แผ่นดินไหว อาฟเตอร์ช็อก และการกู้ภัยในนิวซีแลนด์

โดย ชาคริต เทียบเธียรรัตน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในขณะที่ชาวไครส์เชิร์ชพักเที่ยงและกำลังจะกลับเข้าทำงานในเวลาเที่ยงห้าสิบเอ็ดนาที เหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น แผ่นดินไหวใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาและอาฟเตอร์ช็อกกว่าพันครั้งที่ทำท่าว่าจะสงบ กลับเกิดเหตุการณ์อาฟเตอร์ช็อกที่มีความแรงถึง 6.3 ริกเตอร์ แต่ความลึกแค่ 5 กิโลเมตรซ้ำอีก ทำให้ความแรงและผลกระทบน่าจะอยู่ที่ 8 ริกเตอร์ขึ้น

ผลกระทบของแผ่นดินไหวดังกล่าวทำให้เกิดผลกระทบต่ออาคารกว่า 700 หลัง และจำนวนไม่น้อยได้ถล่มลงมาในขณะที่ชาวเมืองไครส์เชิร์ชกำลังสัญจรไปมาในเมือง ตึกหลายแห่งที่ถล่มลงมาได้ทับรถยนต์ที่กำลังแล่นอยู่บนถนน ถนนที่แยกออกราวกับภาพยนตร์ เรื่อง 2012 ทำให้รถยนต์ทั้งคันจมลงไปได้ สิ่งทั้งหมดเกิดขึ้นในเวลาไม่กี่วินาที แต่ทำให้เมืองที่งดงามจนได้ชื่อว่า อุทยานนครของซีกโลกใต้ เปลี่ยนไปอย่างที่ไม่มีวันหวนคืนมา เพราะประติมากรรมที่สำคัญๆ ของไครส์เชิร์ชนั้นสร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 และได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดโดยกระทรวงวัฒนธรรม อาคารหลายแห่งเป็นตึกอนุรักษ์ ซึ่งมีคุณค่าทั้งทางสถาปัตยกรรม และประวัติศาสตร์ของนิวซีแลนด์ ดังนั้นอาคารโบราณเหล่านี้เองคือเหยื่อของอาฟเตอร์ช็อกรวมทั้งโบสถ์ไครส์เชิร์ช ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเมืองก็มีอันต้องพังทลายลงมาเช่นกัน

มหันตภัยหนนี้เป็นภาระหนักของรัฐบาลเพราะมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าวกว่าร้อยคน บาดเจ็บนับพันไม่รวมที่ไม่มีที่อยู่อาศัยอีกหลายพันคน การกู้ภัยทำได้อย่างยากลำบากเนื่องมาจากว่าถนนหลายเส้นถูกตัดขาด สะพานถล่มลงมา หรือถนนแยกออกจากกัน ทุกคนที่เห็นสภาพเมืองไครส์เชิร์ชเหมือนอยู่ใน ภาวะสงคราม ภาพประชาชนบาดเจ็บ หน่วยกู้ภัยบุกเข้าไปช่วยคนอย่างไม่คิดชีวิตตามอาคารที่ถล่มลงมาหรือการส่งเฮลิคอปเตอร์ขนประชาชนจากดาดฟ้าของอาคารต่างๆ แม้ว่าจะมีการเตรียมพร้อมในการกู้ภัยแต่เมื่อเกิดมหันตภัยขึ้นแน่นอนครับว่ารถพยาบาลเองก็ไม่เพียงพอ ประชาชนที่อยู่ในเหตุการณ์ที่ยังสามารถขับรถได้และมีรถโฟร์วีลไดรฟ์ หรือรถ Station Wagon ต่างเป็นพลเมืองดีพาคนบาดเจ็บไปยังโรงพยาบาลเที่ยว แล้วเที่ยวเล่าอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย

ผลจากแผ่นดินไหวทำให้บ้านกว่า 80% ในเมือง ไครส์เชิร์ชที่มีประชากรเกือบครึ่งล้านคน ซึ่งถือว่าเป็น 10% เปอร์เซ็นต์ของประชากรนิวซีแลนด์ทั้งประเทศไม่มีไฟฟ้า แก๊สหุงต้ม และน้ำใช้ เพราะผลกระทบจาก แผ่นดินไหวได้ทำลายสายไฟฟ้าที่ฝังไว้ใต้ดิน ทำลายสถานีกรองและกลั่นน้ำ และทำให้ท่อแก๊สใต้ดินแตกจึงต้องหยุดจ่ายแก๊ส เช่นเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้วประเทศนิวซีแลนด์นิยมที่จะฝังระบบต่างๆ ไว้ใต้ดินเพื่อความสะดวกในการต่อไฟฟ้า น้ำ ท่อน้ำทิ้ง และแก๊ส ไว้ใต้ดิน เหตุผลที่เป็นแก๊สเพราะว่าประเทศนิวซีแลนด์เป็นเมืองหนาวดังนั้นต้องใช้แก๊สต่อเข้ากับเครื่องทำความร้อนในอาคารและเพื่อที่ประชาชนจะได้ไม่ต้องขับรถฝ่าหิมะไปเติมแก๊ส นอกจากนี้ระบบน้ำร้อน แก๊สหุงต้มทั้งหมดต่างมาจากระบบแก๊สใต้ดินทั้งสิ้น

นอกจากนั้นยังมีระบบการกำจัดสิ่งปฏิกูลก็อยู่ในท่อใต้ดิน โดยทิ้งลงไปในท่อ Sanitation system เพื่อไหลไปรวมกันในที่กำจัดสิ่งปฏิกูลเช่นกัน ดังนั้นเมื่อเกิดแผ่นดินไหวใหญ่อย่างที่ผ่านมา ระบบทุกอย่างในเมืองไครส์เชิร์ชเลยกลายเป็นอัมพาต เพราะว่าประชาชนไม่มีน้ำ ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีระบบทำความร้อน ไม่มีระบบหุงต้ม ห้องน้ำก็ไม่สามารถใช้ได้ เรียกว่าเปลี่ยนจากประเทศพัฒนาแล้วไปสู่ประเทศกำลังพัฒนา ในช่วงเวลาไม่กี่วินาที นอกจากนี้เนื่องจากถนนและสะพานหลายแห่งร้าวหรือแยกออกจากกัน ทำให้ท่อปฏิกูลแตกออก สิ่งปฏิกูลทะลักขึ้นมาปนกับท่อน้ำประปาที่แตกทั่วไครส์เชิร์ช เมื่อเกิดเหตุการณ์อุทกภัยขึ้นแน่นอนครับสภาผู้แทนราษฎรต้องปิดการประชุมทันที โดยรัฐบาลและฝ่ายค้านหันมาร่วมมือกันแก้ปัญหา นายกรัฐมนตรีเดินทาง ออกจากที่ประชุมสภาก็รีบขึ้นเครื่องบินของกองทัพอากาศพร้อมกับ ส.ส.และรัฐมนตรี ข้าราชการที่เกี่ยวข้องเดินทางลงไปที่ไครส์เชิร์ชเพื่ออำนวยการกู้ภัยในทันที เมื่อเดินทางมาถึง นายกรัฐมนตรีจอห์น คีย์เดินเท้าเข้าไปยังพื้นที่ที่เกิดความเสียหายพร้อมประกาศภาวะฉุกเฉิน และให้ทหารขนกำลังมาร่วมกู้ภัยและปิดเมืองไครส์เชิร์ชรอบในที่เกิดความเสียหายที่สุด

เมื่อเกิดอุทกภัย นายกรัฐมนตรีและ ครม.นิวซีแลนด์ สามารถเดินทางมาเพื่ออำนวยการกู้ภัยได้ภายในสามชั่วโมง และเดินบุกตรวจตราอาคารต่างๆ ท่ามกลางอาฟเตอร์ช็อก รวมทั้งเดินลุยน้ำเสียและสิ่งปฏิกูลที่ทะลักขึ้นมาท่วมในเขตไครส์เชิร์ชตะวันออก ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคแรงงานซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน โดยไม่กลัวสกปรกหรือเกี่ยงว่าเป็นฐานเสียงของใคร นายกฯ นิวซีแลนด์ออกมายอมรับกับประชาชนตรงๆ ว่าที่เขาทำได้นอกเหนือจากการอำนวยการกู้ภัยแล้วก็มีเพียงการติดตามผล เป็นกำลังใจให้กับประชาชน พยายามทำงานให้ดีที่สุด และร่วมทุกข์ร่วมสุขกับประชาชน คำว่าร่วมทุกข์ร่วมสุขนั้นสำคัญมาก เพราะว่าถ้านายกฯ แค่บินมาเยี่ยมประชาชนแล้ว ไปแจกของให้ชาวบ้าน จากนั้นก็บินกลับไปนอนหลับสบายที่เมืองหลวงโดยไม่ออกติดตามผลเหมือนอย่างนักการเมืองสร้างภาพที่หาได้ในสภาผู้แทนของประเทศสารขันธ์ก็ต้องเรียกว่า เป็นนักการเมืองน้ำเน่า แต่ในนิวซีแลนด์นั้นนายกรัฐมนตรีจอห์น คีย์ได้เยี่ยมประชาชน ถ้าไม่จำเป็นต้องกลับไปกรุงเวลลิงตันเพื่อราชการสำคัญแล้วก็จะอยู่ที่ไครส์เชิร์ชเป็นหลัก แม้ว่าท่านนายกฯ จะเป็น ส.ส.ของเมืองโอ๊กแลนด์ก็ตาม

การกู้ภัยของนายกนิวซีแลนด์นั้นเขาไม่ได้รอสามวันแล้วค่อยไปดูเหตุการณ์ และเมื่อไปถึงแล้วเขาก็ไม่ต้องรอให้บรรดาวอลเปเปอร์ออกไปหารถซาเล้งจากชาวบ้านที่เดือดร้อนมาให้ ฯพณฯ ท่านนั่งเพื่อให้เกิดเป็นภาพอุจาดตา คล้ายๆ กับเด็กทารกตัวเขื่องๆ ในรถเข็นขนาดยักษ์เหมือน นายกรัฐมนตรีประเทศหนึ่ง แต่นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ออกเดินลุยน้ำท่วม แผ่นดินไหวและซากตึกในชุดสูทก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นชุดลำลอง พร้อมลุยงานหนักในวันต่อมา โดยเดินเท้าไปตรวจการทำงานของหน่วยกู้ภัยจากทีมกู้ภัยของนิวซีแลนด์และสิงคโปร์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อเมริกา อังกฤษ ที่เดินทางมาช่วยกู้ภัย ในขณะที่ประเทศไทยเราก็ส่งทีมพิสูจน์หลักฐานมาช่วยแม้ว่าจะช้าไปบ้าง คือทีมงานประเทศอื่นเขามาช่วยไปเกือบอาทิตย์แล้ว ไทยเราถึงจะมา แต่มาช้าก็ยังดีกว่าไม่มานะครับ ผมต้องขอขอบคุณทีมงาน ของไทยมา ณ ที่นี้ สภาพตอนนั้นต้องบอกว่าได้เห็นน้ำใจของชาวเมืองทุกๆ คน มีทั้งการบริจาค จัดการกุศลทั่วประเทศ

นอกจากนี้ชาวบ้านที่บ้านยังดีอยู่ก็มีน้ำใจต้อนรับเพื่อนร่วมเมืองให้มาพักอาศัยกันอย่างถ้วนหน้า ท่านนายกรัฐมนตรีก็ไปอาศัยบ้านญาติในไครส์เชิร์ชระหว่างช่วงกู้ภัย ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟฟ้า อยู่หลายวันเช่นเดียวกับประชาชน ขณะที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็น ส.ส.ไครส์เชิร์ช ต้องโอนมาเป็นรัฐมนตรีดูแลการกู้ภัย โดยมีรัฐมนตรีมหาดไทย กลาโหม และแรงงานลงมาช่วยกู้ภัย โดยถ้าไม่พักบ้านของ รมต.ก็ต้องไปนอนในคุกหรือเต็นท์ผู้ประสบภัย ตรงนี้ผมไม่ได้พูดเล่นเพราะว่าคุกเป็นหนึ่งในอาคารที่ยังพอ พักได้ในตอนนนั้น รัฐบาลต้องขนย้ายนักโทษไปไว้ที่เมืองอื่น และให้ รมต. ข้าราชการ หน่วยกู้ภัยไปนอนในคุก

ผมมองว่านี่คือการร่วมทุกข์ร่วมสุขจริงๆ ทุกคนรู้ว่า มีรัฐบาลมาดูแลก็อุ่นใจ แม้ว่าจะทำอะไรไม่ได้มาก แต่อย่าง น้อยที่สุดการที่เขามาร่วมทุกข์ด้วยกัน การไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปาใช้ด้วยกัน การไปนอนคุกเพราะไม่มีบ้านให้นอน และออกมาช่วยกันกู้ภัย คือสัญลักษณ์ของการเป็นผู้นำที่ดี นายกรัฐมนตรีและ ครม.จะกู้ภัยด้วยหมวกวิศวกร เสื้อฟุตบอล กางเกงยีนส์ รองเท้าผ้าใบที่พร้อมจะสกปรกได้ทุก เมื่อ และออกไปอำนวยการกู้ภัย โดยเฉพาะบางเขตที่หน่วย กู้ภัยกำลังทำอยู่และต้องการคนช่วยในหน้างานอย่างขุดโคลนออกจากพื้นที่ นายกฯ จอห์น คีย์ และ ครม.ได้ลงมือ ช่วยทีมกู้ภัยลงไปขุดโคลนจริงๆ โดยไม่มีกล้องวิดีโอหรือการออกข่าวแต่อย่างใด

แต่มี site งานหนึ่งซึ่งได้สมาคมนิสิตนักศึกษาเป็นทีมช่วยกู้ภัย นักศึกษาอยากจะดูว่า นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ จะเหยียบขี้ไก่ฝ่อหรือไม่ จึงมีนักศึกษาใจกล้าไปขอให้ท่านนายกฯ ออกแรงช่วย สนช.ปรากฏว่าท่านนายกฯ ก็หยิบพลั่ว ขึ้นมาลุยโคลนไปช่วยนักศึกษาขุดโคลนและสิ่งปฏิกูลที่ออก มาท่วมเมืองเหมือนสมาชิกของ สนช.ทั่วไป ตรงนี้เองที่ได้สร้างความประทับใจให้กับนักศึกษาจำนวนไม่น้อยและทาง สนช.เองก็ได้เอาภาพไปลงในเฟซบุ๊ก เพื่อโปรโมตให้นักศึกษา และประชาชนออกมาร่วมกันกู้ภัย ส่งผลให้มีนักศึกษาหลักหมื่นออกมาร่วมมือกับรัฐบาลอย่างไม่รังเกียจ

สิ่งที่เกิดขึ้นในนิวซีแลนด์นั้นเป็นการแสดงออกนอกจากด้านความพร้อมแล้วยังเป็นการแสดงถึงน้ำใจของประชาชน การแสดงความอดทนต่ออุทกภัย การไม่เรียกร้องต่อรัฐบาลแต่ช่วยเหลือตนเอง และที่สำคัญคือการมีผู้นำที่ดี ผู้นำที่ดีไม่ใช่โพเดียมที่ดีคือเอาแต่พูดไปวันๆ แต่ฝรั่งเขาพูดว่าผู้นำที่ดีคือคนที่ประพฤติตนให้เป็นตัวอย่างที่ดี หรือว่า Leading by example นั่นเองครับ เมื่อเราเป็นตัวอย่างที่ดีคนอื่นก็จะทำตามเราเอง ที่สำคัญคืออย่าซื้อเวลา โดยเชื่อว่าเวลาจะนำมาซึ่งทางออกของปัญหา แต่ต้องเข้าไป แก้ไขปัญหา จริงอยู่ครับว่า น้ำท่วม แผ่นดินถล่ม เมืองพัง นานๆ ไปเวลาก็แก้ปัญหาไปเอง ผู้คนก็ซ่อมเมืองได้เอง อาจจะห้าปี สิบปี หรือร้อยปี ผู้นำเฮงซวยโดยมากก็จะนั่งทอดหุ่ย ใส่เกียร์ว่าง รอเวลาให้แก้ไขปัญหากันไปเอง

แต่ผู้นำที่ดีคือคนที่ออกไปหาทางแก้ปัญหา ไปร่วมทุกข์กับประชาชนเวลาเขามีทุกข์ ออกไปทำงานแก้ปัญหาบางครั้งอาจจะผิดบ้างแต่ผู้คนเมื่อเห็นผู้นำที่ทำงานก็พร้อม ที่จะให้อภัย เพราะคนที่เอาแต่วิจารณ์หรือก่นด่าก็คือคนที่ไม่ทำอะไรและสมควรที่จะโดนสังคมประณาม นอกจากนี้ประชาชนก็จะอดทนมากขึ้น เหตุการณ์แผ่นดินไหวนี้ทำให้มีคนตกงานจำนวนไม่น้อย นายกฯ คีย์ได้อนุมัติงบฉุกเฉินให้กระทรวงสวัสดิการสังคมแจกเงิน โดยให้ผู้ที่ตกงานหรือบริษัทปิดทำ การชั่วคราวทุกคนจะได้รับเงินเดือนหกอาทิตย์เท่าคนที่โดนไล่ออกจากงาน รัฐบาลนิวซีแลนด์เขาบอกประชาชนของเขาตรงๆ ว่า ให้ได้ไม่เกินห้าร้อยดอลลาร์ ต่ออาทิตย์และให้ได้แค่หกอาทิตย์เพื่อช่วยเหลือเฉพาะ หน้า แน่นอนครับ เงินจำนวนดังกล่าวไม่ได้เป็นจำนวนที่มากมายอะไร แต่ประชาชนทุกคนที่กระทบก็ไม่มีใครบ่นหรือต่อว่ารัฐบาล ทุกคนพอใจที่ได้รับการเยียวยาและได้รับเงินอย่างรวดเร็วในช่วงที่จำเป็นจริงๆ ไม่ใช่เช็คสองพันบาทที่ให้โดยไม่ค่อยจะมีเหตุผลเท่าไร และให้งวดเดียวก่อนที่จะหายไปเลยเหมือนบางรัฐบาล ส่วนคนที่ได้ก็ไม่ทราบให้มาทำอะไรเลยมีคนบางกลุ่มเอาเงินไปลงขวดเหล้าหรือที่มีแซวๆกันว่าเอาไปลงอ่างเสียก็มี สิ่งต่อมาคือการสื่อสารที่ดี และการสื่อสารที่ดีนั้นก็เกิดจากการเป็นผู้ฟังที่ดี เมื่อนายกรัฐมนตรีไปลงพื้นที่ไครส์เชิร์ชตะวันออก ได้รับฟังปัญหาจากประชาชนผู้ใช้แรงงานที่ตกงาน หากเป็นนักการเมืองที่เห็นแก่ตัวก็จะมองว่านี่มันพวกฝ่ายตรงข้ามและไม่โหวตให้ตนอยู่แล้วก็คงจะฟังแล้วใส่เกียร์ว่าง แต่ด้วยความที่เป็นผู้นำที่ดี คีย์ได้รีบอนุมัติเงินช่วยเหลือ เพราะเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศนิวซีแลนด์ ดังนั้นถ้าประชาชนเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นสีอะไรก็ต้องได้รับการเยียวยา ไม่ใช่ทำตัวเป็นเด็กแบบนายกฯ บางประเทศที่เอาใจแต่พวกที่เลือกตนเอง

ผมมองว่าจากเหตุการณ์อุทกภัยของไครส์เชิร์ช ผม เชื่อว่าการที่จะเป็นผู้นำที่ดีได้ สิ่งแรกที่สุดคือการออกมายอมรับว่า ตนเองก็เป็นมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่ง เมื่อเป็นมนุษย์ แล้ว we are imperfect ไม่มีมนุษย์คนไหนที่สมบูรณ์แบบ และการเป็นผู้นำที่ดีคือการเป็นตัวอย่างที่ดี ทำเท่าที่ทำได้แต่ทำให้ดีที่สุด ช่วยทุกคนเท่าที่ทำได้ ไม่เกี่ยงงาน พยายามคิดและมองโลกในแง่บวก ไม่กระแนะกระแหนใคร ทำดีก็ไม่ต้องไปอวดอ้าง โฆษณา หาวอลเปเปอร์มาคอยจิกกัดคนอื่นเขา อย่าปล่อยเกียร์ว่าง อย่าซื้อเวลา เพราะเวลาไม่เคยคอยใคร อย่าสร้างภาพและทำทุกอย่างด้วยความจริงใจ แสดงความพยายามที่จะแก้ปัญหาและพร้อมที่จะร่วมทุกข์ร่วมสุขกับประชาชน ยอมรับในความผิดพลาด ไม่โทษคนอื่น ไม่โทษคนที่ทำงาน พร้อมที่จะรับผิดชอบในความผิดของ ผู้อื่น คำว่ารับผิดชอบนั้นมีน้ำหนักมากเพราะถ้ามีอะไรผิดพลาด ผู้นำที่ดีต้องรับผิดก่อน ส่วนความชอบนั้นรับสุดท้าย ต้องให้เครดิตทุกคนที่ทำงานจนประสบความสำเร็จก่อน

ผมหวังว่าประเทศไทยในอนาคตจะได้ผู้นำดีๆอย่างที่นิวซีแลนด์เขามี จริงอยู่ครับที่เราเคยกล่าวกันว่า ประชาชนเป็นอย่างไรก็ได้ผู้นำอย่างนั้น ดังนั้นผมก็หวังว่าในอนาคตอันใกล้ประชาชนไทยจะพัฒนาตนเองให้ได้ผู้นำดีๆ ที่ทำงานไม่ปล่อยเกียร์ว่าง ลงไปแก้ปัญหาไม่ใช่ตีฝีปากบนโพเดียมไปวันๆ รู้จักรับผิดไม่ใช่เอาแต่ความดีใส่ตัว โยนความชั่วให้คนที่ทำงาน คิดอะไรสร้างสรรค์ไม่ใช่ไปกระแนะ กระแหนคนอื่นที่ทำงาน รู้จักยอมรับความผิดพลาดของตนเองเสียบ้าง หัดจริงใจในการแก้ปัญหาไม่ใช่คอยแต่กล้อง โทรทัศน์เพราะประชาชนเขาเลือกนักการเมืองมาทำงานไม่ใช่มาสร้างภาพ ที่สำคัญคืออย่าทำตัวเป็นคนเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อแบบทำงานก็ขอไปที ผักชีโรยหน้า ไม่กล้าลุยงานจริงๆ ขอแค่ไปดู เพราะถ้าท่านนายกรัฐมนตรี จอห์น คีย์ไปกู้ภัยแบบนักการเมืองไทย โดยไปรอซาเล้งมารับ พอไปถึงที่ประสบภัยก็แจกถุงยังชีพพร้อมนามบัตรพรรคการเมือง ผม เชื่อว่าป่านนี้ประชาชนคงร่วมกันขับไล่ไปแล้ว นิวซีแลนด์เขา แจกถุงยังชีพโดยหน่วยกู้ภัยและเจ้าหน้าที่พยาบาล รัฐบาลให้ประชาชนไปเอาแก๊สฟรีจากปั๊มน้ำมันทุกแห่งโดยรัฐเป็นคนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ นอกจากนี้ยังให้ทหารไปเอาเครื่อง ทำน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดให้ประชาชนออกมารับ ให้เงินห้างสรรพสินค้าทุกแห่งแจกน้ำดื่มให้ประชาชน ห้ามกักตุนสินค้าทุกชนิด โดยท่านนายกฯ ผู้นำฝ่ายค้าน รมต. ส.ส. ทุกพรรคลงไปตรวจสอบเองไม่มีการยื่นนามบัตร ไม่มีการหาเสียงบนความทุกข์ยากของประชาชน

เมื่อได้ผู้นำที่ดีแล้วประเทศที่ประชากรแค่สี่ล้านกว่าคนยังเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่อยู่อันดับต้นๆ ของโลกได้ หากประเทศไทยได้นักการเมืองดีๆ แบบนิวซีแลนด์บ้าง ผมเชื่อเหลือเกินว่าอนาคตของเราคงไปได้ไกลจนฝรั่งต้องอิจฉาแน่นอน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.