ณรงค์ โชคชัยณรงค์ พ่อค้าเพชรผู้เกือบตายกับ "รีเจนซี่"


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

ความเป็นมาและที่กำลังจะเป็นไปของ "รีเจนซี่" บรั่นดีไทย เป็นเรื่องราวของลูกวัวที่ไม่เคยรู้ว่าแม่เสือนั้นรูปร่างเป็นอย่างไร ดุร้ายน่าหวาดกลัวเพียงไหน จึงหาญกล้าเข้าไปคลุกเคล้าหยอกล้อราวกับว่าเป็นแม่ของตนต่อเมื่อผ่านพ้นและได้รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองได้เคลียคลอนั้นคือแม่เสือร้าย ก็อดถามตัวเองไม่ได้ว่า "แล้วมันรอดตายมาได้อย่างไรกัน"

ชื่อของณรงค์ โชคชัยณรงค์ ไม่เคยแผ้วพานปรากฏในสารบบของคนค้าเหล้ามาก่อนเขาไม่อาจจัดอยู่ในทำเนียบมือเซียนได้แม้แต่น้อย แต่ถ้าเอ่ยชื่อนี้ในวงการค้าเพชรพลอยแล้วละก็เป็นต้องร้องอ๋อ เขานี่แหละมือเซียนชั้นปรมาจารย์คนหนึ่งทีเดียว

เมื่อณรงค์เจียระไนความคิดที่อยากจะผลิตสุราชนิดหนึ่งโดยที่ไม่ขอเลียนแบบแม่โขงประมาณปี 2518 โดยจะผลิตเป็นสุราชั้นสูงให้กับเพื่อนฝูงและคนสนิทชิดเชื้อฟัง สิ่งที่เขาได้รับตอบกลับมาคือคำพูดว่า "อยู่ดี ๆ ไม่ชอบคิดจะฆ่าตัวตายอย่างนั้นหรือ"

เพราะนอกจากจะต้องออกแรงราวีอย่างหนักกับบรั่นดีนอกที่คุณภาพย่อมเหนือกว่าช่วงตัวแล้วก็เป็นที่รู้กันว่า การลงทุนผลิตบรั่นดีต้องใช้งบค่อนข้างสูง กอปรกับบ้านเราในขณะนั้นยังขาดแคลนองุ่นพันธุ์ดีที่จะนำมาทำบรั่นดีโดยตรง และนี่คือบทสรุปที่ทุกคนบอกว่าณรงค์กำลังจะเสียบดาบปักท้องตัวเอง

อย่าว่าแต่คนรู้จักเขาเลย แม้แต่เมื่อเขาเสนอแบบขวดที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไปยังกรมสรรพสามิต ก็ไม่วายที่จะถูกกระแซะแกมปลงอนิจจังว่า "สงสัยอยากจะเร่งวันตายเร็วขึ้น" ทั้งนี้เนื่องจากมาจากแบบขวดไม่เหมาะกับบรั่นดีนัก คือคนกินจะเกิดอาการหลอนตลอดเวลากินเท่าไร ๆ ก็ไม่หมด สงสัยจะเป็นบรั่นดีชั้นปลายแถว

แต่ณรงค์ไม่ใส่ใจกับคำพูดเหล่านั้น เขากล้าที่จะเป็นคนทำเหล้าคนแรกที่เข้าไปขอรับการส่งเสริมจาก บีโอไอ. ตอนนั้นแสงโสม หรือแม่โขงที่พร้อมจะผลิตได้ และเป็นคนรู้เรื่องเหล้าชนิดถึงกึ๋นยังไม่คิดที่จะแหยมเข้าไปท้าทายบรั่นดี

"เขาเป็นคนที่เชื่อมั่นในตัวเอง คิดว่าสามารถผลิตบรั่นดีคุณภาพไม่แพ้ของนอกได้ เมื่อใจสู้แล้วต่อให้คมหอกคมดาบจ่ออยู่ตรงหน้าก็ไม่กลัว เขาเลยตัดสินใจตั้งโรงงานเมื่อปี 18 และก็เป็นจุดเริ่มแรกที่คนไม่เคยกินเหล้าอย่างเขาต้องหันมากินเหล้า" ผู้ใกล้ชิดของเขากล่าวกับ "ผู้จัดการ" และบอกด้วยว่ารสนิยมละเลียดบรั่นดีของเขาชอบผสมโค้ก แต่เดี๋ยวนี้เล่นแบบเพียวๆ

เมื่อนำออกตลาดซึ่งขณะนั้นมีบรั่นดีจากนอกเข้ามาขายนับสิบยี่ห้อ ปรากฏว่า "รีเจนซี่" บรั่นดีไทยตัวนี้แทบจะไร้คนมอง ณรงค์เองเจอะเจอใคร ๆ ก็ได้แต่บ่นว่า "จะตายแล้ว ไม่ไหวแล้ว" ทว่าคนอย่างเขาเข้าประเภทยอมหักไม่ยอมงอเลยยิ้มสู้มาโดยตลอด

รีเจนซี่เริ่มมาเป็นที่รู้จักและมีคนดื่มพอเป็นกระสายบ้างก็ในราวปี 2525 ซึ่งเป็นปีที่ณรงค์ยอมตัดสินใจทุ่มสินค้าของตนโปรโมทตามงานต่างๆ แบบชนิดให้เปล่า โดยไม่คิดมูลค่าแต่อย่างใด เขาหวังแต่ว่า อยากให้คนได้รู้จักว่ายังมีบรั่นดีไทยอีกตัวหนึ่งนะที่คุณน่าลอง

แหล่งข่าวในวงการสุราเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า ในสมัยที่ พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยความพิสมัยในบรั่นดีและเป็นนักดื่มตัวยง ทำให้ณรงค์สามารถเข้าถึงตัวอดีตนายกฯคนนี้ได้อย่างไม่ยากเย็น และนั่นเขาก็เริ่มวางพื้นฐานให้แข็งแกร่ง เรียกว่าขอส่งเสริมอะไรจากภาครัฐบาลเป็นไม่เคยได้รับคำปฏิเสธ

ยอดขายของ "รีเจนซี่" ตั้งแต่ปี 2525 เป็นต้นมาอยู่ในระดับไม่เกินร้อยละ 4 ของบรั่นดีในตลาด ซึ่งเรียกว่าน้อยสิ้นดีจนถึงปี 2528 เริ่มพุ่งสูงขึ้น และมาในปี 2529 ที่วงการสุรากำลังประสบความระส่ำระสายอย่างหนัก รีเจนซี่ที่ราคาไม่สูงกว่าแม่โขงเริ่มเป็นที่ได้รับการยอมรับ จากการวางขายที่เคยเน้นหนักเฉพาะสโตร์ เริ่มกระจายเข้าไปตามร้านค้าต่าง ๆ มากขึ้น

ตัวเลขล่าสุดจากกรมสรรพสามิตบอกว่า รีเจนซี่ก้าวขึ้นมาผงาดอย่างวีระอาจหาญไม่น้อยหน้าใครอีกแล้ว ยอดขายสูงถึงร้อยละ 70 ของสุราในตลาด ณรงค์ที่เคยส่ายหน้าว่า "ไม่ไหว" วันนี้ถ้าใครได้พบจะเห็นก็แต่รอยยิ้มอันเปี่ยมสุข และดวงตาที่เปล่งประกายเจิดจรัสถึงความหวังอันเรืองรองต่อไปในอนาคต

และเพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จโอฬาร ปีนี้จึงเป็นปีแรกที่ "รีเจนซี่" โหมทุ่มงบโฆษณาผ่านมีเดีย ที.วี. อย่างหนักซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะก่อนนั้นจะเน้นหนักเฉพาะตามหน้านิตยสารไม่กี่ฉบับเท่านั้น

"ณรงค์ต้องการฉวยจังหวะนี้อัดชื่อรีเจนซี่ให้เป็นที่แพร่หลายทั่วทั้งประเทศ และเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ตลาดแผนใหม่ของเขาที่เริ่มลุยอย่างหนักโดยขณะนี้นำเอารีเจนซี่ไปลงตามร้านอาหารตามปั๊มน้ำมันต่างๆ ทั่วภาคเหนือ และจะขยายออกไปในภาคอีสานเร็ว ๆ นี้ เส้นกราฟการขายคาดว่าจะต้องสูงกว่าปีก่อนอีกเท่าตัว" แหล่งข่าวผู้หนึ่งเผยกับ "ผู้จัดการ"

นอกจากนี้ยังมีกระแสข่าวออกมาอีกว่า ณรงค์เตรียมโครงการที่จะขยายกำลังการผลิตครั้งใหญ่ โดยได้สั่งองุ่นพันธุ์ดีจากฝรั่งเศสมาส่งเสริมให้ชาวสวนปลูก พร้อมกับตั้งราคาประกันรับซื้อทั้งหมด ซึ่งองุ่นที่ส่งเสริมนี้ณรงค์ต้องการที่จะนำเอามาทำไวน์ชนิดพิเศษแบบฝรั่งเศส ซึ่งเป็นไวน์มาตรฐานที่ผลิตกันมาตั้งแต่สมัยพระเยซู (ว่าเข้านั่น) โดยใช้องุ่นล้วน ๆ ไม่ต้องมีสารผสมแต่อย่างใด

"ไวน์ตัวนี้แหละที่เป็นความหวังสุดยอดของเขา" คนในกรมสรรพสามิตกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

หยดต่อหยดที่ผ่านการเรียนรู้ ผ่านประสบการณ์อันเจ็บปวดลึก ๆ ปีแล้วปีเล่าเพื่อผลิตเหล้าอย่างดีออกมาให้คนดื่มคนค้าเพชรอย่างณรงค์ก็ได้แต่หวังไว้ว่า สักวันหนึ่งที่คุณได้ลองจิบสุราของเขาคุณอาจทนไม่ไหวที่จะขอจิบหยดต่อไป...และต่อไป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.