ชาตรี โสภณพนิช ที่สุดของที่สุดๆๆๆ

โดย รุ่งอรุณ สุริยามณี
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

ปีนี้ชาตรี โสภณพนิช อายุเพิ่งจะ 54 ขึ้นนั่งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงเทพมาแล้ว 6 ปี และครอบครองอาณาจักรส่วนอื่นๆ ที่ได้รับตกทอดมาจากชิน โสภณพนิช มากว่า 10 ปี เป็นอย่างน้อย ชาตรีนั้นบทบาทของเขาในช่วงหลังเห็นเป็น 2 บทบาทอย่างเห็นได้ชัด บทบาทหนึ่งเป็นบทบาทของผู้นำแบงก์ ส่วนอีกบทบาทของการสร้างอาณาจักรส่วนตัว ซึ่งเขาค่อนข้างประสบผลสำเร็จงดงาม ทั้ง 2 ส่วน ชาตรีนั้นมักจะแสดงออก ถึงความพยายามที่จะขึ้นสูงขึ้นเรื่อย ๆ เขาดูเหมือนไม่รู้จักคำว่าที่สุด เขารู้จักเพียงคำว่าหมายเลขหนึ่ง ชาตรีกำลังจะเดินออกไปในทิศทางไหนต่อแต่นี้

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้เป็นวันเกิดครบรอบปีที่ 54 ของ ชาตรี โสภณพนิช

ลองหมุนเข็มนาฬิกาย้อนกลับก็น่าจะพูดได้ว่าเขาก้าวขึ้นไปได้สูงมาก ๆ และหากจะมองข้างหน้าบนจุดหมายที่สูงขึ้นไปอีก ชาตรี โสภณพนิช ก็คงจะยังมีเวลาอยู่พอเพียง

ภารกิจในวันนี้ของเขานั้นเป็นการสร้างอาณาจักรทางธุรกิจเพื่อเตรียมส่งมอบให้กับ "โสภณพนิช" ในรุ่นที่สาม โดยเฉพาะลูก ๆ ของเขา

มันเป็นอาณาจักรที่ใหญ่โตมโหฬารกว่าที่เขาเคยได้รับตกทอดมาจากรุ่นที่หนึ่งอย่างพ่อของเขา ชิน โสภณพนิช ได้มอบแก่เขามากมายนักแล้วในทุกวันนี้

ให้ตายเถอะ!! มันจะใหญ่โตปานไหนในวันที่ส่งมอบจากรุ่นที่สองอย่างเขาไปให้กับรุ่นที่สาม ? บางทีชาตรีเองก็อาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำ !

"เมื่อคุณตั้งเป้าว่าคุณจะต้องเป็นนัมเบอร์วันตลอดกาล คุณก็จะต้องเป็นนัมเบอร์วันตลอดกาล คุณก็จะต้องเดินหน้าเพื่อหนีห่างคู่แข่งของคุณไปเรื่อย ๆ ตราบเท่าที่คู่แข่งเขาไม่หยุด ซึ่งบางทีคุณก็คาดไม่ได้หรอกว่าเป้ามันจะไปหยุดอยู่ตรงไหนเพราะไม่มีคำว่าสิ้นสุดสำหรับผู้ที่ต้องการครอบครองตำแหน่งหมายเลขหนึ่งไปเสียหมดอย่างนี้" อาจารย์สอนจิตวิทยาท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ ซึ่งน่าจะนำไปใช้อธิบายหลาย ๆ พฤติกรรมได้อย่างมีเหตุผล

แม้แต่ในเกมกีฬาที่นักธุรกิจชั้นนำกำลังคลั่งไคล้กันอยู่ขณะนี้...การเล่นเรือเร็วที่ชาตรีก็เป็นคนหนึ่งที่ชอบมาก

ว่ากันว่าเรือของเขาจะต้องเป็นเรือที่เร็วที่สุด หากเมื่อใดที่ทราบว่ามีเรือของคนอื่นเร็วกว่า เขาจะหาทางทุกวิธีที่เรือจะสามารถเร็วขึ้นและเป็นเรือที่เร็วที่สุดอีกครั้ง

เป็นเรื่องที่ไม่ได้เคร่งเครียดอะไรมากนัก แต่สำหรับชาตรีก็อาจจะคิดว่าเป็นเรื่องท้าทายและช่วยปลุกพลังการต่อสู้ของเขาให้คุโชนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งพลังเช่นนี้เองที่จะทำให้เขาก้าวขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยไม่รู้เหน็ดเหนื่อย

เขาเป็นนักแข่งขันคนหนึ่งอย่างเห็นได้ชัด

เขาเชื่อมั่นในระบบที่ผู้แข็งแรงกว่าย่อมมีชัยต่อผู้อ่อนแอ เขามีคุณสมบัติพื้นฐานหลายประการที่คล้ายคลึงกับ ชิน โสภณพนิชและอีกหลายคน

เพียงแต่เขาเป็นผลผลิตทางสังคมที่ต่างจากชินกับอีกบางคนอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

ชิน โสภณพนิช พ่อของเขานั้น เริ่มต้นอย่างคนมือเปล่าแท้ ๆ

เขาเดินทางรอนแรมกลางทะเลจากซัวเถามาถึงประเทศไทยในสภาพเด็กหนุ่มนักแสวงโชค ช่วงแรกต้องใช้แรงทำงานเป็นกุลี แต่ด้วยความที่มีหัวการค้าและหมั่นศึกษาจดจำก็ขยับฐานะมาเป็นเสมียนในร้านค้าแล้วต่อมาก็มีกิจการเล็ก ๆ เป็นของตนเอง

ชินเริ่มเป็นปึกแผ่นจริง ๆ ก็ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และภายหลังจากนั้น

ส่วนชาตรีแม้ว่าจะลืมตาดูโลกในช่วงที่พ่อของเขา-ชิน ยังยากจนอยู่ก็ตาม แต่เขาก็เติบโตขึ้นมาพร้อม ๆ กับความมั่งคงของครอบครัวที่เพิ่มขึ้น

ชาตรีเกิดเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2476 สถานที่ถูกระบุว่าเป็นประเทศไทยที่โรงพยาบาลจุฬาฯ เขามีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า อังเดร ส่วนชื่อจีนดั้งเดิมนั้นชื่อ อู้เข่ง แซ่ตั้ง กล่าวกันทั่ว ๆ ไปเมื่ออายุได้ 6 ขวบเขาติดตามแม่กลับประเทศจีน (ที่ซัวเถา) เผอิญเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 การคมนาคมไม่สะดวก เขาจึงต้องพำนักอยู่ที่นั่นจนโต และหลังสงครามยุติแล้วเขากับพี่ชายอีกคนที่ชื่อโรบิน (ชื่อจีน ขี่หั่ง แซ่ตั้ง) ก็ถูกส่งไปเรียนที่ฮ่องกงจนสำเร็จวิชาด้านบัญชีจากวิทยาลัย KWANG TAI HIGH ACCOUNTANCY เมื่ออายุ 19 จากนั้นจึงเดินทางกลับประเทศไทยตามคำสั่งของชิน โสภณพนิช ซึ่งก็คงจะตรงกับ พ.ศ.2495

ในปี 2495 นั้น ชิน โสภณพนิช มีกิจการต่อตั้งขึ้นแล้วจำนวนหนึ่ง

อย่างเช่นบริษัทฮ่วยชวนที่ชินร่วมทุนกับตระกูล "ซอโสตถิกุล" และเสริม คู่อรุณก็ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2491 เพื่อค้ายางพารา, ข้าวและพืชเกษตร

บริษัทเอเซียประกันภัยที่ร่วมทุนกับกำธร วิสุทธิผล ก่อตั้งเมื่อปี 2492

บริษัทวิธสินประกันภัย บริษัทเอเซียคลังสินค้าและบริษัทสุขสวัสดิ์ประกันชีวิตในปี 2493 และ 94 ตามลำดับ

แต่ที่เป็นหัวใจของโครงสร้างธุรกิจของชินแล้ว คงจะเป็นธนาคารกรุงเทพ ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2487 ซึ่งชินได้เข้าเป็นกรรมการชุดแรกและต่อมาได้ดำรงตำแหน่งคอมปะโดร์ของธนาคารนี้แทนคอมปะโดร์คนแรกที่ชื่อ ซ่งปู่ แซ่ก๊วย

และชินก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงเทพสืบแทนหลวงรอบรู้กิจ ก็เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ปี 2495 ปีเดียวกับที่เขามีคำสั่งเรียกลูกชายกลับจากฮ่องกงนั่นเอง

ส่วนอีกกิจการหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน หรืออาจจะสำคัญกว่าในช่วงก่อนหน้าการเดินทางออกไปอยู่นอกประเทศ เพื่อหลบภัยการเมืองจากจอมพลสฤษดิ์ของชินในปี 2502 ก็คือบริษัทเอเชียทรัสต์ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อทำธุรกิจ "โพยก๊วน" กับค้าเงินตราต่างประเทศและทองคำ เป็นกิจการร่วมทุนระหว่างชิน โสภณพนิช จอห์นนี่ มา หรือวัลลภ ธารวณิชกุล และเกษียณ สุพรรณานนท์ เจ้าของร้านทองเซ่งเฮงหลีตรามงกุฎก่อตั้งเมื่อปี 2493 มีครอบครัวโสภณพนิชเป็นหุ้นใหญ่ บริษัทนี้ต่อมาก็เปลี่ยนมือกลายเป็นกิจการของจอห์นนี่ มา ไปและภายหลังการรวมธนาคารมณฑลเข้ากับธนาคารเกษตรเพื่อตั้งเป็นธนาคารกรุงไทย ในอนุญาตที่ว่างลงหนึ่งใบก็กลายเป็นใบอนุญาตที่เปลี่ยนฐานะบริษัทเอเซียทรัสต์จำกัดให้กลายเป็นธนาคารพาณิชย์อีกแห่งหนึ่ง และกลายเป็นธนาคารสยามอย่างไรนั้น ก็คงไม่ต้องเล่าซ้ำกระมัง

เอเซียทรัสต์นั้นเป็นกิจการที่ช่วยสะท้อนให้เห็นความเป็น "ชิน" ของชิน โสภณพนิช บนเส้นทางของการสร้างเนื้อสร้างตัวอย่างมาก ๆ

ชิน "เล่น" กับทองมาตั้งแต่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และช่วงสงครามสงบใหม่ ๆ ภาวะเศรษฐกิจยังซบเซา ราคาทองคำเคลื่อนไหวรุนแรง เพราะกลายเป็นทรัพย์สินมีค่าที่สุด เขาก็อาศัยเอเซียทรัสต์เป็นกลไกการค้าทองของเขา

สิ่งนี้สะท้อนความเป็นพ่อค้า "นักเก็งกำไร" ที่ชอบเสี่ยงโชคอย่างเห็นได้ชัด

และเผอิญโชคมักจะเข้าข้างเขาเสียด้วย !

นอกจากนี้ธุรกิจ "โพยก๊วน" หรือการส่งเงินจากประเทศไทยกลับไปประเทศจีนของเอเซียทรัสต์นั้น ก็คงจะเป็นอื่นไปไม่ได้หากไม่ใช่ธุรกิจที่สะท้อนถึงความมีสายสัมพันธ์กับกลุ่มธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลอันลึกซึ้งของชิน โสภณพนิช ซึ่งสายสัมพันธ์นี้มีหลายเหตุการณ์ที่บ่งบอกถึง "คุณธรรมน้ำมิตร" ที่มีอยู่ในตัวชินอย่างเปี่ยมล้น

"เขาทำการค้าบนพื้นฐานของความจริงใจต่อกัน ในประวัติของเขาจึงไม่ปรากฏเรื่องของการทรยศหักหลัง มีแต่เรื่องร่วมแรงร่วมใจกันสร้างธุรกิจแล้วแบ่งปันผลประโยชน์อย่างยุติธรรม และคนที่เขาช่วยเหลือนั้นก็มากทั้งในประเทศไทยนี้และในต่างประเทศ..." พ่อค้าจีนรุ่นเก่าแก่คนหนึ่งพูดถึงชินให้ฟัง

"มันก็อาจจะเป็นเพราะยุคนั้นยังเป็นยุคที่ธุรกิจใหม่ ๆ กำลังเพิ่มเริ่ม ทำอะไรก็มักประสบความสำเร็จเพราะยังไม่ค่อยจะมีใครทำ คู่แข่งไม่มีหรือมีก็ไม่มาก ทุกอย่างก็เลยราบรื่น ธุรกิจมีแต่ก้าวไปข้างหน้า ไม่ค่อยมีปัญหาให้หุ้นส่วนต่างต้องหวาดระแวงกันเหมือนยุคหลัง ๆ ด้วยก็เป็นได้" มีบางคนพยายามจะมองในอีกบางแง่มุม

และเอเซียทรัสต์ก็ยังช่วยสะท้อนอีกเหมือนกันว่า ธุรกิจของชินนั้นเป็นธุรกิจที่แอบอิงกับผู้มีอำนาจที่ในช่วงนั้นก็คือกลุ่มจอมพลผิน ชุณหะวัณ-พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ 2 พ่อตาลูกเขยต้นตำรับกลุ่มอำนาจสาย "ซอยราชครู" ในปัจจุบัน

พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการเอเซียทรัสต์เมื่อปี 2495 และเส้นสายของพลตำรวจเอกเผ่า อย่างเช่น พลตรีศิริ สิริโยธิน, พันธ์ศักดิ์ วิเศษภักดี (อัศวินแหวนเพชรผู้เป็นมือขวาของเผ่า) พลตรีประมาณ อดิเรกสาร ล้วนชักแถวเข้าเป็นกรรมการกิจการอื่น ๆ ของชินกันอุตลุดโดยเฉพาะธนาคารกรุงเทพภายหลังการขึ้นรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของชิน โสภณพนิชแล้ว

เป็นเรื่องที่เจาะจงลงไปได้ไม่ง่ายนักว่าการนำธุรกิจเข้าแอบอิงกลุ่มนี้ผู้มีอำนาจทางการเมืองของชินนี้เป็นเรื่องความถูกต้องหรือเป็นเรื่องความผิดพลาด เนื่องจากสถานการณ์นั้นก็เหมือนเหรียญที่มี 2 ด้านไม่หัวก็ก้อยและก็ผ่านไปแล้วด้วยความเรียบร้อย

มองในแง่ของความถูกต้องช่วงนั้นธุรกิจภายใต้การให้ความคุ้มครองโดยกลุ่มจอมพลผิน-พลตำรวจเอกเผ่าก็ขยายตัวไปมาก อย่างเช่นการเปิดสาขาต่างประเทศที่โตเกียวของธนาคารกรุงเทพก็เป็นสิ่งที่พลตรีศิริ สิริโยธิน ให้ความช่วยเหลืออย่างออกหน้า

"หลังสงครามโลกสงบ ญี่ปุ่นกำลังขาดแคลนมาติดต่อซื้อข้าวไทย พลตรีศิริก็เป็นผู้แทนการค้าเดินทางไปเจรจา พลตรีศิริก็เสนอว่าเมื่อจะค้าขายกันก็น่าจะยินยอมให้ธนาคารกรุงเทพเปิดสาขาที่นี่ ญี่ปุ่นตกลงสาขาโตเกียวก็เกิดขึ้นในปี 2498 เป็นสาขาต่างประเทศสาขาที่ 2 ต่อจากฮ่องกงที่ตั้งเมื่อปี 2497" คนเก่าคนแก่แบงก์กรุงเทพเล่า

ส่วนถ้าจะมองในแง่ของความผิดพลาดความผิดพลาดนี้ก็คือชินถลำลึกถึงขั้วหนึ่งขั้วใดมากไป ในขณะที่กลุ่มอำนาจขณะนั้นมี 2 ขั้วที่นอกจากขั้วจอมพลผิน – พลตำรวจเอกเผ่าแล้วก็ยังมีขั้วของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ที่เป็นที่ปรปักษ์ทางการเมืองกันอีกด้วย

ภายหลังการโค่นกลุ่มพลตำรวจเอกเผ่าลงไปได้ ชิน โสภณพนิช ก็เลยมีอันต้องเดินทางไปพำนักยาวอยู่ที่เกาะฮ่องกงในปี 2502 พร้อม ๆ กับการก้าวขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจอมพลสฤษดิ์ผู้มีคำสั่งคณะปฏิวัติมาตราที่ 17 ที่ให้อำนาจล้นฟ้า สามารถจัดการกับใครก็ได้ที่เห็นว่า "เป็นภัยของชาติ" ซึ่งช่วงนั้นหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่ได้รับทุนอุดหนุนจากจอมพลสฤษดิ์ก็กำลังเล่นข่าวขบวนการค้าฝิ่นและพิมพ์แบงก์ปลอมกันอย่างสนุกสนาน และพยายามจะให้พาดพิงมาถึงพลตำรวจเอกเผ่ากับธนาคารกรุงเทพอย่างจงใจ

เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นบทเรียนทรงคุณค่ายิ่ง และไม่มีวันหวนกลับมาอีกเลยจวบจนปัจจุบัน ชินยังคงเป็นชิน ธนาคารกรุงเทพก็ยังคงเป็นธนาคารกรุงเทพ ไม่ว่าเหตุการณ์ทางการเมืองจะผันแปรขึ้นลงอย่างไรขนาดไหน

และก็เป็นบทเรียนที่ตกทอดมาถึงชาตรี โสภณพนิช ด้วย

มีอยู่ระยะหนึ่งที่พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก กำลังฉายแสงแรงกล้าทางรัศมีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มักจะมีเสียงซุบซิบกันอยู่ตลอดเวลาว่าชาตรีเป็นคนที่เข้าถึงพลเอกอาทิตย์คนหนึ่ง ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสหายคู่ใจของเขาที่ชื่อสว่าง เลาหทัย

แต่ระยะเวลาที่ผ่านมาก็น่าจะพิสูจน์ได้ว่า จริง ๆ แล้วชาตรี "สัมผัส" ทุกขั้วพร้อมกับขีดเส้นระดับความสัมพันธ์กับทุกขั้วบนพื้นฐานไม่มากและไม่น้อย

สำคัญยิ่งกว่านั้น เขาใช้ความสัมพันธ์ผ่านคนกลางโดยไม่พยายามนำตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงหรือโจ่งแจ้ง คนกลางนี้มีทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงของธนาคารกรุงเทพและมีทั้งนักธุรกิจใหญ่ที่สัมพันธ์กับเขาอย่างใกล้ชิด

"ก็เป็นสิ่งที่ดีในแง่ที่ไม่ต้องมีศัตรู แต่ในขณะเดียวกันก็หมายถึงว่าไม่มีพันธมิตรทางการเมืองที่เหนียวแน่นด้วย เมื่อครั้งที่เกิดข่าวลือว่าแบงก์กรุงเทพจะล้มเมื่อไม่นานนี้นั้น ชาตรีกับคนแบงก์กรุงเทพจึงต้องเหนื่อยกับการชี้แจงทำความเข้าใจ โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้มีอำนาจหลาย ๆ กลุ่ม พรรคการเมืองหลายพรรคและภาวนาอย่าได้เกิดขึ้นอีกเลย..." นักการเมืองสังกัดพรรคฝ่ายค้านคนหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ"

ชาตรีนั้นก็มีความเป็น "นักเก็งกำไร" ที่คล้าย ๆ กับชิน

เพียงแต่ชิน "เล่น" ทองตามยุคสมัยในขณะนั้น

ส่วนชาตรี "เล่น" หุ้นตามยุคสมัยในขณะนี้

ชาตรี โสภณพนิช ขึ้นรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงเทพสืบต่อจาก บุญชู โรจนเสถียร ตามมติคะแนนเสียงเอกฉันท์ของกรรมการแบงก์เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2523 ภายหลังพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประกาศรายชื่อคณะรัฐมนตรีเปรม 1 ก่อนหน้านั้นเพียงวันเดียว ซึ่งปรากฏชื่อ บุญชู โรจนเสถียร ในตำแหน่งรองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจด้วยท่านหนึ่ง

เขายังค่อนข้างจะ "โนเนม" พอสมควรในสายตาของสาธารณชน สำนักข่าวต่างประเทศหลายแหล่งรวมทั้งหนังสือพิมพ์หลายฉบับสืบเสาะประวัติความเป็นมาของเขาเจ้าละหวั่น

ช่วงนั้นสำหรับหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจธุรกิจแล้ว ชื่อของ "เถ้าแก่" รุ่นใหม่อย่างเช่น ผิน คิ้วไพศาล เจ้าของเฟิร์สทรัสต์หรือ สุพจน์ เดชสกุลธร เจ้าของเยาวราชไฟแนนซ์ ยังจะรู้จักกันมากกว่า

รวมทั้งบรรดา "มืออาชีพ" อย่าง ธนดี โสภณศิริ สุธี นพคุณ กับอีกมากนั้นดูเหมือนจะดังกว่าชาตรีเสียด้วยซ้ำ

เพียงแต่ในด้านลึก กิตติศัพท์ของชาตรีก็มีมานานแล้ว

โดยเฉพาะกิตติศัพท์ในสนามรบทางธุรกิจ

เมื่อได้รับคำสั่งจากชิน โสภณพนิช ให้เดินทางจากฮ่องกงกลับไทยในปี 2495 อันเป็นปีที่ชินกำลังจัดโครงสร้างกองทัพธุรกิจของเขาครั้งใหญ่ภายหลังขึ้นรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ ด้วยการดึงกลุ่มการเมืองกลุ่มจอมพลผิน-พลตำรวจเอกเผ่า มาเป็นพวก พร้อมกับดึงประสิทธิ กาญจนวัฒน์ บุญชู โรจนเสถียร เข้ามาด้วยนั้น สำหรับชาตรีก็เป็นเพียงการกลับมาอยู่เมืองไทยเพียงช่วงสั้นๆ แค่เวลาเพียงปีเศษที่หมดไปกับการฝึกงานที่ธนาคารกรุงเทพกับเอเชียทรัสต์

จากนั้นก็ถูกส่งไปฝึกงานและเรียนหนังสือเพิ่มเติมที่อังกฤษ โดยฝึกงานที่รอยัลแบงก์ ออฟ สกอตแลนด์ และเรียนภาคกลางคืนที่ลอนดอน รีเจ้นท์ สตรีท โพลิเทคนิค อินสติติวชั่น

เขาเดินทางจากอังกฤษกลับไทยอีกครั้งในราวปี 2501

ชินส่งเขาเข้าเรียนรู้งานกับจอห์นนี่มา ที่เอเซียทรัสต์เป็นแห่งแรก

ปี 2502 ที่ชินต้องออกไปพำนักที่ฮ่องกง บุญชู โรจนเสถียร ก็ไปดึงตัวเขามาอยู่ธนาคารกรุงเทพ และมอบตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบัญชีให้

ปี 2510 เป็นผู้จัดการฝ่ายบัญชีและปีรุ่งขึ้นต้องรักษาการณ์ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการค้าด้วยอีกตำแหน่ง

ปี 2514 เป็นกรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่และเป็นกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ในปี 2517

นอกเหนือจากนี้เขายังต้องดูแลกิจการในเครือของครอบครัวอีกหลายแห่งโดยเฉพาะบริษัทสินเอเชีย จำกัด (ก่อตั้งปี 2512) ที่ปัจจุบันคือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สินเอเซีย บริษัทกรุงเทพเคหะพัฒนา (2512) ที่เกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินและที่อยู่อาศัย บริษัทกรุงเทพสหมิตรเอ็นเตอร์ไพรซ์หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เอเซีย (2515) และอีกมาก

ก่อนหน้าการก้าวขึ้นรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงเทพของชาตรีในปี 2523 นั้น มีสถานการณ์สำคัญที่น่าจะเกี่ยวข้องกับสถานภาพทั้งด้านบวกและด้านลบของเขาในทุกวันนี้อย่างยิ่ง

ประเทศไทยเริ่มประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ออกกฎหมายส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรมในปี 2505 และก่อนหน้านั้นก็ได้เปิดประเทศเพื่อรับการลงทุนจากข้างนอกและเร่งส่งเสริมสินค้าออกซึ่งสำหรับชิน โสภณพนิชและธนาคารกรุงเทพช่วงนี้นับได้ว่าเป็นยุคทองของการค้าข้าวและพืชผลการเกษตรที่เป็นรายได้หลักของประเทศพร้อม ๆ กับเบนเข็มเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม สถานการณ์ใหม่เช่นนี้ค่อนข้างจะเอื้ออำนวยให้กับคนอย่างชาตรีที่ผ่านการศึกษาและผ่านประสบการณ์จากประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอังกฤษมาก ๆ เพราะอย่างน้อยชาตรีย่อมสามารถมองออกไปข้างหน้าได้ไกลกว่าคนรุ่นเก่าอยู่บ้าง

ในเรื่องการมองไกลนั้นไม่ใช่ว่าชินจะมองไม่ไกล เพราะถ้าชินมองไม่ไกลแล้วธนาคารกรุงเทพ ก็คงจะไม่ก้าวมาถึงจุดนี้ และถ้าชินมองไม่ไกล ชินเองก็คงจะไม่เรียกใช้บุญชู โรจนเสถียรให้เป็นประโยชน์หรอก

"นายห้างชินเป็นคนมองอะไรไกลมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสาขาต่างประเทศซึ่ง ตอนที่ชินเรียนนั้นยังไม่มีใครในวงการสนใจเลย" อดีตกรรมการธนาคารกรุงเทพคนหนึ่งเล่าให้ฟัง

แต่ถ้าจะพูดว่าชาตรีเข้าใจที่จะขยับขยายฐานตัวเองให้ออกไปจากฐานธนาคารได้ดีกว่าชินก็คงจะถูกต้องกว่า และก็คงจะเป็นตรงนี้แหละที่ชาตรีมองไกลกว่าชิน

"มันเป็นแนวโน้มที่มองเห็นได้ชัดว่าการจะมาเป็นเจ้าของกิจการธนาคารกรุงเทพตลอดไปนั้น คงจะไม่ง่ายนัก เพราะฐานของทุนมันกว้าง และธนาคารชาติเองก็ได้ทำให้ทุกธนาคารรู้ว่า จะทำทุกอย่างเพื่อให้สัดส่วนของตระกูลต่าง ๆ ในธนาคารลดน้อยลง ลองคิดดูซิคุณ โดนเพิ่มทุนสักพันล้านบาทติด ๆ กันสัก 2-3 ปีนี้ก็เหนื่อยแล้ว ฉะนั้นการขยับขยายตัวเองออกจากฐานธนาคารก็เป็นสิ่งจำเป็นทั้งในด้านส่วนตัวและในรูปของนิติบุคคลที่อาจจะต้อง ใช้มาซื้อหุ้นธนาคารเพื่อเก็บรักษาสัดส่วนของหุ้นตัวเองไม่ให้ลดลงไปแบบฮวบฮาบ" อดีตกรรมการคนเก่าพูดกับ "ผู้จัดการรายเดือน"

จะอย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับว่าชาตรี โสภณพนิชนั้น ค้าขายเก่งกว่าชินผู้เป็นพ่อมาก

ซึ่งสิ่งที่ติดตามมาก็คือการก่อตั้งบริษัทยูไนเต็ดฟลาวมิลล์ขึ้นในปี 2507 เป็นโรงงานผลิตอาหาร

ตั้งโรงงานพลาสติกไทยจำกัด และบริษัทนานาอุตสาหกรรม (โรงงานผลิตน้ำมันพืช) ในปี 2508

และบริษัทยูเนียนพลาสติกแมนูแฟคเจอริ่งในปี 2511

กิจการเหล่านี้นอกจากจะได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากธนาคารกรุงเทพแล้ว "โสภณพนิช" ก็ยังมีส่วนร่วมลงทุนอยู่ด้วย

โดยเฉพาะนับแต่ปี 2511 เรื่อยมาอุตสาหกรรมสิ่งทอนับได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ "โสภณพนิช" และธนาคารกรุงเทพให้ความสนใจมาก ซึ่งผู้อยู่เบื้องหลังก็คือ ชาตรี โสภณพนิช

ชาตรี โสภณพนิชได้เกี่ยวข้องกับกิจการสิ่งทอมาเป็นเวลานานพอสมควรและอุตสาหกรรมทอผ้าของกลุ่มไทยเกรียงในยุคหนึ่งที่ใหญ่มาก ๆ ก็เป็นเพราะชาตรีหนุนหลังอยู่ซึ่งมาประสบปัญหาอย่างหนักภายหลังจนเมื่อบุญชู โรจนเสถียร กลับมาเป็นผู้จัดการธนาคารกรุงเทพอีกครั้งก่อนจะกลับไปเป็นรองนายกฯ ถึงกับสั่งให้ชาตรี ลงมาบริหารหนี้ของกลุ่มไทยเกรียงโดยตรง จนในตอนหลังได้มีการขายโรงงานให้กับกลุ่มสหยูเนียน จึงบรรเทาไป

ปี 2517 ที่เกิดวิกฤตการณ์น้ำมันส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่กำลังอยู่ในช่วงตั้งไข่นั้น ก็ช่วยบอกบางสิ่งบางอย่างกับชาตรีถึงความผันผวนไม่แน่นอนที่มาพร้อมกับการแข่งขันอันเข้มข้นของธุรกิจเพื่อเอาตัวรอด

ไม่แน่นักเขาอาจจะค้นพบแล้วว่าหลักการที่ยึดถือ "คุณธรรมน้ำมิตร" ของคนรุ่นพ่อนั้นมันหมดสมัยไปแล้วก็ไปได้

และ "ความเป็นไปได้ทางธุรกิจ" อาจจะเป็นสิ่งที่เข้ามาทดแทน

ซึ่งในเรื่องนี้คนใกล้ชิดชาตรีบอกว่า "คุณจะไปโทษคุณชาตรีเขาไม่ได้หรอก เพราะวิวัฒนาการทางธุรกิจมันก้าวมาถึงจุดใหญ่ที่คำว่าคุณธรรมน้ำมิตร ต้องยอมให้กับความเป็นไปได้ในทางธุรกิจ ในการค้าขายยุคนี้การแข่งขันสูงมาก ถ้าไม่ใช้การตัดสินใจแบบธุรกิจเข้าว่าแล้ว นอกจากจะขาดทุนและสูญเสียลูกค้ารายอื่นที่ดี ๆ ด้วย"

ก็คงจะเป็นอย่างที่คนใกล้ชิดชาตรีพูดเพียงแต่ว่าคนพูดเองก็ไม่สามารถจะให้ตรรกวิทยาได้ว่าทำไมเฉพาะกลุ่มเพื่อนของชาตรีจึงโตเอาโตเอา?

สถานการณ์ตรงจุดนี้ต้องถือว่าเป็นสาระสำคัญของบทบาทชาตรีในช่วงต่อ ๆ มา เพราะความจริง ๆ แล้ว ชาตรีก็ไม่ได้อยู่ในฐานะ "ทายาท" รุ่นที่สองของ "โสภณพนิช" ที่จะต้องดูแลกิจการทั้งหมด

พูดให้ชัดเจน เขาเป็น "ทายาท" ของชินในส่วนที่เป็นธนาคารกรุงเทพ

ลักษณะของลูกคนโตของคนจีนแบบชาตรีกับชิน โสภณพนิชนั้น แตกต่างกว่าลูกคนโตของตระกูลคนจีนอื่น เช่น อุเทน เตชะไพบูลย์กับน้อง ๆ หรือสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์กับน้อง ๆ

"คนอื่นนั้นจะเชื่อพี่ชาย สุดแล้วแต่พี่ชายหมดอาจจะเป็นเพราะ พ่อเสียแล้ว พี่ใหญ่ก็เป็นเสมือนพ่อ แต่กรณีของโสภณพนิชนั้น มัน complicated อยู่นิดตรงที่ นายห้างชินแกมอบให้ชาตรีดูธนาคาร โดยตัวแกจะเป็นผู้กำกับรายการอยู่ถ้ามีอะไรไม่ตรงไปตามที่นายหน้าต้องการแกก็คงต้องออกแรงเอง แต่กิจการธนาคารนั้นมันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนห้างสรรพสินค้าอย่างเซ็นทรัล เพราะมันต้องมีผู้ถือหุ้น ต้องดูว่าใครมีหุ้นมากกว่าใคร ถึงจะรู้ว่าใครใหญ่จริง มาช่วงนี้ถึงรู้ว่า จริง ๆ แล้วกลุ่มชาตรีกับพวกถือ block หุ้นไว้มากที่สุด เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วบทบาทของนายห้างชินก็ต้องลดลงโดยปริยาย อีกประการหนึ่งงานธนาคารเองก็เป็นงานที่ต้องใช้คณะกรรมการเข้าไปตัดสินใจ และจุดนี้เราก็ต้องยอมรับว่าคณะกรรมการของยุคไหนก็ต้องเป็นคนของผู้นำในยุคนั้น ๆ" อดีตกรรมการเก่าพูดต่อ

บทบาทด้านหนึ่งของเขาจึงเป็นบทบาทของการเสริมส่งให้ธนาคารกรุงเทพเจริญรุดหน้าต่อไป

ส่วนอีกบทบาทหนึ่งเป็นการหล่อเลี้ยงกิจการในส่วนตัวของเขาให้เข้มแข็ง

ซึ่งเพียงช่วงประมาณ 10 ปีมานี้เขาก่อบทบาททั้ง 2 ด้านให้เกื้อหนุนกันได้ประสบความสำเร็จทั้ง 2 ส่วน

ธนาคารกรุงเทพก้าวขึ้นครองตำแหน่งธนาคารใหญ่อันดับหนึ่งของประเทศและของอาเซียน

และสินเอเซียก็เป็นเป้าหมายเลขหนึ่งในส่วนของบริษัทการเงิน นอกจากนี้ร่วมเสริมกิจที่เขารับซื้อมาจากชดช้อยน้องสาวของเขาในปี 2522 ก็กลายเป็นบริษัทการเงินใหญ่เป็นอันดับสองมาหลายปีแล้ว

ซึ่งเฉพาะฐานสินทรัพย์ของสินเอเซียและร่วมเสริมกิจเมื่อรวมกันเข้าไปแล้วยังใหญ่กว่าสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์หลายธนาคาร แม้แต่กำลังของการทำ Syndication ของสองแห่งนี้ก็ยังมากกว่าธนาคารระดับกลางของไทยเสียอีก

สินเอเซียและร่วมเสริมกิจนั้นนอกจากจะเติบโตมาจากการเข้าไปจับโครงการดี ๆ ระดับแบงก์ชั้นนำสนับสนุนอยู่ การลงทุนในตลาดหุ้นก็เป็นตัวทำรายได้ด้วยส่วนหนึ่ง

"ชาตรีเขาอยู่ในระดับแนวหน้าคนหนึ่งในช่วงตลาดหุ้นกำลังบูมระหว่างปี 18-20 คู่หูของเขาก็คือสว่าง เลาหทัย และเขายังใช้มือดีที่เป็นนักวิชาการอีกหลายคน ดร. ชัยยุทธ์ ปิลันธน์โอวาท ก็เป็นคนหนึ่งที่ชาตรีดึงมาอยู่ร่วมเสริมกิจ" นักเลงหุ้นคนหนึ่งเล่า

การเล่นหุ้นของชาตรีในยุคตลาดหุ้นบูมนั้นเป็นวีรกรรมที่ลือร่ำกันมานานว่า ถ้ากลุ่มชาตรีจะขายหุ้นไหนแบบ Short sales แล้วละก็อย่าได้ไปขวางเลย ไม่เชื่อก็ถาม พร สิทธิอำนวยดู ถ้ายังหาเขาเจอในวันนี้ ว่าตอนมีคนเขาขายหุ้นรามาและสยามเครดิตในช่วงตลาดบูมนั้น พรพยายาม support ขนาดไหน? และก็ทำไม่ได้จนกระทั่งต้องปล่อยเลยไปตามบุญตามกรรม

ก็คงตรงนี้กระมังที่สะท้อนสายเลือด "นักเก็งกำไร" ของเขา

และเขาคงอดที่จะปลาบปลื้มใจไม่ได้ที่ "มือดี" ด้านหุ้นทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นเสรี ทรัพย์เจริญ, ผิน คิ้วไพศาล และอีกบางคนต้องมีอันปิดฉากไปแล้ว ในขณะที่เขายังผงาดอย่างผู้ยิ่งใหญ่

นักสังเกตการณ์หลายคนค่อนข้างจะมีความเชื่ออย่างมากว่า เป้าหมายต่อไปของชาตรีนั้น จะอยู่ที่การสร้างอาณาจักรทางอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหนักและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก

หากมองกันตามทฤษฎีพัฒนาการของทุนก็น่าจะใช่

และโดยพฤติกรรมทางปฏิบัติก็มีแนวโน้มเช่นนั้นเสียด้วย

ในปี 2525 ที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประกาศว่าประเทศไทยจะโชติช่วงชัชวาลอันเป็นผลมาจากการพัฒนาแก๊สธรรมชาติขึ้นมาใช้ และจะมีผลสืบเนื่องไปถึงอุตสาหกรรมหนักอีกหลายชนิดตั้งโรงแยกก๊าซโรงงานเอทิลีน โรงงานปิโตรเคมีคัล โรงงานปุ๋ย ฯลฯ ภายใต้แผนพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออกนั้น

ชาตรีให้ความสนใจแผนพัฒนาฯ นี้อย่างมาก ๆ

ปลายปีเดียวกันต่อเนื่องปี 2526 เขาได้ว่าจ้างทีมงานนักวิชาการชุดหนึ่งภายใต้การนำของ ดร. อาณัติ อาภาภิรม ทำการศึกษาโครงการหลัก ๆ ของแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออกอย่างละเอียด "ช่วงนั้นคุณชาตรีหมายมั่นปั้นมือมากที่จะเข้าไปลงทุนในโครงการที่ให้ผลตอบแทนคุ้ม" พนักงานระดับบริหารของแบงก์คนหนึ่งบอก

ผลการศึกษาวิเคราะห์จะเป็นเช่นไรนั้นคงเป็นเรื่องหนึ่ง

แต่พร้อม ๆ กับสถานการณ์ด้านพลังงานที่เปลี่ยนจากราคาน้ำมันสูงบาร์เรลละกว่า 30 เหรียญในช่วงนั้นเป็นไม่ถึง 10 เหรียญในช่วงปี 2529 และเพิ่งเขยิบขึ้นมาเพียงเล็กน้อยนี้ ความสนใจในโครงการหลายโครงการของเขาต้องการพลอยซบเซาลงไปอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นโครงการปุ๋ยแห่งชาติหรือโครงการปิโตรเคมีคัลที่ธนาคารกรุงเทพใส่เงินเข้าไปจำนวนหนึ่งแล้ว

เป็นเพราะมองเห็นถึง "ความเป็นไปไม่ได้" ของโครงการ?

หรือเป็นเพราะชาตรีเองมีผลประโยชน์กับปุ๋ยในปัจจุบัน?

"เรื่องนี้คุณตำหนิคุณชาตรีไม่ได้ เพราะเขาต้องมองในฐานะนักลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมองตรงที่ว่าเขาต้องเองเงินธนาคารเข้ามาลงทุนแล้วตัวเขาเองต้องรับผิดชอบกับผู้ถือหุ้น ในเมื่อปุ๋ยแห่งชาตินั้นเป็นโครงการระยะยาวมาก และก็มีความไม่แน่นอนในเรื่องผลตอบแทนตลอดจนอัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนมันไม่คงที่ คุณชาตรีเขาต้องป้องกันตัวเองไว้ก่อน ส่วนเรื่องที่ธนาคารกรุงเทพสนับสนุนบริษัทศรีกรุงอยู่ก่อนนั้นก็เป็นคนละเรื่องกัน" นักวิชาการในธนาคารกรุงเทพคนหนึ่งพูดให้ฟัง

แต่คนที่สนับสนุนโครงการปุ๋ยกลับคิดไปว่าเป็นเพราะธนาคารกรุงเทพเล่นกับศรีกรุงมากก็เลยอยากจะสับโครงการนี้!

บางคนก็ว่าชาตรีขาดความเป็นนักอุตสาหกรรมที่ต้องมองเรื่องนี้ในระยะยาวเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ!

ใครจะว่าอะไรก็ตามก็คงต้องเป็นชาตรีเองที่รู้แน่ ๆ ว่า ทำไมเขาถึงค้านเรื่องปุ๋ยแห่งชาติ

แต่ก็คงไม่มีใครรู้ว่าชาตรีคิดอย่างไร?

ชีวิตของชาตรี โสภณพนิช เป็นชีวิตที่อยู่บนยอดเขาที่อาจจะดูสูง ภูมิฐาน และน่าเกรงขาม

เขามีทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต รถราคาหลายล้านหรือเรือเร็ว ๆ เครื่องที่แรงที่สุดเป็นเรื่องไม่ยากของเขาที่สามารถเนรมิตได้ ที่มีบนสินทรัพย์สองแสนกว่าล้านที่เขาเป็นผู้สั่งการ และลูกน้องบริวารที่ล้วนแล้วแต่มีสายสัมพันธ์มากมายทั้งขุมข่ายของสังคมไทย พอจะพูดได้ว่า ชาตรี โสภณพนิชคือคนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

ความใหญ่ของเขาก็พอเพียงแก่การทำให้โครงการปุ๋ยแห่งชาติต้องชะงักงันและต้องทำให้คนอย่าง พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารบกลงมาเดินเรื่องปุ๋ยแห่งชาติเอง ไม่เช่นนั้นแล้วโอกาสเกิดของมันก็จะไม่มี

มีคนสงสัยว่าแล้วชาตรีจะเดินทางไหนในชีวิต?

บางคนถึงกับบอกว่าชาตรีมีความเป็นจีนมากกว่าเป็นไทย?

บางคนวัดเอาที่เขาพูดไทยไม่ชัด และไม่เคยสนใจในศิลปวัฒนธรรมไทยเลย!?

บางคนถึงกับกล้าพูดว่า ประเทศไทยเล็กเกินไปสำหรับชาตรีเสียแล้ว!?

"ผู้จัดการรายเดือน" ไม่มีคำตอบให้หรอก!

เรารู้แต่ว่าอย่างน้อยเขาก็เป็นนักสร้างสรรค์คนหนึ่ง เพราะการทำธนาคารที่ใหญ่มากที่สุดได้นั้นก็เป็นหน้าเป็นตาของประเทศนี้อยู่แล้ว

และการที่สามารถเป็น Topic ให้บรรดาทหารหนุ่มตลอดจนระดับคุมกำลังพลได้พูดคุยกันในวงเหล้าและในการเลี้ยงรุ่นได้บ่อยครั้งนั้น ก็เป็นเรื่องที่แสดงว่า ชาตรี โสภณพนิช ไม่ใช่คนธรรมดา

ส่วนพวกนั้นจะพูดถึงชาตรี โสภณพนิชไว้อย่างไรนั้น "ผู้จัดการรายเดือน" ไม่ทราบและไม่อยากจะไปถาม?

เราไว้รอให้ชาตรีรับรู้ด้วยตัวเองในวันข้างหน้าจะดีกว่า ว่ามันจะเป็นเหรียญตราหรือเป็นอะไรกันแน่?

อีกหกปีชาตรี โสภณพนิช ก็จะครบหกสิบ

ยังมีเวลาทำงานให้เกิดประโยชน์แก่สังคมอีกนาน และให้ผลอีกมาก

เหมือนที่เขาว่า ยังมีเวลาที่จะหยุดม้าริมหน้าผา



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.