|

ความรุนแรงต่อผู้หญิงในโมร็อกโก
โดย
ศศิภัทรา ศิริวาโท
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
ความรุนแรงต่อผู้หญิงในโมร็อกโกเป็นปัญหาที่ทั่วโลกล้วนให้ความสนใจ รวมถึงองค์การสหประชาชาติด้วย ทั้งๆ ที่โมร็อกโกได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (The Conventional of the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women หรือ CEDAW) ตั้งแต่ปี 2536 แต่จำนวนของผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในโมร็อกโกก็ไม่ได้ลดลงเลย
ประเทศโมร็อกโก หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า ราชอาณาจักรโมร็อกโก (Kingdom of Morocco) ตั้งอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา โมร็อกโกมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเหมือนกับประเทศไทย พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันคือ สมเด็จพระราชาธิบดี โมฮัมเหม็ดที่ 6 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 18 แห่งราชวงศ์อเลาลัว โมร็อกโกเป็นหนึ่งในสามประเทศ จากทั้งหมด 53 ประเทศในทวีปแอฟริกาที่ยังคงมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (อีกสองประเทศคือ ราชอาณาจักรเลโซโท และราชอาณาจักรสวาซิแลนด์)
โมร็อกโกมีศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ ใช้ภาษาอารบิกเป็นภาษาราชการ และประชากรส่วนใหญ่ก็สามารถพูดภาษาฝรั่งเศสได้เนื่องจากว่าโมร็อกโกเคยตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสมาก่อน
โมร็อกโกนั้นมีความเจริญมากกว่าประเทศส่วนใหญ่ในทวีปแอฟริกา บ้านเมืองและตึกต่างๆ ใน โมร็อกโกนั้นมีความทันสมัยมาก เนื่องจากว่าประเทศ ฝรั่งเศสและสเปนเคยยึดครองโมร็อกโก จึงทำให้ระบอบการเมืองการปกครอง การศึกษา สาธารณสุข และการคมนาคม ถูกวางรากฐานไว้เป็นอย่างดี
ประชากรส่วนใหญ่ของโมร็อกโกก็ไม่ได้เป็นชนชาตินิกรอยหรือแอฟริกันนิโกรเหมือนกับประเทศอื่นๆ ในแอฟริกา แต่เป็นชนชาติคอเคซอยด์ซึ่งเป็นชาวอาหรับ ชาวเบอร์เบอร์ และชาวยุโรป อย่างฝรั่งเศสและสเปน เป็นต้น ประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ อาศัยอยู่ในตัวเมืองเพราะว่าประชากรส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน และมีอายุน้อยกว่า 25 ปี
หากมองแบบผิวเผินแล้วโมร็อกโกจัดเป็นประเทศที่น่าอยู่ทีเดียว แต่ถ้าได้ศึกษาถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนโมร็อกโกอย่างจริงจังแล้ว โมร็อกโกก็อาจจะเป็นประเทศที่ไม่น่าอยู่สำหรับผู้หญิงสักเท่าไร การเกิดเป็นผู้หญิงในโมร็อกโกนั้นค่อนข้างแย่มาก ด้วยความที่โมร็อกโกเป็นประเทศมุสลิม ซึ่งเป็นสังคม ที่ยกให้ผู้ชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงโมร็อกโกจึงเติบโตมากับวัฒนธรรมที่ผู้ชายเป็นผู้นำและผู้หญิงมีหน้าที่จะต้องเชื่อฟัง ที่สำคัญคือผู้หญิงกับผู้ชายยังไม่ได้รับสิทธิเท่าเทียมกันในสังคม
องค์การสหประชาชาติเพื่อความเสมอภาคหญิงชายและการเสริมสร้างศักยภาพของสตรี (United Nations Entity for Gender Equality and The Empowerment of Women หรือ UN Women) เปิดเผยผลการสำรวจเมื่อเดือนมิถุนายน 2552 ถึง มกราคม 2553 ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมการเพื่อการ วางแผนโมร็อกโก (the Moroccan High Commission for Planning หรือเรียกย่อๆ ว่า HCP)
คณะกรรมการได้สำรวจผู้หญิง 8,300 คน ตั้งแต่อายุ 18-65 ปี จากการสำรวจพบว่า 31.3% ของผู้หญิงโมร็อกโก (หรือประมาณ 3 ล้านคน) ถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพ ผู้หญิงเหล่านี้ไม่สามารถเลือกได้ว่าต้องการที่จะใส่เสื้อผ้าแบบไหน คบเพื่อนแบบไหน จะไปเรียนหรือไปทำงาน แม้กระทั่งการคุมกำเนิด หรือหากต้องการที่จะออกจากบ้าน ทุกอย่างของการตัดสินใจนั้นล้วนขึ้นอยู่กับผู้ชาย
นอกจากนี้เมื่อผู้หญิงแต่งงานออกไปแล้ว ก็จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของสามีอย่างเคร่ง ครัด และสามีสามารถที่จะตีหรือทำร้ายร่างกายภรรยาได้โดยไม่ผิดกฎหมาย เพราะการทำร้ายร่างกายนี้ถือว่าเป็นการสอนให้เชื่อฟัง จึงไม่เป็นการผิดกฎหมายแต่อย่างไร
เมื่อต้นปีนี้มีนิตยสารชื่อ Femmes du Maroc (Women of Morocco) ตีพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศสที่บอกเล่าถึง ชีวิตของผู้หญิงโมร็อกโก บทความที่ดึงดูดความสนใจ และเป็นที่น่าตกใจมากคือบทความ ชื่อ Encore trop de violence! (Still too much violence) ซึ่งเป็นบทความเกี่ยวกับความรุนแรงต่อผู้หญิงในโมร็อกโก
ในบทความเล่าว่า ผู้หญิงในโมร็อกโกส่วนใหญ่ถูกทำร้ายร่างกายและถูกข่มขืน โดยเฉพาะผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในชนบท เนื้อหาของบทความนี้ค่อนข้างที่จะสอดคล้องกับผลการสำรวจที่ทางสหประชาชาติจัดทำขึ้น ซึ่งพบว่าผู้หญิงเกินครึ่งหนึ่งของประเทศ (ประมาณ 6 ล้านคน) ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง และในจำนวนนี้มีผู้หญิงถึง 35.3% ด้วยกันที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงมาตั้งแต่อายุ 18 ปี
ความรุนแรงในที่นี้แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ (1) ความรุนแรงจากการถูกทำ ร้ายร่างกายด้วยการทุบตี สองในสามของผู้หญิงโมร็อกโกต้องเคยเผชิญกับการถูกทำร้าย ที่แย่ไปกว่านั้นคือผู้หญิงส่วนใหญ่จะถูกทำร้ายในที่สาธารณะมากกว่าที่บ้าน และมีผู้หญิงโชคร้ายบางส่วนที่แต่งงานแล้วถูกสามีทำร้ายร่างกายเป็นประจำ
(2) ความรุนแรงทางเพศ มากกว่าหนึ่งในสี่ของผู้หญิงโมร็อกโกเคยตกเป็นเหยื่อของการกระทำอนาจาร การสัมผัสหรือจับโดยไม่ได้รับอนุญาต การ ถูกบังคับให้ค้าประเวณี และการถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้รับความยินยอม ผู้หญิงที่เป็นโสดหรือเป็นม่ายมักจะตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทาง เพศมากกว่าผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว เนื่องจากว่าประชากรโมร็อกโกส่วนใหญ่เป็นคนวัยทำงาน ดังนั้น ผู้หญิงที่ออกไปทำงานส่วนใหญ่ล้วนตกเป็นเหยื่อของ ความรุนแรงทางเพศในที่ทำงาน แต่ก็ไม่ได้หมาย ความว่าผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจะไม่ต้องเผชิญกับความรุนแรงทางเพศ เพราะในความเป็นจริงแล้ว ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วมักจะถูกสามีบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ด้วยถึงแม้ว่าผู้หญิงจะไม่ยินยอมก็ตาม จากสถิติและบทความที่เขียนถึงผู้หญิงโมร็อกโกนี้ ล้วนเป็นการยืนยันให้เห็นว่าความรุนแรงต่อผู้หญิงในโมร็อกโกนั้นเป็นเรื่องที่ร้ายแรง และจะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
การเปลี่ยนแปลงอย่างแรกในการแก้ไขปัญหา นี้คือ พระราชาธิบดีโมฮัมเหม็ดที่ 6 ที่ทรงเริ่มสนับสนุนให้ผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้นในวัฒนธรรมชาติ อาหรับที่ผู้ชายเป็นใหญ่ โดยทรงเริ่มทำให้เห็นจากพระองค์ท่านเองด้วยทรงยกย่องเจ้าหญิงลัลลา พระชายาของพระองค์เองมากกว่าพระมหากษัตริย์ในอดีต พระราชาธิบดีโมฮัมเหม็ดที่ 6 ทรงให้พระชายา เสด็จออกงานรับพระราชอาคันตุกะอย่างเปิดเผย หรือ แม้กระทั่งการเสด็จแทนพระองค์มาร่วมในงานฉลอง สิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ประเทศไทยเมื่อปี 2549
นอกจากนี้พระราชาโมฮัมเหม็ดที่ 6 ทรงเป็น ผู้ริเริ่มให้มีการแก้ไขกฎหมายสำหรับผู้หญิงในบางข้อ เช่นมีการเปลี่ยนกฎหมายให้ผู้หญิงแต่งงานเมื่ออายุ 18 ปี จากเดิมที่สามารถแต่งงานได้เมื่ออายุ 15 ปี และมีการแก้ไขกฎหมายให้ผู้หญิงสามารถขอหย่ากับสามีได้ จากของเดิมที่ผู้หญิงไม่สามารถขอเลิกกับสามีได้แต่สามีสามารถทำได้ การแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก
แต่ว่าผู้สูงอายุในโมร็อกโกนั้นไม่ค่อยที่จะเห็นด้วยกับความคิดนี้เท่าไรนัก เนื่องจากว่าการ เปลี่ยนกฎหมายเหล่านี้ อาจจะทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิมที่เคยเป็นมา ซึ่งคนเหล่านี้มองว่าทุกอย่างเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้วไม่ควร มีการเปลี่ยนแปลง เพราะถ้าหากวันหนึ่งสามีจะตบตีภรรยาเพื่อสอนเหมือนที่เคยเป็นมา แต่ภรรยากลับลุกขึ้นมาบอกว่า “คุณไม่มีสิทธิที่จะตีหรือทำร้าย ฉัน” คงจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างแปลกในสังคมโมร็อกโกและเป็นการยากที่จะยอมรับได้
ปัญหายังไม่หมดลงเพียงเท่านี้ ถึงแม้ว่ากฎหมาย สำหรับผู้หญิงในบางข้อมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น แต่ประชาชนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในชนบทกลับไม่ได้รับรู้ถึงการแก้ไขกฎหมายเหล่านี้ ถึงแม้ว่ากฎหมายใหม่ได้ถูกบังคับใช้มานานแล้วก็ตาม จึงทำให้ผู้หญิงในชนบทส่วนใหญ่ไม่รู้ถึงสิทธิของตัวเอง และพวกเขายังคงมีความเชื่อเกี่ยวกับกฎประเพณีดั้งเดิมอย่างแรงกล้า จึงอาจจะเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในระยะเวลาอันสั้น
ดังนั้น ถึงแม้ว่ากฎหมายจะได้รับการแก้ไข แต่หากประชาชนไม่ได้รับรู้และไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น กฎหมายนี้ก็ดูเหมือนว่าจะไร้ประโยชน์ และจะมีการแก้ไขกฎหมายอีกหรือไม่ก็คงไม่สำคัญ เพราะอย่างไรผลที่ได้มาก็ยังเป็นเหมือนเดิม
แต่ความพยายามของรัฐบาลไม่ได้หยุดลงแค่นี้ รัฐบาลโมร็อกโกและองค์กร The Union for Women’s Action ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี ได้จัดทำโครงการรณรงค์ลดความรุนแรงต่อผู้หญิงเพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจเสียใหม่ว่า ความรุนแรงต่อผู้หญิงนั้นเป็นเรื่องที่ผิด โดยการนำผู้หญิงที่เป็นเหยื่อของความ รุนแรงมาเล่าถึงประสบการณ์ที่ต้องโดนทำร้ายให้ฟัง
นอกจากนี้ รัฐบาลโมร็อกโกได้มีการร่างกฎหมาย ใหม่ขึ้นเพื่อป้องกันความรุนแรงต่อผู้หญิง โดยยึดเอาหลักการของศาสนาอิสลามและกฎประเพณีของโมร็อกโก เข้าด้วยกัน ในร่างกฎหมายฉบับนี้ได้มีการกล่าวถึงบทลงโทษผู้ที่ทำร้ายร่างกายผู้หญิง มีการจัดสร้างที่พักฉุกเฉินให้กับผู้หญิงที่เป็นเหยื่อของความรุนแรง และไม่มีที่อยู่อาศัย มีการจัดตั้งสถานบำบัดและให้คำปรึกษาเพื่อช่วยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ชายที่ชอบทำร้ายร่างกายผู้หญิง
ในที่สุดร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ได้ผ่านรัฐสภา และความรุนแรงต่อผู้หญิงในโมร็อกโกก็มีแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อยๆ ซึ่งถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีทีเดียว และรัฐบาลโมร็อกโกก็ยังคงมีโครงการหยุดความรุนแรงต่อผู้หญิงออกมาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากภาครัฐแล้ว หน่วยงานต่างๆ ก็ช่วย กันรณรงค์ลดความรุนแรงต่อผู้หญิง เช่น ผู้กำกับชาว โมร็อกโก SaadChraibi ได้เปิดตัวภาพยนตร์เรื่อง Women in Mirrors ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวของผู้หญิง โมร็อกโกในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ทั้งก่อนและหลังที่กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิผู้หญิงได้มีการแก้ไข Saad ต้องการให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นของขวัญให้กับผู้หญิง โมร็อกโกเนื่องในวันสตรีสากล และเขาต้องการให้ผู้หญิงโมร็อกโกได้รับโอกาสมากขึ้นในสังคม
หวังว่าในอนาคตจำนวนผู้หญิงโมร็อกโกที่ต้องตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจะลดลงเรื่อยๆ และขอให้รัฐบาลเดินหน้าแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้กับผู้หญิงโมร็อกโกในการต่อสู้กับปัญหาความรุนแรงค่ะ
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|