กรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลี จวบจนถึงจุดอวสานก็ยังดูไม่จืด

โดย ทรงเกียรติ ชาติวัฒนานนท์
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

ก่อนถึงจุดอวสานของ บริษัท กรรณสูต เจนเนอรัล แอสเซมบลี จำกัด มีหลายสิ่งหลายอย่างเป็นตัวบ่งบอกสาเหตุแห่งความล้มเหลว สิ่งเหล่านั้นได้ถูกบันทึกไว้ในตำนานของบริษัทเอง ถูกสะสมมาหลายปี และเมื่อแก้ไขกันด้วยการที่ต่างคนต่างคิดว่าความคิดตัวเองเท่านั้นที่เลอเลิศ ความสามารถของตัวเองเท่านั้นที่เหนือฟ้า ทุกสิ่งทุกอย่างจึงพังลงมาให้เป็นเป็นบทเรียนครั้งแล้วครั้งเล่า

โศกนาฏกรรมของบริษัทกรรณสูตเจนเนอรัล แอสเซมบลี จำกัด ผู้ประกอบรถยนต์รายใหญ่รายหนึ่งของประเทศไทยซุบซิบกันมาตั้งแต่ปี 2526 เมื่อ กรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลี หยุดการผลิตรถยนต์เฟียตโดยสิ้นเชิง

ปี 2527 เดือนสิงหาคม บริษัท กรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลี จำกัดสั่งชิ้นส่วนถอดแยกประกอบหรือที่เรียกกันว่าซีเคดี อันเป็นซีเคดีของรถยนต์เฟียตจำนวน 48 คัน เข้ามาในประเทศไทยแต่ก็ไม่สามารถที่จะไปรับชิ้นส่วนดังกล่าวที่ท่าเรือได้ ปล่อยให้ค้างเติ่งอยู่ที่นั่นจนถึงปัจจุบัน

ปี 2529 เดือนกันยายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสั่งเพิกถอนหุ้นสามัญของบริษัทจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั่นก็หมายความว่า การอยู่ยืนยงในตลาดหลักทรัพย์มากว่า 10 ปี ได้จบสิ้นลงแล้ว

ต้นปี 2530 กระแสข่าวแพร่สะพัดอีกระลอกว่า เจ้าหนี้รายใหญ่ทั้งหลายไม่ว่าสถาบันการเงินและบุคคลธรรมดาต่างเตรียมเข้ายึดกิจการ

กระแสข่าวแพร่ออกมาตั้งแต่จากโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์ที่บางชันจากท่าเรือ ตลาดหุ้น และจากศาล ไม่ว่าที่นั่นจะเป็นศาลแรงงาน ศาลแพ่ง หรือศาลอาญา

กาลอวสานถึงแม้ไม่ใช่วันสองวันนี้แต่ก็เป็นที่คาดกันว่าคงจะอีกไม่ยาวนานนักแล้ว !

บริษัท กรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลี จำกัด ไม่ใช่เป็นบริษัทของตระกูลกรรณสูต มิหนำซ้ำผู้ก่อตั้งและสร้างบริษัทนี้ขึ้นมา จริง ๆ แล้วก็ไม่ใช่คนในตระกูลกรรณสูตอีกด้วย

เพียงแต่ประวัติของกรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลี เกี่ยวโยงและต่อเนื่องมาจากบริษัทกรรณสูต จำกัด ที่คนในตระกูลกรรณสูตได้สร้างมันมากับมือ จึงกลายเป็นความสัมพันธ์อันแนบแน่น และเมื่อคนในบริษัทกรรณสูต จำกัด ซึ่งเป็นคนในตระกูลกรรณสูตเป็นส่วนใหญ่ขายหุ้นจำนวนข้างมากของตัวเองแล้ว บริษัท กรรณสูต จำกัด ที่ว่าก็เป็นเพียงบริษัทในเครือบริษัทหนึ่งของบริษัท กรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลี จำกัดเท่านั้นเอง

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2489 บุคคล 3 คน ประกอบด้วย เทียนสถิตย์ กรรณสูต จำรุ บุนนาค และสอางค์ กรรณสูต ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท จำรุ จำกัด ขึ้นมา โดยรับโอนกิจการร้านค้าของร้านจำรุ อันเป็นกินการของจำรุ บุนนาค มาทำ

ห้างหุ้นส่วน จำรุ จำกัด ของจำรุ บุนนาคนั้น เป็นร้านค้าผ้าฝ้าย เส้นด้ายเครื่องแต่งกาย เครื่องสำอางต่าง ๆ การร่วมกันก่อตั้งบริษัทครั้งนั้น มีผู้ถือหุ้น 16 คน ในจำนวน 16 คนนี้มีอยู่ 15 คนที่นามสกุลกรรณสูต ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดคือ เทียนสถิตย์ กรรณสูต ถือหุ้นอยู่ถึง 2,450 หุ้น ในขณะที่จำรุ บุนนาค ถือหุ้นอยู่เพียง 750 หุ้น และสอางค์ กรรณสูต ถือ 550 หุ้น ในจำนวนหุ้นทั้งหมด 5,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท

สำนักงานใหญ่ในสมัยนั้นก็ตั้งอยู่ที่ร้าน จำรุ หลังวังบูรพานั่นเอง กิจการของบริษัท จำรุ จำกัดแรก ๆ ก็เป็นกิจการค้าผ้าฝ้าย เส้นด้าย และเครื่องสำอาง อย่างที่ร้านจำรุเดิมเคยทำ เพียงแต่ทำให้ใหญ่โตขึ้น

และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของบริษัทกรรณสูต จำกัด ผู้เป็นตัวแทนจำหน่ายรถเฟียต อันเป็นรถชั้นนำของอิตาลีแต่ผู้เดียวในประเทศไทย ไม่น่าเชื่อว่า จะกำเนิดมาจากร้านค้าผ้า หลังวังบูรพาร้านหนึ่งแท้ๆ

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของบริษัทจำรุ จำกัด เริ่มต้นขึ้นในปี 2495 เมื่อคนในตระกูลกรรณสูตผู้หนึ่ง ที่ชื่อ สุชาติ กรรณสูต ได้พยายามวิ่งเต้นติดต่อบริษัทเฟียต โอโต เอส.พี.เอ. ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของอิตาลี เพื่อขอเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์เฟียตแต่ผู้เดียวในประเทศไทย

แล้วความสำเร็จก็ตกเป็นของสุชาติ กรรณสูต เมื่อบริษัทเฟียต โอโต เอส.พี.เอ. ตอบตกลง พร้อมกันนั้น สุชาติ กรรณสูตก็ได้วิ่งเข้าหาเทียนสถิตย์ กรรณสูต เพื่อพูดคุยหาเงินทุนมาดำเนินการเกี่ยวกับรถยนต์เฟียต ที่จะสั่งเข้ามาจากประเทศอิตาลีเหล่านั้น ผลจากการพูดคุย ทั้งสองคนได้ตกลงกันในหลักการว่าจะทำการค้าร่วมกันในนามบริษัทกรรณสูต จำกัด

ในที่สุด เทียนสถิตย์ กรรณสูต ก็ได้เปลี่ยนชื่อบริษัท จำรุ จำกัด เป็นบริษัท กรรณสูต จำกัด ตั้งแต่นั้นมา และเพิ่มทุนเพื่อต้อนรับกิจการใหม่ที่ค่อนข้างใหญ่โตนี้เป็น 12 ล้านบาททันที มิหนำซ้ำยังได้สมนาคุณหุ้นในบริษัทอีก 5,000 หุ้น หรือคิดเป็นจำนวนเงินก็เท่ากับ 500,000 บาท ซึ่งเป็นหุ้นที่ต้องเพิ่มใหม่ทั้งหมดของบริษัทกรรณสูต จำกัดให้กับสุชาติ กรรณสูต โดยที่สุชาติ กรรณสูต ไม่ต้องลงเงินเลย

ไม่เพียงเท่านั้น เทียนสถิตย์ กรรณสูต ยังได้กันหุ้นไว้อีกจำนวน 20,000 หุ้น หรือคิดเป็นเงินสองล้านบาท ซึ่งเป็นหุ้นที่จะเพิ่มใหม่ทั้งหมด ขายให้กับสุชาติ กรรณสูตอีกด้วย และต่อมาสุชาติ กรรณสูตก็ได้ชักชวนญาติๆ มาซื้อหุ้นที่เทียนสถิตย์ กรรณสูต กันเอาไว้ให้เหล่านี้

การดำเนินการของบริษัทกรรณสูต จำกัด หลังจากนั้นมากิจการโดยส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องการขายรถเป็นส่วนใหญ่ และสำนักงานใหญ่ก็ได้ย้ายจากหลังวังบูรพาไปอยู่ที่ ถ. ศาลาแดง มี สุชาติ กรรณสูตเป็นกรรมการผู้จัดการ

อย่างไรก็ดี บริษัทกรรณสูต จำกัดดำเนินการไปได้ไม่นาน ก็มีปัญหาเรื่องทุนดำเนินการ

นักธุรกิจรุ่นเก่าผู้หนึ่งได้เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า ในยุคนั้น คนในตระกูลกรรณสูต ที่อยู่ในบริษัทกรรณสูต หลายคนได้ไปลงทุนทำหนังบ้าง อะไรบ้างหลายอย่าง บางคนก็ล้มเหลว และส่วนใหญ่จะล้มเหลว ธุรกิจค้ารถยนต์ที่บริษัทกรรณสูตก็ไม่ค่อยดี ต้องไปกู้เงินของคุณหญิงหลงอรรถกระวีสุนทร มาดำเนินการ จนเป็นเป็นสินกันมาก แล้วในที่สุด เมื่อบริษัทมีปัญหาเรื่องทุนดำเนินการ หนี้สินเหล่านี้ก็ถูกแปลงเป็นหุ้น แล้วในที่สุดทางด้านคุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร ก็กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ไปในที่สุด

คุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร นั้นเป็นภรรยาของพระยาอรรถกระวีสุนทร (สงวน อรรถกระวีสุนทร) ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินรายใหญ่รายหนึ่งในกรุงเทพฯ ทุกวันนี้ลูก ๆ ของพระยาอรรถกระวีสุนทร ต่างร่ำรวยจากมรดกที่ดินเหล่านั้นและเป็นเจ้าของอาคารมโนรม ริมถนนพระรามสี่ในปัจจุบัน

ในปี 2499 เดือนพฤษภาคม พระยาอรรถกระวีสุนทร ก็ได้รับเลือกเข้ามาเป็นกรรมการบริหารของบริษัท แต่เป็นกรรมการอยู่ได้เพียงปีเดียว ก็ถึงแก่อนิจกรรม อาจ อรรถกระวีสุนทร ลูกชายได้เข้ามารับช่วงเป็นกรรมการแทน และคุณหญิงหลง ผู้เป็นมารดาก็เข้ามาเป็นกรรมการแทน สมศรี กรรณสูต ในเวลาต่อมา

ถึงจุดนี้ กรรณสูต เริ่มที่จะเปลี่ยนแปลงอำนาจและการบริหาร หลายสิ่งหลายอย่างกำลังจะเปลี่ยนแปลงไป เมื่อคนในตระกูลอรรถกระวีสุนทรกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ การตัดสินใจต่าง ๆ กลายเป็นของคนในตระกูล อรรถกระวีสุนทร ไปแล้ว คนในตระกูลกรรณสูต เริ่มจะออกไปทีละคนสองคน

บริษัท กรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลี จำกัด ก็กำลังใกล้จะเกิด!!

เล่ากันว่า กรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลี จะเกิดไม่ได้เด็ดขาด ถ้าขาดปรากฏการณ์สองประการดังต่อไปนี้คือ

หนึ่ง อาจ อรรถกระวีสุนทร กับเพื่อนรัก คือ นาวาอากาศตรี ประกายเพชร อินทุโสภณ มีความคิดร่วมกันและต่างตัดสินใจร่วมกันลงหุ้นเปิดโรงงานทำเฟอร์นิเจอร์เหล็กขึ้นมา ทั้งสองเปิดโรงงานขึ้นมาได้พักหนึ่ง ก็มีความคิดที่จะขยายโรงงานไปถึงขั้นจะทำโรงงานประกอบรถยนต์

สอง เหตุการณ์ความผันผวนทางการเมืองในอินโดนีเซีย คอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซีย กำลังรุกคืบหน้าทางการเมืองอย่างน่ากลัว นายทุนอินโดนีเซียต่างหวาดผวากับสถานการณ์ ฮั่น ซุย หย่ำ ลูกชายของ ฮั่น ซิง เกียง อันเป็นหนึ่งในกลุ่มนักธุรกิจอินโดนีเซียเชื้อสายจีนที่กุมธุรกิจส่วนใหญ่ในอินโดนีเซีย อยู่ในอุ้งมือ ได้ตัดสินใจหอบทรัพย์สมบัติข้ามน้ำข้ามทะเลเข้าสู่ประเทศไทยในปี 2502

การเข้ามาสู่ประเทศไทยของ ฮั่น ซุย หย่ำ และ ฮั่น ซิง เกียง ช่างประจวบเหมาะกับสถานการณ์ที่อาจ อรรถกระวีสุนทร และนาวาอากาศตรีประกายเพชร อินทุโสภณ กำลังต้องการหานายทุนมาร่วมลงทุนทำโรงงานประกอบรถยนต์อย่างเหมาะเจาะ

เล่ากันอีกว่า ในช่วงที่ อาจ อรรถกระวีสุนทร มีความคิดที่จะทำโรงงานประกอบรถยนต์อยู่นั้น อาจ อรรถกระวีสุนทร ได้ไปชักชวนนายทุนหลายคนมาร่วมดำเนินการ โดยตั้งความหวังว่า จะใช้โกดังเก็บข้าวของตระกูลอรรถกระวีสนุทรที่อยู่ในซอยอารี ถนนสุขุมวิท เป็นโรงงาน

"นายทุนหลายคน เขาไปดูแล้วทุกคนต่างส่ายหน้า เพราะดูโกดังแล้วมันคด ๆ เคี้ยว ๆ ยังไงไม่รู้ มัน ไม่น่าจะทำเป็นโรงงานได้" นักธุรกิจรุ่นเก่าผู้หนึ่งเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

แต่ชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีนที่ชื่อ ฮั่น ซุย หย่ำ กลับเชื่อมั่นว่าเขาสามารถทำโกดังเก็บข้าวของตระกูลอรรถกระวีสุนทร ที่ว่านี้ให้เป็นโรงงานประกอบรถยนต์ จนเป็นผลสำเร็จได้

การจดทะเบียนเริ่มก่อตั้งบริษัทประกอบรถยนต์เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2503 โดยใช้ชื่อบริษัทว่า กรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลี จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียนเพียง 5 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 5 พันหุ้น หุ้นละ 100 บาท

"สาเหตุที่ใช้ชื่อนี้ ก็เนื่องจากว่าผู้เข้าร่วมหุ้นส่วนใหญ่ เป็นผู้บริหารและถือหุ้นใหญ่อยู่ในบริษัทกรรณสูต จำกัดอยู่แล้ว ที่สำคัญก็เพื่อง่ายต่อการติดต่อกับทางอิตาลี และความตั้งใจของพวกเราในตอนนั้นก็ตั้งใจผลิตรถเฟียตอยู่แล้วด้วย" นักธุรกิจรุ่นเก่าซึ่งมีส่วนร่วมในครั้งนั้นผู้หนึ่งเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

บริษัท กรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลี จึงเกิดขึ้น ณ จุดนี้

ฮั่น ซุย หย่ำ ผู้มีบทบาทและทำให้บริษัทประกอบรถยนต์บริษัทนี้เป็นจริงเป็นจังขึ้นมา เป็นผู้ที่เรียกว่ามีประสบการณ์ทางด้านนี้มาอย่างโชกโชนในประเทศอินโดนีเซีย และยังเคยมีประสบการณ์จากการที่ได้เคยไปฝึกงานที่บริษัทเจนเนอรัลมอเตอร์ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของอเมริกามาแล้วอีกด้วย

ในช่วงแรกฮั่น ซุย หย่ำ จึงรับหน้าที่เป็นกรรมการผู้จัดการ

และ ฮั่น ซุย หย่ำ ผู้นี้นั้นในระยะเริ่มแรก เป็นผู้ที่ทุกคนในบริษัทให้ความเกรงใจและมีอำนาจมาก ถึงกับมีข้อบังคับของบริษัทที่ให้อำนาจกรรมการในยุคนั้นเขียนไว้ว่า "ให้อำนาจนาย ฮั่น ซุย หย่ำ กรรมการผู้จัดการร่วมกับกรรมการอื่นอีกหนึ่งนายมีอำนาจลงลายมือชื่อและกระทำการแทนบริษัทได้" ทั้ง ๆ ที่ ฮั่น ซิง เกียง ผู้เป็นบิดาก็เป็นกรรมการคนหนึ่งของบริษัทอยู่ด้วย

การเดินเกมต่าง ๆ ของบริษัท ฮั่น ซุย หย่ำ เป็นผู้กำหนดและวางแผน สิ่งหนึ่งที่ ฮั่น ซุย หย่ำ กระทำจนทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อย ๆ ในบริษัท กรรณสูต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทตัวแทนจำหน่ายรถยนต์เฟียตแค่ผู้เดียวแทบช็อค! นั่นก็คือ การใช้จิตวิทยา พูดกับผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทและเป็นผู้ถือหุ้นที่อยู่ในบริษัทกรรณสูต จำกัดอยู่ด้วย ให้โอนลิขสิทธิ์การเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์จากบริษัทกรรณสูต จำกัดให้กับบริษัทกรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลี ได้เป็นผลสำเร็จ

"มิสเตอร์ฮั่นเขาเป็นคนที่เก่งมากทีเดียว เขามีหุ้นอยู่ในบริษัท กรรณสูต จำกัด อยู่เพียงเล็กน้อย แต่มีหุ้นอยู่ในบริษัท กรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลีอยู่เป็นจำนวนมาก การโอนลิขสิทธิ์หรือสิทธิในการขายรถเฟียตของเขานั้นเรียกว่าเหนือชั้น และผมก็คิดว่า แกคงจะติดต่อไปทางอิตาลีด้วยแน่นอน การโอนกันในลักษณะนี้ จึงดูเหมือนค่อนข้างที่จะง่ายทั้ง ๆ ที่บริษัทกรรณสูต จำกัด นั้น ก็มีคุณหญิงหลง คอยดูแลอยู่ กลุ่มตระกูลกรรณสูตก็ยังถือหุ้นอยู่บ้าง ที่สำคัญยังมีบริษัทลงทุนที่ชื่อบริษัทอเมริกันโอเวอร์ซีอินเวสเมนท์ ถือหุ้นอยู่เกือบสองหมื่นหุ้นในบริษัทกรรณสูต จำกัด นั้น ซึ่งก็เกือบเท่ากับคุณหญิงหลงแกเลยล่ะ แต่มิสเตอร์ฮั่นเขาก็ทำได้"

นักธุรกิจรุ่นเก่าคนเดิมเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

การโอนสิทธิการจำหน่ายนั้น มีผลทำให้บริษัท กรรณสูต จำกัด ไม่สามารถที่จะสั่งรถยนต์เฟียตจากประเทศอิตาลีเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยได้ จะขายรถเฟียตเหมือนเดิมก็ต้องสั่งจากโรงงานของบริษัทกรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลี จำกัด เท่านั้น นั่นก็หมายความว่าตลาดรถเฟียตในประเทศไทยขึ้นอยู่กับการชี้ชะตาของกรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลี แล้ว!

เพียงในช่วง 6 เดือนแรกของการดำเนินการซึ่งอยู่ในช่วงประมาณต้นปี 2504 บริษัท กรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลี ก็สามารถประกอบรถยนต์เฟียตรุ่น 1100 ได้สำเร็จเป็นรุ่นแรกด้วยจำนวน 265 คัน โดยใช้คนงานเพียง 60 คนเท่านั้น โรงงานที่ใช้ผลิตก็คือโรงงานในซอยอารี ถนนสุขุมวิท ที่เคยเป็นโกดังเก็บข้าวของตระกูลอรรถกระวีสุนทร ที่หลายคนเคยส่ายหน้านั่นแหละ

อย่างไรก็ดี กรรณสูต เจนเนอรัล แอสเซมบลี ก็ยังให้บริษัทกรรณสูต จำกัด ที่ อาจ อรรถกระวีสุนทร เป็นผู้อำนวยการบริษัท เป็นตัวแทนจำหน่ายของตนเองต่อไป

มิหนำซ้ำในปี 2504 นี้ บริษัทยังได้รับสิทธิบัตรส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนอีกด้วย ซึ่งนับเป็นกลุ่มผู้ประกอบรถยนต์กลุ่มแรกที่ได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลในจำนวนผู้ที่ได้รับการส่งเสริมในปัจจุบันทั้งหมด 9 ราย

และในปี 2504 นี้ ฮั่น ซุย หย่ำ ก็เริ่มมีความคิดว่า เพื่อสร้างความสะดวกและความสบายใจให้แก่ลูกค้าที่ใช้รถเฟียตยามเมื่อรถมีปัญหา บริษัทที่ดำเนินกิจการนำข้าและจำหน่ายอะไหล่รถเฟียต น่าจะมีขึ้น

ดังนั้น ในปี ดังกล่าว ฮั่น ซุย หย่ำ, อาจ อรรถกระวีสุนทร และนาวาอากาศตรีประกายเพชร อินทุโสภณ สามเสือผู้ก่อตั้งบริษัทกรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลี จึงได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัทเพื่อนำเข้าและจำหน่ายอะไหล่รถยนต์เฟียตขึ้นมา โดยตั้งชื่อว่า บริษัท ฮั่น จำกัด (ปัจจุบันชื่อว่า บริษัท อินด์แลนด์ จำกัด) ซึ่งต่อมา ทั้งสามก็ได้ดึงบริษัทกรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลี เข้าถือหุ้นถึง 99 เปอร์เซนต์ในบริษัทนี้

ธุรกิจดำเนินไปอย่างราบรื่นและค่อนข้างจะดี ภายใต้การนำของ ฮั่น ซุย หย่ำ ซึ่งนักธุรกิจรุ่นเก่าที่เคยทำงานอยู่กับ ฮั่น ซุย หย่ำ ได้เล่าให้ฟังว่า มันมีปัจจัยอยู่ 3 ประการที่ทำให้กิจการดำเนินไปค่อนข้างจะดี

ประการแรก เงื่อนไขความสัมพันธ์ทางครอบครัวที่ค่อนข้างจะแนบแน่นระหว่างคุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทรกับครอบครัวคุณหญิงไสว จารุเสถียรภรรยาจอมพลประภาส จารุเสถียร ผู้ทรงอิทธิพลในยุคนั้น ทำให้บริษัทสามารถขายรถให้กับทางราชการค่อนข้างที่จะสะดวก

ประการที่สอง การให้ความสนับสนุนจากทางรัฐบาลในการส่งเสริมผู้ประกอบรถยนต์ในช่วงนั้น ซึ่งมีอยู่เพียง 2-3 ราย

ประการที่สาม การบริหารงานอย่างชาญฉลาด และค่อนข้างที่จะทันสมัยของฮั่น ซุย หย่ำ

"เรียกว่าเขาเป็นนักบริหารมือโปรทีเดียว ใครไปทำงานกับเขา เขาจะใช้จนคุ้มเลยล่ะ เมื่อไหร่ที่คุณรู้สึกเมื่อยล้า เขาก็จะอัดเงินให้คุณอย่างไม่อั้น ปีหนึ่งเขาอาจขึ้นเงินเดือนให้กับคุณได้ถึง 2-3 ครั้ง แต่ในขณะเดียวกันเขาใช้คุณคุ้มกับที่เขาขึ้นเงินเดือนให้ และลักษณะการทำงานของเขานั้น เขาจะจัดระบบการทำงานเป็นโปรแกรมล่วงหน้า งานทุกอย่างเป็นระบบและเคร่งครัดมาก คุณไปทำงานกับเขาเขาจะถามคุณทันที ว่าคุณทำอะไรได้บ้าง เมื่อคุณตอบ และเขาบอกว่า โอ.เค.สิ่งแรกที่คุณต้องทำให้กับเขาก็คือ การกำหนดตารางทำงานและเป้าหมายมาให้เขาดู เมื่อปฏิบัติจริงไม่ได้ดังที่ว่า เขาจะเรียกคุณเข้าพบ และค้นหาสาเหตุทันที ถ้าปัญหามันอยู่ที่ตัวคุณเอง คุณเดือดร้อนแน่ อย่างคุณบอกกับเขาว่าปีหนึ่งคุณจะทำยอดขายให้กับเขาเดือนละ 200 คัน แล้วคุณทำงานผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ยอดการขายเพิ่งได้แค่ 10 คัน เขาจะเข้ามาจี้คุณทันที ว่าเกิดอะไรขึ้น คุณบอกว่าเดือนละ 200 คันนี่ ผ่านไปหนึ่งสัปดาห์แล้วเพิ่งได้ 10 คัน ทำไมเป็นเช่นนี้ และเมื่อไหร่ที่มีปัญหาเรื่องรถยนต์รุ่นใหม่ขายไม่ออก ในขณะที่รุ่นเก่ายอดยังดีอยู่ เขาจะตัดค่าคอมมิชชั่นรุ่นเก่าลง แล้วไปเพิ่มค่าคอมมิชชั่นที่รถยนต์รุ่นใหม่เพื่อให้พนักงานขายมีกำลังใจลุ้นกันขายรถรุ่นใหม่" นักธุรกิจรุ่นเก่าคนเดิมซึ่งเคยทำงานอยู่กับ ฮั่น ซุย หย่ำ เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ในปี 2505 มีเหตุการณ์สำคัญสมควรจารึกไว้คือ อดิศร โฆวินทะ ผู้กุมชะตากรรณสูต เจนเนอรัล แอสเซมบลี ไว้ในอุ้งมือในช่วงหลังปี 2521 ได้เริ่มเข้าซื้อหุ้นของบริษัทกรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลี ไว้เป็นจำนวน 200 หุ้น คิดเป็นมูลค่า 200,000 บาท โดยใช้ชื่อลูกสาวคนโตที่ชื่อเต็มดวง โฆวินทะ เป็นเจ้าของหุ้น และในปี 2508 อดิศร โฆวินทะ ก็ซื้ออีก 75 หุ้นเป็นเงิน 75,000 บาทในชื่อของตัวเอง

ในช่วงปี 2508 นี้ เหตุการณ์ไม่คาดฝันในอินโดนีเซียเกิดขึ้น เมื่อซูฮาร์โตทำการปฏิวัติยึดอำนาจ แนวนโยบายของซูฮาร์โตนั้นถึงแม้จะต้องการขับไล่คอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซีย แต่เขาก็ไม่ชอบนายทุนชาวจีนการยึดทรัพย์สมบัติชาวจีนในยุคนั้นจึงเกิดขึ้น ญาติพี่น้องของ ฮั่น ซุย หย่ำ หลายคนต้องอพยพหลบหนีภัยเข้าประเทศไทย

สุรยา อายูเดีย เป็นผู้หนึ่งที่อพยพเข้ามาอยู่กับ ฮั่น ซุย หย่ำ และเมื่อบริษัทกรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลี ทำการเพิ่มทุนเป็น 10,070,000 บาทในปี 2509 และเป็น 20,070,000 บาทในปี 2511 สุรยา อายูเดีย ก็ทำการซื้อหุ้นส่วนใหญ่เหล่านี้ไว้จนเรียกได้ว่า ในยุคนั้น สุรยา อายูเดียเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อีกผู้หนึ่ง นอกเหนือจากฮั่น ซุย หย่ำ และตระกูลอรรถกระวีสุนทร

สุรยา อายูเดีย เริ่มที่จะเข้ามามีบทบาทในบริษัทมากขึ้น ข้อบังคับของบริษัทที่ให้อำนาจกรรมการบริษัท ได้ถูกแก้ไขใหม่ในปี 2514 ว่า "ให้อำนาจกรรมการบริหารแต่เพียงสองในสามคนคือ ฮั่น ซุย หย่ำ นาวาอากาศตรีประกายเพชร อินทุโสภณ และสุรยา อายูเดีย มีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกัน กระทำการแทนบริษัทได้

เมื่อถึงจุดนี้อำนาจทางการบริหารยิ่งเอนไปทางสาย ฮั่น ซุย หย่ำ มากยิ่งขึ้นถึงแม้ว่าเมื่อถึงจุดนี้ อดิศร โฆวินทะ เริ่มเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วยอีกผู้หนึ่งแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากความสัมพันธ์อันใกล้ชิดเดิม และความเชื่อถือที่ตระกูลอรรถกระวีสุนทร มอบให้กับ ฮั่น ซุย หย่ำ นั้นยังสูงกว่าที่มอบให้กับอดิศร โฆวินทะมากมายนัก อดิศรก็เลยได้แต่นั่งเงียบๆ

"มิสเตอร์ฮั่น แกมีบริษัทของแกเองอยู่เป็นจำนวนมาก ในหลาย ๆ ประเทศที่ผมรู้มีบริษัทหนึ่งอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อบริษัทกรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลีต้องการซื้อสินค้าจากต่างประเทศ เขาก็จะซื้อจากบริษัทของเขาเองเหล่านี้ เพราะฉะนั้นอำนาจทางการบริหารในบริษัทจึงมีความจำเป็นสำหรับเขา" แหล่งข่าวคนเดิมบอกกับ "ผู้จัดการ"

อย่างไรก็ดี ในปี 2517 ก็ได้เกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในบริษัทเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อบริษัท อินช์แคป โอเวอร์ซีส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งคอมปะนี ที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่ในบริษัท บอร์เนียวจำกัด ได้เข้าร่วมซื้อหุ้นของบริษัทกรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลี เอาไว้เป็นจำนวนมาก และพยายามที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารบริษัท

ในขั้นแรก ภายหลังการกวาดซื้อหุ้นจากรายย่อย ๆ เอาไว้เป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อีกกลุ่มหนึ่งในบริษัทกรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลี บริษัทอินช์เคปและบริษัทในเครืออันประกอบด้วยบอร์เนียวและบริษัทแองโกลก็ได้ส่งนักบริหารชาวอังกฤษ 6 คนเข้าเป็นกรรมการในบริษัท

ถึงจุดนี้ ลักษณะการบริหารแบบมีเถ้าแก่หลายคนของบริษัทกรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลีก็เริ่มขึ้นแล้ว

เถ้าแก่เหล่านี้แบ่งออกเป็นกลุ่มเถ้าแก่กลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มตระกูลอรรถกระวีสุนทร เจ้าของบริษัทเดิม กลุ่มที่สองคือกลุ่มเศรษฐีชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีนภายใต้การนำของ ฮั่น ซุย หย่ำ กลุ่มที่สามคือกลุ่มบริษัทอินช์เคปและบริษัทในเครือและกลุ่มที่สี่คือกลุ่มตระกูลโฆวินทะ

ในช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลงนั้นทุกสิ่งทุกอย่างยังเดินไปได้ค่อนข้างจะราบรื่น

แต่พอถึงปี 2518 เหตุการณ์เริ่มขมึงตึงเครียด เมื่อกองทัพอเมริกาในประเทศไทยถูกขับไล่ออกนอกประเทศประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำทำให้ยอดการขายของรถเฟียตตกลงอย่างรุนแรง

แต่เดิมนั้น รถยนต์เฟียต เป็นรถที่ทหารอเมริกันในประเทศไทยนิยมใช้กันมากประกอบกับ ฮั่น ซุย หย่ำ มีนักขายฝีมือระดับโปรคนหนึ่งที่เป็นชาวอเมริกันชื่อ ริชาร์ด สแตมฟิลด์ ซึ่งทำหน้าที่ขายรถยนต์เฟียตให้กับทหารอเมริกันเหล่านั้นโดยไม่ต้องผ่านบริษัท กรรณสูต จำกัด เมื่อทหารอเมริกันออกไป รายได้จากการขายก็ตกพรวด

ในปีงบดุลเดือนเมษายน 2517 ถึงเดือนเมษายน 2518 บริษัทเคยมีรายได้ 422 ล้านบาท พอถึงปีงบดุลเมษายน 2518 ถึง เมษายน 2519 บริษัทมีรายได้ลดลงเหลือ 412 ล้านบาท และเมื่อถึงเมษายน 2520 ยอดรายได้ ก็ตกลงเหลือเพียง 313 ล้านบาท ซึ่งเป็นปีแรกที่ขาดทุน คือขาดทุน 2 ล้านบาท

และในปี 2518 นี้ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของบริษัทอีกครั้งหนึ่ง เมื่อกรรมการส่วนใหญ่ในบริษัทเห็นว่าควรมีการเพิ่มทุนอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการเข้าสู่ตลาดหุ้น หรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปลี่ยนแปลงเป็นบริษัทมหาชน

"คุณทราบหรือเปล่า เขาเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้อย่างไร เขาก็กำหนดราคาหุ้นขึ้นมาใหม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมเป็นราคาหุ้นละ 10 บาทแล้วเอาหุ้นเหล่านี้แจกให้กับพนักงานในบริษัท แค่นี้ เขาก็มีผู้ถือหุ้นเกิน 300 คนแล้ว" ผู้เคยทำงานอยู่กับบริษัทกรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลี เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

บริษัทกรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลี ได้จดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2518

ว่ากันว่าเพียงแค่ช่วงปีแรกที่บริษัทกรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลีเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ราคาหุ้นก็พุ่งไปถึง 45 บาท ในขณะที่ราคาพาร์แค่ 10 บาทเท่านั้น

และในปี 2518 นี้ บริษัท กรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลี จำกัดได้ขยายอาณาจักรของตัวเองออกไปด้วยการตั้งบริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ขึ้นอีกบริษัทหนึ่งในประเทศไทย ชื่อว่าบริษัท ออโตพาท อินดัสตรีส์ จำกัด

บริษัท ออโตพาทอินดัสตรีส์ จำกัดนี้ นอกจากจะเป็นบริษัทที่คอยผลิตชิ้นส่วนรถยนต์อันได้แก่ ตัวถัง กันชน ท่อไอเสีย ถังน้ำมัน บังโคลน เบาะ ฯลฯ ให้กับบริษัทแม่คือกรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลีแล้ว ยังเป็นบริษัทที่ผลิตชิ้นส่วนเหล่านี้เพื่อส่งออกนอกประเทศอีกด้วย โดยเฉพาะพวกแม่พิมพ์ (DIE) และแม่แบบยึดจับงาน (JIG) ราคาตัวหนึ่งนับล้านบาท ทำรายได้ให้กับบริษัทในช่วงระยะหลังๆ เป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ดี ภายหลังจากช่วงปี 2518 แล้วเมื่อรายได้เริ่มตกลงเรื่อย ๆ ความขัดแย้งก็เริ่มที่จะก่อตัวสูงขึ้น ความไม่ไว้วางใจกันเริ่มที่จะมีมากขึ้น เหล่ากรรมการที่มาจากบริษัทอินช์เคปฯ เริ่มสนใจกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัทมากขึ้น แน่นอนที่สุดกลุ่มผู้บริหารอย่าง ฮั่น ซุย หย่ำ และกลุ่มตระกูลอรรถกระวีสุนทรถูกมองอย่างไม่ค่อยพอใจนักจากอีกฝ่าย

ข้อขัดแย้งที่หนักที่สุดก็คือ เรื่องปัญหาการเช่าที่ดิน ซึ่งบริษัทกรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลี ใช้เป็นสำนักงานใหญ่และโรงงานประกอบรถยนต์อยู่

ที่ดินผืนนี้ เป็นของตระกูลอรรถกระวีสุนทร กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทกลุ่มหนึ่ง ซึ่งกรรมการที่มาจากอินช์เคปฯ และบริษัทในเครือทั้งหลาย ต่างมองว่า ราคาค่าเช่าสูงเกินไป ก็เลยเกิดข้อเสนอว่าหากไม่สามารถลดค่าเช่าลงได้ ก็ควรที่จะย้ายโรงงานไปอยู่ที่อื่นเสีย

ความขัดแย้งข้อนี้ จบลงด้วยชัยชนะของกลุ่มอรรถกระวีสุนทร ที่ไม่ยินยอมให้มีการย้ายบริษัทและโรงงานเด็ดขาด เพราะนอกจากจะเป็นผลประโยชน์แล้วมันยังขึ้นอยู่กับศักดิ์ศรีของผู้ก่อตั้งอีกด้วย

สถานการณ์ในช่วงนั้นประจวบกับเป็นสถานการณ์ที่คนไทยหันมาเล่นหุ้นกันมาก ทำให้ราคาหุ้นสูงขึ้นไปอย่างไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะบริษัทกรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลี ด้วยราคาพาร์แค่ 10 บาทต่อหุ้น แต่ราคาซื้อขายในตลาดหุ้นพุ่งสูงขึ้นไปถึงจุดสูงสุดที่ราคาหุ้นละ 117 บาท

บริษัท อินช์เคปฯ และกลุ่มบริษัทในเครือ จึงได้ตัดสินใจขายหุ้นที่ตัวเองมีอยู่ทั้งหมด และถอนตัวกรรมการที่มีอยู่ในบริษัทออกทั้งหมด

ผู้ที่เข้ามารับและซื้อหุ้นเหล่านี้ไว้เกือบทั้งหมดคือ สืบชัย ไชยนุวัติ ลูกเขยของอดิศร โฆวินทะ นั่นเอง

สืบชัย ไชยนุวัติ เป็นสามีของทิพย์รัตน์ ไชยนุวัติ ลูกสาวคนที่สองของอดิศร โฆวินทะ เล่ากันว่าสืบชัย ไชยนุวัตินั้นเป็นลูกเจ้าของห้างหุ้นส่วนขายยาเบอร์ลิน จำกัด เมื่อแต่งงานกับทิพย์รัตน์ลูกสาวของอดิศร โฆวินทะ แล้วจึงเข้ามาบริหารและดำเนินการโรงภาพยนตร์สุขุมวิทซึ่งในปัจจุบัน โรงภาพยนตร์สุขุมวิทได้ถูกไฟไหม้และถูกเปลี่ยนเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตไปแล้ว โดยมีเต็มดวง จาตุรจินดา (โฆวินทะ) ลูกสาวคนโตของอดิศร โฆวินทะ เป็นผู้ดูแล

การเข้าสู่บริษัทกรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลีของสืบชัย ไชยนุวัติ นั้นได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จาก อดิศร โฆวินทะ ซึ่งตัวของสืบชัยเองนั้นไม่เพียงมาแต่ตัว หากแต่ยังดึงเอามารดาคือสงวน ไชยนุวัติเข้ามาด้วย และนอกเหนือจากนั้นยังดึงเอาห้างขายยาเบอร์ลินเข้ามาซื้อหุ้นพร้อมกับตนอีก เรียกว่าการเข้ามาครั้งนี้เข้ามาเป็นกองทัพ

เมื่อถึงจุดนี้ อำนาจการบริหารก็เอนเอียงไปทางตระกูลโฆวินทะ และลูกเขย ฮั่น ซุย หย่ำ กลายเป็นเพียงผู้ถือหุ้นรายย่อยไป โดยเฉพาะในขณะที่ราคาหุ้นกำลังพุ่งขึ้นสูง ตระกูลอรรถกระวีสุนทรเองก็เริ่มที่จะขายหุ้นที่มีอยู่ของตัวเองออกไปบางส่วน เพราะเริ่มที่จะมองสถานการณ์ออกว่า เมื่อทางด้านลูกเขยของอดิศร โฆวินทะ ซื้อหุ้นของบริษัทอินช์เคปฯ เอาไว้แล้ว อำนาจการบริหารก็ย่อมตกอยู่กับกลุ่มอดิศรแน่

ฮั่น ซุย หย่ำ เองก็ไม่เบา แอบขายหุ้นที่มีอยู่ของตัวเองลับๆ ในช่วงที่ราคาหุ้นพุ่งขึ้นสูง โดยที่กรรมการบริษัทคนอื่น ๆ ไม่รู้และไม่ทราบเรื่องเลย

ฮั่น ซุย หย่ำ แม้จะขายหุ้นที่ตัวเองมีอยู่อย่างมีกำไรแล้ว ระยะนั้นก็ยังบริหารบริษัทอยู่ต่อไป แต่สถานการณ์ได้แตกต่างไปจากช่วงก่อนอย่างเห็นได้ชัด

ฮั่น ซุย หย่ำ จากที่เคยได้รับเกียรติและความเชื่อถือจากกรรมการทุกคนในบริษัท แต่พอมาถึงจุดนี้ เมื่อสืบชัย ไชยนุวัติ ก้าวเข้ามา อะไร ๆ หลาย ๆ อย่างก็เริ่มที่จะเปลี่ยนแปลงไป ก่อนหน้านี้ ฮั่น ซุย หย่ำ เคยเป็นผู้กำหนดตั้งแต่การวางแผนของบริษัทไปจนถึงการบริหารงานบุคคล จะเอาใครขึ้นมาทำหน้าที่อะไร ฮั่น ซุย หย่ำ เคยได้รับความไว้วางใจให้จัดการ ถึงแม้หลัง ๆ อดิศร โฆวินทะ จะได้เป็นประธานกรรมการบริษัทแล้วก็ยังให้เกียรติ ฮั่น ซุย หย่ำ

แต่เมื่อ สืบชัย ไชยนุวัติ เข้ามาความขัดแย้งกับ ฮั่น ซุย หย่ำ ก็เกิดขึ้นเริ่มตั้งแต่เรื่องที่สืบชัย ไชยนุวัติ นำคนของตนเองนั่งตำแหน่งโน้น ตำแหน่งนี้ในบริษัทให้วุ่นไปหมด จนเมื่อทนไม่ได้ก็ถึงจุดที่ต้องมีปากเสียงกันกับ ฮั่น ซุย หย่ำ

และ ฮั่น ซุย หย่ำ ก็ได้ตัดสินใจลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัท ในปี 2522 โดยให้เหตุผลในการลาออกครั้งนั้นว่า เนื่องจากมีกรรมการบางคนในบริษัทไม่พอใจการทำงานของตน

การลาออกครั้งนี้ อดิศร โฆวินทะเองรู้สึกไม่สบายใจและไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง เขากล่าวไว้ในที่ประชุมคณะกรรมการเมื่อปี 2522 ว่า "รู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่ ฮั่น ซุย หย่ำ ตัดสินใจลาออก เนื่องจากเป็นผู้มีความสามารถและร่วมบุกเบิกสร้างบริษัทนี้ด้วยกันมาตั้งแต่ยุคแรกจึงขอยับยั้งการลาออกครั้งนี้"

แต่การยับยั้งไม่เป็นผล ฮั่น ซุย หย่ำ ยังยืนยันที่จะลาออก ในการประชุมครั้งหลังจึงมีการอนุมัติ

หลังจากนั้นแล้ว ชะตาของบริษัทกรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลี ก็ตกอยู่ภายใต้การนำของกลุ่มตระกูลโฆวินทะโดยสิ้นเชิง

เมื่อ ฮั่น ซุย หย่ำ ลาออกจากการเป็นกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการแล้ว ที่ประชุมกรรมการก็ได้มีการตั้งกรรมการผู้จัดการคนใหม่ขึ้นมา ซึ่งในที่สุดก็ตั้ง วิกฤษณ์ สีตกะลิน ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัท

การเลือกวิกฤษณ์ สีตกะลิน ขึ้นมาครั้งนี้ ว่ากันว่าอดิศร โฆวินทะ เป็นผู้ที่เลือกขึ้นมาเอง เนื่องจากเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับ ฮั่น ซุย หย่ำ เรียนรู้เรื่องการทำงานในบริษัทกับฮั่น ซุย หย่ำ มานานจนอดิศร โฆวินทะ ไว้วางใจและเชื่อถือในฝีมือคนหนึ่ง

และในปี 2522 นี้เองที่บริษัทกรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลี ตัดสินใจย้ายโรงงานไปอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมบางชัน เขตมีนบุรี บนเนื้อที่ 16 ไร่ 45 ตารางวา

ถึงช่วงนี้บริษัทกรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลี จำกัด มีบริษัทในเครือ 4 บริษัท คือบริษัทกรรณสูต จำกัด ซึ่งเข้าไปถือหุ้นในภายหลังเป็นจำนวน 45 เปอร์เซ็นต์ บริษัท เพชร จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2507 ดำเนินกิจการเดินรถสำหรับทัศนาจร และขนส่งผู้โดยสารตลอดจนให้เช่ารถยนต์โดยสารบริษัท เพชร จำกัดนี้ กรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลี ถือหุ้นอยู่ 99 เปอร์เซ็นต์และบริษัท ออโตพาทอินดัสตรีส์ จำกัดซึ่งกรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลี ถือหุ้นอยู่ 99 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน

วิกฤษณ์ สีตกะลิน ก้าวขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการได้เพียงแค่ไม่ถึงปี ทนความอึดอัดไม่ไหว ในที่สุดก็ขอลาออกอีกโดยในจดหมายลาออกที่ยื่นต่อคณะกรรมการลงวันที่ 1 มีนาคม 2523 ของวิกฤษณ์ สีตกะลิน ได้บ่งบอกหลายสิ่งหลายอย่างไว้อย่างแจ่มชัด

"ตามที่ข้าพเจ้า ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้จัดการและกรรมการบริหารของบริษัท กรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลี จำกัด เป็นทางการเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2522 จากมติกรรรมการในการประชุมครั้งที่ 8 นั้น ข้าพเจ้าได้พยายามปฏิบัติหน้าที่เต็มความสามารถจนมีความมั่นใจว่าสามารถจะทำประโยชน์และผลกำไรให้แก่บริษัทฯ ได้ตามสมควรแก่สถานการณ์ แต่ภายหลังจากที่คณะกรรมการได้เสนอและให้กรรมการบริหารบริษัท กรรณสูต จำกัด แต่งตั้งนายสืบชัย ไชยนุวัติ (บุตรเขยของท่านประธาน) เป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัท กรรณสูต จำกัดแล้ว ก็ปรากฏว่าข้าพเจ้าไม่ได้รับความร่วมมือในการประสานงานกันเลย ทั้งนี้ บริษัทกรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลี จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท กรรณสูต จำกัด บริษัท กรรณสูต จำกัด จึงควรมีนโยบายการบริหารตามแนวทางจากบริษัท กรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลี จำกัด แต่ในขณะเดียวกันการบริหารในบริษัท กรรณสูต จำกัดและการจำหน่ายรถเฟียตได้ทรุดลงเรื่อย ๆ โดยมิได้มีการวางแผนหรือมีมาตรการใด ๆ ที่จะปรับปรุงให้กระเตื้องขึ้น ดังจะดูผลได้จากรายงานการเงินทุกเดือนที่ผ่านมา แต่ยิ่งข้าพเจ้าเป็นห่วงมากเท่าใด ผลปรากฏว่าท่านประธานกลับมีความรังเกียจในตัวข้าพเจ้ามากขึ้น จนกระทั่งกลายเป็นเรื่องส่วนตัว ข้าพเจ้าไม่เห็นหนทางที่ข้าพเจ้าจะบริหารบริษัทฯ ต่อไปได้ ดังนั้นข้าพเจ้าจึงจำเป็นต้องขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทฯ และจากตำแหน่งกรรมการบริหารของบริษัทฯ นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป..."

ความในใจของวิกฤษณ์ สีตกะลินถูกเผยออกมาบนหน้าจดหมายที่ยื่นถึงคณะกรรมการบริษัท อย่างไม่ยำเกรงใด ๆ และในที่สุดคณะกรรมการก็อนุมัติ

หลังจาก วิกฤษณ์ สีตกะลิน ลาออกจากการเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทแล้ว กรรมการในบริษัทหลายคนได้ทยอยออกเรื่อย ๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่มาทางสาย ฮั่น ซุย หย่ำ และตระกูลอรรถกระวีสุนทร นั้นแทบไม่มีเหลืออยู่ในบริษัทเลย

สืบชัย ไชยนุวัติ ก็ยิ่งรุกคืบหน้าไปเรื่อย ๆ ในที่สุดก็นำมารดาคือ สงวน ไชยนุวัติ ขึ้นเป็นกรรมการบริหารแทนกลุ่มที่ลาออกไป

ถึงช่วงนี้ข้อบังคับในการให้อำนาจกรรมการของบริษัทกรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลี จำกัด ก็ได้ถูกแก้ไขใหม่เป็น

"ให้กรรมการสองในสี่คน คือนายอดิศร โฆวินทะ นายสืบชัย ไชยนุวัติ นายดีเรค จอห์น เอดเวิร์ด นางสงวน ไชยนุวัติ ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัทฯ กระทำการแทนบริษัทได้"

ข้อบังคับนี้ ถูกเขียนขึ้นและได้รับการรับรองจากที่ประชุมกรรรมการเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2523

พอถึงต้นเดือนต่อมาคือเดือนสิงหาคม ในปีเดียวกัน สืบชัย ไชยนุวัติ และมารดาคือ สงวน ไชยนุวัติ ผู้สามารถลงลายมือชื่อร่วมกันได้ ในการกระทำการใดๆ แทนบริษัท ก็แผลงฤทธิ์ด้วยการเซ็นต์สัญญาการซื้อที่ดินของตัวเองให้กับบริษัทฯ

"เหตุผลก็ไม่มีอะไรมากหรอก ก็อยากถอนทุนคืนบ้างนี่" แหล่งข่าวผู้หนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ" พลางหัวเราะ

ที่ดินที่สงวน ไชยนุวัติ ขายให้กับบริษัทฯ เป็นที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นตึกแถว 3 ชั้น 11 คูหาและอาคารโครงเหล็กหนึ่งหลัง ด้วยราคา 45,486,000 บาท ซึ่งใช้เป็นสำนักงานใหญ่ของบริษัทในปัจจุบัน

และในช่วงนี้ก็ได้มีการเฟ้นหาตัวกรรมการกผู้จัดการคนใหม่ ซึ่งก็ได้ ดร. มารวย ผดุงสิทธิ์ ผู้ซึ่งเป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยคนปัจจุบันมานั่งตำแหน่งนี้

กิจการก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะคืบหน้างบดุลสิ้นสุดเมื่อเดือนเมษายน 2523 มีรายได้ลดลงถึงเกือบ 200 ล้านบาท มิหนำซ้ำในปี 2524 ซึ่งงบดุลสิ้นสุด ณ เดือนเมษายน บริษัทยังมีรายได้ลดลงอีกเกือบร้อยล้านบาท คือมีรายได้เพียง 182 ล้านบาท ในขณะที่เมษายน 2523 มีรายได้ 288 ล้านบาท

สิ่งเหล่านี้ สร้างความหนักใจให้กับกรรมการผู้จัดการคนใหม่ คือมารวย ผดุงสิทธิ์ เป็นอย่างมาก

"คุณมารวย แกเป็นคนเก่งผมยอมรับ ถ้าบริษัทนี้เป็นของแกคนเดียว ผมเชื่อว่าแกคงแก้ปัญหาได้ แต่น่าเสียดายแกเป็นเพียงลูกจ้างคนหนึ่งเท่านั้น" แหล่งข่าวกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ในปี 2524 บริษัท กรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลี จำกัด ได้ขยายตัวเองออกไปอีกด้วยการไปลงทุนสร้างบริษัทย่อยอีกบริษัทขึ้นมา ชื่อว่า บริษัท ไทยโอโต้เซอร์วิส จำกัด ดำเนินกิจการบริการซ่อมบำรุงรถยนต์ทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นศูนย์บริการเฟียตในประเทศไทย

เห็นได้ชัด จากงบดุลของบริษัท กรรณสูต จำกัด ผู้ทำหน้าที่ขายรถเฟียตให้บริษัทแม่ในปีงบดุลสิ้นสุดเมื่อเดือนเมษายน 2524 ว่า รถยนต์เฟียต ได้รับความนิยมลดลงตลอด เนื่องจากมียอดการขาดทุนสูงถึง 25,985,000 บาท ในขณะที่มียอดการขาดทุนสะสม 33,812,000 บาท ผู้ซึ่งนั่งอยู่ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของบริษัทกรรณสูต จำกัด ในช่วงนั้นก็คือ สืบชัย ไชยนุวัติ ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้เลย มิหนำซ้ำเมื่อสิ้นสุดปี 2524 รวมยอดการขายรถเฟียตทั้งปีแล้ว ปรากฏว่า มียอดการจำหน่ายแค่ 378 คันเท่านั้น ซึ่งยังต่ำกว่าปี 2523 ที่ว่าต่ำแล้วอยู่ถึง 215 คัน

อย่างไรก็ดี ไม่มีการโทษว่าอะไรกัน การขาดทุนของบริษัทก็ยังคงดำเนินไปเรื่อยๆ ภายใต้การนำของพ่อตาคืออดิศร โฆวินทะ กับลูกเขยคือ สืบชัย ไชยนุวัติ

ทางด้านบริษัทแม่คือบริษัทกรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลี นั้น สาเหตุที่มีการขาดทุนไม่มาเนื่องจากรถยนต์ผลิตได้เท่าไหร่ ก็ป้อนให้กับบริษัท กรรณสูต จำกัด หมดเหมือนกับเป็นการดูดเอาเงินจากบริษัทลูก ซึ่งตัวเองถือหุ้นอยู่ 45 เปอร์เซ็นต์มาใช้ ยังไงยังงั้น ที่สำคัญคือ บริษัท กรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลี ยังมีรายได้จากการรับประกอบรถยนต์ของบริษัทอื่นๆ ที่มาจ้างประกอบ รถเหล่านั้นมีทั้งรถยนต์นั่งและรถรับส่งผู้โดยสาร และรถบรรทุกที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในตลาดเมืองไทยเช่น แวเลี่ยน ซิมคา ฮิลแมน ออสติน ฟอร์ด ซูบารุ อัลฟ่า และแลนด์โรเวอร์เป็นต้น

ในปี 2525 มีการสร้างโครงการขึ้นมาใหม่อย่างลับ ๆ ภายในบริษัท ซึ่งสื่อมวลชนทั้งหลายในช่วงนั้นไม่ระแคะระคายเลย เป็นโครงการพิเศษที่สืบชัย ไชยนุวัติ คิดขึ้นมาและตั้งความหวังไว้ว่าจะประสบความสำเร็จ โดยสืบชัย ไชยนุวัติได้ให้ดีเรค เจ. เอดเวิร์ด เพื่อนชาวอังกฤษผู้หนึ่งซึ่งดูแลบริษัท ออโตพาทอินดัสตรีส์หนึ่งในบริษัทในเครือ รับผิดชอบไปหาคนดำเนินการ

ดีเรค เจ. เอดเวิร์ด ได้ไปชักชวน ริชาร์ด สแตมเฟิลด์ อดีตนักขายฝีมือเยี่ยมชาวอเมริกันคู่หู ฮั่น ซุย หย่ำ ซึ่งได้ลาออกจากบริษัทไปพร้อมกับ ฮั่น ซุย หย่ำ ไปแล้ว ให้มาร่วมโครงการนี้โดยมีหน้าที่ติดต่อกับบริษัทต่างประเทศ

โครงการลับที่ว่า ก็คือโครงการสร้างรถหุ้มเกราะ เพื่อขายให้กับทหารการดำเนินงานเป็นไปอย่างลับๆ ผู้ใหญ่ในบริษัท กรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลีหลายคนไม่ทราบเรื่อง เนื่องจากสืบชัย ปล่อยให้บริษัท ออโตพาทอินดัสตรีสดำเนินการ

ริชาร์ด สแตมเฟิลด์ ทำการติดต่อกับบริษัท เจนเนอรัล ไดนามิค ให้มาร่วมโครงการนี้ การดำเนินการในขั้นต้นนั้น เจนเนอรัล ไดนามิค ตอบ โอ.เค. แล้ว แต่ข่าวภายในบริษัทเกิดรั่วไหล และถูกผู้ใหญ่หลายคนเบรคเอาไว้ ในที่สุดโครงการนี้ก็ล้มเหลว และต้องหยุดเลิกกลางคัน

กิจการของบริษัทแย่และทรุดลงเรื่อย ๆ แม้ว่าเมื่อสิ้นสุดปีงบดุลเมื่อเดือนเมษายน 2525 บริษัทเริ่มมีกำไร หลังจากขาดทุนเมื่อปีก่อน แต่ยอดกำไรเพียง 225,000 บาทเท่านั้นเอง มิหน่ำซ้ำในปี 2526 ซึ่งงบดุลสิ้นสุดเมื่อเมษายน บริษัทกรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลีก็ขาดทุนอีกครั้งหนึ่งเป็นเงิน 13,792,000 บาท ซึ่งนับเป็นปีที่ขาดทุนสูงที่สุดเท่าที่บริษัทดำเนินกิจการมา

และเมื่อถึงปี 2526 นี้ บริษัทก็หยุดการนำเข้าและผลิตรถเฟียตอย่างสิ้นเชิง

ต่อมา มารวย ผดุงสิทธิ์ ก็ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการผู้จัดการ สืบชัย ไชยนุวัติ ขึ้นนั่งเป็นในตำแน่งกรรมการผู้จัดการแทน

ความล้มเหลว ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ในปี 2527 เดือนเมษายน ยอดงบดุลเปิดเผยออกมาว่ามียอดขาดทุนสุทธิ 3,722,000 บาทในกรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลี จำกัด สาเหตุที่ยอดขาดทุนสุทธิลดลงเนื่องจาก ในปี 2526 มีการหยุดการผลิต ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่นเงินเดือนคนงาน ก็ไม่มีการจ่าย ปล่อยให้มีเรื่องฟ้องศาลกันจวบจนถึงปัจจุบัน

เมื่อบริษัทขาดทุนมากเข้า ความตึงเครียดภายในบริษัทก็เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่ดูแล้วน่าจะหยุดแล้วเพราะภายในบริษัท ก็เป็นกลุ่มคนที่เกือบเรียกว่า เป็นตระกูลเดียวกันได้แล้ว

แต่เมื่อบริษัทมีปัญหามากขึ้น ความขัดแย้งระหว่างคนในสองครอบครัวก็ก่อตัวขึ้นใหม่อย่างเงียบๆ

สองครอบครัวที่ว่านี้ก็คือ ครอบครัวอดิศร โฆวินทะ กับลูก ๆ ส่วนอีกครอบครัวหนึ่งคือสืบชัย ไชยนุวัติ กับมารดา

เดือนสิงหาคม 2527 สืบชัย ไชยนุวัติ ได้สั่งชิ้นส่วนถอดแยกประกอบรถยนต์หรือที่เรียกว่า ซีเคดี จากบริษัทเฟียตโอโต เอส.พี.เอ ในอิตาลี เมื่อซีเคดี มาถึงที่ท่าเรือคลองเตย บริษัท กรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลี กลับไม่ไปรับชิ้นส่วนหรือซีเคดี.เหล่านั้น เพราะบริษัทยังคงหยุดการผลิตต่อไป

"เครดิตต่าง ๆ มันพังหมดแล้ว เมื่อแบงก์ไม่ให้เงินแล้วจะเอาเงินที่ไหนไปรับชิ้นส่วนเหล่านั้น พูดอะไรพล่อยๆ คนข้างนอกเขาเลิกให้ความเชื่อถือกันหมด ผมอยู่ที่โรงงานเคยทำงานอยู่ที่นั่นผมทราบดี มีอยู่หลายครั้งที่ผมไปติดต่อซื้อชิ้นส่วนอะไหล่ แม้แต่จากตามร้านค้าที่เคยซื้อกันอยู่เป็นประจำเขายังไม่ยอมปล่อยสินค้าให้เลย เขาจะบอกว่าเอาเงินมาก่อน เขาอาจจะหาสินค้าให้ได้ ตอนนี้สินค้าหมด ไปซื้อทีไรเขาตอบอย่างนี้ทุกที" แหล่งข่าวซึ่งเคยทำงานอยู่ที่นั่นเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ปี 2528 ความขัดแย้งระดับผู้บริหารโดยเฉพาะกลุ่มสองครอบครัวดั่งที่ว่า เริ่มก่อตัวขึ้นครั้งใหญ่

ในการประชุมกรรมการครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2528 เกิดการถกเถียงกันอย่างรุนแรงระหว่างฝ่ายพ่อตาคืออดิศร โฆวินทะ กับฝ่ายลูกเขย สืบชัย ไชยนุวัติ ทางฝ่ายอดิศร โฆวินทะมีเต็มดวง จาตุรจินดา ลูกสาวเป็นผู้เปิดฉากและช่วยเหลือ ทั้งอดิศรและเต็มดวง พยายามให้สืบชัย ไชยนุวัติ แสดงผลตัวเลขค่าใช้จ่ายที่แท้จริงออกมา แต่สืบชัย กลับบอกว่าไม่ได้เตรียมรับมาจึงไม่มีตัวเลขเหล่านั้นพร้อมทั้งยังเสนอให้นำหุ้นของบริษัทมอบให้แก่เจ้าหนี้เพื่อลดจำนวนหนี้ลง แต่อดิศร โฆวินทะและเต็มดวง จาตุรจินดา ไม่เห็นด้วย ทั้งสองยืนยันให้สืบชัย ไชยนุวัติ แสดงตัวเลขค่าใช้จ่ายที่แท้จริงและสถานภาพทางการเงินของบริษัทที่แท้จริงออกมา สืบชัยได้ตอบสวนกลับไปทันควันว่า

"จะเอาไปทำอะไร บอกว่าไม่ได้เตรียมตัวมา"

ประเด็นนี้สร้างความไม่พอในให้กับอดิศร โฆวินทะซึ่งเป็นพ่อตาและเต็มดวง จาตุรจินดา พี่สะใภ้ของสืบชัยเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ดี ในการประชุมครั้งนั้นข้อเสนอของสืบชัย ไชยนุวัติ ในเรื่องที่จะโอนหุ้นบริษัทในเครือที่บริษัท กรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลีถือหุ้นอยู่ให้กับเจ้าหนี้ที่ให้กู้ทั้งหลาย อดิศร โฆวินทะ และเต็มดวง จาตุรจินดา ต่างไม่เห็นด้วยพร้อมทั้งยืนยันว่า หากสืบชัย ไชยนุวัติ ดื้อรั้นด้วยการนำหุ้นเหล่านั้นไปปล่อยให้กับเจ้าหนี้ทั้งสองจะไม่ยอมเซ็นต์ชื่อด้วยอย่างเด็ดขาด

แต่สืบชัย ไชยนุวัติ ก็ไม่สนใจเนื่องจากเสียงมติข้างมากในที่ประชุมเห็นด้วยกับ สืบชัย ไชยนุวัติ

ในช่วงนั้นบริษัท กรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลี มีเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินรายใหญ่ ๆ อยู่ 5 รายคือธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารสยาม ธนาคารกรุงไทย และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นวธนกิจ

สืบชัย ไชยนุวัติ ก็ยังใช้โรงงานประกอบรถยนต์จำนองไว้กับธนาคารสยามเป็นเงิน 80 ล้านบาท แต่ได้เงินมาหมุนแค่ 45 ล้านบาท

การดำเนินการของบริษัทเป็นไปอย่างยากลำบากเนื่องจากขาดสภาพคล่องทางการเงิน และจากการที่สืบชัย ไชยนุวัติกุมกรรมการส่วนใหญ่ในบริษัทไว้ได้และทำอะไรตามใจตัวเองอย่างข้ามหน้าข้ามตา ทำให้อดิศร โฆวินทะ มีอันต้องแค้นเคืองเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อครั้งที่สืบชัย ไชยนุวัติ พยายามที่จะเปลี่ยนแปลงข้อบังคับของบริษัทข้อที่ 29 ซึ่งเดิมเคยเขียนไว้ว่า "มติใด ๆ ของที่ประชุมจะต้องได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า ร้อยละ 75 ของผู้ถือหุ้นที่มาประชุม เว้นไว้แต่กรณีพิเศษ" สืบชัย ต้องการให้แก้เสียใหม่เป็น "มติใด ๆ ของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นต้องมีคะแนนเสียงเกินกว่าร้อยละ 50 ของคะแนนเสียงของผู้ที่ถือหุ้นที่เข้าประชุม โดยให้หุ้นหนึ่งมีหนึ่งคะแนนเสียง"

การแก้ไขข้อบังคับนี้ มีการถกเถียงกันอย่างรุนแรง การลงคะแนนโหวตต้องลงคะแนนลับกันถึง 2 ครั้ง ซึ่งในที่สุดฝ่ายของสืบชัย ไชยนุวัติ เป็นผู้ชนะอีกครั้งหนึ่ง

เหมือนกับการถูกลบเหลี่ยม อดิศร โฆวินทะ ไม่สนในสายใยแห่งความเป็นพ่อตาและลูกเขยตัดสินใจฟ้องศาลทันทีซึ่งทางฝ่ายอดิศร โฆวินทะ ให้เหตุผลว่าเพื่อการป้องกันตัวเองอย่างเดียว มิให้อีกฝ่ายหนึ่งทำอะไรให้เสียหายได้ เพราะเมื่อสืบชัย ไชยนุวัติ ทำการแก้ไขข้อบังคับของบริษัทข้อนี้ได้แล้ว ต่อไปสืบชัย จะทำอะไรก็คงทำตามใจตัวเองได้

กรรมการบริษัท หลายคนจากสายของอดิศร โฆวินทะ เริ่มที่จะลาออกทีละคนสองคน นับตั้งแต่นัยนุชิต จาตุรจินดา, สงัด ศรวณิก, นิรันดร์ พิจิตรานนท์ และแม้แต่ผู้ตรวจสอบบัญชีของสำนักงานฟาร์อีสเทอร์น ก็ขอลาออก

แล้วก็ถึงยุคที่สืบชัย ไชยนุวัติ มีอำนาจเต็มในการบริหารงาน ! แต่เผอิญโชคของเขาคงไม่ดีนัก

ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2528 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็ประกาศห้ามซื้อขายหลักทรัพย์หรือหุ้นของบริษัท กรรณสูต เจนเนอรัล แอสเซมบลี ชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน เพื่อพิจารณาฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทและปัญหาเกี่ยวกับงบการกเงินประจำปี 2527

ภายหลังจากการพิจารณาแล้ว คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็ได้สั่งห้ามซื้อหรือขายหลักทรัพย์จดทะเบียนในห้องค้าหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายนเป็นต้นไป และให้บริษัทกรรณสูต เจนเนอรัล แอสเซมบลี แก้ไขฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานภายในวันที่ 11 มิถุนายน 2528

การถูกสั่งพักการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราวนี้ ได้มีผลทำให้ บริษัทประสบปัญหาอย่างรุนแรงเนื่องจาก ไม่สามารถเพิ่มทุนเพื่อหาทุนมาหมุนเวียนได้อีกต่อไป

สืบชัย ไชยนุวัติ เองก็พยายามดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดให้ได้ ในที่สุดก็ได้ผู้ขี่ม้าขาวเข้ามาช่วยเหลือ เมื่อบริษัทนิวเอร่า จำกัด ผู้เพิ่งได้รับสิทธิในการประกอบและขายรถยนต์ฟอร์ดในตอนนั้น ตอบตกลงที่จะเข้าทำการเช่าโรงงานของบริษัท กรรณสูต เจนเนอรัล แอสเซมบลี จำกัด ที่บางชันเพื่อใช้ประกอบรถฟอร์ด

สาเหตุที่บริษัท นิวเอร่า จำกัดเข้าทำการเช่าโรงงานกรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลี ก็เนื่องจากว่า กรรมการผู้จัดการของนิวเอร่า คือ ที.เค. ชุง นั้นเป็นเพื่อนสนิทกับสงวน ไชยนุวัติ มารดาของสืบชัย ไชยนุวัติ

การเข้าเริ่มดำเนินการเช่า เริ่มขึ้นประมาณช่วงกลางปี 2528 โดยกำหนดราคาค่าเช่ากันตามปริมาณการผลิต

อย่างไรก็ดี นิวเอร่าเองก็ไม่ได้ทำตัวเป็นพระเอกขี่ม้าขาวมาจริงๆ เนื่องจากบริษัทนิวเอร่า ได้จ่ายค่าเช่าให้กับบริษัทกรรณสูต เจนเนอรัล แอสเซมบลี แค่เพียงงวดแรกที่เริ่มทำสัญญาการเช่าแค่ 6 ล้านบาทเท่านั้น หลังจากนั้นก็ไม่จ่ายอีกเลยเว้นช่วงไปนานถึงหนึ่งปี จึงไปจ่ายงวดที่สองอีกแค่ 10 ล้านบาทซึ่งทำเอากรรณสูต เจนเนอรัล แอสเซมบลี แทบกระอักเลือด

ในช่วงต่อระหว่างปี 2528-2529 นี้กรรณสูต เจนเนอรัล แอสเซมบลี ประสบกับปัญหาอย่างหนักที่สุด รถยนต์เฟียตไม่สามารถจะผลิตออกมาได้ บริษัทในเครือขาดเงินหมุนเวียน สถาบันการเงินไม่ยอมปล่อยเงินให้

ในที่สุด เมื่อดูท่าทางจะไม่ไหว สืบชัย ไชยนุวัติ ก็ตัดสินใจลาออกจากการเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทและกรรมการบริหารของบริษัท ในเดือนกรกฎาคม 2529 โดยให้เหตุผลไว้ในจดหมายลาออกว่า

"เนื่องจากตั้งแต่บริษัทกรรณสูต เจนเนอรัล แอสเซมบลี ได้มีสัญญาผูกพันการเช่าโรงงานกับบริษัทนิวเอร่า จำกัด ตั้งแต่เดือนกันยายน 2528 ปรากฏว่าทางบริษัทนิวเอร่าฯ ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาเช่า ทำให้แผนงานและโครงการต่างๆ ของบริษัทฯ ไม่อาจดำเนินไปไดด้ อันก่อให้เกิความเสียหายแก่บริษัทฯ เป็นอย่างมากจึงมีความประสงค์ใคร่ขอลาออก"

ก่อนที่สืบชัย ไชยนุวัติ พระเอกของเรื่องนี้ช่วงปลายของสถานการณ์จะลาออก มารดาของเขาก็ได้หายตัวไปจากประเทศไทยแล้ว หลายคนบอกว่าไปอยู่ที่อเมริการอให้เจ้าหนี้ หยุดทวงหนี้แล้วคงกลับมา

กรรรมการผู้จัดการคนใหม่ ที่ถูกเลือกขึ้นมาให้แบกรับภาระอันหนักอึ้งในบริษัทนี้คนต่อมาก็คือ วิริยะ สริยาภรณ์ อดีตสมุห์บัญชีบริษัทรุ่นเก่าคนหนึ่ง

ถึงเดือนกันยายน 2529 มีประกาศของตลาดหลักทรัพย์ ประกาศเพิกถอนหุ้นสามัญของบริษัทกรรณสูต เจนเนอรัลแอสเซมบลีจำกัดจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรคืบหน้ามีเพียงเรื่องการฟ้องร้องขอความเป็นธรรมจากศาลแรงงาน ในเรื่องที่เกี่ยวกับค่าจ้างเงินเดือนของพนักงานในบริษัท

สถาบันการเงินเองก็ไม่มีใครกล้าฟ้อง เนื่องจากหลายแห่งปล่อยเงินกู้โดยที่หลักทรัพย์ค้ำประกันไม่คุ้มหนี้ คงมีเพียงธนาคารสยามแห่งเดียวที่เปลืองตัวน้อยที่สุด เพราะยังมีโรงงานและที่ดินค้ำประกันอยู่บ้าง ต้นปี 2530 ที่ผ่านมาธนาคารสยามจึงตัดสินใจฟ้องต่อศาลแพ่ง ศาลอาญา รวม 3 คดี ในข้อหาผิดสัญญาเงินเกินบัญชี จ่ายตั๋วสัญญาเบิกเกินบัญชี ค้างหนี้ตามสัญญาแอลซี.รวมหนี้ฟ้อง 68 ล้านบาท

ในขณะนี้ รถยนต์เฟียตรุ่นใหม่ ๆ ได้หายไปจากตลาดรถยนต์บ้านเรา เป็นเวลา 3 ปีแล้ว และก็ยังไม่มีทีท่าว่าบริษัทกรรรณสูต เจนเนอรัล แอสเซมบลี จะฟื้น !

สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ มีเพียงกระแสข่าวลือ ที่ว่าเจ้าหนี้ที่นั่น เจ้าหนี้ที่นี่ จะเข้าเทคโอเวอร์ แต่ก็ยังไม่เห็นมีใครกล้าเข้าไปเทคสักคน!

หนี้สินที่มีอยู่ในบริษัท ก็ยังมีอยู่อีกมากมาย เรื่องในศาลหลายสิบคดีก็ยังไม่จบกันง่ายๆ

หรือว่าเรื่องนี้จะจบลง ด้วยความพ่ายแพ้ของทุกคนที่เกี่ยวข้อง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.