เอ็นจอยปากกันหนาหูว่าเก้าอี้ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการตลาดของการบินไทยที่
ร.ต.ท. ฉัตรชัย บุณยอนันต์ รักษาการอยู่ควบคู่กับตำแหน่งรองผู้อำนวยการใหญ่
ควรที่จะถึงเวลาผลัดเปลี่ยนเสียทีหรือยัง ซ้ำร้ายยังมีข่าวลืออีกว่า เรื่องราวต่าง
ๆ ในการบินไทยกลายเป็นเรื่องของขบวนการมาเฟียไปเสียแล้ว ลือเสียจน ปปป. เองก็ทนไม่ได้ที่จะต้องให้ความสนใจ
"ไม่ใช่เขาไม่มีการคัดเลือก คัดกันมาสองรอบแล้ว โดยเลือกทั้งจากคนภายนอกและภายใน
แต่ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ ต้องไม่ลืมว่าเก้าอี้ฝ่ายการตลาดนั้นไม่แตกต่างอะไรไปกับไม้เท้าชี้เป็นชี้ตายให้การบินไทย
ซึ่งพยายามที่จะพุ่งตัวเองให้เป็นสายการบินระดับโลก" แหล่งข่าวระดับสูงเผยกับ
"ผู้จัดการ" ถึงเรื่องดังกล่าวและตอกย้ำอีกว่า "ยังไงก็ต้องมีการเปลี่ยนแน่
ๆ"
เป็นที่ยอมรับกันว่าความสำเร็จของการบินไทยที่ได้รับเลือกให้เป็นสายการบินดีเด่นของนานาชาติ
ด้านหนึ่งเกิดขึ้นจากฝีมือการทำงานที่เต็มไปด้วยความช่ำชอง ลึกซึ้งถึงการตลาดอันแยบยลของสายการบินของ
ร.ต.ท. ฉัตรชัย บุณยอนันต์ ที่รั้งเก้าอี้ตัวนี้มาหลายปี
"ฉัตรชัยเป็นคนมีฝีมือเขาเป็นคนไทยคนเดียวที่อาจกล่าวได้ว่ารู้เรื่องการบินอย่างทุกขุมขน"
คนที่คลุกคลีในวงการพูดถึงฉัตรชัยให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
และถ้าดูถึงเส้นทางชีวิตของเขาก่อนมาปักหลักกับเจ้าจำปีก็คงเป็นคำกล่าวอ้างที่ไม่เกินความจริงแต่อย่างใด
ฉัตรชัยเป็นนักเรียนอังกฤษ หลังจบการศึกษาก็มาสมัครเข้าทำงานกับบริติช แอร์เวย์
โดยรับตำแหน่ง ผู้จัดการฝ่ายขายประจำเมืองไทย และระหว่างปฏิบัติงานอยู่นั้นทางสำนักงานในไทยได้ส่งเขากลับไปฝึกอบรมอย่างหนักหน่วงอีกครั้ง
โดยมุ่งหวังว่าเขานี่แหละจะเป็นคนไทยคนแรกที่เป็นผู้จัดการใหญ่!
ซึ่งพูดถึงการเรียนรู้ด้านการบินแล้วต้องซูฮกกันว่า มีแต่บริติช แอร์เวย์
กับยูไนเต็ด แอร์ไลน์ เท่านั้นที่ฝึกให้คนของเขาที่จะขึ้นเป็นผู้นำจำต้องรู้ในทุกๆ
เรื่อง ๆ และต้องรู้ดีเป็นพิเศษ
ในจำนวนคนที่เข้าอบรมฉัตรชัยเป็นหนึ่งที่ไม่มากนักที่สามารถผ่านด่านอันยากเย็นแสนเข็ญนั้นมาได้
"แต่ชีวิตของเขาผกผันหน่อยตรงที่ว่า จู่ ๆ Head Office ก็ไม่ย่อมเปลี่ยนนโยบายที่จะให้คนไทยขึ้นเป็นผู้จัดการใหญ่
ฉัตรชัยเลยอกหัก" ผู้ใกล้ชิดเขากล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ตะวันยามใกล้อัสดงนั้นทอแสงเรื่อไรงดงามยิ่งนัก ที่ก๊วนของพวกทำงานสายการบินซึ่งอยู่ที่ซอยพัฒนพงศ์
เย็นวันหนึ่งฉัตรชัยที่กำลังร้าวระบมก็ได้พบกับ นีลด์ รูล โฮมส์ มาร์เก็ตติ้ง
ไดเรคเตอร์ของเจ้าจำปีในขณะนั้น (1967) นีลด์กำลังมองหาคนที่จะเข้าไปทำด้านการตลาดเมื่อเจอกับมือฉมังอย่างฉัตรชัยเขาจึงไม่รีรอที่จะชักชวน
ด้วยฝีไม้ลายมือที่มีมากับตัว และลูกเล่นที่นีลด์ช่วยสร้างสรรค์เพิ่มเติม
ปรากฏว่าเส้นทางบินของฉัตรชัยในเจ้าจำปี แทบจะไม่เคยตกหลุมอากาศ เขาไต่เต้าจนมารับตำแหน่งควบคู่กันถึง
2 ตำแหน่งในปัจจุบัน
"คุณฉัตรชัยแกไม่หวงเก้าอี้ตัวที่ใคร ๆ ต้องการไว้หรอกผลงานและความดีที่สร้างชื่อให้มาตลอดนั้นตั้งแต่เข้ามาอยู่การบินไทย
คิดหรือว่าแกจะยอมให้เสียไปเพราะเรื่องนี้" คนใกล้ชิดกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
เป็นอันว่าเปลี่ยนน่ะเปลี่ยนแน่ แต่เมื่อฉัตรชัยจากไปใครเล่าจะเข้ามา
เสียงกล่าวกันก็ว่าจะมีการรักษาเก้าอี้ตัวนี้ไว้ระยะหนึ่งเพื่อสงวนสิทธิ์ให้กับคนของกลุ่มที่กุมอำนาจในการบินไทยปัจจุบันโตขึ้นมาให้ทันเสียก่อน
คนที่ได้รับการคาดหมายมากที่สุดก็คือ นเรศ หอวัฒนกุล ผู้อำนวยการภาคประจำประเทศไทยซึ่งมีอายุงานอาวุโสที่สุด
และนเรศผู้นี้ก็เคยมีข่าวว่าครั้งหนึ่งเขาเคยได้รับการเสนอชื่อในระดับบอร์ดให้พิจารณาเพื่อแทนฉัตรชัยมาเมื่อ
2-3 ปีก่อน แต่เรื่องถูกเก็บเอาไว้
ว่ากันว่านเรศเป็นผู้ที่มีความสามารถทั้งในดด้านการตลาดและต่างประเทศพอตัว
เคยรับตำแหน่ง ผจก. ฝ่ายขายประจำอังกฤษมาแล้ว แต่ถึงแม้นเรศจะเหมาะสมด้วยเหตุผลหลาย
ๆ อย่างแต่เขาเป็นคนที่มีจุดอ่อนที่ว่า ไม่ค่อยจะหวือหวารวดเร็วนัก ทำงานแบบไปเรื่อย
ๆ ซึ่งการบินไทยในยุคที่ต้องบินไปเผชิญหน้ากับนกเหล็กสายอื่น ๆ ทางบอร์ดเองเกรงว่าอาจเกิดปัญหาขึ้นได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตามนเรศยังเป็นหนึ่งที่ถูกระบุว่าเขานั้นขึ้นมาได้
คนในเจ้าจำปีอีกคนที่ได้รับกะเก็งว่าอาจพุ่งแรงแซงโค้งขึ้นมาก็คือ ประเสริฐ
ลิมปิวัฒนา ซึ่งเป็นคนที่ฉัตรชัยไปดึงมาจากบริติช แอร์เวย์ และประเสริฐก็เป็นคนไทยอีกคนหนึ่งที่ผ่านการฝึกอบรมมาเช่นเดียวกับฉัตรชัย
เรียกได้ว่าฝีไม้ลายมือนั้นก็เหยียบเมฆคนหนึ่ง
ประเสริฐเข้าสู่เจ้าจำปีครั้งแรกในตำแหน่ง ผจก. ฝ่ายขายของบริษัทนำเที่ยวของการบินไทยจากนั้นก็ไต่เต้าจนปัจจุบันไปเป็น
ผจก. ฝ่ายขายประเทศญี่ปุ่น สไตล์การทำงานของประเสริฐราวกับจะถอดพิมพ์ออกมาจากฉัตรชัยเลยทีเดียว
ทั้งคู่เป็นคนที่เข้าสังคมเก่ง และมนุษย์สัมพันธ์ค่อนข้างสูง
ประเสริฐเป็นรองนเรศเพียงแค่อายุงานที่น้อยกว่าเท่านั้น!
แต่ถ้ามองถึงการขยายตัวที่จะบินผงาดฟ้าของเจ้าจำปีในอนาคต ชื่อของประเสริฐจึงไม่อาจที่จะทำหล่นตกหายไปได้
...
ทว่าก็มีแรงผลักดันอีกปีกหนึ่งที่พยายามจะดึงคนนอกให้เข้ามารับตำแหน่ง
และคนที่ได้รับการทาบทามเอาไว้ก็คือ วีรชัย วรรณนิกุล ซึ่งเคยเป็นมือดีของการบินไทยมาก่อน
และเคยเป็นลูกพี่เก่าของ ธรรมนูญ หวั่งหลี คนใหญ่อีกคนหนึ่งของการบินไทยในปัจจุบัน
"วีรชัยนั้นถ้าเขาไม่ขัดแย้งกับสายอำนาจของการบินไทยในยุคนั้น ป่านนี้เขาคงไปไกลลิบแล้วเพราะคน
ๆ นี้เป็นคนที่มีฝีมือมาก สมัยนั้นแกเป็นคู่รัก-คู่แค้นของ พล.อ.อ. กมล เตชะตุงคะ
อดีต ผบ.ทอ. ที่เป็นประธานการบินไทย" แหล่งข่าวท่านหนึ่งเผยกับ "ผู้จัดการ"
วีรชัยปีกหักมาจากการบินไทย ก็โผเข้าสู่รังของแอร์สยาม ซึ่งเป็นคู่แข่งของการบินไทย
ทันทีที่มาอยู่แอร์สยามวีรชัยก็เปิดศึกอัดการบินไทยด้วยการเปิดเที่ยวบินสายฮ่องกงทันทีด้วยการตั้งราคาขายแค่
2,000 กว่าบาท ยุทธการหักปีกหรือแค้นที่ต้องชำระของวีรชัย ปรากฏว่าทำเอาการบินไทยเสียรังวัดไปไม่น้อย
สไตล์การทำงานของวีรชัยคนที่เคยร่วมงานกับเขาบอกว่า "แกยึดการรบแบบกองโจรเป็นหลัก
รอดักจังหวะซุ่มโจมตี และเมื่อตีก็ตีไม่ยั้ง สมัยนั้นสามารถสร้างแอร์สยามจากที่ไม่มีใครรู้จักให้เป็นที่โด่งดังได้"
ผลงานรับประกันคุณภาพอีกเรื่องหนึ่งของวีรชัยก็คือ การได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของแอร์ลังกา
ปลุกตลาดเอเชียของแอร์ลังกาให้ก้าวกระโดดได้อย่างฉับพลัน ทำเสียจนทางแอร์ลังกาหมดปัญญาที่จะจ่ายค่าคอมมิชชั่นให้
ปัจจุบันวีรชัยทำบริษัทที่ปรึกษาด้านการบินให้กับสายการบินต่าง ๆ หลายสาย
"แต่ผมว่าทางที่เสือจะคืนถิ่นของวีรชัยนั้นค่อนข้างจะลำบาก เพราะยังมีบางคนที่ไม่ชอบหน้าแกอยู่"
แหล่งข่าวท่านหนึ่งกล่าว
ก็คงต้องติดตามดูกันต่อไปว่าจุดยุติของศึกนี้จะไปจบลงกับคนชื่อไหน
ที่กระอักกระอ่วนใจเอามาก ๆ เห็นจะเป็นบอร์ดของการบินไทยนั่นแหละ เพราะงานนี้ต้องเลือกเอาว่า
เพื่ออนาคตของการบินไทยที่จะทะยานสู่การเป็น "จ้าวเวหา" หากต้องเลือกสรรกันแบบระบบสากล
ก็จำเป็นเหลือเกินที่จะต้องหักหน้าใครบางคน