นิวเคลียร์! ควบคุมได้จริงหรือ?

โดย พัชรพิมพ์ เสถบุตร
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

มหันตภัยจากฝีมือมนุษย์ที่ก่อผลร้ายแรงเป็นระยะยาวและแผ่กว้างไปไกลนั้น เห็นจะไม่มีอะไรเกินไปกว่า การระเบิดของ นิวเคลียร์

บัดนี้เราเห็นแล้วว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์อันตรายแค่ไหน (เท่าๆ กับที่มันมีประโยชน์) ทั้งๆ ที่เรารู้ซึ้งถึงอันตราย แต่เราจะหลบเลี่ยงไม่เกี่ยวข้องกับมันได้นานแค่ไหน หากเรายังต้องการการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการแข่งขันทาง การค้าให้ก้าวล้ำทัดเทียมประเทศอื่น เราก็ไม่มีทางเลือกพลังงานอื่นใดได้ดีกว่านิวเคลียร์

ณ วันนี้ เหตุการณ์แผ่นดินไหวสึนามิ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่น ให้บทเรียนกับคนไทยเป็นอย่างมาก เพียงเท่านี้ยังไม่พอ เรายังควรสืบค้นย้อนกลับไป ในอดีตอีก เพราะยังมีเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นมาแล้ว อย่างน้อยสองครั้ง คือที่ Three Mile Island และที่ Chernobyl

อุบัติภัยที่ Three Mile Island เกิด ขึ้นในปี 1979 ในรัฐเพนซิลวาเนีย สหรัฐ อเมริกา สาเหตุมาจากระบบหล่อเย็นไม่ทำงาน โชคดีที่ไม่มีการระเบิด แต่มีการรั่ว ไหลของสารกัมมันตรังสีปะปนมากับน้ำหล่อ เย็นลงสู่ใต้ดินและสิ่งแวดล้อม ทางการอพยพผู้อยู่อาศัยในรัศมี 5 ไมล์รอบๆ โรงไฟฟ้า และจำกัดคนให้อยู่ภายในบ้าน ปิดหน้าต่าง ในบริเวณรอบๆ 10 ไมล์

ในช่วงสิบปีต่อมา ทางองค์การควบคุมนิวเคลียร์สหรัฐฯ ออกมาเผยแพร่ข่าวว่า จากการตรวจทางวิทยาศาสตร์ระบุ ว่า การเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งที่สืบเนื่องมาจากรังสีไม่ได้มากไปกว่าปกติอย่างมีนัยสำคัญ แต่ชาวบ้านก็ไม่เชื่อและยังถกเถียงกันอยู่ทุกวันนี้

ที่น่าหวาดกลัวมาจนถึงทุกวันนี้ก็คือ การระเบิดของโรงไฟฟ้าที่ Chernobyl ในปี 1986 Chernobyl ตั้งอยู่ทางภาคเหนือ ของประเทศยูเครนในปัจจุบัน (ในครั้งนั้น ยูเครนยังเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรโซเวียต รัสเซีย) การระเบิดเป็นเรื่องที่คาดไม่ถึง เพราะเกิดขึ้นในระหว่างการทดสอบระบบการทำงานที่พลังงานต่ำ อะไรล่ะเป็นสาเหตุ! สาเหตุเกิดจากความผิดพลาดของ เจ้าหน้าที่ที่ไปปิดระบบหล่อเย็นและไปปรับ แท่งควบคุม (control rods) ที่ควบคุมการ เกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ภายในเตา อย่างไม่ถูกวิธี การทำเช่นนี้ของเจ้าหน้าที่ก่อให้เกิด การเร่งปฏิกิริยา (positive feedback) แทนที่จะเป็นการหน่วงปฏิกิริยา (negative feedback) เช่นเวลาปกติ

ด้วยข้อผิดพลาดเล็กๆ ดังกล่าว ทำให้ปฏิกิริยาก่อตัวมากขึ้นๆ โดยไม่มีการ ควบคุม ภายในเวลาอันรวดเร็วก็เกิดคลื่นพลังงานเอ่อล้นสูงขึ้นจนควบคุมไม่อยู่ (สูงขึ้นกว่าปกติถึง 100 เท่า) นอกจากนั้นยังขาดการประสานงานระหว่างทีมงานทดสอบ ทีมงานเดินเครื่อง และทีมงานรักษาความปลอดภัย การแก้ไขสถานการณ์จึงทำได้ไม่ทันการณ์

จากกรณีนี้ เราเริ่มเห็นว่า เราไม่สามารถควบคุมนิวเคลียร์ได้อย่างที่เราคิด ด้วยมักจะมีปัจจัยที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นอยู่เสมอ เหตุปัจจุบันที่ญี่ปุ่นก็ไม่มีใครคาดคิด ว่าภัยแผ่นดินไหวและสึนามิจะรุนแรงได้ถึงขนาดนั้น แม้ว่าจะสร้างระบบป้องกันไว้แล้วก็ตาม ระบบควบคุม ระบบความปลอดภัยทั้งหลายแหล่ เมื่อส่วนหนึ่งรวนเร ส่วนอื่นๆ ก็จะเสียตามไปด้วยเป็นขบวน เช่น เมื่อตัวตรวจสัมผัสอันแรกจับได้ถึงพลังงานที่เพิ่มขึ้น (หรือความร้อน) สูงผิดปกติ ก็จะส่งสัญญาณไปยังแท่งควบคุม ซึ่งจะทำให้ปฏิกิริยาแตกตัวของเชื้อเพลิงลดลง

ในขณะเดียวกันก็จะไปกระตุ้นให้ระบบน้ำหล่อเย็นทำงานเพิ่มขึ้น น้ำถูกสูบไปหล่อเย็นแกนปฏิกิริยามากขึ้น นำความร้อนออกไป กระบวนการนี้ จริงๆ แล้วมีความซับซ้อนมาก และโรงไฟฟ้ารุ่นเก่าๆ ก็มักจะมีจุดอ่อนตรงนี้ นักวิชาการพยายาม ออกมาบอกว่า ในโรงไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ จุดอ่อนเหล่านี้ได้ถูกขจัดออกไปหมดแล้ว (แต่ไม่รู้ว่าจะมีจุดอ่อนใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกหรือเปล่า)

การเอ่อขึ้นของความร้อนที่ Chernobyl เมื่อปะทะกับน้ำ ทำให้เกิดไอน้ำขึ้นจำนวนมหาศาล จึงเกิดระเบิดดัน ให้ฝาหม้อปฏิกิริยาแตกออก พร้อมๆ กับแท่งเชื้อเพลิงในแกนปฏิกิริยาหลอมละลาย แรงระเบิดทำให้ไอน้ำปนกับสารกัมมันตรังสี พวยพุ่งขึ้นสู่บรรยากาศสูงถึง 1 กิโลเมตร มีสารกัมมันตรังสีจากเชื้อเพลิง โดยตรงปนออกมา ทั้ง plutonium, graphite, cesium, iodine ควันจากการระเบิดและไฟไหม้กระจายตัวออกไปในอากาศ เข้าไปในยุโรปตะวันตกหลายประเทศ หรือครอบคลุมพื้นที่ถึง 200,000 ตารางกิโลเมตร ยังโชคดีที่ฝุ่นผงที่ร้ายแรงจากแท่งเชื้อเพลิง มีอนุภาคค่อนข้างใหญ่ ส่วนใหญ่จึงตกอยู่ในพื้นที่เพียง 100 กิโลเมตร รอบโรงไฟฟ้า และเมื่อโดนฝนก็ตกลงสู่ดิน

เรื่องจริงที่น่าเศร้าก็คือ หลังจากเหตุระเบิดไม่นาน ก็มีคนงานเสียชีวิตไป 30 คนจากพิษของรังสีโดยตรง ที่เหลือก็ค่อยๆ เป็นมะเร็งตายไปทีละคนสองคน ทางการไม่สามารถระบุตัวเลขจริงๆ ของประชากรที่เสียชีวิตได้ (หรือมีนโยบายไม่ต้องการเปิดเผย) ประเมินได้ว่าอยู่ในราว 20,000 คนที่ตายจากมะเร็งอันสืบเนื่องจากรังสี (เช่น มะเร็งต่อมไทรอยด์ มะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือลิคูเมีย) ในจำนวนนี้มีเด็กจำนวนมากอายุตั้งแต่ 0-18 ปี และน่าจะทยอยมีต่อไปเรื่อยๆ

เศรษฐกิจชุมชนรอบๆ บริเวณโรงไฟฟ้าถูกทำลายย่อยยับ เมืองถูกทิ้งร้าง รวมทั้งพื้นที่เกษตรกรรมเป็นบริเวณกว้าง 784,000 เฮกตาร์ และป่าไม้ 694,000 เฮกตาร์ที่มีการทำไม้สน ประชากรถึง 350,000 คนถูกอพยพออกจากพื้นที่อยู่อาศัย รวมๆ แล้วคิดเป็นมูลค่าเงินสูญเสียหลายพันล้านดอลลาร์

น่าแปลก! ได้มีข้อมูลเกร็ดย่อยๆ ในอินเทอร์เน็ตเผยว่า ยี่สิบปีให้หลัง เมื่อทีมงานนักวิทยาศาสตร์เข้าไปสำรวจพื้นที่ปนเปื้อนรังสี ที่ล้อมรั้วจำกัดการเข้าออกรอบ โรงไฟฟ้า ได้ปรากฏว่า มีพืชและสัตว์เจริญ งอกงามแพร่พันธุ์กันอยู่ในบริเวณนั้นหลายชนิด เมื่อนำไปตรวจดู พบกัมมันตรังสีปะปนอยู่ในตัวสูงมาก แต่สัตว์เหล่านี้แทนที่ จะเจ็บป่วยหรือเป็นหมัน กลับดูแข็งแรงออก ลูกออกหลานกันพล่านไปหมด นั่นแสดงว่า พืชและสัตว์เหล่านั้นสามารถปรับตัวเข้ากับ สิ่งแวดล้อมที่มีรังสีได้เป็นอย่างดี มิฉะนั้นก็อาจเป็นเพราะมีวิวัฒนาการที่เป็นพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น มีความต้านทานต่อกัมมันตรังสี สูง นักวิทยาศาสตร์ต่างก็งงไปตามๆ กัน พยายามหาเหตุผลมาอธิบายกันอยู่

ทุกวันนี้ ความเสียหายและความสูญเสียที่โรงไฟฟ้า Chernobyl ยังนับว่าเป็นอุบัติการณ์ทางนิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุด ที่โลกได้ประสบมา

แล้วโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหม่ๆ ที่มีเทคโนโลยีทันสมัยจะปลอดภัยจริงหรือ?

เป็นการยากที่จะตอบได้แน่นอน อย่างยุติธรรม แต่จริงๆ แล้ว มันมี “ความ ไม่แน่นอน” ซ่อนตัวอยู่หลายประการ อาทิ ระบบกลไก ระบบคอมพิวเตอร์ และที่เป็นไปได้มากที่สุดคือมนุษย์นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็น ความผิดพลาดจากการทำงานดังเช่นที่ Chernobyl หรือเจตนาจากการก่อการร้าย

นักวิทยาศาสตร์แห่งสถาบัน Nuclear Regulatory Commission ของสหรัฐฯ ได้สรุปความเป็นไปได้ของการเกิด อุบัติภัยนิวเคลียร์ไว้ว่า

กรณีที่ร้ายแรงที่สุด คือการหลอม ละลายของแกนกลางแท่งปฏิกิริยา ซึ่งทำให้ เกิดแรงดันไอน้ำปะปนโดยตรงกับสารกัมมันตรังสีในแท่งเชื้อเพลิง ดันให้ฝาครอบเตาปฏิกิริยาเปิดออก ดังเช่นที่เกิดที่ Chernobyl ทำให้สารกัมมันตรังสีที่มีความ เข้มข้นสูงกระจายออกไปเป็นบริเวณกว้าง ที่มีการประเมินไว้ในปี 2005 ระบุว่าความเป็นไปได้ (possibility) ที่จะเกิดเช่นนั้นน้อยมาก ในราว 0.0000009 ต่อเตาปฏิกรณ์ ต่อปี แล้วจริงไหมล่ะ!

กรณีที่ 2 คือ ความดันสูงในเตาเนื่องจากระบบระบายความร้อนล้มเหลว แต่แท่งเชื้อเพลิงยังไม่หลอมละลายเพราะควบคุมปฏิกิริยาได้ จึงไม่ร้ายแรงเท่ากรณีแรก สารกัมมันตรังสีอาจรั่วไหลมากับน้ำหล่อเย็นและซึมลงสู่ใต้ดิน แต่ความเข้มข้น ไม่สูงนัก

กรณีที่ 3 แท่งเชื้อเพลิงหลอมละลาย จากระบบระบายความร้อนล้มเหลว แต่เตาปฏิกรณ์ไม่ระเบิด หากการหลอมละลาย อาจทำลายฐานล่าง ทำให้สารกัมมันตรังสีเข้มข้นรั่วไหลลงสู่พื้นดิน

กรณีที่ 4 ท่อน้ำแตก แต่แกนกลาง ไม่หลอมละลาย เกิดความร้อนสะสมในเตาและการทำงานผิดปกติของแกนกลางปฏิกิริยา

และกรณีสุดท้าย คือ การก่อร้าย ซึ่งเกิดขึ้นได้หลายวิธีการ วิธีที่ง่ายที่สุด เป็นไปได้มากที่สุด ไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้และกระบวนการอะไรมาก คือ การทำระเบิดที่เรียกว่า “Dirty bombs” นั่นคือระเบิดธรรมดาที่ห่อหุ้มด้วยสารกัมมันตรังสี เข้มข้น มีวิธีการเพียงแต่ขโมยเอาสารกัมมันตรังสี enriched จากโรงเตรียมเชื้อเพลิง หรือที่กำลังแปรรูปหมุนเวียนในวงจร ของเชื้อเพลิง มาใช้ร่วมกับดินระเบิดธรรมดา ก็สามารถมีอานุภาพทำลายทุกสิ่ง ทุกอย่างได้อย่างสมใจแล้ว

เท่านี้ ท่านผู้อ่านก็คงจะต้องชั่งใจเอาเองว่า จะยอมเสี่ยงแค่ไหนกับนิวเคลียร์ ท่านที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ ยังไงก็ควรจะศึกษาให้รอบคอบ เปรียบเทียบดูหลายๆ ด้าน มิใช่เชื่อทางเทคโนโลยีแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องดูประกอบทั้งด้านมนุษย์ สังคม รวมทั้งปรมาจารย์โหราศาสตร์ด้วยก็ดี


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.