|
เศรษฐศาสตร์แห่งความรุนแรง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
ประเทศที่ยากจน เป็นเพราะชอบใช้ความรุนแรง หรือที่พวกเขาชอบใช้ความรุนแรง เป็นเพราะพวกเขายากจน
รายงาน World Development Report เป็นรายงานสำคัญที่ออกโดยธนาคารโลกเป็นประจำทุกปี ล่าสุดในปีนี้ รายงานดังกล่าวระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ความรุนแรงไม่ใช่เป็นเพียงสาเหตุหนึ่งของความยากจนเท่านั้น หากแต่เป็นสาเหตุ “หลัก” ของความยากจนเลยทีเดียว ประเทศที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงมักติดกับดักนี้ แต่ประเทศที่ไม่ติดในกับดักความรุนแรง กำลังจะหนีพ้นจากความยากจน การสรุปของธนาคารโลกดังกล่าว ถือว่ามีนัยสำคัญอย่างลึกซึ้ง ทั้งต่อประเทศยากจนที่กำลังพยายามช่วยเหลือ ตัวเอง และต่อประเทศร่ำรวยที่พยายามจะช่วยเหลือพวกเขา
คนส่วนใหญ่มักคิดว่า การพัฒนาถูกขัดขวางจากสิ่งที่เรียกว่า “กับดักความยากจน” ชาวนาไม่ยอม ซื้อปุ๋ย แม้จะรู้ว่าช่วยให้ได้ผลผลิตดีขึ้น เพราะว่าไม่มีถนน แม้จะเก็บเกี่ยวได้มากขึ้น ก็ไม่มีประโยชน์ ต้องปล่อยให้ผลผลิตเน่าเสียไปเปล่าๆ เพราะไม่มีถนนที่จะใช้ขนส่งพืชผลการเกษตร ทางออกจากกับดักนี้คือ ต้องสร้างถนน และหากประเทศยากจนไม่มีเงินจะสร้าง ประเทศร่ำรวยก็ควรยื่นมือเข้ามาช่วย
ทว่า รายงานของธนาคารโลกล่าสุดข้างต้น กลับชี้ว่า อุปสรรคใหญ่ของการพัฒนาในทุกวันนี้อาจไม่ใช่กับดักความยากจนอีกต่อไป หากแต่เป็น “กับดักความรุนแรง” ประเทศที่รักสงบกำลังจะหนีออกจากความยากจนได้แล้ว แต่ประเทศที่มีสงคราม กลางเมือง หรือมีความขัดแย้งรุนแรงระหว่างเชื้อชาติ หรือมีคดีอาชญากรรมมากมาย กับดักความรุนแรงรวมไปถึงการมีรัฐบาลที่เลว คือตัวขัดขวางไม่ให้ประเทศเหล่านี้ หนีพ้นจากกับดักนี้ และแน่นอน ย่อมหนีไม่พ้นความยากจนด้วย
มีตัวอย่างเปรียบเทียบระหว่าง 2 ชาติเล็กๆ ในแอฟริกา บูรุนดีกับเบอร์กินา ฟาโซ เคยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ และระดับรายได้ที่เท่ากัน แต่ปลายปี 1993 เกิดสงครามกลางเมือง ระเบิดขึ้นในบูรุนดี หลังจากประธานาธิบดีถูกลอบสังหาร สงครามทำให้คนตายมากถึง 300,000 คน ตลอดกว่าสิบปีที่เกิดสงคราม แต่เบอร์กินา ฟาโซที่สงบกว่า ขณะนี้ร่ำรวยกว่าบูรุนดีถึง 2 เท่าครึ่ง
และถึงแม้ไม่มีสงครามกลางเมือง แต่หลายประเทศก็ยังคงติดกับดักความรุนแรง จากการที่สภาวะบ้านเมืองไร้ขื่อแป รายงานของธนาคารโลกดังกล่าวชี้ว่า มีคนถึง 1,500 ล้านคน ที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีแต่ความรุนแรงทางการเมือง คดีอาชญา กรรมเต็มเมือง มีอัตราการฆาตกรรมที่สูงมาก และมีความรุนแรง ย่อยๆ เกิดขึ้นทั่วไป แน่นอนว่าทั้งหมดนี้ อาจดูไม่ใช่เรื่องใหญ่ร้ายแรงเท่ากับสงครามกลางเมืองก็จริง แต่เชื่อหรือไม่ว่า ผลของมัน กลับเลวร้ายแทบไม่ต่างไปจากสงครามกลางเมือง ซ้ำในบางกรณี ยังเลวร้ายกว่าด้วยซ้ำ
ยังมีอีกหลายประเทศที่ตกอยู่ในวังวนของความรุนแรง จนดูเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด ในบรรดา 39 ประเทศที่มีสงครามกลางเมือง เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2000 เกือบทั้งหมดเคยเกิดสงครามกลางเมืองมาก่อนแล้วในอดีต ยิ่งกว่านั้นยังพบว่า ความรุนแรงในระดับย่อยๆ กลับมีความร้ายแรง และฆ่าคนได้มากกว่าสงคราม กลางเมืองเสียอีก ในกัวเตมาลา จำนวนคนที่ถูกฆาตกรรมต่อปีโดยแก๊งอาชญากร ยังมีมากกว่าจำนวนคนที่ตายในสงครามกลางเมืองในกัวเตมาลา ที่เคยเกิดขึ้นในทศวรรษ 1980 เสียอีก
นี่เป็นข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ เพราะแสดงว่า ความรุนแรงโดยรัฐ ซึ่งเป็นสาเหตุดั้งเดิมของความรุนแรงในอดีต กำลังลดลง แม้ว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 1990 แต่สงครามระหว่างประเทศ สงครามกลางเมือง และรัฐประหารที่เกิดขึ้นทั่วโลก กลับลดลง รวมถึงยอดผู้เสียชีวิตก็ลดลงด้วย อย่างไรก็ตาม ยังคงมีบาง ประเทศที่เกิดความรุนแรงซ้ำซาก
ผลก็คือ ในประเทศที่เกิดความรุนแรงไม่จบไม่สิ้นนี้ จำนวนคนที่ขาดอาหารมีแนวโน้มจะมีมากกว่าประเทศกำลังพัฒนาทั่วไป 2 เท่า ส่วนจำนวนเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ก็มีแนวโน้มจะมากกว่า เกือบ 2 เท่า และการประท้วงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศที่มีรัฐบาล อ่อนแอ มีแนวโน้มที่จะแปรเปลี่ยนเป็นความรุนแรงได้บ่อย และง่ายกว่าการประท้วงในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่ไม่มีความรุนแรง
ช่องว่างระหว่างประเทศกำลังพัฒนาที่แตกต่างกัน 2 กลุ่มนี้ คือประเทศที่สงบ กับประเทศที่ชอบใช้ความรุนแรง กำลังถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าประเทศกำลังพัฒนาเกือบทั้งหมด สามารถลดอัตราการตายในทารกแรกเกิดตั้งแต่ปี 1990 ได้
แต่ประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจนและชอบใช้ความรุนแรง สามารถลดอัตราการตายของทารกได้เพียง 19% น้อยกว่าประเทศ กำลังพัฒนาทั่วๆ ไป ที่สามารถลดอัตราการตายของทารกได้ถึง 31% และไม่มีประเทศยากจนที่ชอบใช้ความรุนแรงประเทศใดเลยแม้แต่เพียงประเทศเดียว ที่สามารถบรรลุเป้าหมายแม้เพียงข้อเดียวของ “การพัฒนาแห่งสหัสวรรษ” (millennium development goals: MDG) ได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่กำหนดโดยสหประชาชาติ เมื่อปี 2000 หรือปีแห่งการเปลี่ยนสหัสวรรษใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความยากจน ที่แย่ยิ่งไปกว่านั้น
รายงานของธนาคารโลกฉบับล่าสุดนี้ ยังสรุปด้วยว่า ประเทศยากจนที่มีแต่ความรุนแรงได้สูญเสียผลสำเร็จที่เคยทำได้ ในการลดความยากจน โดยสูญเสียไปถึงเกือบ 1% ทุกๆ ปีอีกด้วย
ถ้าความรุนแรงเป็นสาเหตุของความยากจน แล้วอะไรเป็นสาเหตุของความรุนแรง ความยากจนก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งได้เช่นกัน แต่ความชอบธรรมของรัฐบาลเป็นสาเหตุสำคัญ รายงาน ของธนาคารโลกฉบับนี้ค้นพบว่า ในช่วงปี 2000-2005 ประเทศที่มีรัฐบาลที่ดี มีความเป็นไปได้น้อยกว่ามาก ที่จะเผชิญกับความรุนแรงในประเทศ หรือการมีอัตราการฆาตกรรมที่สูง คงไม่น่าประหลาดใจ ที่ลิเบียได้คะแนนน้อยกว่าตูนิเซียหรืออียิปต์ ในประเด็นการวัดความรับผิดชอบของรัฐบาล นี่คงอธิบายสาเหตุที่ทำให้ชาวลิเบียลุกฮือขึ้นต่อต้าน Muammar Gaddafi ได้
นัยของการวิเคราะห์ล่าสุดของธนาคารโลกครั้งนี้ จะส่งผล อย่างกว้างไกลดังนี้ ประการแรก การป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรง ควรได้รับความสำคัญมากกว่าที่เป็นอยู่ ประการต่อมา ประเทศต่างๆ ควรเรียนรู้ให้มากขึ้นว่า อะไรบ้างที่จะช่วยลดความรุนแรงได้ การฟื้นความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาล คือกุญแจสำคัญในการลดความรุนแรง ซึ่งสามารถทำได้ หากรัฐบาลสามารถนำคู่ขัดแย้งมาลงนามในข้อตกลงสันติภาพได้ อย่างเช่นที่ประเทศกานาเคยทำในปี 2003 รัฐบาลจะต้องแต่งตั้งคนที่น่าเชื่อถือ อย่างเช่นที่ไนจีเรียแต่งตั้งคณะกรรมการเลือกตั้งใหม่ และต้องสร้างผลงานที่รวดเร็ว เช่น การสร้างงานใหม่
ประการที่ 3 คนนอกควรหยุดด่วนสรุปว่า ความขัดแย้งที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ๆ ในขณะนี้ เป็นสงครามระหว่างประเทศหรือเป็น สงครามกลางเมือง และจะต้องนิยามบทบาทหน้าที่ของนักการทูต ทหาร และกลุ่มสิทธิมนุษยชน หรือองค์กรบรรเทาทุกข์ให้ชัดเจนกว่านี้ ในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง รายงานของธนาคาร โลกเน้นย้ำว่า ทุกคนจำเป็นต้องทำงานร่วมกัน
สุดท้าย ทุกคนต้องใช้ความอดทนอดกลั้นมากขึ้นอย่างมาก ประเทศที่มีการปฏิรูปที่ดีที่สุด ยังต้องใช้เวลาถึง 27 ปี ในการลดการคอร์รัปชั่น
อย่างไรก็ตาม แทบไม่มีประเทศใดเต็มใจจะคอยนานขนาด นั้น เฮติพยายามจะตั้งรัฐบาลที่ดีกว่าภายใน 18 เดือน แต่ก็ล้มเหลว ส่วนบรรดาประเทศอาหรับที่พากันลุกฮือต่อต้านรัฐบาลอยู่ในขณะนี้ ก็เป็นไปได้สูงว่า พวกเขายังจะต้องฝ่ามรสุมแห่งการเปลี่ยนแปลงอีกหลายครั้งนัก กว่าประเทศจะเข้าที่เข้าทางได้ ซึ่งคงต้องใช้ความอดทนอย่างสูง
น่าเสียดาย ที่มันง่ายสำหรับนักเศรษฐศาสตร์ที่จะบอกให้ใครๆ ใช้ความอดทน แต่คงไม่ใช่สำหรับผู้นำประเทศที่ไร้ซึ่งความ อดทนหรือชอบใช้ความรุนแรง ผู้กำลังถูกคุกคามจากประชาชนของตัวเองหรือจากศัตรู
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง ดิ อีโคโนมิสต์
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|