม่งโลกที่ปทุมธานี) และบริษัท ที.ไอ.เอส. จำกัด (ของทองอินทร์ แสงงาม)

แต่จากเงื่อนไขและหลักการต่าง ๆ ที่ทุกบริษัทเสนอ คณะกรรมการพิจาณาที่มี น.พ. บุญเทียม เขมาภิรัตน์ รมช. คมนาคม สมัยนั้นเป็นประธาน ได้ตอบกลับว่า "พร้อมที่จะอนุญาตให้ทุกบริษัทบินรับส่งผู้โดยสารได้ ทั้งนี้ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าจะต้องเป็นบริษัทมหาชนเท่านั้น"

ทุกบริษัทปฏิเสธที่จะยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว เพราะธุรกิจการบินถ้าทำเช่นนั้นเท่ากับฆ่าตัวตายทางอ้อม เนื่องจากแต่ละคนต่างก็อยากเป็นเจ้าของเพียงคนเดียว

"ในที่ประชุมยัวะกันมากกับแนวความคิดของหมอบุญเทียม โดยเฉพาะหมอปราเสริฐแกโกรธจัด" แหล่งข่าวที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนั้นกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

หลังจากนั้นไม่กี่วันหมอปราเสริฐก็ทำให้ทุกคนงงไปหมด เมื่อมีข่าวว่าครม.มีมติอนุมัติให้ บริษัท สหกลแอร์ จำกัดเป็นผู้ได้รับสัมปทานการบิน

"พวกเรางงกันมาก เพราะที่ประชุมแทบจะตีกันตาย หนำซ้ำที่สหกลแอร์ได้รับอนุมัติก็อยู่ในเงื่อนไขเดิมที่เคยเสนอไป ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงตามที่หมอบุญเทียมเสนอแม้แต่น้อย เมื่อผลออกมาดังกล่าวเราต้องยอมรับในความเป็นวงศ์เทวัญของหมอ" แหล่งข่าวท่านเดิมกล่าว (วงศ์เทวัญ เป็นสรรพนามที่คนในกองทัพอากาศเรียกหมอประเสริฐซึ่งมีญาติสนิทมิตรสหายมากในกองทัพอากาศ)

ว่ากันว่างานนี้เล่นเอาหมอบุญเทียมกับคนเหนือหัวที่หมอปราเสริฐวิ่งเข้าล็อบบี้แทบจะผีไม่เผา เงาไม่เหยียบกัน

ช่วงเดียวกันนี้หอการค้า จ. นครราชสีมา โดย ทวิสันต์ โลณานุรักษ์ ประธานอนุกรรมการ ฝ่ายการท่องเที่ยว มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะให้มีสายการบินมาลง เนื่องจากเห็นว่า เป็นเมืองธุรกิจขนาดใหญ่ มีการติดต่อทางการค้าอย่างมากมาย และเรื่องนี้เคยเสนอต่อ บดท. แต่ได้รับการปฏิเสธว่าไม่คุ้มทุน

ถึงกระนั้นก็ยังไม่สิ้นความพยายามทวิสันต์ได้เจรจาติดต่อกับสหกลแอร์ที่ได้รับอนุมัติแล้วให้เปิดเส้นทางบินมาที่โคราชโดยเริ่มติดต่อกันครั้งแรกเมื่อ 24 มิถุนายน 2528 ซึ่งทางหอการค้าโคราชได้ยอมทุ่มทุนทำวิจัยความเป็นไปได้ของการลงทุนนานนับหลายเดือน

ที่สุดก็ได้ข้อมูลว่า สามารถทำได้สบาย ๆ ไม่ขาดทุน

สหกลแอร์ก็เห็นด้วยกับผลวิจัยดังกล่าว

เมื่อผ่านอุปสรรคไปเปลาะหนึ่ง หอการค้านครราชสีมา จึงวิ่งเต้นติดต่อถึง พล.ต. อรุณ ปริวัตติธรรม ผบ. กองบัญชาการช่วยรบที่ 2 ค่ายสุรนารีในขณะนั้นและสมบูรณ์ ไทยวัชรามาศ ผู้ว่าฯ ขอใช้สนามบินทหารซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี

นั่นเป็นความภาคภูมิใจของคนโคราชอย่างมาก

20 มกราคม 2529 สหกลแอร์สามารถเปิดทำการบินรับส่งผู้โดยสารได้เป็นครั้งแรกซึ่งทวิสันต์ที่เป็นตัวตั้งตัวตีรับเป็นเอเย่นต์ขายตั๋วทางโคราชให้ด้วย ความประทับใจดังกล่าวเป็นเครื่องระลึกถึงเสมอมา

และเพื่อสนับสนุนกิจการการบินของสหกลแอร์ ทางหอการค้านครราชสีมากับบริษัท โคราชธุรกิจ ของทวิสันต์ยังได้พยายามที่จะเปิดเมืองโคราชให้เป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวอีสานใต้ พร้อมวิ่งประสานบริษัททัวร์ต่างๆ ให้จัดส่งนักทัศนาจรมาให้สหกลแอร์ ตอนนั้นทุกอย่างเต็มไปด้วยความอึกทึก

ต่อจากเส้นทางกรุงเทพฯ-โคราชก็ขยายเป็นกรุงเทพฯ-สุรินทร์ และกรุงเทพฯ-กระบี่ ตามลำดับ ทั้งนี้สหกลแอร์ได้ใช้เครื่องบินแบบเดเรนเต้ อีเอ็มบี. 110 ซึ่งเป็นเครื่องบิน 18 ที่นั่งที่เช่าจากบริษัทในออสเตรเลีย 2 ลำมาบริการรับส่งผู้โดยสาร

สหกลแอร์ได้ดึงมือดีด้านต่าง ๆ เสริมทัพอย่างแข็งขันเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายจ้าวเวหาให้ได้มือดีเข้ามาก็อาทิเช่นธีระชัย เชมนะศิริ นักบริหารหนุ่มจากปูนซีเมนต์ไทย พอเพ็ญ เสงี่ยมพงษ์ชาญ มือ พี.อาร์. จากไทยฮักกุโด ธนวัฒน์ ลีละพันธ์ จากการบินไทย ซึ่งปลุกโรงแรมราชพฤกษ์ให้คึกคักมาแล้ว พนักงานที่อาคารกรุงเทพสหกล ก็ยัวะเยียะไม่น้อยกว่า 35 คน

ไม่น่าเชื่อว่าจะต้องเป็นครั้งแรกที่ต้องมาเล่าขานถึงความไม่สู้ดีในปัจจุบันนี้เลย

นอกจากจะเปิดเส้นทางบิน 3 สายแล้ว หมอปราเสริฐ ยังมีโครงการที่จะสร้างสนามบินขนาดใหญ่ที่มีรันเวย์ยาวกว่า 1,200 เมตรที่เกาะสมุย ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างโรงแรมขนาดยักษ์ของตนที่นั่น ซึ่งถ้าโครงการนี้สำเร็จ

เกาะสมุยจะเปลี่ยนโฉมหน้าไม่แพ้หาดใหญ่เลยทีเดียว

"การเปิดเส้นทางบินของผมนั้นผมมองไปที่เมืองท่องเที่ยวเป็นแนวหลัก มากกว่าที่จะมองไปยังเมืองเศรษฐกิจเพราะผมเชื่อว่าอนาคตเราจะต้องไปเที่ยวกันมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ผมจึงเปิดบินไปยังระนอง กระบี่ สมุย ที่จะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในอนาคต" ปราเสริฐกล่าวถึงแผนการตลาด

กิจการบินใน 3 เส้นทางดำเนินด้วยความปกติ แม้จะไม่สู้ดีในบางสาย แต่ก็มีแนวโน้มว่ายังคงจะไปได้สวยในอนาคตโดยเฉพาะสายกรุงเทพ-โคราช ที่บินถึงวันละ 4 เที่ยว จนมาถึงวันที่ 3 กันยายน 2529 ก็ปรากฏเค้ารางแห่งความยุ่งยากเมื่อสหกลแอร์เกิดปัญหากับบริษัทให้เช่าเครื่องบินที่ออสเตรเลียจนต้องคืนเครื่องกลับไปทั้งหมด

เครื่องบินแบนเดเรนเต้ อีเอ็มบี .110 ที่เช่ามาในลักษณะเช่าซื้อ แหล่งข่าวที่คลุกคลีในวงการบินมานับสิบๆ ปี ให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ไม่รู้ว่าหมอแกคิดอย่างไรในเรื่องนี้ แต่พวกเราในวงการงงกันมาก เพราะไม่มีสายการบินที่ไหนในโลกเขาทำกัน แอร์สยามเองครั้งแรกยังใช้วิธีเช่าเครื่องจาก เอสเอเอส."

ส่วนสาเหตุที่สหกลแอร์มีปัญหาเกี่ยวกับเครื่องแบนเดเรนเต้ แหล่งข่าวกล่าวว่า

1. เครื่องแบนเดเรนเต้ ไม่มีเครื่องอะไหล่ในเมืองไทย เมื่อเครื่องเข้าตรวจซ่อมต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 100 ชั่วโมงจึงเกิดปัญหาหาเครื่องทดแทนไม่ได้ บริษัทผู้เช่าก็เสียผลประโยชน์และเรียกค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงสูงผิดปกติ

2. จากปัญหาแรก ก็เลยทำให้การเจรจาที่จะเช่าซื้อติดขัด เพราะสหกลแอร์ต้องการเปลี่ยนแปลงสัญญาให้ตรงกับความเป็นจริงที่เครื่องไม่สามารถทำงานได้ 100% โดยขอลดหย่อนราคาลงมา แต่ทางออสเตรเลียไม่ตกลง

3. บริษัทผู้ให้เช่าออสเตรเลียกระเสนกระสายมาว่า สหกลแอร์ไปพบเครื่องบินซาปที่ให้ผลคุ้มค่ากว่าเครื่องของตน และก็เข้าใจว่าสหกลแอร์ต้องเอาเครื่องนั้นแน่เพื่อไม่ให้เสียเหลี่ยมก็เลยตัดใจขอเครื่องคืนไปเสียก่อน

สหกลแอร์ต้องหยุดบินจนถึง 1 ตุลาคม 2529 พร้อมกับที่ภายในบริษัทก็เกิดเรื่องวุ่นวายไม่น้อย มือดีที่ดึงเข้ามาไม่สามารถปฏิบัติงานได้ตามแผนงานที่วางเอาไว้ เป็นเพราะถูกบีบจากคนที่เป็นใหญ่ซึ่งรวบอำนาจเอาไว้

ที่สุดคนเหล่านั้นก็เลยโบกมืออำลากันไปทีละคนสองคน

บรรยากาศที่เคยคึกคักก็กลายเป็นเงื่อนหงอยเศร้าซึม

หมอปราเสริฐก็เริ่มถูกรุมเร้าด้วยปัญหาหลายหลากในการดำเนินธุรกิจ

การหยุดบินในครั้งนั้นส่งผลเสียหายเป็นอย่างมาก บริษัท โคราชธุรกิจ จำกัดได้มีจดหมายลงวันที่ 20 กันยายน 2529 เสนอแนะให้สหกลแอร์แถลงข่าวอย่างเป็นทางการว่า ทำไมต้องหยุดบินทั้งนี้เพื่อไม่ให้ศรัทธาที่กำลังงอกงามต้องจางหาย

แต่สิ่งที่ได้รับคือความเพิกเฉยอยู่เป็นเวลานาน

เมื่อประสบปัญหากับเครื่องแบนเดเรนเต้ สหกลแอร์ก็หาทางออกด้วยการไปเช่าเครื่องแอฟโร จาก บดื.ในราคาค่าเช่าเดือนละ 100,000 บาทมาบริการผู้โดยสาร ซึ่งเครื่องบินนี้ต้องใช้รันเวย์ยาวดังนั้นจึงต้องยุบสายสุรินทร์และกระบี่ไปเหลือกรุงเทพฯ-โคราชเส้นเดียวพร้อมกับลดเที่ยวบินเหลือเพียงวันละ 2 เที่ยว (เช้า-เย็น)

แม้จะเหลือวันละ 2 เที่ยวเรื่อก็ไม่น่าจะเลวร้ายถ้าหากสหกลแอร์จะปฏิบัติการบินได้เช่นเดียวกับสายการบินอื่นๆ ในต่างประเทศ และแล้วฝันร้ายก็กระหน่ำซ้ำเมื่อ 1 มกราคม 2530 สหกลแอร์ได้ลดเที่ยวบินเหลือแค่เที่ยวเดียว โดยไม่มีจดหมายแจ้งให้เอเยนต์ทราบล่วงหน้า

"ทำเหมือนกับว่าเราเป็นอะไรอย่างนั้น ผู้โดยสารจำนวนหนึ่งตำหนิติเตียนอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีหลักการและระบบของหมอ อย่างเช่นผู้บริหารระดับสูงของแบงก์กรุงเทพคล้องมาลัยส่งกันเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่มีเครื่องเขาเสียหน้ามาก เราเป็นเอเยนต์ก็ต้องแบกรับ หมอคิดถึงข้อนี้บ้างไหม" ทวิสันต์ของโคราชธุรกิจกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

เหตุการณ์บินแบบกระปริบกระปรอย บินหยุด ๆ หย่อน ๆ ยังก่อความเสียหายอีกหลายครั้ง และที่เสียหายมากที่สุดก็คือ กลุ่มนักธุรกิจเครื่องไฟฟ้าที่ตกเครื่องไม่สามารถไปประชุมได้ตามกำหนดเวลาจนแทบเสียเครดิต ซึ่งครั้งนี้ทวิสันต์คิดว่า "เขาทนมาพอแล้ว"

เมื่อแก้ไขให้ดีขึ้นไม่ได้ และสิ่งที่เกิดขึ้นตนก็ไม่ใช่ผู้ก่อ จะต้องทนให้เสื่อมเสียชื่อเสียงต่อไปทำไม ที่สุดทวิสันต์จึงบอกเลิกการเป็นเอเยนต์เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2530

กับเหตุการณ์อันน่าหดหู่ดังกล่าวหมอปราเสริฐ แย้งและแก้ต่างว่า ได้ระงับการบินจริง 2 ครั้ง ๆ แรกเนื่องจาก บดท. นำเครื่องไปเวียงจันทร์แล้วส่งมอบให้ไม่ทัน อีกครั้งต้องเช็คเครื่อง ที่ไม่บอกล่วงหน้า เพราะนักบินเห็นว่าบินไปแล้วไม่ปลอดภัย การหยุดบินนี้เป็นเรื่องธรรมดาตนอยู่ในวงการนี้มาหลายสิบปีไม่ยอมเสียชื่อแน่ ๆ "ทวิสันต์เขาไม่เคยขายตั๋วมาก่อนเลยไม่รู้"

จุดผิดพลาดของสหกลแอร์ที่น่าพิเคราะห์อีกประการหนึ่งนอกเหนือไปจากความผิดพลาดในการบริหารงานแบบ "หมอคนเดียว" การขาดการศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดลึกซึ้งก็คือ ในบรรดาทีมขายที่ดึงเข้ามานั้นไม่มีใครรู้เรื่องการตลาดอย่างแท้จริง ธนวัฒน์ก็ผ่านมาแบบเฉียด ๆ

"นี่แหละจุดผิดพลาดมากที่สุด ดูกันแค่ราคาตั๋วหากใครรู้เรื่องการบินคงคัดค้านแล้วกับราคา 400 บาทที่ไปโคราช ราคานี้ฆ่าตัวตายชัดๆ การตลาดสินค้าอื่นอาจหั่นราคายอมขาดทุนได้ แต่การบินไม่เหมือนสินค้าอื่น ถ้าหมอได้ศึกษาสายการบินในอินโดนีเซียอาจไม่เจอเหตุการณ์อย่างนี้" แหล่งข่าวกล่าว

ก็ตรงกับความจริงที่ปราเสริฐเองยอมรับว่า "ผมขาดทุนมาตลอด"

นอกจาปัญหาการบินที่ไม่สม่ำเสมอจนเสียศรัทธา ปัญหาการตลาดที่อยู่ในรูปเนื้อเต่ายำเต่า ขาดทุนแบบไม่น่าขาดทุนมาตลอด ปัญหาการเงินก็เป็นประเด็นสำคัญเพราะเงินส่วนหนึ่งของปราเสริฐไปจมกับโครงการสร้างสนามบินที่เกาะสมุยอย่างค่อนข้างจะโชคร้าย

เดิมทีเดียวที่ดิน 150 ไร่ ซึ่งจะใช้สร้างสนามบินที่เกาะสมุยเป็นที่ดินของ ทองอินทร์ แสงงาม แห่งบริษัทที.ไอ.เอส.จำกัด ซึ่งเคยเสนอตัวขอบินรับส่งผู้โดยสารเช่นกัน ที่ดินนี้ทองอินทร์ได้รับการช่วยเหลือจากหลวงพ่อวัดเขาเต่า เป็นธุระติดต่อในการซื้อขายกับชาวบ้านในราคาที่ไม่แพงนักเพียงไร่ละไม่กี่พันบาทโดยมีโครงการสร้างสนามบินเช่นเดียวกัน

แต่เมื่อ ครม. พิจารณาให้สหกลแอร์เป็นผู้ได้รับสัมปทานการบิน ประจวบกับที่ดินบริเวณนี้เหมาะสมอย่างมากต่อการสร้างสนามบิน เมื่อตนเองไม่ได้และปราเสริฐอยากจะได้

ก็เลยเป็นแค้นที่ต้องชำระกันทางอ้อม

ทองอินทร์ขายที่ดินให้สหกลแอร์ไปในราคาที่สูงกว่าซื้อมาร่วมสิบเท่า และยังกันเอาไว้อีกส่วนหนึ่งเพื่อทำเป็นบ่อน้ำจือขายให้กับโรงแรมที่ปราเสริฐจะสร้างขึ้นมาอีก

เป็นเบี้ยที่ตาเก็บอย่างแสบสันต์ซึ่งปราเสริฐเองต้องจำยอมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดั่งเหมือนโรคซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็นที่ตามหลอกหลอนไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยความต้องการที่จะสร้างสนามบินขนาดยักษ์ทำให้ต้องกว้านซื้อที่ดินเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 220 ไร่ คราวนี้ราคายิ่งสูงมากขึ้นไปกว่าครั้งที่ทองอินทร์ขายให้เสียอีก ว่ากันว่าราคาขายสูงถึงไร่ละ 200,000 บาท

"ผมว่าแกคิดผิด เอาเงินไปจมที่เกาะสมุยมากเกินไปไม่น้อยกว่าร้อยล้าน ความคิดนี้ดีแต่ควรเกาะ บดท. ไปก่อนการสร้างสนามบินถ้าไม่มีรายได้ทางอื่นหรือแอร์ไลน์สายอื่นมาร่วมใช้ก็ลำบากที่ทราบมาหมอจะใช้ของแกคนเดียว" แหล่งข่าวกล่าว

และด้วยเหตุนี้กระมังที่ทำให้ บีโอไอ. ไม่ยอมให้การส่งเสริม รวมไปถึงการเช่าซื้อ เครื่องบินซาป 340 (SAAB 340) ที่สหกลแอร์ขอลดหย่อนภาษีนำเข้าจาก 5% เหลือ 1% อีกด้วยเหตุผล "ไม่คุ้มทุน" จนเรื่องนี้ปราเสริฐเองถึงกับยัวะ บีโอไอ. มากว่า "จุ้นไม่เข้าเรื่อง คุ้มทุนหรือไม่คุ้มทุนอยู่ที่คนค้ำประกัน"

สำหรับเครื่องซาป 340 ที่จะเช่าซื้อจากบริษัทในสวีเดน 2 ลำ เป็นเครื่องบิน 34 ที่นั่งที่ปราเสริฐต้องการนำมาแทนเครื่องแอฟโร 748 โดยซื้อในวงเงินเครื่องแรก 6.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลำที่สอง 6.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ตอนแรกมีข่าวว่าจะนำเข้ามาในเดือนตุลาคม 2529 แต่ก็เลื่อนมาเป็นมกราคม 2530 ทว่ายังนำเข้าไม่ได้จนขณะนี้

ไม่รู้ว่ามีนาคมจนถึงพฤษภาคม 2530 จะนำเข้ามาได้อย่างที่ว่าไว้หรือไม่?

"ทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว เราส่งเจ้าหน้าที่ไปฝึกกับเขาแล้ว สีก็ทาเรียบร้อยแล้วคาดว่าไม่เกินเดือนพฤษภาคมคงนำเข้ามาได้แน่นอน" ปราเสริฐกล่าวอย่างมั่นใจกับ "ผู้จัดการ"

แหล่งข่าวในวงการการบินเผยกับ "ผู้จัดการ" ถึงสาเหตุที่สหกลแอร์และหมอปราเสริฐยังไม่สามารถนำเข้าเครื่องบินซาป 340 ได้นั้นเป็นเพราะ

1.หมอกำลังประสบปัญหาการเงินจากการดำเนินธุรกิจที่เริ่มมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการบินหรือบริษัทที่ให้บริการด้านขุดเจาะน้ำมันที่ฟุบไปตามสถานการณ์พลังงานที่ตกต่ำตั้งแต่ปีที่แล้ว

2. นักบิน 4 คนที่ส่งไปเช็คและฝึกกับเครื่องโดยทุนที่ทางซาปออกให้ตามพันธะสัญญาปรากฎว่าผ่านการทดสอบเพียงคนเดียว เมื่อเป็นอย่างนี้ทางซาปจึงไม่กล้าที่จะส่งมอบเครื่อง ปัญหานี้ถ้าจะแก้ไขสหกลแอร์ต้องส่งนักบินไปฝึกใหม่โดยออกค่าใช้จ่ายเอง

ปัญหาอยู่ที่ว่าค่าใช้จ่ายในการฝึกบินนั้นไม่ต่ำกว่าชั่วโมงละ 10,000 บาทสมมุติว่าส่งไปอีกสาม สหกลแอร์จะต้องแบกรับภาระที่ไม่น้อยเช่นกัน ยิ่งเมื่อฐานะเริ่มคลอนแคลนก็เลยเป็นเรื่องที่ต้องขบคิดกันอย่างหนัก

"ไม่รู้นะในความคิดของผมว่าเครื่องซาป 340 นี่ยากจะเข้ามา การตัดสินใจซื้อก็เป็นการฮาราคีรีตัวเองแล้ว ธุรกิจการบินระดับประเทศยังไม่ทำ อย่างแอร์ลังกายังใช้วิธีเช่าเครื่องอยู่เลย ที่สำคัญคือว่าเครื่องซาป 340 นี้ถ้าเสียไม่อาจซ่อมได้ในเมืองไทยต้องไปซ่อมที่สิงคโปร์ ถ้าหมอจะเอาเข้ามาก็ต้องลงทุนสร้างโรงซ่อมอีก ไม่รู้ว่ามันจะคุ้มกันไหม" แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกันในสายงานตั้งคำถามถึงปราเสริฐกับ "ผู้จัดการ"

สภาพการบินของสหกลแอร์ แม้ปราเสริฐจะยืนกรานหนักแน่นถึงความมั่นคงที่ไม่เคยผิดสัญญากับเจ้าหนี้ต่างๆ แต่คนวงในก็บอกว่า "นั่นคือภาพลวงตาเพราะเนื้อแท้นั้นข้างในกลวงสิ้นดี" ซึ่งมีข่าวที่ยืนยันได้ว่า ปราเสริฐยังมีพันธนาการทางหนี้สินอีกหลายปมไม่ว่าจะเป็นหนี้กับกรมศุลกากรในการนำเครื่องบินไปเปอร์นาวาโฮชิฟเทนเข้ามาในประเทศ 50 ล้านบาท ตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว คิดเบี้ยประกัน 2 แสนบาทกับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งในการประกันผู้โดยสารและเครื่องแบนเดเรนเต้ อีเอ็มบี. 110 ในวงเงิน 100 ล้านบาท ซึ่งบริษัทประกันภัยทำท่าจะไม่ให้เครื่องซาป 340 ถ้ายังไม่สามารถเคลียร์หนี้สินเก่าให้หมดเสียก่อน

ในวังวนแห่งความสับสน มองไปข้างหน้าก็เห็นแต่หลุมอากาศเต็มไปหมด ปราเสริฐก็ยังพอที่จะหลงเหลือความหวังอยู่บ้างว่า หนทางที่เขาจะฝ่าบินเพื่อเป็นจ้าวเวหานั้นยังไม่มืดมิด โดยมุ่งไปที่เพื่อนซี้สมัยเรียนเตรียมแพทย์ศิริราช คนที่ชื่อ พล.อ.ท. เกษตร โรจนิล หรือบิ๊กเต้เสนาธิการทหารอากาศคนปัจจุบันที่จ่อหัวคิวหมายเลข 2 ในการขึ้นคั่วตำแหน่งผบ.ทอ.

หาก ผบ.ทอ. คนต่อไปเป็นบิ๊กเต้คงมีผลต่อปราเสริฐไม่น้อย เนื่องจากตำแหน่ง ผบ.ทอ. นั้นจะต้องนั่งเก้าอี้ประธานการบินไทยและ บดท. ไปในตัวซึ่งการประกอบธุรกิจการบินภายในประเทศที่ภาคเอกชนอย่างปราเสริฐและหลายๆ รายประสบปัญหาอยู่ในเวลานี้ก็คือ ถูกกลั่นแกล้งทั้งทางตรงและทางอ้อมจาก บดท. โดยที่ บดท. พยายามจะกีดกันเส้นทางบินที่มีอนาคตเอาไว้คนเดียวอย่างเช่นเส้นทางบินไปเชียงใหม่ ภูเก็ต

เส้นทางที่เจียดให้ภาคเอกชนเป็นเส้นทางสายมรณะเสียเกือบหมด

ปัญหานี้เป็นที่ถกเถียงและพูดคุยกันอย่างมากในการประชุมเกือบทุกครั้งล่าสุดในการประชุมที่เชียงใหม่เมื่อปีที่ผ่านมา บดท. ก็ถูกสับเละว่าเป็น แมวหวงก้าง อยากได้เอาไว้แต่ทำไม่ได้ดี ทุกคนกระทุ้งกันว่า ถึงเวลาที่ บดท. ควรใจกว้างให้เอกชนเข้ามาร่วมพัฒนาเส้นทางบินบางสายได้แล้ว

ปราเสริฐเองก็ตั้งความหวังเหล่านี้ไว้ในใจ มีหลายสายที่เขาอยากจะทำ แต่ติดขัดซ้ำซ้อนกับบดท.

ดังนั้นถ้าบิ๊กเต้ คนที่ต้องพูดคุยทางโทรศัพท์กับเขาเกือบทุกอาทิตย์ บุญพาวาสนาส่งก้าวขึ้นไปสู่ตำแหน่ง ผบ.ทอ. ได้เป็นผลสำเร็จ ก็เท่ากับเป็นการเปิดไฟเขียวให้ปราเสริฐไปแล้วครึ่งตัว

ท่ามกลางสภาวะแห่งปัญหาที่ถั่งโถมถ้าคืนนี้ปราเสริฐไม่แหลกราญไปเสียก่อนพร้อมกับที่มีการปรับกลยุทธ์ต่าง ๆ เสียใหม่ ที่พูดกันว่าเขาจะเป็นจ้าวเวหาเมืองไทยก็อาจเป็นไปได้มากทีเดียว !



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.