|
ถ้าไทยมี “พรประภา” ลาวก็คือ “พิลาพันเดช”
โดย
ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
หากจะนับตัวผู้เล่นในธุรกิจยานยนต์ของลาวแล้ว กลุ่มที่น่าจะเรียกว่าใหญ่และมีบทบาทสูงที่สุด น่าจะเป็นกลุ่มเคพีของตระกูลพิลาพันเดช
“ในลาวจะมีอยู่ประมาณ 5 ตระกูลใหญ่ แบบที่เรียกว่าภาพลักษณ์ดี ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียง การศึกษา แล้วก็การทำธุรกิจ ที่โปร่งใส หรือซื่อสัตย์ แล้ว 1 ใน 5 ตระกูลนั้น ก็มีตระกูลพิลาพันเดชเป็นตระกูลใหญ่ตระกูลหนึ่งอยู่ด้วย” นักธุรกิจที่ทำธุรกิจอยู่ในลาวมาช้านานบอก
ทำไมผู้จัดการ 360 ํ จึงนำเรื่องราว ของตระกูล “พิลาพันเดช” ของลาว มาเปรียบเทียบกับตระกูล “พรประภา” ของไทย?
เหตุผลไม่ซับซ้อน เพราะตระกูลนี้ทำธุรกิจอยู่ในลาวมาช้านาน ทำธุรกิจที่หลากหลาย แต่ส่วนใหญ่เกี่ยวพันกับธุรกิจรถยนต์
ไม่แตกต่างจากตระกูล “พรประภา” ของไทย ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นตระกูลที่ยิ่งใหญ่ อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ในนามของ “สยามกลการ”
เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงของปัจจัยแวดล้อมในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการเข้ามาทำตลาดเองของบริษัทแม่ ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์จากญี่ปุ่น ทำให้บทบาทของ “พรประภา” ในอุตสาหกรรมนี้ลดลงไปมากในปัจจุบัน
แต่ใน สปป.ลาว สภาพของตลาดรถยนต์คงไปไม่ถึงจุดนั้น
ปัจจุบันธุรกิจของตระกูลพิลาพันเดชได้เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของ รถยนต์ทั้งโตโยต้า และอีซูซุในลาว
โดยเฉพาะโตโยต้า ต้องถือว่าตระกูลนี้เป็นผู้ที่นำรถโตโยต้าเข้ามาเปิดตลาดในลาว เป็นรายแรกตั้งแต่เมื่อ 19 ปีก่อน และก็คงความเป็นตัวแทนจำหน่ายไว้ตลอด ซึ่งเป็นเหตุผล สำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้โตโยต้ากลายเป็นรถที่ได้รับความนิยมสูงสุดของคนลาวในปัจจุบัน
ล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว ธุรกิจในเครือของตระกูลพิลาพันเดช ก็เพิ่งเซ็นสัญญากับซูซูกิจากญี่ปุ่น เพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ซูซูกิอย่างเป็นทางการใน สปป.ลาว โดยคาดว่า จะนำรถกระบะซูซูกิ แครี่ และรถเก๋งขนาดเล็ก รุ่นเซเรลิโอ เข้ามาทำตลาดเพื่อแข่งกับรถกระบะและรถเก๋งจากจีนและเกาหลีโดยเฉพาะ
นอกจากนี้ ธุรกิจในเครือของตระกูลนี้ยังได้เป็นตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยี่ห้อยามาฮ่า
นั่นเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจในเครือข่ายพิลาพันเดชที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์โดยตรง
แต่ยังมีส่วนที่เกี่ยวข้องโดยอ้อมอีก นั่นคือการได้เป็นตัวแทนจำหน่ายยางรถยนต์ยี่ห้อบริดจสโตน ผลิตภัณฑ์น้ำมันเครื่องของ ปตท. และการร่วมทุนกับบริษัทไทยสแตนเลย์ ของไทยจัดตั้งบริษัทลาวสแตนเลย์ขึ้น เพื่อขายระบบไฟฟ้ารถยนต์และจักรยานยนต์ รวม ถึงการได้เป็น 1 ในตัวแทนจำหน่ายเครื่องจักรกลการเกษตรยี่ห้อคูโบต้าในลาว
ส่วนที่เป็นธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับรถยนต์เลยก็มี นั่นคือการเป็นตัวแทนจำหน่าย และผู้กระจายสินค้าให้กับยูนิลีเวอร์ และคิมเบอร์ลี่ย์-คล๊าค รวมถึงน้ำมันพืชมรกต ฯลฯ
“พิลาพันเดช” เป็นตระกูลธุรกิจเก่าแก่ซึ่งทำธุรกิจหลากหลายประเภทใน สปป.ลาว มาตั้งแต่สมัยยังไม่เปลี่ยนแปลงการปกครอง
รุ่นแรกของตระกูลนี้ คือคำใบ พิลาพันเดช ที่เริ่มทำธุรกิจนำเข้าวัสดุก่อสร้างมาจำหน่ายในลาว ต่อมาก็ขยายไปสู่การนำเข้าเครื่องจักรกลการเกษตร ทำโรงเลื่อย และการร่วมทุนกับนักธุรกิจจากญี่ปุ่นทำสวนหม่อนและปลูกฝ้าย
คำใบมีลูกทั้งหมด 12 คน และบุตรบุญธรรมอีก 4 คน เขาเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล เพราะเมื่อทำธุรกิจสร้างฐานะขึ้นมาได้ เขาส่งลูกๆ ส่วนใหญ่ไปศึกษาต่อในต่างประเทศ
จนเมื่อคำใบเสียชีวิตลง สปป.ลาวเริ่มเปิดประเทศ ลูกๆ ของคำใบจึงได้ร่วมกันจัดโครงสร้างของธุรกิจในเครือใหม่ มีการจัดตั้งบริษัทเคพี ซึ่งย่อมาจากชื่อของคำใบ พิลาพันเดช ขึ้นมาเป็นโฮลดิ้ง คัมปานี เพื่อลงทุนในการขยายกิจการของเครือออกไปให้กว้างขวางขึ้น ดังได้กล่าวถึง ไปแล้วข้างต้น
ปัจจุบัน บริษัทในเครือเคพีเริ่มเปลี่ยนมือการบริหารมาสู่รุ่นที่ 3 ซึ่งมีอยู่ประมาณ 30 คน ส่วนใหญ่จบการศึกษามาจากต่างประเทศ และมีหัวคิดแบบนักธุรกิจรุ่นใหม่
เรื่องราวการขยายอาณาจักรธุรกิจในกลุ่มเคพีของตระกูลพิลาพันเดช ในอนาคตต่อไป จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตาม
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|