|
การเติบโตของ BRIC ใกล้ชนเพดาน
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
เศรษฐกิจจะเติบโตช้าลง เมื่อ GDP ต่อประชากรขยายตัวไปถึงจุดหนึ่ง และจีนกำลังไปสู่จุดนั้น
วิกฤติเศรษฐกิจทำให้เศรษฐกิจของประเทศร่ำรวยอ่อนแอลง แต่กลับทำให้ประเทศตลาดเกิดใหม่เข้าใกล้ชัยชนะมากยิ่งขึ้น ในปี 2010 จีนสามารถเอาชนะญี่ปุ่นที่เศรษฐกิจกำลังอ่อนแอ โดยแย่งตำแหน่งประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกจากญี่ปุ่นมาครองได้ และยังดูเหมือนว่าจีนจะสามารถแย่งตำแหน่งประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกมาครองจากสหรัฐฯ ได้ ภายในเวลาเพียงหนึ่งหรือสองทศวรรษเท่านั้น ข้างอินเดียกับบราซิลก็เติบโตอย่างรวดเร็วเช่นกัน
การเติบโตของ 3 ใน 4 ประเทศกลุ่ม BRIC (ประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน) ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนจะยิ่งตอกย้ำการคาดการณ์ที่ว่า ศตวรรษนี้จะเป็นศตวรรษแห่งความรุ่งเรืองของประเทศตลาดเกิดใหม่
อย่างไรก็ตาม แม้อนาคตอาจดูสวยหรูสำหรับชาติตลาดเกิดใหม่ แต่ประวัติศาสตร์ก็เตือนให้ระวัง แม้ว่าตั้งแต่หลังสงคราม โลกเป็นต้นมา ดูจะเต็มไปด้วยข่าวดีของชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่ และเป็นข่าวที่เจ็บปวดของชาติร่ำรวย แต่เมื่อเศรษฐกิจโตถึงจุด หนึ่ง การเติบโตจะเริ่มน่าผิดหวัง และนี่แสดงว่า การตีตื้นได้ หาใช่จะหมายถึงชัยชนะเสมอไป
การทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วเป็นเรื่องง่ายในตอนแรกเริ่ม เพราะชาติที่เป็นผู้นำเศรษฐกิจ ได้สร้างทางที่ชัดเจน ไว้ให้เดินตามอย่างสะดวกง่ายดาย โดยชาติกำลังพัฒนาก็เพียงแต่ “ขอยืม” เทคโนโลยีมาจากชาติที่ร่ำรวยเท่านั้นเอง
ในขณะที่ชาติที่ก้าวหน้าไปก่อนแล้ว กลับกำลังติดขัดกับโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างมานาน จากที่เคยทันสมัยก็ล้าสมัยเสียแล้ว แต่ชาติที่ตามมาทีหลัง กลับสามารถกระโดดข้ามขั้น ไปเลือกใช้โครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยและดีที่สุดเท่าที่มีอยู่ในขณะนั้นได้
ส่วนการผลิตโดยใช้แรงงาน ก็เพิ่มสูงขึ้นในชาติยากจน เนื่องจากเกิดการย้ายแรงงานจากภาคเกษตร เข้าสู่ภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่เพิ่งเติบโต และรายได้ที่เติบโตอย่างรวดเร็วของคนงานหนุ่มสาว ก็ทำให้การออมเพิ่มขึ้น เมื่อเงินออมเพิ่มขึ้น การลงทุนก็เติบโตตาม
แต่ยิ่งชาติกำลังพัฒนาเดินตามรอยคล้ายกับชาติผู้นำเศรษฐกิจมากเท่าใด การจะรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ยั่งยืน ก็ยิ่งยากขึ้นเท่านั้น เมื่อความคิดและเทคโนโลยีที่ยืมเขามาใช้เริ่มถูกใช้หมดไป ชาติกำลังพัฒนาก็จำเป็นต้องเริ่มหัดมีความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ของตัวเองเสียที
แต่ในขณะเดียวกันนั้น แรงงานราคาถูกจากภาคเกษตรกลับเริ่มหดหาย เพราะแรงงานจำนวนหนึ่งได้หันเข้าสู่ภาคบริการ มากขึ้น ซึ่งเป็นภาคที่การเพิ่มการผลิตทำได้ยาก จากที่เคยดูเหมือน ว่า ชาติกำลังพัฒนากำลังจะไล่ตามทันประเทศผู้นำเพียงแค่เอื้อม ก็กลับต้องล่าช้าออกไปอีก
มิหนำซ้ำ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจยังอาจจะชะลอตัว ลงอีกด้วย เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับยุโรปตะวันตก และเสือเศรษฐกิจ เอเชียมาแล้ว หรือร้ายยิ่งไปกว่านั้น เศรษฐกิจอาจไม่เพียงแค่โตช้าลง แต่อาจถึงกับสะดุดหยุดลง เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในละติน อเมริกาในช่วงทศวรรษ 1990
ในเมื่อโลกทุกวันนี้ หวังพึ่งพิงตลาดเกิดใหม่เป็นเครื่องยนต์ ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ความเป็นไปได้ที่ว่า เศรษฐกิจของชาติตลาดเกิดใหม่อาจเกิดการชะลอตัวหรือสะดุดหยุดลง จึงเป็นเรื่องที่น่ากลัวอย่างยิ่ง
ดังนั้น Barry Eichengreen จากมหาวิทยาลัย University of California ใน Berkeley ร่วมกับ Donghyun Park จากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) และ Kwanho Shin จากมหาวิทยาลัย Korea University จึงทำการศึกษาเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ตั้งแต่ปี 1957 เป็นต้นมา เพื่อมองหาสิ่งที่อาจเป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้า ก่อนที่เศรษฐกิจของชาติกำลังพัฒนาที่กำลังเติบโตจะเริ่มชะลอตัวลงจริงๆ
นักวิชาการทั้งสามเน้นศึกษาประเทศที่มี GDP ต่อหัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 3.5% ต่อปีเป็นเวลา 7 ปีติดต่อกัน จากนั้นกลับชะลอตัวลง 2% หรือมากกว่านั้น โดยค่า GDP ต่อหัวนั้น คิดจาก ฐานของอำนาจซื้อที่เท่าเทียม (purchasing-power-parity: PPP) ซึ่งทำให้สามารถเปรียบเทียบอำนาจซื้อที่แท้จริงของประเทศต่างๆ ซึ่งมีค่าครองชีพที่แตกต่างกันได้ และในการศึกษานี้ จะยกเว้นประเทศที่เศรษฐกิจเริ่มเกิดการชะลอตัว แต่ว่า GDP ต่อหัวเมื่อคิดจากฐาน PPP ยังไม่ถึง 10,000 ดอลลาร์
ผลปรากฏว่า คณะนักวิจัยได้ค้นพบค่าตัวเลขสำคัญที่อาจ เป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้าถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจ ของชาติตลาดเกิดใหม่
พวกเขาค้นพบว่า การเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศหนึ่งๆ จะเริ่มชะลอตัวลง เมื่อใดที่ GDP ต่อหัวเมื่อคิดบนฐานของ PPP เพิ่มขึ้นถึงระดับ 16,740 ดอลลาร์ โดยหลังจากที่ GDP ต่อหัวเพิ่มสูงถึงระดับดังกล่าวแล้ว อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะชะลอตัวจาก 5.6% ต่อปี เหลือเพียง 2.1%
การค้นพบดังกล่าวมีหลักฐานในประวัติศาสตร์ยืนยัน ในทศวรรษ 1970 อัตราการเติบโตในยุโรปตะวันตกและญี่ปุ่น เริ่มชะลอตัวลงจริงๆ เมื่อ GDP ต่อหัวเพิ่มขึ้นถึงระดับ 16,740 ดอลลาร์ ตามมาด้วยสิงคโปร์ที่เจอเหตุการณ์อย่างเดียวกันในช่วงต้นทศวรรษ 1980 ตามมาด้วยเกาหลีใต้และไต้หวันในช่วงปลายทศวรรษ 1990
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาก็พบว่า การเติบโตที่ชะลอตัวลงนั้น ไม่ได้หมายความว่าหายนะจะเกิดขึ้นในทันที แต่จะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ อย่างเช่นกรณีญี่ปุ่น
แม้ว่าความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะสูญเสียพลังไปตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1970 แล้วก็ตาม แต่เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงโตมากกว่าประเทศร่ำรวยอื่นๆ จนกระทั่งถึงทศวรรษ 1990 ซึ่งเศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มตกต่ำจริงๆ
หากมีปัจจัยอื่นๆ ที่เหมาะสม ก็ยังสามารถยืดระยะเวลา ก่อนที่เศรษฐกิจจะเริ่มโตช้าลง ออกไปได้อีกระยะหนึ่ง อย่างเช่นสหรัฐฯ เมื่อรายได้ GDP ต่อหัวของสหรัฐฯ แตะระดับสำคัญ 16,740 ดอลลาร์แล้วนั้น ซึ่งหากเป็นไปตามผลการศึกษาข้างต้นแล้ว เศรษฐกิจอเมริกาจะต้องเริ่มโตช้าลงหลังจากนั้น
แต่เนื่องจากในขณะนั้น อเมริกาเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของ โลกแล้ว จึงสามารถรักษาการเติบโตต่อไปได้อีก ตราบเท่าที่อำนาจ ในการเป็นเจ้าแห่งนวัตกรรมของอเมริกาได้เอื้อให้ ส่วนอังกฤษ มีการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจหลังจากที่ GDP ต่อหัวเพิ่มขึ้นถึงระดับ สำคัญดังกล่าว จึงช่วยยืดเวลาที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวออกไปได้ระยะหนึ่ง
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่สามารถจะช่วยยืดเวลา ก่อนที่ เศรษฐกิจจะเริ่มโตช้าลงได้ เช่น การเปิดกว้างทางการค้าในกรณีของฮ่องกงและสิงคโปร์ การเพิ่มการบริโภคให้สูงกว่า 60% ของ GDP การรักษาระดับเงินเฟ้อให้ต่ำและสม่ำเสมอ และการที่มีอัตราส่วนประชากรวัยแรงงานสูงกว่าประชากรวัยพึ่งพิง
ปัจจัยที่เป็นลบที่อาจยิ่งเร่งให้การชะลอตัวของเศรษฐกิจเกิดเร็วขึ้นก็มี ได้แก่ การมีค่าเงินที่ต่ำกว่าค่าที่แท้จริง เนื่องจากค่าเงินที่ต่ำ จะทำให้ประเทศนั้นละเลยการพัฒนาความสามารถด้านนวัตกรรม หรืออาจทำให้เกิดความไม่สมดุลเกิดขึ้นในทางเศรษฐกิจ จนไปขัดขวางการเติบโตได้
จีนใกล้ถึงจุดเศรษฐกิจชะลอตัว
การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อนแรงของจีน ทำให้จีนกำลังใกล้จะถึงจุดอันตราย ที่ GDP ต่อหัวจะถึงระดับ 16,740 ดอลลาร์ในปี 2015 นี้แล้ว เร็วกว่าบราซิลและอินเดีย เมื่อบวกกับปัจจัยเสี่ยงที่มีมากมายในเศรษฐกิจจีน ตั้งแต่ประชากรวัยชราเพิ่มขึ้น ระดับการบริโภคต่ำ และค่าเงินหยวนต่ำกว่าค่าที่แท้จริงค่อนข้างมาก
คณะผู้วิจัยทั้งสามจึงชี้ว่า โอกาสที่เศรษฐกิจจีนจะเริ่มชะลอตัวลงทันทีหลังจากนั้น มีมากกว่า 70%
การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของจีน อาจยังดำเนินต่อไปได้ หากการพัฒนาเกิดการย้ายที่ จากแถบชายฝั่งลึกเข้าไปในพื้นที่ด้านในของจีน ซึ่งยังคงมีแรงงานนับล้านๆ ที่ยังไม่ได้อพยพ เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม
ส่วนเมืองติดชายฝั่งของจีน ก็สามารถจะยืดเวลาแห่งการเติบโตทางเศรษฐกิจออกไปได้นานขึ้น ถ้าหากเริ่มหันไปพัฒนาความสามารถในการสร้างนวัตกรรม
IMF คาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของ GDP ที่แท้จริงของจีนนั้น จะอยู่เหนือระดับ 9% ไปจนถึงปี 2016
ดังนั้น หากเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวหลังจากนั้น ลงเหลือ 7-8% ตามการวิเคราะห์ข้างต้น ก็ดูเหมือนไม่น่ากลัวเท่าไหร่นัก
แต่ด้วยมิติทางประวัติศาสตร์แล้ว สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นควบคู่ ไปกับเศรษฐกิจชะลอตัว ก็คือการเกิดวิกฤติในด้านต่างๆ ยกตัวอย่างในเอเชียตะวันออกเมื่อปลายทศวรรษ 1990 การลงทุนในระดับที่มีนัยสำคัญ จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีอัตราการเติบโตที่ 7% แต่การลงทุนเช่นนั้นจะไม่เกิดขึ้น หากประเทศมีอัตราการเติบโตเพียงแค่ 5%
อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปเชิงโครงสร้างสามารถช่วยเป็นเบาะรองรับผลกระทบของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจได้ และจะเป็นการฉลาดสำหรับจีน ที่จะรีบดำเนินการปฏิรูปหลายๆ อย่างตั้งแต่เนิ่นๆ ในช่วงที่เศรษฐกิจยังดีอยู่
แทนที่จะรอให้ถึงวันที่เศรษฐกิจเริ่มโตช้าลง ซึ่งจะต้องมาถึงในท้ายที่สุดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง ดิ อีโคโนมิสต์
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|