G7010 ความฝันและความจริง

โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

กลางฤดูใบไม้ผลิของเมืองจีน ผมนั่งเอกเขนกอยู่บนพาหนะทางบกที่กำลังเดินทางด้วยความเร็วมากกว่า 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมงตัดผ่านเส้นทางในมณฑลเจียงซูจากมหานครเซี่ยงไฮ้ ไปยังนานกิง (หนานจิง) เมืองเอกของมณฑลเจียงซู

เมื่อมองผ่านกระจกนิรภัยของห้องโดยสาร ทิวทัศน์รายทางนอกหน้าต่างของรถไฟความเร็วสูงขบวน G7010 ผมรู้สึกเหมือนกับว่าตัวเองกำลังนั่งอยู่เครื่องมือเดินทางข้ามเวลาที่มุ่งจากอดีตไปสู่โลกแห่งอนาคต

เส้นทางรถไฟระหว่างเซียงไฮ้-นานกิง หรือฮู่หนิงเถี่ยลู่ มีความยาวประมาณ 300 กิโลเมตร โดยหากเดินทางด้วยรถไฟโดยสารปกติจะใช้เวลาประมาณ 2-4 ชั่วโมง ทว่า นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2553 เป็นต้นมา เมื่อรถไฟความเร็วสูงเปิดให้บริการ ระยะเวลาดังกล่าวก็ถูกร่นลงครึ่งหนึ่งเหลือเพียง 1 ชั่วโมงกว่าๆ เท่านั้น

รถไฟขบวน G7010 เป็นรถไฟที่ถูกจัดอยู่ในหมวด G (อักษร G ย่อมาจากคำว่า "เกาซู่" ในภาษาจีนที่มีความหมายว่าความเร็วสูง) โดยถือเป็นหนึ่งในหมวดรถไฟที่สามารถทำความเร็วได้สูงที่สุดในบรรดารถไฟจีนปัจจุบันคือ ทำความเร็วได้มากถึง 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยเส้นทางรถไฟสายแรกในจีนที่เปิดให้บริการรถไฟในหมวด G ก็คือ เส้นทางเดินรถระหว่างเมืองอู่ฮั่น (มณฑลหูเป่ย) และเมืองกวางเจา (หรือเมืองกว่างโจวในมณฑลกวางตุ้ง) เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2552

หลายปีที่ผ่านมา บริการรถไฟในจีนมีพัฒนาการและความก้าวหน้าไปมากอย่างที่ยากจะตามทัน โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับ 6 ปีก่อน ที่ผมเขียนบทความเรื่อง "จีนกับรถไฟความเร็วสูง" ลงเผยแพร่ในนิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2548

ในเวลานั้น ผมระบุว่ารถไฟที่วิ่งระหว่างเมืองในประเทศจีน สามารถแบ่งแยกออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ 4 ประเภท (ไม่นับรวมรถไฟเพื่อการท่องเที่ยว) ขณะที่ในปัจจุบันจีนเพิ่มบริการรถไฟขึ้นมาอีก 3 ประเภท รวมทั้งหมดเป็น 7 ประเภทด้วยกัน คือ

ผู่ไขว้ - รถความเร็วปกติ จะไม่มีตัวอักษรในภาษาอังกฤษนำหน้า

ไขว้ซู่ - รถความเร็วสูง จะมีอักษร "K" นำหน้าตัวเลขเที่ยวรถ

เท่าไขว้ - รถด่วน วิ่งทางไกลด้วยความเร็วสูงจะมีตัวอักษร "I" นำหน้าตัวเลข

จื๋อต๋าเท่อไขว้ - ที่เปิดให้บริการในปี 2547 ชื่อขบวนมีตัวอักษร "Z" นหน้า โดยรถไฟประเภทนี้จะเป็นรถด่วนที่วิ่งแบบไม่หยุดจอดบนเส้นทางระหว่างหัวเมืองใหญ่ๆ

สำหรับรถไฟอีกสามประเภทที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ล้วนแล้วแต่เป็นรถไฟความเร็วสูงที่จีนตั้งชื่อว่า รถไฟรหัสปรองดอง หรือ CRH (Chins Railways High-speed) ประกอบไปด้วย

ต้งเชอจู่ - รถไฟความเร็วสูงที่วิ่งด้วยความเร็ว 200-250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีรหัสนำหน้าเป็นตัวอักษร "D"

เฉิงจี้ต้งเชอจู่ - รถไฟความเร็วสูงที่ใช้รหัสนำหน้าเป็นตัวอักษร "C" โดยสามารถทำความเร็วได้สูงสุดถึง 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่วิ่งในระยะทางที่ค่อนข้างสั้น เช่น นครปักกิ่งกับเทียนสิน (เทียนจิน) เป็นต้น

และเกาซู่ตังเชอจู่ - รถไฟความเร็วสูงที่สามารถทำความเร็วได้สูงสุดถึง 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และวิ่งข้ามมณฑลเป็นระยะทางไกลตั้งแต่หลายร้อยจนถึงหลักพันกิโลเมตร จะใช้รหัสนำหน้าเที่ยวโดยสารด้วยอักษร "G" [1]

ท่านเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ก่วน มู่เคยกล่าวไว้ในงานสัมมนา "อินโดจีน: ภูมิภาคแห่งโอกาสและความท้าทาย" ที่นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ จัดขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2554 ว่า เดี๋ยวนี้ตั้งแต่จีนเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูง วิถีชีวิตคนเมืองจีนก็เปลี่ยนไปมากเช่น ตั้งแต่รถไฟความเร็วสูงระหว่างปักกิ่ง-เทียนนสิน (เทียนจิน) เปิดให้บริการจากเวลาเดินทางที่ต้องเผื่อไว้ชั่วโมงครึ่งถึงสองชั่วโมง ก็ลดลงเหลือเพียง 30 นาที

"รถไฟความเร็วสูงนี่เองทำให้คนจีนที่อาศัยอยู่ในเทียนสิน เพราะ ณ ปัจจุบันรถไฟความเร็วสูงได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวจีนทั่วประเทศบนเส้นทางที่ทอดยาวแล้วกว่า 8,000 กิโลเมตร และกำลังจะเปลี่ยนแปลงอีกมหาศาลเมื่อสร้างครบ 16,000 กิโลเมตรภายในปี 2558 (ค.ศ.2015) [2]

เดี๋ยวนี้มีคนนานกิงบางส่วนตอนเช้านั่งรถไฟความเร็วสูงไปทำงานที่เซี่ยงไฮ้ ตกเย็นก็นั่งกลับมาบ้านที่นานกิง เพราะรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งระหว่างสองเมืองนี้มีทุก 15 นาที ตั้งแต่หกโมงเช้าไปจนถึงช่วงค่ำ ช่วงดึก" โชเฟอร์หนุ่มแซ่หยางเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตของชนชั้นกลางชาวจีนให้ฟัง เมื่อผมและคณะเดินทางมาถึงสถานีรถไฟเมืองนานกิง

เมื่อเปรียบเทียบกับการโดยสารเครื่องบิน ผมพบว่า สำหรับการเดินทางภายในระยะทางไม่กี่ร้อยกิโลเมตรจนถึงหนึ่งพันกิโลเมตร การเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงในประเทศจีนนั้นถือว่าสะดวกรวดเร็วกว่าการเดินทางโดยเครื่องบินมาก เพราะการเดินทางโดยรถไฟผู้โดยสารสามารถไปถึงสถานีรถไฟก่อนรถไฟจะออกเพียง 15 นาทีก็ได้ ขณะที่เครื่องบินนั้นจำเป็นต้องเผื่อเวลาอย่างน้อย 2 ชั่วโมง สำหรับการตรวจสอบเอกสารต่างๆ รวมถึงการตรวจสอบความปลอดภัยที่เข้มงวดและรัดกุมสูงสุด

เมื่อได้ฟังท่านเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยและได้ทดลองนั่งเอง ประกอบกับคำพูดของโชเฟอร์หนุ่มแซ่หยางแห่งเมืองนานกิงแล้ว ผมจึงอดไม่ได้ที่จะจินตนาการถึงรถไฟความเร็วสูงระหว่างกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ที่สามารถลดระยะเวลาในการเดินทางจากปัจจุบัน 8-12 ชั่วโมง ลงเหลือ 3-4 ชั่วโมง หรือเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยองที่จะลดลงจาก 3 ชั่วโมงเหลือเพียงหนึ่งชั่วโมงหรือชั่วโมงครึ่ง

เมื่อพิจารณาจากเทคโนโลยีและภูมิประเทศ การสร้างทางรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทย ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ง่ายดายอย่างยิ่ง หากมองจากมุมของจีนที่เคยสร้างทางรถไฟที่สูงที่สุดในโลก สายชิงไห่-ทิเบต (ชิงจั้งเถี่ยลู่) สำเร็จมาตั้งแต่ปี 2548 แล้ว และกำลังดำเนินการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงที่สุดในโลกกว่าสามพันเมตรจากรระดับน้ำทะเล บนเส้นทาง "หลานโจว-ซินเกียง (หลานซินเถี่ยลู่)" ที่มีความยาวกว่า 1,900 กิโลเมตร ซึ่งเริ่มต้นก่อสร้างในปี 2552 มีกำหนดจะแล้วเสร็จในปี 2558

แน่นอนว่าประเด็นสำคัญในการเร่งขยายเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงมิได้อยู่ที่ปัจจัยด้านการพัฒนาเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ และร่ำรวยอย่างจีน ประเด็นอื่นๆ อย่างเช่น เรื่องความมั่นคง ย่อมเป็นปัจจัยที่ถูกนำเข้ามาพิจารณาและเป็นปัจจัยที่มีนัยสำคัญยิ่ง สังเกตได้จากการสร้างทางรถไฟ "สายชิงจั้ง" และการสร้างทางรถไฟความเร็วสูง "สายหลานซิน" ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งจุดหมายปลายทางของทางรถไฟทั้งสองสายต่างเป็นมณฑลที่ถูกจัดให้เป็นเขตปกครองตนเอง และมีประวัติการลุกฮือของชนกลุ่มน้อยเพื่อต่อต้านรัฐบาลปักกิ่งทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของประเทศไทยโดยเฉพาะนักการเมืองไทย ประเด็นเรื่องการเมืองในประเทศและต้นทุนในการก่อสร้าง (และค่าคอมมิชชัน) ถือเป็นประเด็นสำคัญที่สุดในการตัดสินใจก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (โดยสำหรับจีนต้นทุนในการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงที่สามารถวิ่งได้ด้วยความเร็ว 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนั้นอาจสูงถึงราว 100 ล้านหยวนต่อกิโลเมตร หรือราว 500 ล้านบาทต่อกิโลเมตร)

ทั้งนี้ทั้งนั้น จากเงื่อนไขและข้อจำกัดด้านการเมือง เทคโนโลยี ต้นทุน เงินสนับสนุนแล้ว ผมเชื่อว่าประเทศไทยมิอาจหลีกเลี่ยงในการเชื่อมต่อทางรถไฟความเร็วสูงเข้ากับประเทศจีนได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผนการเชื่อมต่อระหว่างผืนแผ่นดินส่วนใหญ่ของเอเชียกับจีน กับอาเซียน ผ่านทางลาว พม่า เวียดนาม กัมพูชา ไทย ลงไปถึงมาเลเซียและสิงคโปร์ (ดูภาพ On the rails: How China is connection with the world [3] )... "ซึ่งนั่นหมายความว่า เทคโนโลยีของรถไฟและอาเซียนในอนาคตย่อมต้องยึดถือเอามาตรฐานของจีนเป็นสำคัญ สำหรับผล การวาดภาพอนาคตของจีนเป็นสำคัญ

สำหรับผม การวาดภาพอนาคตของจีน-อาเซียน และการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตของผู้คนในภูมิภาคนี้ในช่วงสิบปีข้างหน้าภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางมาตรฐานของการคมนาคมแบบใหม่ ซึ่งคงหนีไม่พ้น "รถไฟความเร็วสูงข้ามประเทศ" ถือเป็นเรื่องยากที่จะคาดคิดและจินตนาการจริงๆ

หมายเหตุ :
[1]
[2] Wang Aihua, Xu Wenting, China takes fast rail ambition to new heights, Xinhua, 9 Apr 2011.
[3] http://www.weeklytimesnow.com.au/article/2011/04/15/318961_business-news.html


อ่านเพิ่มเติม:
- “เส้นทางสายไหม” สายใหม่ นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับกันยายน-ตุลาคม 2553
- การทูตรถไฟความเร็วสูง นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเมษายน 2553
- China’s High-Speed Dream นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับพฤศจิกายน 2552
- จีนกับรถไฟความเร็วสูง นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2548


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.