|
สองแคว ไม่ได้สำคัญแค่แม่น้ำสองสาย
โดย
ธนิต วิจิตรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
“สองแคว” หรือพิษณุโลก เมืองที่มีบทบาทยิ่งในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในสมัยอยุธยา นอกจากนี้ยังเป็นเมืองที่มีศาสนสถานอันสำคัญ เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธชินราช ต้นกำเนิดพระเครื่อง “นางพญา” และพระบรมสารีริกธาตุ
เนื่องจากภูมิประเทศการตั้งเมืองอยู่ระหว่างกลางลำน้ำ หรือที่เรียกว่ากลางแควสองสาย อันได้แก่ แควใหญ่ และแควน้อย (แม่น้ำน่านปัจจุบันกับแม่น้ำน่านเดิม) เหนือตัวเมืองขึ้นไปราว 10 กิโลเมตร จังหวัดพิษณุโลกจึงถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เมืองสองแคว”
ศิลาจารึกสุโขทัยที่ 1 และกฎหมายกรุงศรีอยุธยาในสมัยพระรามาธิบดีอู่ทอง แม้แต่ชาวต่างประเทศยังเรียกจนสมัยสมเด็จ พระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา มีกล่าวในพงศาวดารพม่าว่า พระเจ้ากรุงหงสาวดีบุเรงนอง ตั้งให้พระมหาธรรมราชามียศเป็นเจ้าฟ้า
เมืองโอมบุรี เรียกตามฤกษ์ของพระพุทธเจ้าออกบิณฑบาต ตามพงศาวดารเหนือกล่าว
จันทบูรณ์ เป็นชื่อเรียกเมืองฝั่งตะวันตก
ทวิสาขะนคร เรื่องของพงศาวดารเหนือ แต่เดิมเป็นภาษา มคธ แปลงชื่อเมืองสองแควว่าเมืองทวิสาขะนคร
ไทยนที เป็นชื่อในภาษาบาลีของเมืองสองแคว ซึ่งมีกล่าวในตำนานพระพุทธสิหิงค์ และชินกาลมาลีปกรณ์
ชัยนาทบุรี เรียกตามหลักศิลาจารึกหลักที่ 12
เมืองอกแตก หมายถึงเมืองที่มีแม่น้ำไหลผ่านกลางเมือง
สระหลวง เป็นชื่อในหนังสือ ท้าวแสนปม ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงปรารภไว้
พงศาวดารเหนือ พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกสร้างเมือง พระองค์ เสด็จมาถึงในฤกษ์ของพระพิษณุ อันเป็นยามมงคลของลัทธิพราหมณ์
“เมืองพิษณุโลก” หมายถึงเมืองของพระพิษณุ
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงมีพระนามเดิมของพระองค์ว่าพระราเมศวร ซึ่งหมายถึงเมืองของ พระนารายณ์ เปลี่ยนให้เหมาะสมกับที่ประทับของพระองค์
โดยเชื่อกันว่า เมืองพิษณุโลก นี้เกิดขึ้นทีหลังเมืองสองแคว สันนิษฐานว่าเกิดเมื่อเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา
สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 เขียนว่า “พิดสีโลก” เนื่องจากภาษาในสมัยก่อนมักจะเขียนตามสำเนียงที่ออกมาหรือไม่ก็เรียกเพี้ยนจากการเขียน
พิษณุโลกอยู่ในเขตภาคเหนือตอนล่าง ภาษาที่ใช้พูด เสียง มีเอกลักษณ์ อาหารการกินจะคล้ายกับคนในแถบภาคกลาง มีแม่น้ำน่านไหลผ่าน เมืองพิษณุโลกจึงได้ชื่อว่า “สองฝั่งน่านล้วนเรือนแพ”
เรือนแพเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของพิษณุโลก บริเวณสองฝั่งแม่น้ำน่านในตัวเมืองนั้นจะมีเรือนแพเรียงรายไปตามลำน้ำ ตลอดแนวเหนือสู่ใต้
ชีวิตชาวแพเป็นชีวิตที่เรียบง่าย เป็นที่สนใจของผู้ที่มาเยือน
ถ้าพูดถึงจังหวัดพิษณุโลก ทุกคนโดยเฉพาะผู้เป็นพุทธศาสนิกชนจะต้องนึกถึงเป็นสิ่งแรกคือพระพุทธชินราช หรือหลวงพ่อใหญ่ ซึ่งเป็นพระประธานภายในวิหาร วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรวิหาร “วัดใหญ่” ซึ่งเป็นพระอารามหลวง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านทางฝั่งตะวันออก สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเมือง เมื่อ พ.ศ.1900
พระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ขนาดหน้าตักกว้าง 5 ศอก 2 คืบ 5 นิ้ว และสูง 7 ศอก
เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงามมากที่สุดในประเทศ มีเส้นรอบนอกพระวรกายที่อ่อนช้อย พระขนงโก่ง พระเกตุมาลาเป็นเปลวเพลิง พระหัตถ์มีปลายนิ้วทั้งสี่เสมอกัน ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษที่เรียกว่า “ที่ตบงคุลี” ซุ้มเรือนแก้วทำด้วยไม้แกะสลัก สร้างในสมัยอยุธยา แกะสลักลำตัวคล้ายมังกร มีงวงคล้ายช้างตรงปลาย ซุ้มและคล้ายจระเข้ (ตัวเหรา) อยู่ตรงกลาง และมีเทพอสุราคอยปกป้ององค์พระอยู่ 2 องค์
พระมหาธรรมราชาที่ 1 (พระยาลิไท) แห่งกรุงสุโขทัย โปรด ให้สร้างขึ้นพร้อมกับพระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดสุทัศน์เทพวราราม และวัดบวรนิเวศวิหาร
พระยาลิไทรับสั่งให้ช่างนำเศษทองที่เหลือจากการสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา มารวมกันหล่อพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดเล็ก “พระเหลือ” พร้อมด้วยสาวกยืนอีก 2 องค์
ส่วนอิฐที่ก่อเตาสำหรับหลอมทองได้นำมารวมกันบนฐานชุกชี พร้อมกับปลูกต้นไม้มหาโพธิ์ 2 ต้น บนชุกชี เรียกโพธิ์สามเส้า ระหว่างต้นโพธิ์ได้สร้างวิหารน้อยขึ้นและได้อัญเชิญพระเหลือและพระสาวกมาประดิษฐาน “วิหารพระเหลือ”
พระอัฏฐารศ พระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติด้านหลังพระวิหาร สูง 18 ศอก สร้างสมัยเดียวกับพระพุทธชินราช
เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหารใหญ่ แต่วิหารได้พังลงจนหมดเหลือเพียงเสาที่ก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่ เป็นวิหารเก้าห้อง พระปรางค์ประธาน ฐานย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ ศิลปะอยุธยาตอนต้น
เดิมเป็นพระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบสุโขทัยแท้ ต่อมาถูกดัดแปลง ให้เป็นพระปรางค์ในสมัยอยุธยา
วัดจุฬามณี ริมน้ำน่านฝั่งตะวันออกไปทางใต้ห่างจากตัวเมือง 5 กิโลเมตร โบราณสถานที่มีมาก่อนสมัยสุโขทัย เคยเป็นที่ตั้งของเมืองสองแควเก่า
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงสร้างพระวิหารและเสด็จออกผนวชที่วัดนี้เมื่อ พ.ศ.2007 เป็นเวลา 8 เดือน 15 วัน โดยมีข้าราชบริพารออกบวชตามเสด็จถึง 2,348 รูป ปรางค์แบบขอมขนาดย่อมฐานกว้าง 11 เมตร ยาว 18 เมตร ก่อด้วยศิลาแลง ด้านหน้าก่อเป็นแบบตรีมุข ตั้งบนฐานสูงซ้อนกัน 3 ชั้น แต่ละชั้นย่อมุมไม้ยี่สิบ มีปูนปั้นประดับลวดลายตามชั้น ตอนล่างแถบหน้ากระดานและบัวหน้ากระดานเป็นลายหงส์
วัดราชบูรณะ ตั้งอยู่ริมน้ำน่านฝั่งตะวันออกทางใต้ของวัดพระศรีมหาธาตุฯ พระอุโบสถมีลักษณะพิเศษคือ ชายคาตกแต่งด้วยนาคสามเศียร มีลักษณะอ่อนช้อยงดงาม
พระประธานเป็นศิลปะสมัยสุโขทัย ได้รับการบูรณะในครั้งแรกสมัยพระยาลิไท จึงกลายเป็นที่มาของชื่อวัดในปัจจุบัน ภายในโบสถ์มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นรูปรามเกียรติ์ วาดในสมัยรัชกาลที่ 4 สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างพื้นบ้าน
วัดนางพญา ที่จริงเป็นวัดเดียวกันกับวัดราชบูรณะ ภายหลังมีถนนตัดผ่ากลางวัด จึงกลายเป็น 2 วัด สถาปัตยกรรมของ วัดจึงมีลักษณะเดียวกัน ต่างกันที่วัดนางพญาไม่มีพระอุโบสถ แต่มีวิหาร
การที่ได้ชื่อว่าวัดนางพญา เนื่องจากมีการพบกรุพระเครื่อง
วัดนี้มีชื่อเสียงในด้านพระเครื่อง เรียกว่านางพญา ซึ่งเล่าลือกันถึงความศักดิ์สิทธิ์ ปัจจุบันหาได้ยากมาก มีแต่ที่สร้างสำรอง ขึ้นภายหลัง
พระนางพญาพิษณุโลก พระชั้นนำที่สุด จัดว่าเป็นพระเนื้อ ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ถูกจัดให้เป็นพระในชุด “เบญจภาคี” ที่สุดยอด ของไทย
จากการสันนิษฐาน ผู้สร้างพระนางพญาคือ พระวิสุทธิกษัตรีย์ พระมเหสีของสมเด็จพระมหาธรรมราชา
พระนางพญาพบเมื่อปี พ.ศ.2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จประพาสเมืองพิษณุโลก ทางจังหวัด จัดเตรียมการรับเสด็จฯ โดยจัดสร้างปะรำพิธีที่วัดนางพญา เมื่อคนงานขุดหลุมได้พบเจอพระเป็นจำนวนมาก
ทางเจ้าอาวาสและจังหวัดได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ และได้ทรงแจกจ่ายให้ข้าราชบริพารที่ตามเสด็จด้วย
พระนางพญาได้ถูกค้นพบในเวลาต่อมาอีกหลายกรุ พิมพ์เดียวกัน เนื้อเดียวกัน ต่างกันเพียงภูมิประเทศที่ถูกค้นพบ เช่น พบที่บ้าน “ตาปาน” บริเวณนี้น้ำท่วมประจำ พระเสียผิวมีเม็ดแร่ลอยมากเรียก “กรุน้ำ”
พบที่วัดอินทาวรวิหาร บรรจุอยู่ในบาตรที่เจดีย์องค์เล็กที่วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ)
พบที่วังหน้า พระราชวังบวรมงคล วัดสังขจาย ธนบุรี
พระนางพญา เป็นพระรูปทรงสามเหลี่ยม ทุกพิมพ์นั่งมารวิชัย ไม่ประทับอาสนะหรือมีฐานรองรับ รูปทรงงดงาม โดยเฉพาะจะเน้นบริเวณอกที่ตั้งนูนเด่นและลำแขนทอดอ่อนช้อยคล้าย กับผู้หญิง จึงเรียกพระพิมพ์นี้ว่า “นางพญา” พุทธคุณถือว่ายอดเยี่ยมทางด้านเมตตามหานิยม
พระนางพญาสร้างจากเนื้อดินผสมว่านเกสรดอกไม้ 108 ตลอดจนแร่กรวดทรายต่างๆ แล้วนำไปเผา
พระส่วนใหญ่มีเนื้อหยาบ ที่ละเอียดอ่อนจะมีน้อยกว่ามาก เนื้อจะเหมือนกันหมด ผิดกันตรงพิมพ์ทรงเท่านั้น มีทั้งหมดด้วยกัน 7 พิมพ์ คือ
พิมพ์เข่าโค้ง
พิมพ์เข่าตรง แยกเป็นพิมพ์เข่าตรงธรรมดากับพิมพ์เข่าทรง “คือตกเข่า”
พิมพ์อกนูนใหญ่
พิมพ์สังฆาฏิ
พิมพ์อกแฟบ (พิมพ์เทวดา)
พิมพ์อกนูนเล็ก
พิมพ์พิเศษ เช่น พิมพ์เข่าบ่วง หรือพิมพ์ใหญ่พิเศษ
มีหลักการพิจารณาคุณสมบัติพระนางพญาตามหลักของอาจารย์อรรคเดช กฤษณะดิลก บอกไว้ เช่น การตัดด้วยของของมีคม
เนื้อพระมีหลายโซน เนื้อหยาบ ละเอียด ดินศิลาธิคุณ
สีพระนางพญาสีดำ สีใบลานแห้ง สีดอกพิกุล สีอิฐ สีน้ำตาล สีเขียวดินครก ฯลฯ
จะมีลักษณะมันวาว หรือปรากฏฟิล์ม สัมผัสด้วยมือกรณีพระเนื้อละเอียด หรือดินศิลาธิคุณ
การตัด ถ้ามุมมองด้านข้างจะปรากฏเป็นสี่เหลี่ยมคางหมู ความหนาบางขององค์พระไม่แน่นอน ถ้าหนาจะสันนิษฐานได้ว่าสร้างในตอนแรกๆ เนื้อพระมีมาก ถ้าไม่หนาแสดงว่าสร้างตอนเนื้อ พระเริ่มเหลือน้อย แต่ไม่ใช่เป็นข้อยุติ
ความห่างของโมเลกุลในเนื้อพระกับมวลสาร
รอยปริแยกของเนื้อพระโดยขบวนการทางธรรมชาติ เรื่องของคราบกรุดินนวล ในกรณีที่พระกระจายนอกหม้อ ส่วนพระที่อยู่ในหม้อคราบกรุจะน้อย
ความแห้งของเนื้อพระในกรณีพระเนื้อละเอียดจะติดมือ เป็นต้น
ผลไม้พื้นเมืองพิษณุโลกที่นิยมรับประทานกันอย่างแพร่หลาย มีให้ได้รับประทานกันตลอดทั้งปี ปราศจากสารพิษ นิยมปลูกกันทั่วทุกหัวระแหง มีด้วยกันหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นกล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ กล้วยหอม กล้วยหักมุก
และทุกส่วนของกล้วย ไม่ว่าจะเป็นต้น ดอก (ปลี) ใบ และ ผลจะใช้ประโยชน์ได้หมด
อย่างลำต้น คือที่เรียกว่าหยวก นำไปผสมสับรำข้าวเป็นอาหารสัตว์ได้ หรือในสมัยโบราณ เวลามีงานพิธี ที่เขาเรียกว่าแทงหยวกนำไปตกแต่งในงานพิธี กาบและใบนำไปทำกระทง ใบตองห่อขนม สารพัดประโยชน์ใช้เป็นวัสดุอุปกรณ์ของเล่น เช่น ม้าก้านกล้วย
อย่างปลี นอกจากจะใช้เป็นผักแกล้มกับผัดไทย หมี่กะทิ เต้าเจี้ยวหลน กะปิหลน รับประทานกับน้ำพริก ขนมจีน ต้มข่า ยำหัวปลี ยังเป็นอาหารสำหรับสตรีหลังคลอดโดยทำเป็นแกงเลียง บำรุงน้ำนม ช่วยเสริมสร้างน้ำนมมารดาไว้เลี้ยงเด็กทารก โดยว่ากันว่าถ้าสามารถให้น้ำนมมารดาแก่ทารกจนถึงวัย 9 เดือน จะเสริมสร้างไอโอดีน เพื่อการพัฒนาสมองทารกได้ดียิ่งขึ้นในเรื่องของไอคิว
กล้วยน้ำว้าเป็นกล้วยที่นิยมปลูก ปลูกง่าย โตเร็ว เนื่อง จากคงความสดได้มากกว่ากล้วยชนิดอื่น ให้คุณค่าทางอาหารมากมาย
กล้วยน้ำว้าจัดเป็นผลไม้ เป็นอาหารคาวหวาน อาหารว่าง ได้หลายประเภทหลายรูปแบบ รสชาติอร่อยไม่ซ้ำแบบกัน เช่น ใช้เป็นอาหารสำหรับทารก เนื่องจากย่อยง่าย ช่วยเรื่องของการระบายท้อง นำไปแกงคั่ว กล้วยฉาบ ปิ้ง นึ่ง ทอด อบ กวน เชื่อม ทำเป็นกล้วยบวดชี กล้วยแขก กล้วยตาก หรือขนมกล้วย
กล้วยน้ำว้าให้พลังงานมากที่สุด ถ้าห่ามและสุกจะให้ธาตุเหล็กในปริมาณสูง ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดงป้องกันโรคโลหิตจาง มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินซี
สรรพคุณในการเป็นยาสมุนไพร
ผลสุกจะมีเบต้าแคโรทีนไนอาซีน ใยอาหารและเพคติน ช่วยการหล่อลื่น ระบบขับถ่ายคล่องขึ้น เป็นยาระบายท้องได้เป็น อย่างดี รักษาโรคเลือดออกตามไรฟันในเด็ก ลดอาการเจ็บคอ
ผลดิบและห่ามมีสารแทนนินและเพคติน ซึ่งมีฤทธิ์ฝาดสมาน สามารถรักษาอาการท้องเสียที่ไม่รุนแรงได้ทุเลาลง หาก รับประทานกล้วยก่อนแปรงฟันจะทำให้ไม่มีกลิ่นปากและผิวพรรณดี บำรุงกระดูก ฟัน เหงือกให้แข็งแรง
การขับน้ำเหลืองเสีย
นอกจากนี้น้ำคั้นจากต้นใช้ทากันผมร่วง และยังทำให้ผมขึ้นอีกด้วย
ช่อดอก สามารถใช้เป็นยารักษาโรคเบาหวาน
แป้งที่ทำจากกล้วยดิบใช้รักษาอาการอาหารไม่ย่อย ท้องขึ้น มีกรดมาก และหยวกกล้วยใช้เป็นอาหารที่ใช้ล้างในระบบทางเดินอาหารอีกด้วย
เมื่อมาถึงพิษณุโลกทั้งที ต้องพูดถึงกล้วยตากของอำเภอบางกระทุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านเกาะคู มีวิธีการ ถนอมอาหาร กล้วยน้ำว้าเป็นกล้วยตากที่มีรสนุ่ม กลิ่นหอม หวาน อร่อย สะอาด
ปัจจุบัน กล้วยตากที่จังหวัดนี้มีการพัฒนาไปถึงขั้นกล้วยตากเคลือบช็อกโกแลตแล้ว
วิธีการและขั้นตอนการทำกล้วยตาก เริ่มจากการคัดพันธุ์กล้วยโดยใช้พันธุ์มะลิอ่อง ซึ่งปลูกกันมากในท้องถิ่น
พันธุ์นี้สังเกตได้จากผล จะโต ไส้จะขาว และปราศจาก เมล็ด
ตัดกล้วยเครือแก่ออกเป็นหวี บ่มกล้วยให้สุก โดยใช้ ใบตองรองพื้นเรียงทับกัน คลุมผ้าพลาสติก 1 วัน และเปิดผ้าพลาสติกออก และทิ้งไว้อีก 3 วัน หน้าร้อนจะบ่มบนพื้นดิน สำหรับหน้าหนาวจะบ่มบนพื้นซีเมนต์
ปอกเปลือก ลอกเส้นใยออกให้หมด ใช้มีดตัดปลายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสีดำ จุ่มน้ำเกลือ นำไปเรียงบนตะแกรง ตากในที่อบพลังงานแสงอาทิตย์ ปัดและกันฝุ่น แมลง ด้วยการคลุมแผ่น พลาสติกด้านบน
รวบรวมกล้วยที่ตากไว้ด้วยกัน ห่อพลาสติกขนาดใหญ่ เพื่อความร้อนจากกล้วยจะได้ระอุต่อไป รุ่งขึ้นนำไปตากใหม่ทำเช่นนี้ 6 วัน
กล้วยตากเป็นผลิตภัณฑ์ที่กำหนดคุณภาพไว้ให้เป็นมาตรฐานอุตสาหกรรม คือ ความชื้นต้องไม่เกิน 21% โดยน้ำหนัก
ขนาดผลมีความสม่ำเสมอ ผลเล็กและผลใหญ่ในภาชนะบรรจุเดียวกัน จะต่างกันได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของกล้วยผลใหญ่ที่สุด
สำหรับผลปริแตกมีได้ไม่เกิน 30% ของจำนวนผล
เรื่องสี กลิ่น รส ต้องมีสี กลิ่น รสชาติของกล้วยอบต้องมี รสตามธรรมชาติ ส่วนที่ใช้ปรุงแต่งกลิ่นรสอาจมีได้ เช่น น้ำเชื่อม น้ำผึ้ง
เนื้อกล้วยต้องนุ่ม ไม่แข็งกระด้าง ไม่เละ ไม่ยุ่ย และต้องไม่มีเมล็ด ปราศจากสิ่งสกปรก เช่น แมลง รอยกัดหรือรอยแทะ
สิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดพิษณุโลกอีกอย่างหนึ่งคือ เรือนแพที่ลอยอยู่บริเวณสองฝั่งแม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่าย
เรือนแพเป็นเรือนที่อยู่อาศัยที่สร้างอย่างถาวร ลักษณะโครงสร้างเป็นไม้ หลังคามีทั้งแบบจั่ว หรือปั้นหยา ปลูกสร้างบนแพลูกบวบล่องลอยอยู่ทั่วไปตามริมฝั่งแม่น้ำ
การวางตัวเรือนบนแพลูกบวบ มีทั้งวางตามแนวยาวและขวาง เรือนแพเกือบทุกหลังจะมียานพาหนะเป็นเรือพายลอยลำอยู่ข้างแพ
พื้นที่ใช้สอยในเรือนแพ
พื้นที่ของตัวเรือน เป็นพื้นที่ยกพื้น กั้นฝาผนังมีหลังคาคลุม ใช้เป็นที่พัก เก็บของ และทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
พื้นที่โล่งนอกตัวเรือน มักยกพื้น สร้างหลังคาต่อจากหลังคา เรือน หรือสร้างเป็นกระดานกระดก เปิดขึ้นแทนหลังคา กันแดดฝน ใช้เป็นที่พักผ่อนหรือทำกิจกรรมอื่นๆ
พื้นที่โดยรอบตัวเรือนจะเว้นระยะไว้เป็นทางเดินและวางของ
ยังมีส่วนที่เป็นห้องน้ำห้องส้วม
ระบบสุขาภิบาลสำหรับชาวเรือนแพ มีการกำจัดขยะโดยนำขึ้นบก น้ำอาบน้ำชำระปล่อยลงแม่น้ำ
สำหรับระบบขับถ่ายจะสร้างส้วมที่มุมนอกเรือน
เรือนแพมีประโยชน์ใช้สอยคือ สามารถเคลื่อนที่ไปได้ ทั้งสามารถยกระดับขึ้น-ลงตามระดับน้ำ ทำให้ตัดปัญหาในเรื่องของ น้ำท่วมไปได้
เรือนแพที่แม่น้ำน่าน เป็นชุมชนที่มีความผูกพันกับแม่น้ำ อยู่ใจกลางเมืองพิษณุโลก ทั้งสองฟากฝั่งแม่น้ำยังคงเหลืออยู่บ้าง แต่ปัจจุบันได้ยินว่ามีการจำกัดการเกิดเรือนแพ
ปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่ไม่สะดวกในการอยู่อาศัยเช่นสมัยโบราณ จึงคงเหลือแต่เรือนแพที่ใช้ประกอบกิจการร้านค้า เป็นร้าน อาหารที่มีผู้นิยมใช้บริการกันมาก นอกจากได้ชื่นชมวิถีชีวิตริมน้ำ แล้ว ยังได้รับอากาศบริสุทธิ์ ลมเย็นสบาย สดชื่น อย่างเรือนแพ ร้านอาหารสองแคว ซึ่งเปิดกิจการมาหลายปีแล้ว
ที่ยืนยงอยู่ได้ นอกจากบรรยากาศโดยรวม ความสะอาดสะอ้าน การบริการ อาหารต้องมีรสชาติได้ใจอีกด้วย
นอกจากแพสองแควที่เป็นเรือนแพลอยน้ำแล้ว ข้างๆ วัดใหญ่ยังมีร้านก๋วยเตี๋ยวห้อยขาริมน้ำน่าน ให้นั่งรับประทาน ชื่นชมธรรมชาติอีกด้วย
โดยร้านจะลึกเข้าไปเลยวัดเลียบไปตามถนนเข้าไปเล็กน้อย เวลาที่ลูกค้านั่งรับประทานจะนั่งห้อยขา ชื่นชมทิวทัศน์ โดยรอบด้วยความเพลิดเพลิน แม้ปัจจุบันจะมีถนนคั่นกลางแล้วก็ตามแต่ยังคงเสน่ห์อยู่
ในการไปเยือนพิษณุโลกครั้งนี้ ไม่ลืมที่จะแวะชมขุมทรัพย์ ทางประวัติศาสตร์และขุมทรัพย์ทางภูมิปัญญา โดยการการันตี จากรางวัลยอดเยี่ยมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ประเภทหน่วยงานส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว
ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเรื่องราวบอกเล่าความเป็นอยู่วิถีชีวิตแบบชาวบ้าน
จัดแสดงภาพเก่าๆ อันหมายถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน นับเป็นหมื่นๆ ชิ้น เครื่องจักสาน เครื่องปั้นดินเผา เครื่องใช้ในครัวเรือน หรือแม้แต่เครื่องมือที่ใช้ทำมาหากิน เช่น เครื่องวิดน้ำด้วยมือ เครื่องสีข้าว เครื่องมือจับสัตว์ เช่น ดักปลา ดักนก ดักหนู แม้แต่เครื่องดนตรีก็มีให้เห็น นอกจากนี้ยังมีของเล่นเด็กสมัยก่อน
นิทรรศการเผ่าลาวโซ่ง “ไทยทรงดำ” ซึ่งอพยพมาจากจังหวัดราชบุรี มีจัดแสดงไว้ด้วย
นี่คือพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี บนถนนวิสุทธิกษัตริย์ จ่าสิบเอกทวี บูรณเขตต์ มีฝีมือในทางประติมากรรม ได้รับการเชิดชูเกียรติ เป็นบุคคลดีเด่นทางวัฒนธรรมการช่างฝีมือ แขนงช่างหล่อ ได้รับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และมหาวิทยาลัยศิลปากร รวมทั้งประกาศเกียรติคุณเป็น “คนดีศรีพิษณุโลก”
เอกลักษณ์ของแต่ละแห่ง ถ้ายังรักษาไว้ได้จะเป็นตัวดึงดูดใจให้ทุกคนอยากมาสัมผัสด้วยตัวเอง และยังได้รับรู้เรื่องราวที่น่าจดจำและเล่าขานกันต่อๆ ไปอีกนานแสนนาน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|