Deadly Tornados (ตอนที่ 1)

โดย มานิตา เข็มทอง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

ระหว่างที่เขียนต้นฉบับนี้อยู่ทางตอนเหนือของรัฐอิลลินอยส์ พายุทอร์นาโดหลายลูกถล่มพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ บริเวณรัฐจอร์เจียและแอละบามา ขณะที่สัญญาณเตือนภัยทอร์นาโดดังขึ้น ในเวลาเดียวกันที่พื้นที่ใกล้วอชิงตัน ดี.ซี.

เนื่องจากพายุกลุ่มเดียวกันนี้กำลังเคลื่อนตัวมุ่งสู่ทิศทางนั้น เหตุการณ์ภัยธรรมชาติครั้งนี้ทำให้เดือนเมษายน 2011 เป็นเดือนที่มีผู้เสียชีวิตจากพายุ ทอร์นาโดมากเป็นอันดับสองในรอบ 40 ปี โดยตัวเลข ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตมากถึงกว่า 282 รายแล้ว ใน 6 มลรัฐที่ถูกพายุถล่มในวันพุธที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา รองจากปี 1974 ที่มีผู้เสียชีวิตจากพายุนี้มากถึง 315 ราย สำหรับภัยพิบัติครั้งนี้เมืองทัสกาลูซา และ บางส่วนของเมืองเบอร์มิงแฮม แห่งรัฐแอละบามาโดนถล่มหนักที่สุด ทำให้มีสูญเสียชีวิตมากถึง 194 คนแล้ว ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตที่รัฐมิสซิสซิปปีมี 33 ราย ที่รัฐเทนเนสซีจำนวน 33 ราย ที่รัฐจอร์เจีย จำนวน 13 ราย รัฐเวอร์จิเนีย 8 ราย และที่เคนทักกี อีก 1 ราย

จากรายงานของศูนย์พยากรณ์พายุในโอคลา โฮมาระบุว่า เพียงเวลาไม่กี่ชั่วโมงในช่วงบ่ายถึงค่ำของวันพุธที่ 27 เมษายน มีพายุทอร์นาโดเกิดขึ้นมาก ถึง 137 ลูก ซึ่งตามหลักทางภูมิอากาศวิทยา ในสหรัฐอเมริกา ทอร์นาโดจะเกิดเป็นจำนวนมากสุดในเดือนพฤษภาคมของแต่ละปี สำหรับในเดือนเมษายน 2011 ได้เกิดขึ้นเร็วกว่าปกติและได้ทำลาย สถิติของเดือนเมษายนในปีอื่นไปเรียบร้อยแล้ว โดยมีทอร์นาโดเกิดขึ้นติดต่อกันจำนวนเกินว่า 300 ลูกภายในเดือนเดียว โดยเฉพาะตั้งแต่วันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา มีทอร์นาโดเกิดขึ้นเกือบทุกวัน

ทอร์นาโดเป็นมหันตภัยทางธรรมชาติอย่างหนึ่งที่สามารถเกิดได้ทุกหนทุกแห่งบนโลกใบนี้ เพียงแต่ที่ใดจะมีแนวโน้มเกิดขึ้นได้มากน้อยกว่ากันและ มีระดับความรุนแรงที่ต่างกันไป แม้แต่ประเทศในเอเชียอย่างบังกลาเทศ ญี่ปุ่น และจีน ต่างก็มีรายงาน การเกิดทอร์นาโดมาแล้วทั้งสิ้น สำหรับสหรัฐฯ ดูเหมือนจะเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีสถิติทอร์นาโดเกิดขึ้นมากที่สุด โดยในแต่ละปีมีทอร์นาโดเกิดเฉลี่ย 1,000 ลูกเลยทีเดียว รองอันดับสองเป็นประเทศแคนาดาที่เกิดขึ้นเฉลี่ยปีละ 100 ลูกเท่านั้น ในขณะที่ประเทศอื่นในยุโรปและเอเชียประสบบ้างเป็นครั้งคราว

ลักษณะสำคัญของพายุทอร์นาโดที่สังเกตได้ ชัดเจนส่วนใหญ่จะเกิดในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองรุนแรง มีเมฆคิวมูโลนิมบัสก้อนมหึมา ทำให้อากาศ บริเวณนั้นหมุนวนขึ้นสู่เบื้องบนอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ปรากฏเป็นลมพายุหมุนรูปทรงกรวยคล้ายงวงช้างแตะลงบนผืนดิน อาจจะมีแตะผืนน้ำบ้างเป็น ครั้งคราว แต่ในลักษณะนั้นไม่เรียกว่า ทอร์นาโด จะเรียกว่า Waterspout หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อของ พายุงวงช้าง หรือพายุนาคเล่นน้ำ หรือพวยน้ำ ซึ่งแตกต่างจาก fair-weather waterspout ที่เกิดจาก อากาศหมุนวนบริเวณผิวน้ำแล้วพุ่งขึ้นสู่เบื้องบน ซึ่งปรากฏการณ์นี้ไม่รุนแรงเท่าพายุทอร์นาโดอีกด้วย

พายุทอร์นาโดเกิดขึ้นได้อย่างไร นักอากาศวิทยาจากสหรัฐฯ ยอมรับว่า ยังไม่มีใครทราบสาเหตุ ที่แท้จริง เนื่องจากเป็นพายุที่ซับซ้อนและมีอันตรายสูง การศึกษาทางด้านนี้จึงเป็นไปอย่างจำกัด หากแต่ตามตำรากล่าวไว้ว่า พายุทอร์นาโดเกิดจากมวล อากาศเย็นเคลื่อนตัวเข้าปะทะกับมวลอากาศอุ่นในบริเวณจำกัด และจุดศูนย์กลางมีกระแสลมที่หมุนเร็วมากจนเกิดเป็นลำปล้องจากเมฆบนฟ้าสู่พื้นดิน อาจมีเส้นผ่าศูนย์กลางกว้างถึง 1.5 ไมล์ หรือ 2.4 กิโลเมตรเลยทีเดียว พลังดูดของพายุทอร์นาโดสามารถทำลายบ้านเป็นหลังๆ ให้พังทลายได้ในพริบตา และจากการที่มีลักษณะการเคลื่อนตัวเป็น กรวยเกลียว ลักษณะการถูกทำลายจึงเป็นเฉพาะบนพื้นที่ที่ทอร์นาโดพัดผ่าน ดังนั้นในหมู่บ้านหนึ่ง บ้านหลังหนึ่งอาจจะถูกทำลายพินาศย่อยยับ หากบ้านหลังที่อยู่ติดกันถัดไปอาจเกิดความเสียหายเพียงเล็กน้อยหรือไม่เสียหายเลยก็เป็นได้

ทอร์นาโดในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่เรียกว่า เส้นทางทอร์นาโด หรือ Tornado Alley ประกอบด้วยรัฐที่อยู่ทางใต้ของสหรัฐฯ ตอนกลาง เริ่มคร่าวๆ จากตอนกลาง ของเทกซัส ไล่ไปทางตอน เหนือของไอโอวา และตอนกลางของแคนซัสและทางตะวันออกของเนแบรสกา ไปถึงตะวันตกของโอไฮโอ โดยทอร์นาโดในเขตนี้จะเริ่มฤดูกาลประมาณปลายฤดูใบไม้ผลิ ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน หรือบางครั้งอาจจะเกิดขึ้นในช่วงต้นฤดูใบไม้ร่วงด้วยก็เป็นไปได้ เช่นในเขต Dixie Valley เส้นทางทอร์นาโดที่ครอบคลุมรัฐอาร์คันซอ รัฐมิสซิสซิปปี รัฐหลุยเซียนา ตอนเหนือของรัฐอะแลบามา และรัฐจอร์เจีย ซึ่งตามปกติแล้วทอร์นาโดในเขตนี้จะเกิดมากในช่วงปลายปีประมาณตุลาคมถึงธันวาคม อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ได้เกิดทอร์นาโดจำนวนมากในเขตนั้นแล้ว

ทอร์นาโดที่เกิดขึ้นในเขต Alley เหล่านี้ ส่วนใหญ่มีความรุนแรงตั้งแต่ระดับปานกลาง (EF2) ไปจนถึงรุนแรงมาก (EF5) อย่างไรก็ตาม จากสถิติโดยรวมแล้ว 77% ของทอร์นาโดที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯมีระดับความรุนแรงอ่อนมากจนถึงขั้นไม่รุนแรงหรืออยู่ในระดับ EF0-EF1 เท่านั้น ยิ่งกว่านั้น ประมาณ 95% ของทอร์นาโดที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ มีความรุนแรงไม่เกิน EF3 แต่กระนั้นหากเกิดในเวลาค่ำ หรือศูนย์กลางมีขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่มากก็สามารถก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตและเสียหายเป็นจำนวนมากได้ ดังเช่นที่เกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนเมษายนนี้

สำหรับการจัดระดับความรุนแรงของทอร์นาโด ล่าสุด ศูนย์ Wind Science & Engineering แห่งมหาวิทยาลัย Texas Tech ได้ทำการปรับระดับสเกลเดิมของ Fujita Scale (F) ที่กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 1971 มาเป็น Enhanced Fujita (EF) เพื่อ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนในปัจจุบัน เนื่องจากอาคารบ้านเรือนในปัจจุบันก่อสร้างด้วยวัสดุที่มีความคงทนน้อยกว่าอาคารบ้านเรือนในอดีต ดังนั้น จึงไม่ต้องใช้แรงลมมากในการทำลาย พิจารณาได้จากตารางเปรียบเทียบระดับความรุนแรงของพายุทอร์นาโดตาม Fujita Scale (F) ระบบการวัดต้นแบบ และ Enhanced Fujita Scale (EF) ระบบการวัดที่มีการปรับปรุงใหม่

ทอร์นาโดเอาท์เบรค (Tornado Outbreak) หมายถึงการเกิดขึ้นของทอร์นาโดที่ติดต่อกันหลาย ลูกและเคลื่อนผ่านไปในหลายพื้นที่ โดยในปีนี้ ทอร์ นาโดเอาท์เบรคของฤดูกาลนี้เริ่มขึ้นเมื่อประมาณเดือนมีนาคม ต่อเนื่องมาถึงเดือนเมษายนที่ผ่านมา เป็นการเกิดขึ้นพร้อมๆ กันติดต่อกัน ซึ่งล้วนแต่เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนฤดูกาล และอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดทอร์นาโดเอาท์เบรคมากมายเช่นนี้ โปรดติดตามในฉบับต่อไป

ข้อมูลจาก www.ncdc.noaa.gov
www.spc.noaa.gov


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.