การแสวงหาความก้าวหน้าและความสำเร็จในการทำงาน

โดย อำนวย วีรวรรณ
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2528)



กลับสู่หน้าหลัก

ในระยะเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมานี้ บัณฑิตสาขาบริหารธุรกิจหรือรัฐกิจทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ที่ผลิตได้ในประเทศและที่จบจากต่างประเทศ ส่วนมากได้รับความสำเร็จในการทำงานทั้งงานในภาครัฐบาลและภาคเอกชน กล่าวคือ บัณฑิตสาขานี้มักเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน สามารถก้าวขึ้นไปสู่การเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กรที่ตนเข้าไปทำงาน มีรายได้และผลตอบแทนที่ค่อนข้างดี รวมทั้งยังเป็นที่ยอมรับหรือได้รับการยกย่องจากสังคมด้วย
การที่ตลาดแรงงานต้องการบัณฑิตทางการบริหารเพิ่มขึ้น ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงทิศทางของสภาพเศรษฐกิจและสังคม ที่กำลังมีความเปลี่ยนแปลง และแสดงให้เห็นว่าหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ เริ่มมีความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารการจัดการเพื่อให้งานประสบความสำเร็จมากขึ้น

แม้ว่าสภาพความเป็นจริงในขณะนี้ การประกอบธุรกิจส่วนใหญ่ในประเทศยังได้ชื่อว่าเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ทั้งยังเป็นธุรกิจภายในครอบครัวเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ผมมั่นใจว่าเมื่อกาลเวลาผ่านไป การขยายตัวของธุรกิจการค้าที่พัฒนาขึ้น สภาพของสังคม เศรษฐกิจ และวิทยาการของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จะส่งผลให้ตลาดแรงงานมีความต้องการนักบริหารทั้งระดับกลางและระดับสูงที่มีความรอบรู้ มีความสามารถในการตัดสินใจ และมีเชาวน์ไวไหวพริบในการทำงานเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ

ในระดับรัฐกิจก็ย่อมต้องการผู้บริหารที่มีคุณวุฒิและคุณสมบัติดุจเดียวกัน เพราะการบริหารงานไม่ว่าจะเป็นในภาครัฐบาลหรือภาคเอกชนก็ตาม จุดหมายปลายทางที่เป็นยอดปรารถนาและทุกคนล้วนแสวงหาก็คือ ความสำเร็จที่เป็นเลิศนั่นเอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามเศรษฐกิจฝืดเคืองกิจการธุรกิจหลายรายต้องประสบความล้มเหลวถึงขั้นเลิกกิจการ คุณค่าของนักบริหารหรือผู้จัดการที่ดีจึงเป็นที่ประจักษ์ชัด และอยู่ในความต้องการของสังคมธุรกิจมากขึ้น

เวลานี้ความตื่นกลัวในเรื่องการบริหารงานให้ประสบความสำเร็จจึงเป็นทั้ง "ศาสตร์" และ "ศิลป์" ที่ผู้คนเป็นอันมากเพียรพยายามเสาะแสวงหา และข้อสำคัญการทำงานใดๆ ได้ประสบความสำเร็จนั้น การบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพโดยอาศัยความรอบรู้ในวิชาชีพและในการปกครอง ตลอดจนคุณสมบัติและทัศนคติพิเศษที่จำเป็นอื่นๆ อีกมาก มิได้จำกัดวงอยู่เฉพาะวิชาชีพธุรกิจเท่านั้น หากยังสามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกสาขาวิชาชีพ

ทั้งนี้เพราะเหตุว่า จุดมุ่งหมายอันสำคัญของการศึกษาวิชาความรู้ใดๆ ก็ดี มิใช่อยู่ที่เนื้อหาสาระของวิชาความรู้ที่ได้เล่าเรียนมาเท่านั้น หากอยู่ที่ว่า บุคคลผู้นั้นจะต้องสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ปฏิบัติให้บังเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสนองความต้องการของระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ตนร่วมเป็นสมาชิกอยู่

แต่มิใช่ว่าทุกคนที่มีความรู้ด้านการบริหาร หรือการจัดการจะสามารถก้าวไปสู่จุดหมายปลายทาง ของความสำเร็จในชีวิตการทำงานเสมอไปทุกคนไม่ เพราะหากเป็นเช่นนั้นจริง ป่านนี้คงมีผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตงานมากมาย เพราะมีการเรียนการสอนไปแทบทุกมหาวิทยาลัย และวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชน

แต่ที่มิได้เป็นเช่นนั้น ก็ด้วยเหตุผลที่ว่าโอกาสของการทำงานให้ประสบความสำเร็จนั้นมิใช่สิ่งที่บังเกิดขึ้นได้ง่ายๆ โดยเฉพาะสำหรับลู่ทางการหางานทำของบัณฑิตรุ่นใหม่ๆ ย่อมเป็นที่ประจักษ์ดีว่า สภาพตลาดแรงงานในบ้านเราเป็นเช่นไร ปัญหาการว่างงานของผู้สำเร็จการศึกษาออกมาสู่ตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นทุกปี

การศึกษาที่เคยถือกันว่าเป็นขบวนการที่มีส่วนสำคัญในการผลิตคนเพื่อป้อนตลาดแรงงานในระดับต่างๆ สนองความต้องการทางเศรษฐกิจและสังคมที่กำลังพัฒนานั้น บัดนี้เกือบจะไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว ในปัจจุบันนี้คนที่จบการศึกษาออกมาแล้ว ต้องเดินหางานทำอยู่ 3-6 เดือนบางทีถึง 12 เดือนนั้น เป็นเรื่องปกติวิสัยไปเสียแล้ว

ถึงแม้ว่าในช่วงระยะเวลากว่า 20 ปีของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ การศึกษาเพื่อเตรียมคนเข้าทำงาน ตามความต้องการของสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เริ่มต้นพัฒนาอย่างจริงจังทำให้รัฐบาลต้องขยายการศึกษาออกไปทุกระดับ โดยเฉพาะอุดมศึกษานั้นนับว่ามีบทบาทสำคัญเป็นความหวังของคนหนุ่มสาว ที่จะได้มีโอกาสเล่าเรียนต่อไปในระดับมหาวิทยาลัย เพื่อจะให้ได้ปริญญาบัตรอันเปรียบเสมือนใบเบิกทางไปสู่งานและฐานะทางสังคมที่ดีขึ้น

การศึกษาจึงกลายเป็น "ความหวัง" เป็น "เครื่องมือ" เป็น "ขั้นบันได" ของการเลื่อนฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม และยังกลายเป็น "ตลาดของโอกาส" ที่คนหนุ่มสาวในสังคมพยายามยื้อแย่งช่วงชิงให้ได้เข้าไปสู่ระบบการศึกษา เพื่อหวังผลว่า เมื่อสำเร็จออกมาแล้วจะได้มีงานทำ อันเป็นผลให้ต้องมีการขยายมหาวิทยาลัยของรัฐเพิ่มขึ้น ในขณะที่มหาวิทยาลัยและวิทยาลัยของเอกชนก็มีการขยายตัวกันอย่างกว้างขวาง เพื่อสนองความต้องการของผู้ที่ปรารถนาเข้าศึกษาต่อให้ได้อย่างเต็มที่ ปัจจุบันก็ยังมีแนวโน้มว่า รัฐบาลจัดตั้งมหาวิทยาลัยใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง เพื่อต้อนคนหนุ่มสาวให้เข้าสู่ระบบการศึกษาไปพลางๆ ก่อนที่จะออกมาพบกับโลกของความเป็นจริงว่า การศึกษานั้นไม่ได้ช่วยให้หางานทำได้คล่องๆ เช่นสมัยก่อนอีกต่อไป

ควรจะยอมรับกันแล้วว่า การศึกษาที่มุ่งให้คนเรียนเพื่อรู้เป็นสำคัญนั้น ไม่เพียงพอเสียแล้วสำหรับสภาพของตลาดแรงงานที่มีการแข่งขันสูงมากเช่นทุกวันนี้ ผู้แสวงหาความสำเร็จแห่งชีวิตจำเป็นต้องมีบันไดขั้นอื่นเป็นองค์ประกอบด้วย

การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติในระยะต่อไปนี้ ต้องการคนที่มีคุณภาพมากกว่าสมัยก่อน คนที่จะเข้ามาสู่ตลาดแรงงานจึงมิใช่สักแต่ว่า มีความรู้เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องเป็นคนที่มีคุณภาพตามที่ตลาดแรงงานต้องการ สิ่งสำคัญของการทำงานอยู่ที่คนผู้นั้นต้องคิดเป็นมีเหตุผลอย่างเป็นระบบ สามารถเรียนรู้งานได้อย่างรวดเร็ว มองเห็นลู่ทางและโอกาสในการทำงานให้ก้าวหน้า จนสามารถประสบความสำเร็จได้ในที่สุด

หากจะถามต่อไปว่า คุณภาพของคนที่ตลาดแรงงานต้องการนั้นเป็นฉันใด โดยสภาพของเศรษฐกิจและสังคมที่มีการแข่งขันสูงเช่นทุกวันนี้และจะทวีมากขึ้นในอนาคต จำเป็นอย่างยิ่งที่นักศึกษาทั้งหลายจะต้องปรับตัวปรับใจให้สอดคล้องกับทัศนคติใหม่ๆ และข้อสำคัญเมื่อเราเข้ามาสู่ยุคที่ถือเอาการแข่งขันเป็นลมหายใจของธุรกิจก็จำเป็นอยู่เองที่เราจะต้องสวมวิญญาณของนักสู้ให้เต็มที่ แม้ว่าทุกคนมีสิทธิเข้าร่วมการแข่งขันเพื่อแสวงหาเส้นทางไปสู่ความสำเร็จอย่างเสมอหน้ากัน แต่ก็มิใช้ผู้เข้าแข่งขันทุกคนสามารถได้ถึงจุดหมายปลายทางของความสำเร็จเสมอเหมือนกันทุกคนไม่

การที่คนสมัยใหม่มีทัศนะที่เปลี่ยนไปทุกคนพยายามจะเพิ่มประสิทธิภาพตนเองด้วยการเข้าสู่ระบบการศึกษาที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ต้องการทำงานในภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ ในขณะที่การสร้างงานในด้านนี้ยังมีไม่มากเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาครัฐบาล ซึ่งเคยเป็นแหล่งรองรับงานใหม่ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศนั้น บัดนี้ได้ถึงจุดอิ่มตัวแล้ว

หันมาภาคเอกชนดูบ้าง พอจะฝากความหวังไว้ได้มากน้อยเพียงไร ถึงแม้ว่าการพัฒนาเศรษฐกิจได้ส่งผลให้มีการขยายตัวทางการค้าและอุตสาหกรรมเป็นอันมาก และภาคเอกชนก็ได้รับกำลังแรงงานรุ่นใหม่ๆ เข้าไปทำงานมากขึ้นแต่เมื่อล่วงมาถึงบัดนี้สภาพการณ์ก็ดูจะไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ เมื่อตลาดแรงงานมีอุปทานมากกว่าอุปสงค์ ภาคเอกชนก็ย่อมมีโอกาสคัดเลือกคนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการจ้างเข้าไปทำงานจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่นักศึกษาทั้งหลายผู้ปราศจากเส้นสาย และไม่มีพื้นฐานทางครอบครัวที่เป็นเจ้าของกิจการ จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการลงสนามแข่งขัน

องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ปีหนึ่งๆ รับแรงงานผู้มีการศึกษาเป็นจำนวนมาก หลักเกณฑ์ในการเลือกซึ่งนอกเหนือจากคุณวุฒิทางการศึกษาที่ผู้สมัครมีเหมือนๆ กัน คือ :-

การเป็นผู้มีบุคลิกภาพดี

ความรู้เหมาะสมกับตำแหน่งงาน

มีเชาวน์ไวไหวพริบ ปฏิภาณและวิจารณญาณดี

มีความสามารถในการเป็นผู้นำ ซึ่งแสดงออกจากกิจกรรมพิเศษที่นอกเหนือจากการศึกษา

มีทัศนคติและมนุษยสัมพันธ์อันดี และมีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง

ไม่เฉพาะว่าเป็นบริษัทขนาดใหญ่ แม้บริษัทขนาดเล็ก ก็ต้องการคนทำงานที่มีคุณภาพเช่นนี้เหมือนกัน

เมื่อเขาปรารถนาจะให้ท่านมีคุณสมบัติเช่นนี้ แล้วท่านเกิดไม่มีหรือมีไม่ครบ มิเป็นอันหมดโอกาสที่จะได้งานทำหรืออย่างไร แต่ไม่มีอะไรที่น่าท้อใจสำหรับบุคคลผู้มีความหวัง ตั้งใจ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.