ถ้าจะวัดกันว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจใดที่กำลังได้รับการให้ความสำคัญในเฉพาะหน้าที่อย่างยิ่งด้วยว่าเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะมีผลอย่างมากต่อความมั่งคั่งสมบูรณ์
และในทำนองกลับกันก็อาจจะเป็นสาเหตุใหญ่แห่งหายนะของชาติแล้ว
กิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้นก็คงจะต้องเป็นเรื่องการส่งออกไม่มีปัญหา
ในปี 2527 ที่ผ่านมา จึงเป็นปีที่มีการรณรงค์จัดสัมมนาเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องนี้กันมากเป็นพิเศษ
และสำหรับธนาคารพาณิชย์ใหญ่บางแห่งก็ใช้การรณรงค์ส่งออกเป็นตัวแข่งขันกันอีกด้วย
เมื่อตอนกลางปี ธนาคารกรุงเทพ จัดชุมนุมกลุ่มผู้ส่งออกจำนวนเฉียดพัน และได้เชิญปลัดกระทรวงทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกมาชี้แจงนโยบายและแนวทางให้ฟัง
นับเป็นการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งซึ่งก็ช่วยตอกย้ำว่า นโยบายสนับสนุนการส่งออกที่ธนาคารกรุงเทพประกาศว่า
จะเป็นนโยบายใหญ่อันหนึ่งของตนนั้น ธนาคารกรุงเทพได้ให้ความสนใจและให้ความสำคัญอย่างโดดเด่นมาก
ถึงตอนปลายปี หลังการประกาศลดค่าเงินบาท และรัฐบาลกล่าวอย่างหนักแน่นว่า
จะส่งผลในทางบวกต่อการส่งออก ก็ถึงบทที่ธนาคารกสิกรไทยจะต้องเล่นบ้าง
บทของกสิกรไทยคราวนี้เป็นการจัดสัมมนาใหญ่ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ มีกลุ่มผู้ส่งออกให้ความสนใจหนาแน่นไม่แพ้ครั้งที่ธนาคารกรุงเทพจัดเหมือนกัน
นอกจากนี้ยังได้นำเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐหลายฝ่ายมาเป็นผู้บรรยาย
ส่วนทางภาคเอกชนก็มี คนของกสิกรไทยคือ ณรงค์ ศรีสอ้าน และตัวแทนของหอการค้าต่างประเทศ
อันได้แก่ ประธานหอการค้าญี่ปุ่นหรือเจโทร (กรุงเทพฯ) ตัวแทนจากกลุ่มประชาคมร่วมยุโรป
ตัวแทนหอการค้าสหรัฐอเมริกาและตัวแทนจากหอการค้าไทย เยอรมัน
พูดได้ว่าเกือบจะเป็นการนำตัวบุคคลที่เกี่ยวข้อกงับการส่งออกทั้งกระบวนการมาร่วมกันถกปัญหาให้กลุ่มผู้ส่งออกฟังนั่นเอง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โกศล ไกรฤกษ์ ซึ่งมาเป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนากล่าวในสุนทรพจน์ตอนหนึ่งเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการจัดสัมมนาใหญ่ที่ห้องประชุมธนาคารกสิกรไทยครั้งนี้ว่า
"การลดค่าเงินบาทที่ผ่านมานั้น เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความพยายามในการส่งเสริมการส่งออกเท่านั้น
แต่ยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่เอื้ออำนวยต่อการส่งออกซึ่งนอกเหนือจากราคาแล้วก็อย่างเช่น
ภาวะเศรษฐกิจโลก คุณภาพและความหลากหลายของสินค้า กลยุทธ์การตลาดและโครงสร้างพื้นฐานการส่งออกของบ้านเรา"
รัฐมนตรีโกศลกล่าวในเชิงชี้แนะว่า ปัญหาเฉพาะหน้าที่สำคัญของการส่งออกในปี
2528 ก็คือ ทำอย่างไรจึงจะมีการแลกเปลี่ยนและการชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของโลก
นโยบายการค้าและการนำเข้าของประเทศคู่ค้าสำคัญๆ
ส่วนในมาตรการระยะยาวก็คือ จะต้องปฏิรูปแนวนโยบายการส่งออกให้เป็นนโยบายของชาติ
ตัวมาตรการหรือนโยบายใดที่ขัดต่อการส่งออกจะต้องได้รับการทบทวนแก้ไข ทางด้านการผลิตก็จะต้องเน้นการปรับปรุงเทคโนโลยีปรับปรุงการตลาด
จะต้องทุ่มเทความสามารถในการวิจัยตลาด เจาะตลาดให้เหมาะกับความต้องของแต่ละตลาดๆ
ไป
ก็คงต้องจัดให้เป็นสุนทรพจน์เปิดการสัมมนาที่กล่าวได้สวยหรูชิ้นหนึ่ง ซึ่งผู้เข้าสัมมนาหลายคนเห็นตรงกันว่า
ถ้าจะสวยมากขึ้นก็คือได้มีการลงมือทำแล้วตามนั้น
ในการสัมมนารอบเช้ามีผู้บรรยายทั้งหมด 6 ท่านด้วยกันคือ ประยูร เถลิงศรี
อธิบดีกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ สุคนธ์ กาญจนาลัย อธิบดีกรมพาณิชย์สัมพันธ์
สถาพร กวิตานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ไพจิตร
โรจนวานิช รองปลัดกระทรวงการคลัง ณรงค์ ศรีสอ้าน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกสิกรไทย
และ เริงชัย มะระกานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย
เนื้อหาการบรรยายโดยสรุป ทุกคนล้วนมีความเห็นสอดคล้องกันว่า การค้าระหว่างประเทศของโลกในปี
2528 - 2529 ยังจะต้องประสบปัญหาแรงกดดันจากมาตรการกีดกันและปกป้องการนำเข้าต่อไปอีกปีหนึ่ง
แม้ว่าสัญญาความร่วมมือหรือข้อตกลงต่างๆ และธนาคารโลกจะได้เพียรพยายามทำให้มาตรการเหล่านี้ลดน้อยลงก็จะไม่ช่วยให้เกิดผลมากเท่าไหร่
ในด้านการคาดคะเนภาวะเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศต่างๆ ตลอดจนพฤติกรรมทางการค้าระหว่างประเทศ
ก็คาดกันว่า สหรัฐฯ จะมุ่งด้านสินค้าอุตสาหกรรม สินค้ากึ่งสำเร็จรูปที่ใช้เพื่อการผลิตต่อ
เช่น เครื่องจักร เครื่องมือสื่อสารคมนาคม เครื่องไฟฟ้าและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
ยุโรปตะวันตกจะเป็นตลาดสำหรับสินค้าเกษตร วัตถุดิบและอาหารต่อไป
ส่วนประเทศกำลังพัฒนาทั่วไปจะยังคงเป็นตลาดทั้งด้านสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเช่นเดิม
เพียงแต่ความต้องการด้านการนำเข้าจะไม่เพิ่มมากและมีแนวโน้มในการใช้มาตรการกีดกันการนำเข้ามากขึ้น
หันกลับเข้ามาดูสภาพของไทยเราบ้าง
แนวโน้มการส่งออกในปี 2528 ของประเทศไทยนั้น ผู้บรรยายคนหนึ่ง คือ อธิบดีกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์
ได้คาดหมายไว้ว่า คงสามารถส่งออกได้เป็นมูลค่าระหว่าง 190,000-200,000 ล้านบาท
หากผลผลิตการเกษตรโดยเฉพาะข้าว และข้าวโพดได้ผลดี
เฉพาะสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร เขาคาดว่า จะสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้น
4.15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นอัตราเพิ่มที่ไม่สูงมากนัก เนื่องจากเชื่อกันว่า
ผลิตผลการเกษตรตัวหนึ่งได้แก่ น้ำตาลนั้น ราคาในตลาดโลกจะยังคงตกต่ำอยู่
อีกทั้งราคาในประเทศสูงกว่า จึงไม่แรงจูงใจให้มีการส่งออกกัน
สินค้าทางด้านการประมง คาดว่าจะส่งออกเพื่อขึ้น 12.21 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งค่อนข้างสูง
เพราะสามารถขยายตลาดต่อไปได้อีก โดยเฉพาะปลาหมึกและกุ้งสดแช่เย็น มีหลายประเทศสนใจสั่งซื้อเข้ามามาก
สินค้าแร่และเชื้อเพลิง อาจจะเพิ่มขึ้นถึง 20.46 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเป็นที่คาดหมายกันว่า
จะสามารถส่งแก๊สธรรมชาติบางชนิดที่ไม่มีความต้องการใช้ในประเทศออกขายต่างประเทศได้
อุตสาหกรรมหลักดั้งเดิม เช่น เสื้อผ้า สิ่งทอและอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก
เช่น แผงไฟฟ้า อัญมณี และเครื่องประดับ คาดว่าจะส่งออกได้เพิ่มขึ้น 28.50
เปอร์เซ็นต์
ส่วนสินค้าเบ็ดเตล็ดอื่นๆ ทั้งที่เป็นสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม คาดว่า
คงสามารถเพิ่มขึ้นได้ประมาณ 19.78 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม แม้จะได้มีการคาดหมายว่าการส่งออกในปี 2528 จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นหลายรายการ
แต่สำหรับการส่งออกรวมของไทยผู้อภิปรายต่างก็ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ยังไม่ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจและคลายใจ
โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งของไทย 4 ประเทศ คือ ไต้หวัน
เกาหลีใต้ ฮ่องกง และสิงคโปร์ ซึ่งอธิบดีกรมพาณิชย์สัมพันธ์-สุคนธ์ กาญจนาลัย
ตั้งฉายากลุ่มประเทศนี้ว่า "มังกรทั้ง 4"
การไม่ได้รับความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศ "มังกรทั้ง
4" ถ้าจะสรุปแล้วก็เชื่อกันว่า น่าจะมีที่มาจาก 3 สาเหตุด้วยกันคือ
1. นโยบายของรัฐบาล ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1-2
รัฐบาลมีนโยบายลดการนำเข้า การผลิตสินค้าจึงมุ่งตลาดในประเทศ ดังนั้น ขนาดการผลิตจึงไม่ขยายตัว
และคุณภาพสินค้าถูกปล่อยไม่ได้มาตรฐานสากล แต่ในแผนพัฒนาฯฉบับที่ 3-4 การส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกได้รับความสำคัญขึ้น
แต่การกำหนดมาตรการยังไม่แน่ชัด รัฐบาลและเอกชนไม่ร่วมมือกัน และขณะนี้อยู่ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่
5 ซึ่งเน้นการส่งออกเป็นสำคัญ แต่การดำเนินนโยบายของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกก็ยังประสบปัญหาอุปสรรคต่างๆ
ฉะนั้นการกำหนดนโยบายด้านการค้าและด้านพัฒนาอุตสาหกรรมจำเป็นจะต้องสอดคล้องคู่กันไป
2. ด้านการผลิตเพื่อการส่งออก จะต้องพัฒนาคุณภาพสินค้าเพื่อการส่งออกให้ได้มาตรฐานการผลิตโดยใช้ระบบใบอนุญาต (Licensing) ญี่ปุ่นใช้ในการพัฒนาสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกได้ผลมาแล้ว
ข้อดีของการใช้ระบบนี้คือ ช่วยให้การขยายตลาดทำได้ง่ายและเจ้าของ Licensing
เป็นผู้หาตลาดให้ด้วย, เน้นการผลิตสินค้าคุณภาพสูง เพราะมีการควบคุมคุณภาพอย่างเข้มงวด,
มีตลาดรองรับที่กว้างขายได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สามารถขยายการผลิตได้มาก
เป็นผลให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง ปัจจุบันสินค้าสำเร็จรูปเครื่องกีฬา รองเท้าหันมานิยมใช้วิธี
Licensing นี้มาก ซึ่งควรมีการสนับสนุนยิ่งขึ้น สินค้าไทยจะออกสู่ตลาดโลกสำเร็จต้องมีการพัฒนาการผลิตโดยนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ
มาปรับปรุงการผลิตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิต เช่น กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงวิทยาศาสตร์ต้องให้ความสนใจช่วยเหลือพัฒนาอย่างจริงจังด้วย
3. ด้านการตลาด ปัญหาที่ประเทศไทยเผชิญมากคือ การกีดกันทางการค้า
ประเทศมหาอำนาจทางการค้า เช่น สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น และแม้แต่ประชาคมยุโรปต่างก็กำหนดข้อจำกัดทางการค้าขึ้น
ทั้งด้านภาษีศุลกากร (Tariff Barriers) และด้านที่มิใช่ภาษีศุลกากร (Non
Tariff Barriers) ดังเช่นข้อจำกัดที่สหรัฐฯ พยายามทำในกรณีปลาทูน่ากระป๋องและสิ่งทอของไทย
จากสาเหตุใหญ่ๆ อย่างน้อย 3 สาเหตุนี้ผู้บรรยายได้ร่วมกันเสนอทางออกพร้อมไปด้วย
ซึ่งทางออกหรือแนวทางในการแก้ไขปัญหาการส่งออกได้ถูกกำหนดว่า ควรจะต้องดำเนินการเป็นด้านๆ
ไป ดังนี้
ด้านการผลิต ปัญหาที่พบเห็นกันอยู่ในอดีตและปัจจุบันก็คือ
1. ต้นทุนวัตถุดิบสูง เพราะความไม่สม่ำเสมอและความไม่เพียงพอของวัตถุดิบ
โดยเฉพาะ วัตถุดิบการเกษตรที่ต้องใช้ เช่น สับปะรด อ้อย ปอ เมล็ดละหุ่ง จึงต้องควบคุมการผลิตเพื่อป้อนโรงงานให้เพียงพอ
โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบ
ในการนำเข้าวัตถุดิบก็ทำให้ต้นทุนผลิตสูงสินค้าจำพวกนี้ได้แก่ ผ้าผืน ด้าย
เส้นใย ผลิต
ภัณฑ์พลาสติก ดอกไม้ประดิษฐ์ ของเด็กเล่นส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ เครื่องเดินทางเสื้อผ้าสำเร็จรูป
ดังนั้น จึงต้องเร่งผลิตวัตถุดิบในประเทศให้เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศโดย
กระทรวงอุตสาหกรรมและสำนักงานส่งเสริมการลงทุนเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ
นอกจากนี้ในเรื่อง คุณภาพวัตถุดิบไม่ได้มาตรฐาน ทำให้สินค้ามีคุณภาพต่ำ
ซึ่งได้แก่
ทองคำที่ใช้ทำตัวเรือน อัญมณีและเครื่องประดับเฟอร์นิเจอร์หวาย ก็จะต้องเร่งให้ดีได้วัตถุดิบคุณภาพดี
ได้แก่ ทองคำแท่ง ไม้และหวายนำเข้าโดยกระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ
2. ค่าใช้จ่ายในการผลิตสูง เป็นผลจากค่าไฟฟ้าและโครงสร้างภาษี ได้แก่ สินค้าผ้า
ผืน ด้าย เส้นใย แนวทางแก้ไขต้องให้มีการลดค่าไฟฟ้าที่ใช้ในการผลิตอุตสาหกรรมประเภทนี้และปรับโครงสร้างภาษีใหม่
เช่น ชดเชยภาษีสินค้าผลิตเพื่อการส่งออก โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตและกระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ
3. รูปแบบการผลิตยังต้องพัฒนาและปรับปรุงให้สอดคล้องกับรสนิยมและการตลาดให้
มาก ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ ดอกไม้ประดิษฐ์
เครื่องใช้ทำด้วยไม้ เสื้อผ้าสำเร็จรูป จึงต้องหาข้อมูลการตลาดเฉพาะสินค้าตลอดจนแฟชั่น
และอาจตั้งศูนย์ออกแบบขึ้นให้คำแนะนำแก่ผู้ผลิต ทั้งนี้กรมพาณิชยสัมพันธ์และสำนักงานที่ปรึกษาการพาณิชย์รับผิดชอบ
4. เทคนิคการผลิตยังไม่ได้มาตรฐานสากล ได้แก่ เครื่องใช้เดินทางและผลิตภัณฑ์ยาง
และนั้นทางแก้ไขคือ ให้การสนับสนุนด้านการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยแก่ผู้ผลิต
โดยกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และสมาคมอุตสาหกรรมไทยรับผิดชอบไป
ปัญหาด้านการตลาด
1. การแข่งขันในตลาดต่างประเทศสูงมาก ทั้งด้านราคา คุณภาพและรูปแบบ ได้แก่
รองเท้า ถุงมือ ถุงเท้า โครงสร้างและส่วนประกอบทำด้วยอะลูมิเนียม ท่อเหล็ก เครื่องใช้เดินทางผู้รับผิดชอบคือ
กรมพาณิชยสัมพันธ์และสำนักงานที่ปรึกษาการพาณิชย์ดำเนินการหาทางแก้ไขสนับสนุนผู้ส่งออกบุกเข้าตลาดโดยตรง และให้ข้อมูลด้านตลาดและสินค้าของคู่แข่งขันสำคัญ
2. ขาดข้อมูลตลาดที่เพียงพอและทันเหตุการณ์ เช่น กระเบื้องปูพื้น, เสื้อผ้าสำเร็จรูป
รองเท้า, ผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งต้องแก้ไขโดยเร่งรัดหาข้อมูลตลาดอย่างละเอียดให้แก่ผู้ผลิต
3. การแข่งขันตัดราคาส่งออกระหว่างผู้ส่งออกภายในประเทศ ได้แก่ รองเท้า
ดอกไม้ประดิษฐ์ แนวทางแก้ไขเรื่องนี้คือ ให้รวมกลุ่มผู้ผลิตโดยกระทรวงอุตสาหกรรมรับผิดชอบ
4. ข้อกีดกันในตลาดต่างประเทศเรื่องภาษีและนอกเหนือจากภาษี เช่น อาหารทะเล
กระป๋อง, เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า, กระเบื้องปูพื้น, น้ำมันละหุ่ง ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศต้องจัดให้มีการเจรจากับประเทศที่มีข้อกีดกันทางการค้า
5. สินค้าไทยยังขาดความเชื่อถือในสายตาตลาดต่างประเทศ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยางรอง
เท้า ผลิตภัณฑ์พลาสติก เสื้อผ้าสำเร็จรูป ซึ่งต้องประชาสัมพันธ์สินค้าไทยและเชิญมาชมโรงงานผลิตในประเทศไทยเพื่อสร้างความเชื่อถือให้ผู้ซื้อในต่างประเทศ
โดยกรมพาณิชยสัมพันธ์ร่วมกับสำนักงานที่ปรึกษากรมพาณิชย์ให้ความรับผิดชอบ
6. ปัญหาด้านการเงินในตลาดตะวันออกกลาง เนื่องจากผู้ซื้อพยายามหลีกเลี่ยงการชำระเงินโดยอาศัยรายละเอียดตามแอลซีเป็นข้ออ้าง ได้แก่ ผ้าผืน ด้าย แ ละเส้นใย
กระจกเลนส์แว่นตา อุปกรณ์ก่อสร้างทำด้วยไม้และอะลูมิเนียม เครื่องใช้ไฟฟ้า
จึงต้องเร่งรัดให้มีการประกันสินเชื่อเพื่อการส่งออกและประกันภัยด้านการส่งออกโดยกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยรับผิดชอบ
7. การตลาดขึ้นอยู่กับบริษัทแม่ โดยบริษัทแม่จะดำเนินการกำหนดด้านการตลาดให้
ด้วย เช่น แผงวงจรไฟฟ้า ตลับลูกปืน อิเล็กทรอนิกส์ กระจกเลนส์แว่นตา เอทิลแอลกอฮอล์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเป็นผู้รับผิดชอบสนับสนุนให้มีการผลิตสินค้าดังกล่าวแบบครบวงจร
ปัญหาด้านสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก
1. มีการเรียกเก็บภาษีการค้าสำหรับสินค้าส่งออก ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับมีค่า
ซึ่งผู้ซื้อเดินทางเข้าประเทศไทยและซื้อติดตัวออกไปจะถูกเรียกเก็บภาษีการค้าและเทศบาล
ร้อยละ 3.3 ทั้งนี้ ต้องพิจารณายกเลิกการเรียกเก็บภาษีดังกล่าว โดยให้รายการค้าดังกล่าวเป็นการส่งออกด้วยซึ่งกระทรวงการคลังจะเป็นผู้รับผิดชอบ
2. การตรวจสอบคุณภาพให้ทันเวลาที่ผู้ส่งออกต้องการ ได้แก่ สินค้าอาหาร เช่น
สับปะรดกระป๋อง อาหารทะเลกระป๋อง เส้นหมี่และก๋วยเตี๋ยว ผลิตภัณฑ์ยาง กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงวิทยาศาสตร์และสมาคมอุตสากรรมไทย
เร่งรัดตั้งสถาบันตรวจสอบคุณภาพสินค้าเพื่อการส่งออกขึ้น
3. ความล้าช้าในการส่งออกเนื่องจากขั้นตอนการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ
- ความล่าข้าในการปล่อยเอกสาร ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า ตลับลูกปืนอิเล็กทรอนิกส์
จึงต้องเร่งปรับปรุงระบบการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ให้มีบรรยากาศเอื้อต่อการส่งออก
เช่น เร่งให้มีการจัดระบบปล่อยเอกสารที่ใช้ประกอบการนำวัตถุดิบเข้ารวดเร็วทันการณ์ขึ้น
- ความล่าช้าด้านการจดทะเบียนตำรับยาได้แก่ ผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมจึงต้องเร่งรัดการออกไปจดทะเบียนตำรับยาเพื่อส่งออกได้ทันทีและทันต่อความต้องการของลูกค้ากับต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุขร่วมรับผิดชอบกับสมาคมที่เกี่ยวข้อง
- ความล่าช้าในการขอคืนภาษีตามมาตรา 19 ทวิ แม้ว่าจะลดเวลาการขอคืนได้ภายใน 1 เดือน สำหรับสินค้าบางรายการ เช่น ดอกไม้ประดิษฐ์ แต่ก็ยังมีอีกหลายรายการที่ประสบปัญหานี้อยู่
ในด้านสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกอื่นๆ ที่มิใช่กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ
กระทรวงอุตสาหกรรมนั้น สถาพร กวิตานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกล่าวโดยสรุปให้ฟังว่า
ขณะนี้บีโอไอพยายามดำเนินนโยบายที่จะส่งเสริมผู้ผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลัก
(คือ
ผลผลิตร้อยละ 80 เพื่อการส่งออก) ทั้งได้ร่นระยะเวลาการพิจารณาให้การส่งเสริมและให้สิทธิประโยชน์จากเดิมที่เคยใช้เวลาพิจารณากลั่นกรองนานถึง
6-7 เดือน ก็จะเหลือเพียง 1 เดือนเศษๆ เท่านั้น
"เรามีคณะอนุกรรมการที่ได้รับมอบหมายให้มีสิทธิ์พิจารณาอนุมัติให้การส่งเสริมได้ในวงเงินไม่เกิน
50 ล้านบาท ซึ่งคณะอนุกรรมการนี้จะประชุมกันทุกอาทิตย์ และสำนักงานยังได้ร่วมมือกับกรมศุลากรเพื่อดำเนินงานให้เป็นไปโดยเรียบร้อยในเรื่องเกี่ยวกับการนำเข้าวัตถุดิบและคลังสินค้าทัณฑ์บนอีกด้วย"
สถาพรกล่าวในตอนหนึ่ง
ข้างฝ่าย ณรงค์ ศรีสอ้าน ตัวแทนจากเจ้าของสถานที่การจัดสัมมนาใหญ่ครั้งนี้
ก็ย้ำว่าขณะนี้ธนาคารพาณิชย์เองเน้นการให้บริการด้านการส่งออกอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาเงินทุนการค้ำประกัน
การออก BID BOND การ CONFIRM L/C
ทั้งยังมีบริการรับซื้อเงินล่วงหน้าและบริการสอบถามฐานะการเงินของผู้ซื้อในต่างประเทศอีกด้วย
ตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย เริงชัย มะระกานนท พูดถึงสินเชื่อเพื่อการส่งออกเป็นคนสุดท้ายปิดรายการวันนั้น
เขากล่าวว่า ที่ผ่านๆ มานั้นธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปล่อยเงินในระบบเศรษฐกิจผ่านธนาคารพาณิชย์ให้แก่สาขาการส่งออกสูงถึงร้อยละ
63 ของเงินที่ปล่อยเข้าไปในระบบ
นอกจากนี้ยังได้ปรับปรุงมาตรการใหม่ๆ เช่น การปรับ REDISCOUNT และ DISCOUNT
RATE ใหม่ พร้อมทั้งขยายวงเงิน REDISCOUNT เพิ่มขึ้นอีก 5,000 ล้านบาท ทำให้เชื่อว่า
ผู้ส่งออกจะได้รับประโยชน์ทั่วถึงมากขึ้น และธนาคารแห่งประเทศไทยมีนโยบายที่จะขยายการช่วยเหลือให้ครอบคลุมไปทั้งระบบนับตั้งแต่ตัวผู้ส่งออกไปจนถึงตัวผู้ผลิตและผู้ส่งออกรายย่อย
เริงชัยให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนามาตรการให้สินเชื่อเพื่อการส่งออก ว่า
- ต้องพิจารณาถึงผลประโยชน์ที่ผู้ผลิตจะได้รับ ไม่ใช่เน้นตัวผู้ส่งออก
- จะต้องกระจายการรับซื้อช่วงลดให้เท่าเทียมและเป็นธรรมแก่ผู้ส่งออกรายย่อยและขนาดกลาง
- การกระจายสินเชื่อจะต้องพิจารณาถึงประเภทและฤดูกาลการส่งออกด้วย
การสัมมนาในวันนั้นจบลงเมื่อเวลา 18.00 น. ซึ่งก็เป็นที่เชื่อกันว่า ได้มีการถกถึงปัญหา
และอุปสรรคกันอย่างกว้างขวางพอสมควร พร้อมกันนั้นก็ได้มีการเสนอทางออกพร้อมๆ
ไปด้วย
ก็คงจะต้องเป็นหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องทุกส่วนจะร่วมมือกันปฏิบัติให้เกิดผลจริงๆ
ต่อไปในอนาคต