ส่งพัสดุทางอากาศกิจการ 135,000 ล้านบาท ของอเมริกา ที่เอกชนเป็นผู้ริเริ่ม


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2528)



กลับสู่หน้าหลัก

คนอเมริกันนั้นได้ชื่ออยู่แล้วว่านิยมความรวดเร็วที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะดูได้จากประดิษฐกรรมล่าสุดที่มีออกมาใช้ในสังคมอเมริกันเช่นเตาอบไมโครเวฟหรือเครื่องบันทึกภาพวิดีโอชนิดคาสเซ็ตต์ เป็นต้น ดังนั้นช่วงปีใหม่และและคริสต์มาสซึ่งย่อมจะต้องมีการส่งของขวัญกันมากกว่าปกติธรรมดาหน่อย การส่งของขวัญของชาวอเมริกันจึงต้องส่งถึงมือผู้รับให้ได้อย่างรวดเร็วทันอกทันใจ จึงจะมีผู้นิยมใช้บริการ นั่นคือบริการส่งของขวัญทางอากาศ ซึ่งมีใช้แพร่หลายอยู่ในอเมริกาทุกวันนี้ เป็นบริการที่มีประสิทธิภาพ และเข้าถึงชีวิตจิตใจผู้คนเสียจนขนาดที่ว่าหากขาดเสียแล้วคนอเมริกันจะต้องรู้สึกว่าชีวิตนี้เกิดความขัดข้องขึ้นทันที

ธุรกิจการส่งของขวัญหรือพัสดุต่างๆ ของสหรัฐฯ โดยทางอากาศนั้นอย่างช้าที่สุดจะต้องใช้เวลาเพียงข้ามคืนจะต้องถึงมือผู้รับได้ในทุกๆ แห่งทั่วประเทศ ช้ากว่านี้ไม่ได้เพราะจะไม่มีใครใช้บริการ จัดเป็นธุรกิจที่ใหญ่อย่างหนึ่งของประเทศ คิดเป็นวงเงินที่หมุนเวียนอยู่ได้ถึงปีละห้าพันล้านดอลลาร์ทีเดียว อย่างเช่นกิจการชนิดนี้ที่ชื่ออีเมอรี่แอร์ เฟรทท์ (EMERY AIR FREIGHT) ที่นอกจากจะรับส่งพัสดุทางอากาศทั่วๆ ไปทั่วประเทศแล้วยังรับจ้างส่งตุ๊กตาแคบเบจ แพทช์ คิดส์ ซึ่งตอนนี้กำลังเป็นที่นิยมของเด็กๆ ทั่วโลกจากโรงงานที่ผลิตไปยังผู้ส่ง จัดส่งเสื้อผ้าที่สั่งตัดชนิดราคาแพงของสำนักออกแบบลูมมิงเดลให้แก่ผู้สั่งหรือส่งเครื่องคอมพิวเตอร์ประจำบ้านตามใบสั่งของไอบีเอ็ม เป็นต้น (FEDERAL EXPRESS)

ยิ่งช่วงคริสต์มาสที่ผ่านมา บริการรับส่งพัสดุทางอากาศอีกแห่งหนึ่งคือ เฟเดอรัล เอ็กซ์เพรส (FEDERAL EXPRESS) ถือว่าเป็นช่วงเวลาโกยเงินโกยทองทีเดียวในเมืองแถลงว่าวันๆ หนึ่งส่งพัสดุเป็นห่อได้ถึง 500,000 กล่อง และในช่วงเดือนธันวาคมปีกลายเดือนเดียวบริษัทแห่งนี้รับส่งพัสดุต่างๆ ได้ถึง 7.9 ล้านชิ้น ซึ่งเป็นอัตราที่สูงขึ้นกว่าปีกลายถึงครึ่งต่อครึ่ง

เมื่อเกิดมี "ซูเปอร์ เมล" (SUPER MAIL) หรือกิจการขนส่งพัสดุทางอากาศที่รวดเร็วและใหญ่โตเช่นนี้ ธุรกิจแบบเดียวกันขนาดเล็กๆ ดั้งเดิมจะกระทบกระเทือนเป็นธรรมดาเช่นที่ชื่อปีน เมล์ ซึ่งรับส่งพัสดุเช่นนี้มานานแล้วแต่จะต้องใช้เวลาถึงเก้าวันกว่าจะถึงที่หมาย และแม้จะเร่งบริการขึ้นให้เป็นภายในสี่วันแล้วบวกค่าบริการเร่งด่วนเช่นนี้ขึ้นไปอีกชิ้นละ 7.50 ดอลล่าร์ แต่เจ้าของกิจการดังกล่าวยังต้องยอมรับว่า "ไปเสี่ยงให้ลูกค้ารอนานๆ ในช่วงปีใหม่อย่างนี้ไม่ดีแน่นอน" ทั้งนี้เพราะครั้งหนึ่งที่ลูกค้ารับรู้ว่าพัสดุส่งมาถึงมือเร็วเท่าไร ครั้งต่อไปจะไม่มีการรอรับที่ช้ากว่าครั้งก่อนเป็นอันขาด

กิจการขนส่งพัสดุอื่นๆ ย่อมจะต้องปรับปรุงบริการขึ้นเพื่อแข่งขันกับยักษ์ใหญ่ด้านนี้ที่บริการได้เร็วกว่าอย่างเช่น วิลเลียม-โซโนมา (WILLIAMS-SONAMA) บริษัทผลิตกระทะและหม้อ ถึงกับโยกย้ายศูนย์จ่ายพัสดุของตนไปอยู่ที่เมืองเม็มฟิสเพื่อจะได้สามารถส่งพัสดุทางอากาศไปที่ต่างๆ ได้รวดเร็วขึ้นบ้าง

ผู้ที่ใช้บริการส่งพัสดุทางอากาศนี้ไม่ได้มีแต่นักธุรกิจกหรือประชาชนธรรมดาที่ใจร้อนอยากจะส่งของขวัญให้ทันใจเท่านั้น แม้แต่ภัตตาคารที่มีอาหารอร่อยๆ และมีชื่อเสียงก็นิยมจะส่งอาหารจากร้านไปให้ผู้สั่งที่อยู่อีกฟากหนึ่งของประเทศให้ได้อย่างรวดเร็วทันใจ ชนิดที่เรียกว่ายังอุ่นๆ อยู่ก็ว่าได้ เมื่อมีบริการเช่นนี้ย่อมจะสร้างความพอใจให้ลูกค้าได้อย่างถ้วนหน้าใครจะไม่ชอบ

เฟเดอรัล เอ็กซ์เพรส ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นบริการเมล์ด่วนที่มีชื่อเสียงและใหญ่โตที่สุดในทุกวันนี้ ยอมรับว่ากิจการเมล์ด่วนมีส่วนทำให้ชีวิตผู้คนสดใสขึ้นด้วย เพียงข้ามคืนเท่านั้นก็จะได้รับของที่ส่งไปให้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นซี่โครงวัวอบจากฟากตะวันตกของประเทศไปยังญาติโยมที่อยู่อีกฟากหนึ่งหรือดอกไม้สดๆ สักช่อหนึ่งก็จะสร้างความชื่นใจให้แก่ผู้รับมากมายหาค่าไม่ได้ด้วยการเสียค่าส่งเพียง 35 ดอลลาร์

แม่บ้านของครอบครัวใหญ่ๆ ที่มีพี่น้องกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศนิยมชมชื่นกิจการเมล์ด่วนนักหนา

คนหนึ่งยอมรับว่าปีกลายใช้บริการเมล์ด่วนของเฟเดอรัล เอ็กซ์เพรส 20 ครั้ง ของที่ส่งไปมีทั้งส่งไปให้สามีของเธอเองที่รอนแรมอยู่ในต่างรัฐเพื่อทำหน้าที่การงาน ส่งการบ้านตามไปให้ลูกๆ ที่หยุดพักร้อนไปเที่ยวแคมปิ้ง และชิ้นส่วนของเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลไปให้ญาติอีกคนหนึ่งที่เกิดความขัดข้องเรื่องนี้แล้วแก้ปัญหาด้วยตนเองไม่ได้ "สามีดิฉันหาว่าดิฉันเสียสติคลั่งเมล์ด่วนทางอากาศ แต่แล้วเขาก็ต้องยอมรับว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในที่สุด แถมยังมีทางให้เลือกอยู่ทางเดียวเท่านั้นคือจะเอาหรือไม่เอา"

ลูกค้ารายใหญ่ของอีเมอรี คือเจเนรัล มอเตอร์สและไอบีเอ็ม จ่ายค่าบริการส่งพัสดุทางอากาศปีละมากๆ แต่ก็คุ้มเพราะทำให้ได้ชื่อว่าเป็นบริการที่คุ้มค่าและประหยัดเวลา ลูกค้าและผู้ขายพอใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย

บริการส่งพัสดุทางอากาศแค่ข้ามคืนเดียวของเฟเดอรัล เอ็กซ์เพรสมีชื่อเสียงมากเพราะกล้าลงทุนทำขึ้นมาก่อนเป็นรายแรก

ส่วนของคู่แข่งเช่นอีเมอรี่หรือแอร์บอนนั้นแต่ก่อนช้ากว่าเพราะใช้ส่งโดยเครื่องบินโดยสารในประเทศ แต่นายเฟเดอริค สมิธ (FEDERICSMITH) เจ้าของกิจการเฟเดลรัล เอ็กซ์เพรส ฝันเฟื่องการปรับปรุงกิจการของตนมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องมีฝูงบินสำหรับส่งพัสดุไปรษณีย์ทางอากาศเฉพาะของตัวให้จงได้

สมิธคิดเช่นนี้มาตั้งแต่ยังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยเยลแล้ว ซ้ำยังเสนอความคิดดังกล่าวลงไปในรายงานวิชาเศรษฐศาสตร์ส่งเอาคะแนนกับอาจารย์ที่ให้มาเพียงเกรด ซี เท่านั้น

เมื่อจบการศึกษาจากเยลแล้วสมิธไปรบในเวียดนามเสียสองปี ทำหน้าที่เป็นพนักงานบินครั้นกลับมาจึงทุ่มเอาเงินมรดกประมาณ 10 ล้านดอลลาร์มาทำสิ่งที่ตนใฝ่ฝันไว้แต่แรกโดยก่อตั้งเฟเดอรัล เอ็กซ์เพรสขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1971 ซึ่งปรากฏว่าในปีแรกๆ กิจการทำท่าว่าจะไม่รอดเพราะไม่มีใครใช้บริการมากนักและค่าโสหุ้ยสูง บางครั้งแม้แต่น้ำมันจะเติมเครื่องบินยังต้องจำนำนาฬิกาของพนักงานบินมาทดลองจ่ายไปก่อน ขาดทุนยับเยิน แต่อาศัยใจสู้และยืนหยัดจึงรอดมาได้ในที่สุด

มาเดี๋ยวนี้รายได้ของเฟเดอรัลเพิ่มขึ้นในระยะห้าปีที่ผ่านมา 41% ปีกลายนี้มีรายได้ทั้งปี 1.4 พันล้าน มีกำไร 115 ล้านดอลลาร์ ราคาหุ้นของเฟเดรัลที่เมื่อปี ค.ศ. 1978 มีราคาหุ้นละ 24 ดอลลาร์ มาปัจจุบันนี้พุ่งขึ้นไปเป็น 273 ดอลลาร์แล้ว

ระบบการทำงานของเฟเดอรัลก็มีส่วนสร้างความสำเร็จของกิจการด้วยเพราะสามารถแยกแยะพัสดุแต่ละชิ้นให้ไปตามจุดหมายปลายทางได้โดยไม่สับสน และยังเลือกสถานีที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางไว้อย่างถูกต้องทำให้เครื่องบินสามารถเดินทางออกไปส่งพัสดุได้สะดวกประหยัดระยะทางและค่าใช้จ่ายได้มากที่สุด

อย่างน้อยที่สุดท่าอากาศยานเมมฟิสที่สมิธเลือกเป็นสถานีกลางก็มีเมฆหมอกมาปิดทัศนวิสัยการบินเพียงปีละสิบวันโดยเฉลี่ยเท่านั้น

งานของเฟเดอรัล เอ็กซ์เพรสจะเริ่มขึ้นเมื่อห้าทุ่มของทุกวันเมื่อเครื่องบิน 60 ลำของบริษัทเดินทางมาถึงสถานีศูนย์กลางแห่งนี้พร้อมด้วยพัสดุที่รับมา เพื่อแยกแยะส่งไปตามผู้รับ ซึ่งพัสดุเหล่านี้จะต้องขึ้นเครื่องบินเพื่อนำไปส่งจุดหมายปลายทางอีกครั้งหนึ่ง โดยจะออกเดินทางเมื่อตีสองครึ่ง และตีสี่ของเช้าวันต่อมาอีกครั้งหนึ่ง และที่ศูนย์กลางแห่งนี้จะมีห้องเก็บพัสดุ เพื่อแยกแยะเป็นเนื้อที่ 761,000 ตารางฟุต มีการใช้สายพานลำเลียงส่งพัสดุอย่างครบครัน ทั้งหมดนี้จะทำให้พัสดุทุกชิ้นถึงมือผู้รับอย่างถูกต้องและตามกำหนดเวลาในอัตรา 99%

การดำเนินกิจการและธุรกิจของเฟเดอรัลเอ็กซ์เพรสทันสมัยและมีประสิทธิภาพที่สุดแบบเดียวกับกิจการอื่นๆ ที่มีชื่อเสียงเช่นไอบีเอ็มหรือแอปเปิลคอมพิวเตอร์ พนักงานคนไหนทำงานดีจะมีรางวัลตอบแทน ให้กำลังใจกันอยู่สม่ำเสมอ การจะไต่เต้าจากหน้าที่รับผิดชอบต่ำไปสู่ที่สูงกว่า มีรายได้ตอบแทนมากกว่าเป็นไปอย่างตามขั้นตอนที่ทำให้พนักงานทุกคนและทุกระดับจะต้องมีความกระตือรือร้นอยู่ตลอดเวลา มิฉะนั้นจะกลายเป็นบันไดให้คนอื่นๆ ที่ต่ำกว่าไต่ข้ามไปได้

คู่แข่งขันของเฟเดอรัล เอ็กซ์เพรส ก็มีอยู่และมีการดำเนินกิจการของตนแตกต่างกันไปเช่นกิจการขนส่งพัสดุโดยใช้รถยนต์ของบริษัทแคนนอนรัน (CANNON RUN) ซึ่งการแข่งขันมีผลให้เฟเดอรัลจำต้องลดราคาค่ารับส่งพัสดุของตนลงมาบ้างเพื่อให้ "สู้" กันได้

นอกจากนี้กิจการอื่นๆ ที่ใช้เครื่องบินแบบเดียวกันก็ลอกเลียนเอาวิธีการของเฟเดอรัลไปใช้และคู่แข่งรายสำคัญก็หนีการไปรษณีย์ของประเทศไปไม่พ้น

การไปรษณีย์แห่งสหรัฐฯ ที่เรียกกันในตัวย่อว่า ยูพีเอส (UPS) หั่นราคาบริการเมล์ด่วนสู้กับกิจการของเอกชนด้วยและประสบความสำเร็จพอสมควรเพราะถึงอย่างไรก็เป็นกิจการที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอยู่แล้ว

สำหรับการขนส่งไปรษณียภัณฑ์ภาคพื้นดิน การไปรษณีย์สำหรัฐฯ มีรถตู้สีช็อกโกแล็ตจำนวนถึง 62,000 คัน ไว้คอยบริการทั่วประเทศ และเมื่อปีกลายรับส่งพัสดุด่วนถึง 41 ล้านชิ้น มีรายได้6 พันล้านดอลลาร์ ทั้งๆ ที่เมื่อเริ่มต้นเมื่อปี ค.ศ. 1907 นั้นมีพนักงานส่งจดหมายและส่งของเพียงหกคนและจักรยานเป็นพาหนะอีกสองคัน

การแข่งขันระหว่างเฟเดอรัลเอ็กซ์เพรส ซึ่งเป็นของเอกชนกับของการไปรษณีย์สหรัฐฯ ก็ดำเนินไปอย่างเข้มข้น อัตราค่าส่งของไปรษณีย์สหรัฐฯ ต่ำกว่า และยังพยายามจะเร่งกำหนดส่งเมล์ด่วนชนิดข้ามคืนให้กระชั้นขึ้นมา จากถึงจุดหมายปลายทางภายในบ่ายสามโมงของวันรุ่งขึ้น มาเป็นตอนเที่ยงแล้วแต่ก็ยังสู้เฟเดลรัลไม่ได้ เพราะส่งถึงมือผู้รับภายใน 10.30 น. ของวันรุ่งขึ้น

จุดเป้าหมายลูกค้าของเฟเดอรัลอยู่ตรงที่ไม่ได้เน้นลูกค้าที่เป็นกิจการธุรกิจ แต่หันไปเน้นลูกค้าที่เป็นผู้บริหาร หรือเลขานุการที่ไม่ค่อยจะประสีประสาเรื่องการติดต่อทางไปรษณีย์หรือส่งพัสดุต่างๆ ทางไกลมากกว่า

การแข่งขันด้านธุรกิจส่งพัสดุด่วนเช่นนี้เพิ่มรสชาติขึ้นอีกระดับหนึ่งในเมื่อกิจการเล็กใหญ่ในสหรัฐฯ หันมาแข่งขันกันตามช่องทางที่ตนเห็นว่าพอจะสู้กับเขาได้ เช่นบางแห่งไม่ต้องรอข้ามคืนก็ส่งให้ถึงมือผู้รับแล้ว แต่ย่อมจะเรียกร้องค่าบริการแพงกว่าปกติซึ่งอาจจะถึงครั้งละ 150 ดอลลาร์ หรือแม้แต่บางรัฐที่มีประชากรอยู่อาศัยกันอย่างกระจัดกระจาย และห่างไกลกันเช่นในรัฐดาโกตาใต้ (S. DAKOTA) หรือไอดาโฮ (IDAHO) ก็มีบริการให้และเร็วทันใจเช่นกับในรัฐอื่นๆ

นอกจากนี้บางกิจการยังตั้งสำนักงานไว้ 600 แห่งทั่วโลกใน 146 ประเทศ บางแห่งเน้นการขนส่งสินค้าใหญ่ๆ หนักๆ ทางอากาศเช่นเปียโนหรือเรือดำน้ำเล็กๆ ก็กลายเป็นพัสดุไปรษณีย์ไปแล้วในทุกวันนี้

บริการใหม่ล่าสุดทางด้านนี้เรียกว่าแซพเมล์ (ZAP MAIL) ของเฟเดอรัลเอ็กซ์เพรส โดยลูกค้าที่ต้องการจะส่งจดหมายด่วนจะเรียกพนักงานเดินสารของเฟเดอรัลไปที่พักหรือสำนักงานแล้วนำไปสู่สำนักงานสาขาเพื่อพิมพ์จดหมายหรือรายการนั้นๆ ด้วยแสงเลเซอร์แล้วส่งไปยังสำนักงานที่จุดหมายปลายทางเพื่อพิมพ์ลงสู่กระดาษส่งไปให้ถึงมือลูกค้าผู้รับได้ภายในเวลาสองชั่วโมง

เฟเดอรัลเอ็กซ์เพรส มั่นใจว่าลองเมื่อลูกค้าทดลองใช้บริการอันรวดเร็วและไม่มีผิดพลาดของตนสักครึ่งหนึ่งแล้วเรื่องที่จะหันไปใช้บริการอื่นๆ เห็นจะไม่มี เขาเชื่ออย่างนั้นจริงๆ เพราะไม่มีใครเร็วกว่านี้อีกแล้ว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.