เมื่อคนกลางลงมาทำเอง แล้วใครจะเป็นคนชี้ผิดชี้ถูก.. เสรี ทรัพย์เจริญ ชี้ช่องโหว่มาตรการแบงก์ชาติ


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2528)



กลับสู่หน้าหลัก

เสรี ทรัพย์เจริญ เป็นอีกคนหนึ่งที่ "ผู้จัดการ" ขอให้เขาช่วยแสดงความเห็นต่อวิกฤตการณ์การเงินที่ผ่านมาในรอบปี 2527

"ช่วงระหว่างนั้นฝุ่นอาจจะยังตลบอยู่จนมองปัญหากันไม่ชัด แต่ตอนนี้ฝุ่นเริ่มจางแล้วไม่ทราบว่าพอจะเริ่มมองเห็นอะไรบ้างแล้วหรือยัง"

"ผู้จัดการ" ถามเสรี ทรัพย์เจริญ

"เอากันที่ตัวสาเหตุก่อน ผมว่าสาเหตุใหญ่จริงๆ ที่ทำให้สถาบันการเงินโดยเฉพาะบริษัทเงินทุนต้องซวดเซก็เพราะประชาชนขาดความเชื่อถือ เพราะฉะนั้น ถ้าจะแก้ปัญหาให้ตกก็จะต้องแก้โดยทำอย่างไรประชาชนจึงจะกลับมามีความเชื่อถืออีกครั้ง" เสรีตอบกลับมา

เสรีมองว่าเดิมทีนั้นการเกิดขึ้นของบริษัทการเงินในประเทศไทยเป็นไปตามธรรมชาติ คือ เมื่อประชาชนผู้มีเงินออมและประชาชนผู้ต้องการเงินกู้ยังไม่รู้สึกพอใจกับบริการที่ธนาคารพาณิชย์มีให้ บริษัทเงินทุนก็เกิดขึ้นมาเพื่ออุดช่องโหว่อันนั้นในตลาด

จากนั้นจึงได้มีกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสถาบันการเงินประเภทนี้ขึ้นมาตามหลัง

เป็นกฎหมายที่มีความรัดกุมเหมาะสม ทั้งระบุเจตนารมณ์ไว้ชัดเจนว่า เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนหรือผู้ออมเงิน

"แต่ปัญหาก็คือ เท่าที่ผ่านๆ มา ผมไม่เคยเห็นว่าธนาคารชาติผู้รักษากฎหมายฉบับนี้ โดยมีอำนาจในการกำกับและตรวจสอบอยู่พร้อม จะได้กระทำในสิ่งที่จะทำให้ประชาชนเขาเกิดความมั่นใจ ผมเห็นว่ามีแต่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปครั้งหนึ่ง ครั้งหนึ่ง หรือบางทีไม่รู้ว่าจะแก้อย่างไรก็ปล่อยหมกๆ ไว้เป็นดินพอกหางหมู แม้จนเดี๋ยวนี้ที่บอกว่าหลังออกพระราชกำหนดแล้วมีอำนาจมากขึ้น ผมก็ไม่เห็นว่าประชาชนเขาจะมีความเชื่อมั่นขึ้นอย่างไร" เสรีขมวดประเด็นเข้าจุดที่เขาเรียกว่าที่มาของวิกฤตการณ์ ซึ่งโดยสรุปก็คือ เขาเห็นว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจในการกำกับและตรวจสอบอยู่พร้อมหาได้ "มีอำนาจไม่พอ" ดังที่บางคนอ้างไม่

แต่อำนาจที่มีอยู่นี้ นอกจากจะไม่พยายามใช้ในการแก้ปัญหาแล้ว บางครั้งก็ยังถูกใช้ไปแบบเลือกที่รักมักที่ชัง

"ตอนช่วงใกล้ๆ กับกรณีราชาเงินทุน ก็มีบริษัทเงินทุน 3 บริษัท คือนวธนกิจ เงินทุนสากลแล้วก็มีลีก้วงหมิง ก็เกิดปัญหา ผมเห็นธนาคารชาติเขาแอบช่วยเอาซอฟท์โลนไปให้ ซึ่งเจ้าหนี้หรือผู้ถือตั๋วของ 3 บริษัทนี้ก็ได้เงินทั้งต้นทั้งดอกคืนไปครบ แล้วทีอีก 10 กว่าบริษัทที่เพิ่งถูกถอนใบอนุญาตไป ผู้ถือตั๋วกลับต้องไปรอรับเงินต้นเอาภายใน 10 ปี"

เสรีเห็นว่าวิธีการแบบนี้ไม่ยุติธรรมอย่างยิ่งต่อผู้ถือตั๋วสัญญาใช้เงิน ทั้งที่ทุกคนก็เสียภาษีให้กับรัฐในอัตราที่เท่าเทียมกัน

เมื่อมีอำนาจแต่ไม่ใช้อำนาจให้เป็นไปตามตัวบทกฎหมาย หรือหากมีการใช้ก็มักจะส่อไปในทางเลือกที่รักมักที่ชังเช่นนี้ ปัญหามีการสะสมตัวมากขึ้น ศรัทธาของประชาชนก็ลดต่ำลงเรื่อยๆ แล้วในที่สุดก็เข้าสู่จุดระเบิด ดังที่พบเห็นกันในรอบปี 2527

เสรีแสดงความวิตกอย่างมากต่อทิศทางการแก้ปัญหาบริษัทเงินทุนของธนาคารชาติ โดยการออกพระราชกำหนดขึ้นมาเพื่อเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่รัฐมีสูงเพิ่มขึ้นอีก

"พระราชกำหนดฉบับนี้ ประเด็นใหญ่ก็คือการให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ จนกระทั่งสามารถเข้าไปเปลี่ยนตัวผู้บริหารบริษัทการเงินได้"

สิ่งที่เสรีวิตกก็คือ เมื่อธนาคารชาติผู้มีหน้าที่กำกับตรวจสอบ หรือนัยหนึ่งเป็นคนกลางที่มีหน้าที่รักษาระบบให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และความสงบสุขของสังคม พยายามดิ้นรนเพิ่มอำนาจตัวเองจนถึงขั้นสามารถเข้าไปกระทำการเองแล้ว

"ต่อไปนี้ใครจะเป็นคนกำกับตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ธนาคารชาติล่ะ อะไรผิดอะไรถูกจะทราบได้อย่างไร เมื่อผู้มีอำนาจตรวจสอบกับผู้ลงมือกระทำเป็นคนคน เดียวกัน" เสรีกล่าวว่านั่นเป็นจุดอ่อนประการหนึ่ง

ประการต่อมา เกี่ยวกับมาตรการที่เรียกว่า "แมเนจเม้นท์ พูล" เขาเห็นว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย ซึ่งกล่าวไว้ชัดเจนในข้อหนึ่งว่า ห้ามมิให้กรรมการของบริษัทหนึ่งเป็นกรรมการของอีกบริษัทหนึ่ง

และประการสุดท้าย การเข้าช่วยเหลือกลุ่มบริษัทของทางการภายใต้ระบบ "แมเนจเม้นท์ พูล" นั้น มีความจำเป็นที่ธนาคารชาติจะต้องนำเงินภาษีอากรของประชาชนเข้าช่วยเหลือ ซึ่งเรื่องนี้ในแง่ของความเหมาะสมจะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก

เสรีมองว่าวิกฤตการณ์ว่าอาจจะไม่รุนแรงอย่างที่เป็นอยู่ หากจะได้มีการแก้ไขปัญหาอย่างถูกทาง ซึ่งก็คือ "ถ้าหากตรวจสอบพบว่าบริษัทไหนทำท่าจะไปไม่ไหว ก็ต้องเข้าควบคุมและกรรมการควบคุมนั้นต้องตั้งจากเจ้าหนี้หรือผู้ถือตั๋ว เขามีส่วนได้เสีย เพราะฉะนั้นเขาจะดูแลกันเอง ถ้าเขาพบว่าผู้บริหารคดโกงเขาก็เล่นทางอาญากัน ถ้าเขาเห็นว่าผู้บริหารบริสุทธิ์เขาก็จะไว้วางใจต่อไป รัฐควรยืนอยู่ในฐานะพี่เลี้ยงจะช่วยปล่อยซอฟท์โลนให้ ช่วยแก้สภาพคล่องให้ก็ทำไป อย่างนี้ผมว่าจะดีกว่า เอะอะก็เอาคนของธนาคารชาติเข้าไปคุม รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง มันวุ่น"

ภาพของเสรี ทรัพย์เจริญ กับธนาคารแห่งประเทศไทย อาจจะเป็นภาพที่ค่อนข้างจะมองหน้ากันไม่สนิทเท่าไหร่

เป็นภาพที่มีอดีตขมขื่นซึ่งกันและกัน

แต่ความเห็นของเสรีนี้ ก็น่าจะได้มีการพิจารณาอย่างเป็นธรรมบ้าง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.