|

5 ยักษ์ใหญ่ BRICS ลงหลักปักฐาน
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
ผู้นำของบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีนและแอฟริกาใต้ ซึ่งเรียกรวมว่ากลุ่มประเทศ BRICS อันเกิดจากการนำตัวอักษรตัวแรกในชื่อของทั้ง 5 ประเทศมารวมกัน จบการประชุมสุดยอดหนึ่งวันที่เกาะไหหลำของจีนเมื่อเดือนเมษายน ด้วยแถลงการณ์ร่วมที่เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ชนิดที่จะส่งผลกระทบอย่างกว้างไกลต่อระเบียบการเงินและการเมืองโลก
แถลงการณ์ของ 5 ยักษ์ใหญ่ BRICS ระบุว่า โครงสร้างการปกครองของสถาบันการเงินโลก ควรสะท้อนการเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลกให้มากกว่านี้ ด้วยการให้ประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา มีสิทธิ์มีเสียงและมีตัวแทนของในสถาบันระหว่างประเทศมากขึ้น
แถลงการณ์นี้ยังเรียกร้องให้ปฏิรูปองค์การสหประชาชาติอย่างรอบด้าน เพื่อให้องค์กรแห่งนี้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและสะท้อนการเป็นตัวแทนของโลกที่ดีกว่าเดิม
หนึ่งในบรรดาข้อตกลงที่ชัดเจนที่สุดที่ได้จากการประชุมนี้คือ ทั้ง 5 ประเทศตกลงจะให้ธนาคารเพื่อการพัฒนาในประเทศของตน เปิดวงเงินสินเชื่อระหว่างกันด้วยสกุลเงินท้องถิ่น นี่คือคำเตือนที่มีไปถึงเงินทุนต่างชาติจากประเทศพัฒนาแล้ว ที่เคยไหลเข้าท่วมและทำลายเสถียรภาพของชาติตลาดเกิดใหม่ ทั้ง 5 ชาติยังเรียกร้องให้โลกมีระบบสกุลเงินสำรองระหว่างประเทศ ที่มีเสถียรภาพและความแน่นอน
ประการหลังสุดมีนัยชัดเจนของการท้าทายคุณค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ในฐานะสกุลเงินสำรองชั้นนำของโลก แท้จริงแล้วแรงผลักดันเบื้องหลังการประชุม BRICS ครั้งนี้ คือการเรียกร้องการจัดระเบียบโลกใหม่ที่ใช้มาตั้งแต่หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นยุคที่สหรัฐฯ ครองโลก
ด้วยจำนวนประชากรที่รวมกันมากถึง 40% ของประชากร โลก และมีผลผลิตทางเศรษฐกิจรวมกันเกือบ 1 ใน 4 ของผลผลิต โลก บวกกับการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มนี้ จะมีสัดส่วนที่สูงในการเติบโตของเศรษฐกิจโลกตลอดหลายทศวรรษข้างหน้า
กลุ่มประเทศ BRICS จึง “ใหญ่” พอที่จะเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงข้างต้นได้
อย่างไรก็ตาม ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่แสดงออก บนเกาะไหหลำนั้นได้ปกปิดความแตกต่างที่ร้ายแรงไว้ แท้จริง แล้ว ประเทศ BRICS ก็พบว่า ไม่ง่ายเหมือนกันที่พวกเขาจะร่วมมือกัน แม้ในระยะสั้น ตัวอย่างเช่นบราซิล เริ่มไม่พอใจการไหลเข้ามาของเงินทุน และสินค้าราคาถูกจากจีน และหัน ไปเข้ากับสหรัฐฯ รวมทั้งชาติร่ำรวยอื่นๆ รุมตำหนิจีนอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับค่าเงินหยวนที่ต่ำกว่าความเป็นจริง
ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียก็กระทบกระทั่ง กันมายาวนานในหลายเรื่องทั้งการค้า ข้อพิพาทชายแดนและ แรงเสียดสีที่เกิดจากจีนสนับสนุนทั้งทางการเมืองและการทหารแก่ปากีสถาน ศัตรูหมายเลขหนึ่งของอินเดีย การค้าระหว่างจีนกับอินเดียยังมีเพียงน้อยนิด เมื่อเทียบกับความเป็น ยักษ์ใหญ่ของชาติทั้งสอง ซึ่งแต่ละชาติต่างมีประชากรสูงเกินพันล้านคน การค้าระหว่างทั้งสองชาติยังคงน้อยนิด โดยคาดว่าจะอยู่ที่เพียง 100,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้นภายในปี 2015 โดยจีนจะยังคงเป็นฝ่ายเกินดุลการค้าอินเดีย (ปัจจุบันอินเดีย ขาดดุลการค้าให้แก่จีนประมาณ 20,000 ล้านดอลลาร์)
ความเคลื่อนไหวที่สื่ออินเดียลงความเห็นว่าเป็นการตบหน้าจีน คือการที่นายกรัฐมนตรี Manmohan Singh ของอินเดีย ไม่ยอมไปเข้าร่วมประชุม Bo’ao Forum ซึ่งจีนจัดขึ้น ในวันรุ่งขึ้นหลังการประชุมสุดยอด และสถานที่ประชุมก็อยู่ใกล้กับสถานที่ประชุมสุดยอด BRICS
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ จีนและอินเดียได้ถือโอกาสฟื้นความสัมพันธ์ทางการทหารที่หยุดชะงัก ไปตั้งแต่ปีที่แล้ว เนื่องจากอินเดียโกรธที่จีนแสดงความลังเลในการรับรองอธิปไตยของอินเดียเหนือแคว้นแคชเมียร์
ส่วนในประเด็นสหประชาชาติ จีนดูจะไม่รีบร้อนเพิ่มบทบาทของตนบนเวทีนี้ อย่างน้อยก็ไม่ใช่ในระดับสมาชิกถาวร คณะมนตรีความมั่นคง จีนรวมทั้งรัสเซีย ดูเหมือนจะยังคงพึงพอใจกับอำนาจอิทธิพลที่มีอยู่ในกลุ่มประเทศพิเศษที่มีกันอยู่เพียง 5 ชาตินี้ และยังไม่อยากจะสูญเสียมันไป BRICS อาจกล่าวอ้างถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของกลุ่มตน
แต่ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ BRICS ก็ยังไม่ใช่การรวมกลุ่มที่ทุกประเทศเท่าเทียมกัน
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง ดิ อีโคโนมิสต์
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|