|
ภัยธรรมชาติกับเอสเอ็มอีไทย
โดย
นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
ภัยสึนามิในญี่ปุ่นและสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยระหว่างปลายเดือนมีนาคมและเมษายนที่ผ่านมา ทำให้ สสว.คาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบเอสเอ็มอีไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้การเติบโตชะลอตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.2
จากสถานการณ์ภัยธรรมชาติทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงสงครามในลิเบีย ทำให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ออกมาเปิดเผยถึงผลกระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในช่วงไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 ในปีนี้
ปัจจัยลบที่ทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีขยายตัวน้อยลงในปีนี้ มี 3 ส่วน คือ เหตุการณ์สึนามิในประเทศญี่ปุ่น สงครามลิเบียและสงครามแอฟริกาเหนือ และราคา น้ำมันดิบเพิ่มสูงขึ้น จนทำให้เกิดการกักตุน ด้วยเหตุผลเหล่านี้จะส่งผลทำให้อัตราเศรษฐกิจโลกเติบโตร้อยละ 3.9
ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการ สสว. บอกว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าหลักของเอส เอ็มอีไทย ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกร้อยละ 10.1 มากกว่าประเทศจีนและฮ่องกง
หลังจากเหตุการณ์สึนามิในญี่ปุ่นทำให้ธนาคารโลกประเมินความเสียหายใน ญี่ปุ่นมีถึง 3.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และเหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้ญี่ปุ่นต้องใช้เวลามากกว่า 5 ปี เพื่อฟื้นฟูประเทศ
สิ่งที่ญี่ปุ่นกำลังแก้ปัญหาในปัจจุบัน คือบริษัทญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตอยู่ทั่วโลกต่างเร่งระดมเงินทุนเข้าประเทศเพื่อชดเชย ความเสียหาย แม้ว่าบางบริษัทจะประกาศตัวเปิดให้บริการได้แล้วก็ตาม
แต่ข้อเท็จจริงก็คือมีไม่กี่โรงงานทำงานได้ตามปกติ เพราะส่วนใหญ่ยังไม่สามารถกลับเข้ามาเปิดบริการได้ทันที เนื่องจากถนน ไฟฟ้า ยังอยู่ระหว่างเร่งฟื้นฟู ให้กลับสู่สภาพปกติเหมือนเดิม แต่มีบริษัท บางแห่งหยุดการผลิต เช่น บริษัทกู๊ดเยียร์ หยุดการผลิตชั่วคราว
ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้จะส่งผลกระทบธุรกิจซัปพลายเชน โดยเฉพาะบริษัทที่นำเข้าวัตถุดิบขั้นกลาง เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอ นิกส์และอุปกรณ์รถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น เพราะปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าสินค้าจาก ญี่ปุ่นร้อยละ 20 มากกว่าส่งออก 1 เท่า
ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยที่ทำธุรกิจกับผู้ประกอบการในประเทศญี่ปุ่นจะได้รับผลกระทบด้านกระบวนการผลิตอาจทำให้หยุดชะงักและส่งผลทำให้ขาดสภาพคล่อง เนื่องจากในระยะสั้นการนำเข้าสินค้าและส่งออกจะล่าช้า เพราะมีการปิดทำการท่าเรือและสนามบิน ทำให้มีสินค้าตกค้าง
กลุ่มธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบจาก สึนามิในครั้งนี้มี 6 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มธุรกิจผลิตยาง กลุ่มธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มธุรกิจอาหาร พืช ผักสด อาหารทะเลแช่แข็ง อาหารแปรรูป กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว กลุ่มธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น กลุ่มธุรกิจวัสดุก่อสร้างและบริการรับเหมาก่อสร้าง
ในส่วนของกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวจากเดิมคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเข้ามาในปีนี้ประมาณ 1 ล้านคน และมีค่าใช้จ่าย 4,500 บาทต่อคน และมีการประเมิน ว่านักท่องเที่ยวจะลดลง 1 แสนคน ซึ่งยังไม่สามารถประเมินความเสียหายของธุรกิจ ท่องเที่ยวว่าจะเป็นอย่างไร
จากรายงานตัวเลขเมื่อปี 2553 ผู้ประกอบการเกี่ยวกับตัวแทนการท่องเที่ยว เป็นหนึ่งในธุรกิจที่มียอดยกเลิกกิจการ สูงสุดรวม 16,004 ราย รวมถึงอีก 4 ธุรกิจ คือ ก่อสร้างอาคารทั่วไป อสังหาริมทรัพย์ บริการด้านธุรกิจอื่น และขายส่งเครื่องไฟฟ้า
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ สสว. แนะนำรัฐบาลพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสด้วย การเร่งทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการลงทุนเพื่อรองรับการขยายฐานธุรกิจจากประเทศญี่ปุ่นมาในประเทศไทย โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีจะทำให้ประเทศไทยขยายผลด้านลงทุน เช่น เป็นฐานงานวิจัยและพัฒนา และเป็นฐานสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ
เหตุการณ์สึนามิเป็นส่วนหนึ่งที่มีผล กระทบต่อธุรกิจไทย และน้ำท่วมในภาคใต้ ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเช่นเดียวกัน ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคใต้ คือ นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี ตรัง ชุมพร สงขลา กระบี่ พังงา มีผู้ประกอบการได้รับความเสียหายประมาณ 36,580 ราย จากผู้ประกอบการกว่า 2 แสนราย ผู้ประกอบการธุรกิจภาคการเกษตร เช่น ปาล์ม ยางพารา สวนผลไม้ การเพาะ เลี้ยงกุ้ง ได้รับความเสียหายประมาณ 2 พันล้านบาท
ส่วนธุรกิจท่องเที่ยวใน 3 จังหวัด คือ ภูเก็ต กระบี่ สมุย ได้รับผลกระทบทันที ลูกค้ายกเลิกจองห้องพักร้อยละ 80 มีมูลค่าความเสียหาย 800-900 ล้านบาท โดย สสว.ประเมินว่าเป็นเพียงผลกระทบในระยะสั้น
สยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารทหารไทย แสดงความ คิดเห็นในฝั่งของสถาบันการเงินเกี่ยวกับต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นในปีนี้จะเป็น อุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ
ปัจจัยเสี่ยงจะมีทั้งหมด 4 ส่วนหลัก คือ ราคาน้ำมัน วัตถุดิบ ค่าจ้างแรงงาน และดอกเบี้ย โดยต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นในแต่ ละด้านจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมภาคต่างๆ ในระดับที่แตกต่างกัน เช่น หากต้นทุนด้าน พลังงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ก็จะส่งผลให้ต้นทุนด้านวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตโดยรวมสูงขึ้นร้อยละ 2.2
ส่วนแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในปีนี้ ธนาคารประเมินอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นไปที่ระดับร้อยละ 3.25 หรือขึ้นอีก 3 ครั้ง ครั้งละร้อยละ .325 เงิน เฟ้อจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นต้นทุน หลักของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสูงขึ้น
สยามชี้ให้เห็นว่าผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจกำไรต่อเนื่อง 3 ปีที่ผ่านมาจะมีต้นทุนดอกเบี้ยร้อยละ 10 แต่ผู้ประกอบ การที่ขาดทุนติดต่อกัน 3 ปี จะมีต้นทุนดอกเบี้ยร้อยละ 60
ส่วนสึนามิในญี่ปุ่น ธนาคารมองว่าเป็นเพียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะสั้นและ ในบางอุตสาหกรรมเท่านั้น เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และท่องเที่ยว และธุรกิจภาคใต้ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม มี 3 ภาคธุรกิจ คือ ภาคเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา ปาล์ม น้ำมันประมง ภาคอุตสาหกรรม เช่น เฟอร์นิเจอร์ ไม้ การแปรรูปไม้ยางพารา
สำหรับภาคบริการธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบในจังหวัดกระบี่ สตูล ภูเก็ต และพังงา เชื่อว่าจะกลับมาฟื้นตัวในปลายไตรมาสที่ 3 ปีนี้
จากปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ รวมถึง การขาดแคลนเงินทุน ธนาคารมองว่าจะส่งผลต่ออัตรากำไร (Margin) ที่อาจปรับลดลง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเผชิญปัญหาต้นทุนและการแข่งขัน สูง เช่น เครื่องประดับ หรืออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น เซรามิก เฟอร์นิเจอร์ไม้ เครื่องหนัง และเครื่องแต่งกาย
แต่อุตสาหกรรมที่มองว่ายังเติบโตได้ดี ยังอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนอุตสาหกรรมเติบโต ปานกลาง ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม
กัญญภัค ตันติพัฒน์พงศ์ กรรมการสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย บอกว่า สินค้าอาหารไทยจะได้รับผลในเชิงบวก เพราะญี่ปุ่นจะสั่งซื้ออาหารเพิ่มมากขึ้น และการซื้อจะได้ราคาที่ดีเพราะมีการต่อรอง น้อย เป็นผลเนื่องมาจากความกังวลที่มีต่อ สินค้าที่อาจปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี
ส่วนผลดีทางอ้อม นักลงทุนจากญี่ปุ่นจะมาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น เพื่อให้กระบวนการผลิตสั้นลง เช่น ธุรกิจผลิตยางรถยนต์ในปัจจุบันไทยต้องส่งยางพาราไปยังประเทศจีน เพื่อผลิตยางรถยนต์ หลังจากนั้นส่งยางรถยนต์กลับไปญี่ปุ่นและตลาดทั่วโลก
กัญญภัคยังได้เสนอแนะผู้ประกอบการไทยว่าไม่ควรละเลย ให้ความสำคัญการบริหารความเสี่ยงด้านการค้า โดยการสร้างแผนสำรองหรือทางเลือกทางการตลาด แหล่งวัตถุดิบ รวมถึงช่องทางการชำระเงิน ระหว่างประเทศ จากกรณีกัมมันตภาพรังสี ทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลและระงับสินค้าหลายรายการ ถือเป็นประสบการณ์ของผู้ประกอบการต้องเตรียมรับมือ
สถานการณ์โดยรวมที่เกิดขึ้นในไตรมาสแรกปีนี้ ผู้อำนวยการ สสว.จึงประเมินว่าอัตราการเติบโตของธุรกิจเอส เอ็มอีทั้งปีจะเติบโตเพียงร้อยละ 4.2 ใกล้เคียงกับจีดีพีของประเทศไทยที่ได้คาดการณ์ ไว้ว่าจะโตร้อยละ 4
ธุรกิจเอสเอ็มอีถือเป็นรากฐานความมั่นคงทางเศรษฐกิจของไทยมาตลอดและจากการประเมินสภาพเศรษฐกิจและปัจจัย เสี่ยงโดยรวมในปีนี้ ทำให้รู้ว่าธุรกิจเอสเอ็มอีต้องทำงานหนักอีกหลายเท่า
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|