|
มาบตาพุดในมุมมองของคนตรวจโรค
โดย
ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
โรคทางธรรมชาติของมาบตาพุดเป็นมาก่อนที่จะก่อตั้งเขตนิคมอุตสาหกรรมในปี พ.ศ.2530 หลายสิบปีป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาห้วยมะหาด ป่าเขานั่งยอง และป่าเขาครอก เนื้อที่ 17,811 ไร่ ซึ่งเป็นผืนป่าที่อยู่ใกล้มาบตาพุดที่สุดนั้น เสื่อมสภาพและหมดไปตั้งแต่เริ่มมีถนนสุขุมวิทใหม่ๆ เพราะฉะนั้นพื้นที่ส่วนใหญ่ของป่าสงวนแห่งนี้เต็มไปด้วยหินตามโครงสร้างภูเขากับต้นไม้หรอมแหรม ส่วนสัตว์ป่า ต้นไม้ใหญ่ หรือลิงสักตัว ไม่มีอะไรเหลือ
มาบตาพุดเป็นเป็นพื้นที่เศรษฐกิจเป้าหมายของรัฐบาลมาตั้งแต่ยุคของการค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเมื่อ พ.ศ. 2524 ด้วยทำเลที่มีถนนสายหลักตัดผ่าน มีพื้นที่ติดทะเลและป่าในพื้นที่ก็เสื่อมโทรม รัฐบาลจึงระบุให้พื้นที่นี้เป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมหนักหรืออุตสาหกรรมต้นน้ำ เป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานในการพัฒนาประเทศและต้องใช้เงินลงทุนสูง จึงต้องมีแหล่งเฉพาะเพื่อดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศและบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศเอง
แต่กว่ามาบตาพุดจะพัฒนาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจเต็มตัวตามเป้าหมายของรัฐบาลก็ใช้เวลายาวนาน ในยุคแรกกลุ่มอุตสาหกรรมที่มาลงทุนก็มีเพียงไม่กี่ราย ก่อนจะค่อยๆ มีโรงงานใหญ่ๆ เข้ามาลงทุน มากขึ้น
มีงานต้องมีคน เมื่อจำนวนโรงงานเพิ่ม ความต้องการพนักงานก็เพิ่มสูงตาม การจะดึงดูดให้คนมาทำงานในพื้นที่นิคมก็ต้องมีแรงจูงใจทั้งเงินเดือนที่สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานเมื่อเทียบกับการนั่งอยู่ที่สำนักงานในกรุงเทพฯ เบี้ยกันดาร ค่าเสี่ยงภัย รวมถึงเงินสวัสดิการสำหรับค่าเช่าบ้าน ทุกวันนี้ไม่ใช่แค่กลุ่มแรงงานจากทุกภาคที่ต้องการเข้ามาทำงานในพื้นที่ แต่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดกลายเป็นแหล่งงานที่ดึงดูดให้เกิดชุมชนขนาดใหญ่ใกล้พื้นที่นิคม อีกทั้งเขตกันชนระหว่างนิคมกับชุมชนซึ่งเคยมีอยู่เดิมก็แคบลงไปทุกทีเพราะโรงงานต่างๆ ก็หลั่งไหลมารวม ตัวกันอยู่ ณ ที่แห่งนี้จนหนาแน่น
ไกลออกไปไม่เท่าไรยังเกิดแหล่งเศรษฐกิจที่รวมเอาร้านค้าเล็กใหญ่ ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์สโตร์ หมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม รวมไปถึงสถานบันเทิงก็เกิดขึ้นมารองรับชุมชนที่มีกำลังซื้อจากมาบตาพุดนี้ด้วย
การเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชุมชนซึ่งส่วนใหญ่เกิดมาทีหลังนี้ กลายเป็นปัญหาเรื้อรังในพื้นที่ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบต่อชุมชน ซึ่งถ้ามองมุมกลับคุณภาพ ชีวิตชุมชนก็กลายเป็นตัวจับตาการดูแลด้านมลพิษในพื้นที่ เป็นเหมือนดัชนีชี้วัดที่คอยตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ไปในตัว ดังนั้นเมื่อพื้นที่ไม่ได้ถูกกำหนดหรือเหมาะสมที่จะเป็นแหล่งตั้งถิ่นฐานของชุมชนตั้งแต่แรก คนที่อพยพเข้า มาจึงเท่ากับสมัครใจเข้ามาในเขตอันตราย แต่แน่นอนสภาพเช่นนี้ไม่ยุติธรรมสำหรับชุมชนดั้งเดิมที่อยู่ใกล้พื้นที่ซึ่งต้องรับผลกระทบด้านมลพิษเพื่อความเจริญของประเทศแบบที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนประมงที่กระจายอยู่หลายแห่งที่ต้องรับผลกระทบที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ตรวจสอบไม่ได้ชัดเจน ว่าผลกระทบของทรัพยากรในทะเลที่หายไปนั้น เกิดจากปัญหาในกลุ่มชาวประมงเองหรือมีอะไรที่ทำให้ทรัพยากรชายฝั่งหายไปมากขนาดนี้
ปัญหามลพิษจากอุตสาหกรรมรุนแรงจนเกิดเป็นกรณีพิพาทถึงศาลทั้งศาลปกครองจังหวัดระยอง ไปจนถึงศาลปกครองกลางตั้งแต่ปีที่ผ่านมายืดเยื้อมาถึง ปีนี้ แม้เรื่องจะค่อยๆ เงียบหายแต่มลพิษที่มาบตาพุดและชุมชนก็ยังคงอยู่ร่วมกันเช่นเดิม
นับแต่มีกรณีชุมชนฟ้องอุตสาหกรรม ในพื้นที่ว่าปล่อยมลพิษจนอุตสาหกรรมเกิดการชะงักงัน นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศหวั่นเกรงผลกระทบจากการลงทุน หลายฝ่ายจึงต้องรุกขึ้นมาทำกิจกรรมสร้าง ความเชื่อมั่นร่วมกับชุมชน เปิดพื้นที่พาชม จัดตั้งกลุ่มเพื่อนชุมชนโดยกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อเฝ้าระวังและทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด
ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น สภาอุตสาหกรรมก็ใช้วิธีเดินหน้าหาแนวทางออกอย่างเหมาะสม ร่วมมือกับกลุ่มอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเชิญวิทยากรมาพูดคุยเรื่องแบบอย่างการจัดการนิคมอุตสาหกรรมในญี่ปุ่นว่ามีแนวทางการอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างไร
อีกด้านหนึ่งหน่วยงานอย่างกระทรวงสาธารณสุข สองหน่วยงานที่เป็นขั้วตรงข้ามในแง่ของผลกระทบก็ขอความร่วมมือไปยังสถานทูตญี่ปุ่น จัดหาหน่วยงานด้านการดูแลสุขภาวะชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม มาสำรวจพื้นที่พร้อมพูดคุยเพื่อแนะนำแนวทางและแบ่งปันประสบการณ์จากญี่ปุ่นให้ฟังกันอย่างทั่วถึง
แน่นอนว่า ฝ่ายหนึ่งเผยแพร่ความรู้ในกลุ่มนักอุตสาหกรรม ส่วนอีกฝ่ายอยู่ในแวดวงสาธารณสุขและวงการแพทย์ แต่ที่เป็นญี่ปุ่นเหมือนกัน มาจากปัจจัยสำคัญ 2 เรื่องนี้ คือ หนึ่ง-บริษัทจำนวนไม่น้อยในนิคมอุตสาหกรรมมีสัญชาติญี่ปุ่น การช่วยไทยแก้ปัญหาเรื่องมลพิษก็เท่ากับช่วยแก้ปัญหาการลงทุน และสอง-ประเทศญี่ปุ่นมีประสบการณ์ตรงที่เคยได้รับผลกระทบจากมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม หนัก จนเกิดโรคที่พบจากอุตสาหกรรมโดยตรง อย่างเช่น โรคมินามาตะ โรคอิไต อิไต เป็นต้น อันโด่งดังไปทั่วโลก และญี่ปุ่น ก็หาทางแก้ไขปัญหาได้สำเร็จ
เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศ ไทยเซจิ โคจิมะ (H.E.Mr.Seiji KOJIMA) กล่าวไว้ในการสัมมนาเรื่องโรคที่เกิดจากอุตสาหกรรมของกระทรวงสาธารณสุขที่ทางสถานทูตญี่ปุ่นจัดหาผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้กับสาธารณสุขไทยว่า
“ปัญหามาบตาพุดสะท้อนถึงความสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมของประชาชนจำนวนมาก ญี่ปุ่นเคยมีปัญหาถึงขั้นวิกฤติ แต่ก็เอาชนะปัญหาได้เพราะความพยายาม ของประชาชนทุกภาคส่วน การบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องและระบบการดำเนินงานของรัฐบาลที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ทำให้ญี่ปุ่นเป็นผู้นำด้านมาตรการ สิ่งแวดล้อมในระดับโลกในวันนี้ สิ่งที่ญี่ปุ่นช่วยเหลือได้คือการแบ่งปันประสบการณ์เพื่อทำให้ฝ่ายไทยเกิดการเรียนรู้และนำไปปรับใช้ แต่ไทยคงไม่สามารถนำประสบการณ์จากญี่ปุ่นไปใช้โดยตรงเพราะญี่ปุ่นและไทยมีความแตกต่างกันหลายด้าน ทั้งระบบราชการ วัฒนธรรมและด้านต่างๆ”
หากไม่เกิดแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนเชิญเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหามลพิษในพื้นที่นิคมฯ จำนวน 80 คน ไปดูงานด้านสิ่งแวดล้อมในญี่ปุ่น เพื่อศึกษาวิธีแก้ปัญหาจากพื้นที่จริงด้วย
บทเรียนที่มีค่าจากปัญหามลพิษที่ญี่ปุ่น ทำให้ชาวโลกรู้จักโรคจากมลพิษที่มีชื่อว่า อิไตอิไต โรคหอบหืดเมืองโอตาอิจิ โรคมินามาตะ ซึ่งช่วงแรกที่พบโรคเหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่มโรคประหลาดที่ไม่รู้ต้นตอ กว่าจะพบสาเหตุก็ต้องอาศัยการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งต้องศึกษาลึกไปถึงการพัฒนาสารปนเปื้อนและสภาพแวดล้อม การได้ประสบการณ์จากญี่ปุ่นจึงถือเป็นสิ่งมีค่าสำหรับชุมชนมาบตาพุด เพราะอย่างน้อยก็มีความหวังว่าชีวิตจะไม่ต้องเสี่ยงเหมือนที่คนญี่ปุ่นเคยเจอ และเฝ้าระวังสุขภาพได้ดีเพิ่มขึ้น
การมาสำรวจที่มาบตาพุดของทีมแพทย์ญี่ปุ่นครั้งนี้ แม้ไม่ได้พบอะไรแปลกใหม่ในแง่ของผลกระทบทางมลพิษที่คาดการณ์ได้ แต่ก็ได้แง่คิดจากมลพิษในพื้นที่ที่ชุมชนมองข้ามในบางเรื่อง
ดร.โมโมโกะ ชิบะ (Prof.Dr. Momoko Chiba) ศาสตราจารย์จาก International University of Health and Welfare Graduate School และมหาวิทยาลัยการแพทย์จุนเทนโด (Juntendo University, school of medicine) ซึ่งได้รับเชิญมาเป็นผู้สำรวจพื้นที่ เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ตรงด้านโรคมลพิษ โรคจาก การทำงาน และเป็นเจ้าของคดีสารซารินที่กระจายในรถไฟใต้ดินที่ญี่ปุ่นโดยลัทธิโอมชินรีเคียวเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2538 รวมทั้งเป็น ผู้รับรองสาเหตุของหลายคดีที่เกี่ยวกับโรคเหล่านี้
ดร.ชิบะลงพื้นที่ในช่วงวันที่ 24-25 พฤศจิกายน 2554 เก็บข้อมูลโดยการฟังรายงานสัมมนา คุยกับประชาชนที่มีปัญหาสิ่งแวด ล้อม สำรวจสภาพความเป็นอยู่และสภาพที่เกิดจริงในพื้นที่มาบตาพุด
จากการลงพื้นที่เป็นเวลา 2 วัน ซึ่ง ดร.ชิบะบอกว่าไม่เพียงพอ แต่จากที่ประเมินคร่าวๆ ก็พบ ว่าในชุมชนมีการวิเคราะห์สาเหตุและการเฝ้าระวังในพื้นที่อยู่มาก การจัดสัมมนาทำให้ทราบข้อมูลหลายๆ ด้าน แต่การลงสัมผัสชุมชนได้ประโยชน์ตรงที่ได้เห็นภาพ เพราะการวางแผนด้านมาตรการต่างๆ ต้องเริ่มศึกษาจากระบาดวิทยา การลงไปเห็นพื้นที่จึงเป็นเรื่องสำคัญ ขณะที่ชาวบ้านก็สนใจ ตั้งคำถามกันมาก
จากการฟังข้อมูลและพูดคุยกับชุมชน ดร.ชิบะสรุปในสายตาที่เป็นกลางได้ว่า
“มีหลายหน่วยงานเก็บตัวอย่างเลือด ของชาวบ้านไปหลายครั้ง แต่ชาวบ้านไม่เคยทราบผลว่าเป็นอย่างไรบ้าง ปัญหาแบบนี้พบในหลายประเทศ เมื่อพบว่าสถานที่นั้นมีปัญหาการปนเปื้อนสารพิษ ก็จะมีหลายหน่วยงานเข้ามาเก็บตัวอย่างน้ำ เลือด แต่ประชาชนจะไม่ทราบผลว่าเป็นอย่างไร”
แต่ดร.ชิบะก็ยังมองโลกในแง่ดี โดยกล่าวว่า การเก็บข้อมูลตัวอย่างอาจจะเป็น เพราะบางหน่วยงานเก็บข้อมูลเพื่อเขียนรายงาน ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นก็มีประโยชน์แต่ประชาชนอาจจะไม่เข้าใจ แต่ตามหลักการส่วนตัว ดร.ชิบะย้ำว่า
“ฉันเคยสอนนักศึกษาแพทย์มาหลายรุ่น จะสอนว่าเวลาตรวจอะไรใครมา ถึงแม้ผลจะปกติก็ต้องแจ้งว่าปกติไม่ใช่ไม่แจ้ง”
เสียงจากชุมชนเองก็ยืนยันกับ ดร.ชิบะว่า อยากให้หน่วยงานที่มาศึกษาวิจัยทางระบาดวิทยาและติดตามเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อม เปิดเผยข้อมูลเพื่อใช้ร่วมกัน
ส่วนเรื่องที่ ดร.ชิบะอยากแนะนำพิเศษจากการเยี่ยมชุมชน คือเรื่องคุณภาพ ของน้ำดื่ม เนื่องจากการสังเกตพบว่าพื้นที่ส่วนที่ไม่ได้รับบริการน้ำประปาจากหน่วยงานท้องถิ่นหลายที่ดื่มน้ำบ่อหรือซื้อน้ำดื่มเอง ชุมชนควรจะพิจารณาให้มากขึ้นว่าน้ำที่ดื่มนั้นมาจากไหนและคิดถึงสิ่งที่หมุน เวียนกลับมากับน้ำ เพราะเท่าที่ลงพื้นที่ยังไม่เห็นน้ำทิ้งจากครัวเรือน รวมทั้งขยะและ ของเสียได้รับการจัดการอย่างเป็นระบบ
สำหรับหมู่บ้านประมงในพื้นที่ใกล้เคียง เป็นจุดที่ทำให้ ดร.ชิบะนึกย้อนไปถึง โรคมินามาตะ ซึ่งเกิดจากสารปรอทปริมาณ เข้มข้นเกินกว่า 25 ppm ในเลนที่ทับถมอยู่ในบริเวณอ่าว และที่มินามาตะต้องใช้เวลามากกว่า 12 ปี ในการขนเลนออกไปทิ้งที่อื่น
“ที่มาบตาพุดปริมาณสารปรอทไม่มากเท่าที่มินามาตะ แต่ชาวประมงก็เป็นห่วงและกังวลมาก เท่าที่พูดคุยกันว่าถ้าจะมีการขนออกไป กรณีนี้ก็ต้องพิจารณาเรื่องการฟุ้งกระจายของสารพิษและอาจจะมีความเสียหายมากขึ้น ส่วนสารพิษที่พบ จากผลการตรวจเลือดของชาวบ้านพบว่ามีการปนเปื้อนของสารเบนซีน (Benzene) ในเลือดสูงกว่ามาตรฐานซึ่งยังไม่แน่ใจว่าสารนี้มาจากไหนและถือว่าไทยก้าวหน้ามากที่มีการตรวจพบเพราะไม่ใช่สารที่ตรวจได้ง่าย”
แต่ในมุมของชาวประมงในพื้นที่ ปัญหาเหล่านี้จะยังไม่เข้ามาเป็นภาระในความคิด ตราบใดที่พวกเขายังมีแรงออกทะเล เพราะสิ่งที่พวกเขากังวลมากกว่าคือ อาชีพประมงที่กำลังจะต้องหมดไปของหลายชุมชนในพื้นที่ชายฝั่ง เพราะไม่มีสัตว์น้ำให้จับ ขณะที่พื้นที่นอกชายฝั่งออกไปก็เป็นเขตของเรือใหญ่ที่ประมงเล็กๆ ชายฝั่งสู้ไม่ได้ ลอบปลาหมึก ลอบปู จึงว่าง จากการใช้งานวางเรียงอยู่ให้เห็นเต็มตามริมชายหาดของหมู่บ้านประมงบางแห่ง สิ่งที่เป็นความหวังสุดท้ายของพวกเขาคือหวังว่า ลูกหลานจะสามารถเข้าไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมใดสักแห่งที่เปิดโอกาสให้สิทธิ์และรับคนในพื้นที่เข้าทำงาน
“เมื่อเช้าไปกู้ลอบหมึกได้มา 8 ตัว จะอยู่อย่างไร น้ำมันก็แพง” ประโยคที่สะท้อนความกังวลที่ชัดเจนของชาวประมง วัยกลางคนซึ่งมีมากกว่าจะสนใจว่า จะมีสารปนเปื้อนอะไรอยู่ในร่างกายของเขาหรือปลาหมึก 8 ตัวที่จับมาได้เมื่อเช้า
ดร.ชิบะให้ข้อมูลว่า โดยปกติในคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะตรวจพบสารหนูในปัสสาวะและเส้นผมสูงกว่าประเทศอื่นในโลกนี้ เพราะคนญี่ปุ่นกินปลามาก แต่ก็ไม่น่าตกใจเพราะสารหนูที่อยู่ในปลาจะอยู่ในรูปของ Organic As ซึ่งไม่เกิดพิษและเมื่อ เข้าสู่ร่างกายจะขับออกมาทางปัสสาวะโดยไม่เปลี่ยนรูปหรือไปทำอันตรายใดๆ ในร่างกาย สารหนูน่ากังวลสำหรับคนไทยกรณีที่อยู่ใกล้เหมืองแร่ดีบุกซึ่งบริเวณที่มีดีบุกก็จะมีสารหนูออกมาด้วยเสมอ
สิ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นมีฐานข้อมูลด้านสุขภาพที่ละเอียดเช่นนี้ เป็นผลมาจากกฎหมายชีวอนามัยที่ใช้ได้ผลจริง ซึ่งหากเทียบแล้วได้ผลกว่ากฎหมายหลายฉบับ เพราะไม่ใช่กฎหมายทุกฉบับของญี่ปุ่นจะแก้ปัญหาได้จริง บวกกับการที่รัฐบาลญี่ปุ่น จัดโครงสร้างให้การดูแลด้านแรงงานและสาธารณสุขอยู่ด้วยกัน ทำให้การดูแลและติดตามผลรวมทั้งมีสถิติการวัดและตรวจสอบที่อ้างอิงถึงกันได้อย่างแม่นยำ
สำหรับตัวอย่างกรณีสารหนูที่เป็นพิษ เช่น คนงานเหมืองในจีน จะพบได้จาก การตรวจสอบที่ผิวหนังจะมีจุดสีขาวและดำปนกันอยู่ แต่เมื่อค้นพบว่าสารหนูปนเปื้อนในน้ำดื่ม พอเปลี่ยนมาดื่มน้ำที่ไม่ปนเปื้อนก็จะดีขึ้น
“จากข้อมูลที่คุยกับชาวบ้านเรื่องที่น่าเป็นห่วงและอันตรายมากกว่าคือมลพิษจากเสียงและควันรถบรรทุกสำหรับชุมชนที่อยู่ติดถนนใหญ่ ซึ่งจะได้ยินเสียงดังมาก รถพวกนี้ส่วนมากใช้น้ำมันดีเซลเพราะเป็นบริเวณแหล่งอุตสาหกรรม ก๊าซที่ปล่อยจาก เครื่องยนต์ดีเซลมีสิ่งเป็นพิษปะปนจำนวนมาก คนที่ไปตรวจเลือดและมีค่าเบนซีนสูงอาจจะเป็นเพราะสาเหตุนี้ก็ได้ เพราะก๊าซเสียจากเครื่องยนต์จะมีสารเบนซีนอยู่ด้วย แล้วอีกตัวคือซัลเฟอร์ออกไซด์ หรือ NOx ส่วนใหญ่เป็นก๊าซเสียจากโรงงาน”
สารเบนซีนคือสารก่อมะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งจากข้อมูลจากสถาบันมะเร็งที่ ดร.ชิบะได้รับจากการลงพื้นที่ก็พบว่า มะเร็งเม็ดเลือดขาวเป็นหนึ่งในมะเร็งที่มีสถิติสูงชนิดหนึ่งในกลุ่มโรคมะเร็งที่พบในพื้นที่ ส่วนมะเร็งผิวหนังซึ่งมีผลจากแสง UV ซึ่งเมืองไทยแดดแรงมากกลับพบน้อย ซึ่งอาจจะเป็นตัวแปรด้านเชื้อชาติ เพราะมะเร็งชนิดนี้มักเกิดกับคนผิวขาวมากกว่า ส่วนมะเร็งเยื่อหุ้มปอดซึ่งอาจจะเป็นผลจาก สภาพแวดล้อมในการทำงานก็อาจจะพิสูจน์ ได้ไม่ชัดเพราะเป็นมะเร็งชนิดที่มีระยะฟักตัวของโรคนานมาก ถ้าจะเก็บข้อมูลก็ต้องใช้เวลาเก็บถึง 40 ปี
ในพื้นที่ไม่พบปรากฏการณ์ฝนกรด ซึ่งหากเกิดขึ้นจะสังเกตได้จากความเสียหาย ของต้นไม้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูด้วยว่าสภาพของ ต้นไม้และสภาพดินในพื้นที่ทนต่อฝนกรดหรือไม่
อย่างไรก็ดี การจะฟันธงว่าโรคใดเกิดเพราะอะไร นอกจากสารปนเปื้อนที่พบในร่างกายก็ต้องพิจารณาองค์ประกอบ อื่นด้วย เช่น จากอาหารที่รับประทานกันภายในครอบครัวก็อาจจะทำให้ครอบครัวเป็นโรคเดียวกันจำนวนมาก พันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม
“กรณีอาหารเป็นพิษถ้าพบโรคเดียว กันมากในครอบครัวเดียวกัน ก็ต้องคิดถึงเรื่องอาหาร ซึ่งอาจจะเกิดจากสิ่งมีชีวิตที่นำมาทำอาหารหรือสารเคมีก็ได้ ที่เคยพบก็กรณีของสารพีซีบีในน้ำมันพืช ส่วนโรคพันธุกรรม เช่น อัลไซเมอร์ในคนอายุน้อย”
ดร.ชิบะยกตัวอย่างโรคจากสิ่งแวด ล้อมที่น่าสนใจเคสหนึ่ง กรณีที่คนญี่ปุ่นเป็น มะเร็งกระเพาะอาหารลดลง หลังจากย้ายไปอยู่ฮาวาย แต่กลับเป็นมะเร็งเต้านมและ มะเร็งลำไส้ใหญ่เพิ่มขึ้น เพราะสาเหตุจากสภาพสิ่งแวดล้อมและอาหารการกินที่ เปลี่ยนไป
จากบทสรุปของดร.ชิบะ อาจพูดได้ว่า การตรวจสอบสาเหตุของโรคไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะฟันธงได้ชัดเจนว่า โรคใดๆ ที่เกิด ขึ้น เป็นผลมาจากมลพิษด้านใดด้านหนึ่งโดยตรง แต่เพื่อป้องกันไม่ให้คนในชุมชน แม้กระทั่งผู้ปฏิบัติงานในนิคมฯ ต้องป่วยเป็นโรคขึ้นก่อนจึงค่อยตามหาสาเหตุ สิ่งที่ดีที่สุดที่อุตสาหกรรมและชุมชนควรเริ่มต้นทำพร้อมกันคือ การประเมินเรื่องการป้องกัน วินิจฉัย และรักษา รวมทั้งจดสถิติ หลักฐานอ้างอิงอย่างไม่ปิดบัง เพื่อนำผลที่เกิดขึ้นไปคาดการณ์ความถี่ของโรค และกำหนดรูปแบบการรักษาได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งย้อนนำข้อมูลกลับไปใช้สร้างแนวทางป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|