IBM centennial year

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

ยักษ์สีฟ้าไอบีเอ็มมีบทบาทชัดเจนในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีให้สอดคล้องไปกับวิถีของมนุษย์และองค์กรแห่งนี้ได้ดำเนินธุรกิจจนมีอายุ 100 ปีในปีนี้ แม้ว่าไอบีเอ็ม ประเทศไทยจะมีอายุครึ่งหนึ่งของบริษัท แต่ยุทธศาสตร์ธุรกิจคงดำรงบทบาทเจริญรอยตามบริษัทแม่ทุกอย่าง

ไอบีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น เริ่มเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยเป็นครั้งแรกด้วยการให้บริการด้านเครื่องประมวลผลข้อมูล และถ่ายทอดความรู้ในการสำรวจสำมะโนประชากรและการเกษตร เมื่อปี พ.ศ.2491 แต่หลังจากมองเห็นโอกาสธุรกิจ ในประเทศไทย จึงได้ก่อตั้งเป็นบริษัทไอบี เอ็ม ประเทศไทย จำกัด ขึ้นเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2495

ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ปัจจุบันมีอายุ 59 ปี มีกรรมการผู้จัดการมาแล้วทั้งหมด 19 คน โดยผู้บริหารในยุคเริ่มก่อตั้งธุรกิจส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติและผู้บริหารต่าง ชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยมีทั้งหมด 12 คน เริ่มทำงานตั้งแต่ปี 2499-2529

พอเข้าปี 2530 ไอบีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น ได้แต่งตั้งสมภพ อมาตยกุล คนไทยคนแรก จนถึงปัจจุบันมีคนไทยจำนวน 7 คน นั่งอยู่ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุด

ไอบีเอ็ม ประเทศไทย นับเป็นองค์กรที่เติบโตเคียงคู่มากับเศรษฐกิจประเทศไทยในยุคของการพัฒนาเศรษฐกิจ ไทยให้เจริญก้าวหน้าเพื่อแข่งขันกับนานาประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่ผู้บริหารคนไทยขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจ ไทยบูมอย่างสุดขีดราวปี 2535 รวมถึงก่อน จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540

เศรษฐกิจไทยจะขึ้นหรือลง ธุรกิจของไอบีเอ็มยังคงดำเนินต่อไปในประเทศไทย โดยมีแผนดำเนินธุรกิจสอดคล้องไปตามยุทธศาสตร์ของบริษัทแม่ในสหรัฐอเมริกา

เดิมทีธุรกิจหลักของไอบีเอ็มจะเน้น จำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่และ อุปกรณ์ด้านฮาร์ดแวร์เป็นส่วนใหญ่ แต่หลัง จากเห็นว่าสินค้าด้านฮาร์ดแวร์เริ่มมีรายได้ ลดลง ทำให้ไอบีเอ็มตัดสินใจยุติการทำธุรกิจหลายประเภท เช่น ฮาร์ดดิสก์ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ปรินเตอร์

ไอบีเอ็มคาดการณ์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในตลาดโลกยุคธุรกิจไร้พรมแดน ทิศทางธุรกิจไอทีที่ทำให้ไอบีเอ็ม ตัดสินใจเบนเข็มจากธุรกิจผลิตภัณฑ์สำหรับ ตลาดคอนซูเมอร์มาให้ความสำคัญกับกลุ่มตลาดที่มีศักยภาพสูงกว่าและทำกำไรได้มากกว่า เช่นกลุ่มองค์กร

ไอบีเอ็มเริ่มเข้าซื้อกิจการบริษัทซอฟต์แวร์ 56 แห่งในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา หรือก่อนหน้านั้นได้เข้าซื้อกิจการไพรซ์วอเตอร์เฮ้าส์ คูเปอร์ส์ ในส่วนธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการบริการเทคโนโลยีและธุรกิจ

การเข้าซื้อกิจการบริษัทซอฟต์แวร์จำนวนมาก เพราะไอบีเอ็มมองว่าโลกเทคโนโลยีในอนาคตต้องการเทคโนโลยีทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาล เพราะการสื่อสารของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น โลกต้องการข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจมากขึ้น ทิศทางธุรกิจของไอบีเอ็มจึงมุ่งเน้น ให้บริการของด้านซอฟต์แวร์และเซอร์วิส

การปรับโครงสร้างธุรกิจไอบีเอ็มเป็นไปตามการเปลี่ยนความต้องการของมนุษย์ โดยเฉพาะต้องการเครื่องมือที่ช่วยใช้ในการตัดสินใจ หรือคาดการณ์ล่วงหน้า สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

จากการวิเคราะห์ทิศทางของเทคโนโลยีในอนาคตทำให้ไอบีเอ็มได้กำหนดแผนธุรกิจไว้อย่างชัดเจนภายใต้แนวคิด Smarter Planet ไอบีเอ็มเรียกว่า โลกที่กำลังฉลาดขึ้น

การมองเห็นเทรนด์เทคโนโลยีในอนาคตข้างหน้าของยักษ์สีฟ้าที่มีอายุ 100 ปี ไอบีเอ็มเรียกตัวเองว่า IBM Centennial Year พร้อมกับขับเคลื่อนธุรกิจไป พร้อมๆ กับแนวคิด Smarter Planet

แนวคิดดังกล่าวได้ถูกบอกเล่าผ่านคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่าวัตสัน เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ไอบีเอ็มได้สร้างวัตสันขึ้นมาเพื่อแข่งขันตอบคำถามกับมนุษย์ที่เก่งที่สุดในโลก 2 คน ผ่านรายการเกมโชว์ JEOPARDY

วัตสันเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่สามารถประมวลผลข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและตอบโต้กับคู่แข่งขันได้ทันที และสามารถชนะการแข่งขัน

วัตสันคือต้นแบบ ที่ไอบีเอ็มต้องการแสดงให้เห็นว่าการประมวลข้อมูลที่รวดเร็ว และถูกต้องแม่นยำ จะช่วยทำให้อุตสาหกรรมหลายแขนง เช่น การรักษาคนไข้ การดูแล ฐานข้อมูลต่างๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

แนวคิด Smarter Planet ได้ถ่ายทอดมาสู่ไอบีเอ็ม ประเทศไทย มาได้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง และพยายามถ่ายทอดแนวคิดนี้ไปสู่พันธมิตรและลูกค้า

พรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด บอกกับผู้จัดการ 360 ํ ว่าประเทศไทยเป็น 1 ใน 20 ประเทศ ที่ไอบีเอ็ม คอร์ปมองว่าเป็นประเทศที่มีการเติบโต เพราะไทยเป็นส่วนหนึ่งของประเทศที่อยู่ในกลุ่ม emerging market ดังนั้นประเทศ เหล่านี้จะได้รับการสนับสนุนทั้งด้านเงินทุนและบุคลากรเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์

จากการถูกเลือกให้เป็นประเทศที่เติบโต ทำให้กรรมการผู้จัดการได้ตั้งเป้าการเติบโตโดยรวมของไอบีเอ็ม ประเทศไทย จะต้องโตอีก 1 เท่าตัวภายใน 3 ปี หรือมีรายได้เพิ่มปีละร้อยละ 20-30

การตั้งเป้าหมายของไอบีเอ็ม ประเทศไทย เติบโตอีก 1 เท่าตัวภายใน 3 ปี อาจเกิดจากแรงผลักดันของบริษัทแม่ที่ได้ประกาศไว้ว่าในปี 2515 จะต้องมี earning per share เป็น 20 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ จาก ปี 2010 ทำได้ 11.5 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ

เหตุผลที่ไอบีเอ็มออกมาประกาศกร้าวเพิ่มยอดรายได้ เป็นเพราะเมื่อปี 2010 ไอบีเอ็มได้กำหนดเป้าหมายไว้ว่าจะต้องได้ earning per share 10 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ แต่สามารถทำได้ 11.5 เหรียญ จึงทำให้ไอบีเอ็มหาญกล้าที่จะสร้างผลงานให้ได้อีกครั้งในปี 2515

“ในเมืองไทย เราตามบริษัทแม่ บางแห่งยังหนักฮาร์ดแวร์ แต่ไทยไปซอฟต์แวร์ เราทำธุรกิจให้คำปรึกษา และบริการเอาท์ซอร์ส และอินทิเกรทระบบ แต่ฮาร์ดแวร์ก็มีส่วนหนึ่งเพราะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องมีและนำซอฟต์แวร์มาวางระบบเพื่ออินทิเกรทให้กับลูกค้า เซอร์วิสทั่วโลกเกินร้อยละ 50 และไทยก็ใกล้เคียงกับต่างประเทศ”

และสิ่งที่จะทำให้ไอบีเอ็ม คอร์ป สมหวังในการเพิ่มสัดส่วนรายได้คือการมุ่งสู่บริการ business analytic เทคโนโลยีทำหน้าที่คาดการณ์สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคต และคลาวด์ คอมพิวติ้ง รวมไปถึง การลงทุนในประเทศเติบโต

จากการยึดยุทธศาสตร์บริษัทแม่เป็นหลัก ทำให้แผนธุรกิจไอบีเอ็ม ประเทศไทย มุ่งเน้นไปยังกลุ่มธุรกิจหลัก 4 ส่วน คือ สถาบันการเงิน ธุรกิจการสื่อสารเทเลคอม ธุรกิจพลังงาน และองค์กรภาครัฐและสุขภาพ

ลูกค้าสถาบันการเงินเป็นลูกค้าหลัก ของไอบีเอ็ม น่าจะเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้หลักเช่นเดียวกัน เพราะสถาบันการเงินถือว่าเป็นองค์กรที่ลงทุนด้านเทคโนโลยีค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการขยายสาขา เพิ่มจำนวนตู้เอทีเอ็ม และตู้บริการด้านการเงินอื่นๆ รวมถึงการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาวิเคราะห์ข้อมูล

สิ่งที่พรรณสิรีเห็นการเคลื่อนไหวของบริการสถาบันการเงิน คือ การขยายสาขาของธนาคารและนโยบายขายสินค้าหลายประเภทในสาขาในรูปแบบ cross sale รวมถึงการเพิ่มศักยภาพกระบวนการ ให้สินเชื่อเร็วขึ้น

แต่เดิมฐานข้อมูลที่ถูกนำมาวิเคราะห์ลูกค้าเป็นการวิเคราะห์อดีต แต่เทคโนโลยีจะสามารถเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น และสามารถคาดการณ์ได้ในอนาคตว่าลูกค้าน่าจะชอบ หรือปรารถนาสิ่งใด

ระบบเทคโนโลยีนอกจะทำให้รับรู้ความต้องการของลูกค้าได้แล้ว จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานระหว่างองค์กรกับช่องทางจำหน่าย เช่น สาขา หรือบริการ เอทีเอ็มได้อีกด้วย บริการเหล่านี้ไอบีเอ็มเรียกว่า business analytic

ไอบีเอ็มนอกจากจะขายสินค้าไอทีโซลูชั่นโดยตรงให้กับธนาคารแล้ว บริษัทยังทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการเอาท์ซอร์สให้กับสถาบันการเงินอีกด้วย

ไอบีเอ็มจะทำหน้าที่เป็นผู้บริหารจัดการ โดยสถาบันการเงินจะเป็นผู้ลงทุนในการซื้อและติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมด เหมือน ดังเช่นธนาคารกสิกรไทยที่ได้ลงทุนระบบไอทีกว่า 1 หมื่นล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบ บริการให้ฉลาดขึ้น

อำพล โพธิ์โลหะกุล รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวกับผู้จัด การ 360 ํ ว่า ธนาคารกำลังพัฒนาระบบที่เรียกว่า smart front ในธนาคารสาขา 253 แห่ง เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถ รายงานข้อมูลลูกค้าเป็นรายบุคคลเกี่ยวกับการใช้บริการของบริการทั้งหมด คาดว่า จะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคมนี้ และพัฒนาสาขาทั้งหมดอีก 800 สาขา ทั่วประเทศ ภายในปี 2555

ในปี 2555-2556 ธนาคารจะพัฒนา ระบบคอร์แบงกิ้ง เพื่อให้สามารถออกแบบ ผลิตภัณฑ์ให้เร็วขึ้น จากเดิมระบบการทำงานเหมือนสปาเกตตีมีความซับซ้อนและยุ่งยาก

การให้บริการกับสถาบันการเงินของไอบีเอ็มในประเทศไทยที่มีมาช้านาน จนรู้ใจซีอีโอธนาคาร สามารถเข้าใจได้ว่า ช่วงเวลาใดที่สถาบันการเงินต้องการพัฒนา ให้เติบโต หรือว่าต้องการลดค่าใช้จ่าย แต่ สิ่งที่ไอบีเอ็มรู้ดีที่สุด คือซีอีโอต้องการเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่าย

แม้ว่าฐานลูกค้ารายใหญ่ของไอบีเอ็ม จะเป็นสถาบันการเงิน แต่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นจุดอ่อนของไอบีเอ็มก็คือ กลุ่มองค์กรรัฐ ที่ยังมีจำนวนไม่มากนัก ไอบีเอ็มพยายามที่จะแก้ไข ในส่วนดังกล่าวด้วยการร่วมมือกับพันธมิตรมากขึ้น

กลุ่มภาครัฐที่ไอบีเอ็มพยายามเข้า ไปสัมผัสให้มากขึ้น กลุ่มหนึ่งน่าจะเป็น กรุงเทพมหานคร เพราะสอดคล้องกับแนวคิด Smarter City คือการนำไอทีไปบริหารจัดการกับเมืองใหญ่

ไอบีเอ็มมองเห็นว่าเมืองใหญ่จะมีคนอพยพมาอยู่จำนวนมาก และมาใช้น้ำ ไฟ ถนนเพิ่มมากขึ้น และสิ่งเหล่านี้ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี

ในเบื้องต้นบริษัทได้คุยกับกรุงเทพ มหานครแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหลายด้าน คือ ความปลอดภัยของคน การจราจร บริการภาครัฐ การศึกษา และสุขภาพ

พรรณสิรีเล่าการทำงานของไอบีเอ็ม ในประเทศบราซิล เกี่ยวกับการจัดการน้ำท่วม เพราะบราซิลจะเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิก แต่บราซิลมีเหตุการณ์น้ำท่วมทุกปีและมีคนตาย

ไอบีเอ็มได้ติดตั้งเทคโนโลยีสามารถ คาดการณ์ล่วงหน้าฝนตกได้ 48 ชั่วโมงมีวอร์รูม เรียกว่า city operation center ดูแล 48 ชั่วโมง แจ้งเตือนและแนะนำให้แก้ปัญหา เช่น ใช้ถนนอื่นแทน เตรียมรถดับเพลิง รถพยาบาล และเตรียมขนทรายป้องกันน้ำท่วม

การเข้าถึงหน่วยงานภาครัฐของไอบีเอ็ม ประเทศไทย อาจยังต้องใช้เวลาไม่น้อยเพราะการพูดคุยกับกรุงเทพมหานครที่ผ่านมาเป็นเพียงแค่เบื้องต้น

แม้ว่าการเจรจากับกรุงเทพฯ ที่ต้องใช้เวลา แต่ไอบีเอ็มร่วมมือกับจังหวัดเชียงใหม่ มีผู้บริหารเชี่ยวชาญระดับสูง 5 คน จากไอบีเอ็มอเมริกา เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส เข้ามาร่วมทำงาน

ระบบการทำงานจะอยู่ภายใต้ชื่อ IBM Executive Service Corps ขณะนี้เริ่มลงพื้นที่ทำงานร่วมกับทีมงานเชียงใหม่สร้างสรรค์ (Chiang Mai Creative City Steering Committe) ทีมงานจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อสำรวจศักยภาพของเมือง เก็บและวิเคราะห์ข้อมูลจากสถานการณ์ใน ปัจจุบัน นำมาสร้างแผนงานโดยยึดแม่แบบ ของสมาร์ทเตอร์ ซิตี้โมเดลที่ไอบีเอ็มทำให้ กับเมืองอื่นๆ มาแล้ว

ทีมผู้บริหารจะใช้เวลาทำงาน 3 สัปดาห์ จัดทำแผนยุทธศาสตร์ทำให้เชียงใหม่บรรลุเป้าหมายหลัก 2 ด้านคือ การสร้างเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางทางการ แพทย์ และศูนย์กลางของ Smarter Food จากผลผลิตภาคการเกษตร

วิธีเข้าพัฒนาเมืองใหญ่ของไอบีเอ็ม น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะปูเส้นทางเข้าสู่ภาครัฐในอนาคต แต่ลูกค้าหลักอีกด้านหนึ่งที่ไอบีเอ็มให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ก็คือลูกค้าเอสเอ็มอี เพราะเป็นฐานลูกค้าของไอบีเอ็มที่อ้างว่ามีอยู่จำนวนมาก ลูกค้า เอสเอ็มอีใช้บริการอยู่ในปัจจุบันคือบริการเอาท์ซอร์สระบบสำรองข้อมูลกรณีเกิดภัยธรรมชาติ ไอบีเอ็มทำหน้าที่เป็นศูนย์สำรอง ข้อมูลและกลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการปัจจุบัน เช่น ธนาคารขนาดกลางและเล็ก บริษัทประกัน ภัย บริษัทเช่าซื้อหรือธุรกิจรีเทล ลูกค้าเหล่า นี้ต้องการบริการ 24 ชั่วโมง 7 วัน

การขยายตลาดเพิ่มขึ้นตามกลุ่มเป้าหมาย ทำให้ไอบีเอ็มตัดสินใจเปิดสาขา แห่งแรกในจังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี 2553 เพราะมองเห็นโอกาสเติบโตของธุรกิจในเมืองใหญ่ ในปีนี้มีแผนเปิดสาขาเพิ่มอีก 2 แห่ง คือ ชลบุรี และโคราช นครราชสีมา

เป้าหมายที่ชัดเจนทำให้ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ต้องพัฒนาส่วนการขายให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่มีความรู้รอบด้านมาก ขึ้นในรูปแบบที่เรียกว่า T shape หมายถึง นอกจากจะมีความรู้เรื่องสินค้าและบริการในเชิงลึกแล้ว พนักงานจะต้องมีความรู้แนว กว้าง ต้องเรียนรู้ธุรกิจของลูกค้าอีกด้านหนึ่ง เพื่อศึกษาความต้องการอย่างแท้จริง

ภารกิจหลักของกรรมการผู้จัดการ นอกจากเพิ่มรายได้อีกหนึ่งเท่าตัวแล้ว การเพิ่มประสิทธิภาพพนักงานให้เรียนรู้สิ่งใหม่ ภายใต้แนวคิด Smarter Planet ต้องพัฒนาควบคู่กันไป เพราะหลังจากประเทศ ไทยได้ถูกเลือกให้อยู่ในกลุ่มเติบโต

แม้ว่า Smarter Planet จะถูกกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ของไอบีเอ็ม คอร์ป แต่ก็ต้องอาศัยเวลาในการเรียนรู้ เพื่อทำ ความเข้าใจ และลงมือปฏิบัติให้เห็นผล

สิ่งที่ไอบีเอ็ม คอร์ปดำเนินการก็คือ ส่งคนเก่งและมีประสบการณ์เข้าไปในประเทศที่ต้องการให้มีการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ รวมถึงประเทศไทย เหมือนดังเช่น ได้ส่งผู้บริหาร 8 คนเข้าไปในจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้คนไอบีเอ็มในประเทศไทยมีโอกาส เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน

ไอบีเอ็มมีสำนักงานใหญ่อยู่ในนิวยอร์ก มี 170 สาขากระจายอยู่ทั่วโลก การทำงานในยุคไร้พรมแดนทำให้ไอบีเอ็มจัดตั้งสำนักงานและระดมผู้เชี่ยวชาญไว้หลายประเทศ อาทิ จีน ฟิลิปปินส์ บราซิล เป็นต้น กลุ่มผู้เชี่ยวชาญจะถูกส่งไปทำงาน ในไอบีเอ็มทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีโอกาสเติบโต ถือเป็นกลยุทธ์พัฒนาคน เพื่อให้คนเก่งได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ในขณะเดียวกัน ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะให้สูงขึ้น

การก้าวขึ้นสู่ IBM Centennial Year ทำให้เห็นว่ายักษ์สีฟ้ายังดำรงบทบาทตนเองเป็น Trend Setter ของเทคโนโลยีจวบจนทุกวันนี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.