|
จากเมืองโบราณศรีเทพถึงวัดพระธาตุผาแก้ว สิ่งดีๆ ในเพชรบูรณ์
โดย
ธนิต วิจิตรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
เพชรบูรณ์ เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่บนชัยภูมิที่เหมาะสม อุดมด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร ครั้งหนึ่งเคยเป็นสมรภูมิสู้รบที่สำคัญ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพุทธศาสนสถานที่พุทธศาสนิกชนเคารพนับถือ
ณ บ้านเมืองนี้ในรัฐบาลยุคนายกรัฐมนตรี จอมพล ป.พิบูล สงคราม เคยดำริจะย้ายเมืองหลวงมา ณ ที่แห่งนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า มีชัยภูมิที่ตั้งดี มีความเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ภูเขาโอบล้อม โดยรอบ เนินเขาและที่ราบลุ่มแบบท้องกระทะ แม่น้ำสายสำคัญ แม่น้ำป่าสักไหลผ่าน นอกจากนี้ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารแหล่งใหญ่ของประเทศ
“เพชรบูรณ์” เดิมนั้นมีชื่อว่า “เพชรบุระ” หรือ “พืชปุระ” อันหมายถึงเมืองแห่งพืชพันธุ์ธัญญาหารนั่นเอง
มีการสันนิษฐานว่า เมืองนี้มีการสร้างมาด้วยกัน 2 ยุค คือยุคสุโขทัยเป็นราชธานีและยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่ง กรุงศรีอยุธยา
มะขามหวานเป็นสุดยอดมะขามกว่าเมืองอื่น คือ “เมืองมะขามหวาน” พันธุ์ที่ปลูก อยู่หลากหลายพันธุ์ เช่น หมื่นจง สีทอง พันธุ์น้ำผึ้ง ศรีชมพู
กระทกรก หรือที่เรียกให้ไพเราะหูว่าเสาวรส นำมาทำเป็น น้ำผลไม้ มีรสเปรี้ยวอมหวาน ดื่มแล้วให้ความชื่นใจ
ตามตำราพรหมชาติฉบับหลวง มะขามถือว่าเป็นไม้มงคล ชนิดหนึ่งที่ควรปลูกไว้ทางทิศตะวันตกของบ้าน เพื่อป้องกันสิ่งที่ไม่ดี ที่ร้ายมิให้มากล้ำกราย ยังเป็นต้นไม้ที่มีชื่อเป็นมงคลนามตาม คติความเชื่อโบราณถือเคล็ดว่าจะทำให้มีแต่คนเกรงขาม
มะขามเป็นไม้ยืนต้น แตกกิ่งก้านสาขา ไม่มีหนาม เปลือก ต้นหนาและขรุขระ สีน้ำตาลอ่อน ดอกเล็ก กลีบดอกสีเหลืองและ มีจุดประสีแดงหรือม่วงแดงกลางดอก มีผลเป็นฝักรูปร่างยาว คนภาคกลางเรียกมะขามไทย ภาคใต้เรียกขาม คนโคราชเรียกตะลูบ กาญจนบุรี (กะเหรี่ยง) เรียกม่วงโคล้ง หรือภาษาเขมรแถบสุรินทร์ จะเรียกว่าจำเปียก
ยอดอ่อนและฝักอ่อนมีวิตามินเอมาก มะขามเปียกรสเปรี้ยว ทำให้ชุ่มคอ ลดความร้อนในร่างกายได้ดี
มะขามเปียก ประกอบด้วยกรดอินทรีย์ เช่น กรดทาร์ท ทาร์ริค กรดซิตริก ทำให้มีการระบายและลดความร้อนของร่างกาย ลงได้ เชื่อกันว่ารสเปรี้ยวของมะขามนี้จะกัดเสมหะให้ละลายได้ด้วย
นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติชำระล้างความสกปรกของขุมขน และคราบไขมันบนผิวหนังได้ดี
สรรพคุณใช้เป็นยา คือใช้เนื้อฝักแก่จิ้มกับเกลือรับประทาน แก้อาหารท้องผูก หรือแก้อาการท้องเดิน โดยใช้เปลือกไม้สดหรือ แห้งต้มกับน้ำปูนใสรับประทาน
มะขามนี้เป็นพันธุ์ไม้พระราชทานที่ปลูกเป็นไม้มงคลของจังหวัดเพชรบูรณ์
จากกรุงเทพฯ ด้วยถนนสระบุรี-เพชรบูรณ์นี้ จะผ่านเมืองโบราณศรีเทพ เราขอเข้าชื่นชมเมืองโบราณก่อนสักเล็กน้อย
โบราณสถานสำคัญของเพชรบูรณ์คือ อุทยานประวัติศาสตร์ ศรีเทพ อุทยานนี้มีพื้นที่ครอบคลุมโบราณสถานในเมืองเก่าศรีเทพ ชื่อ “เมืองอภัยสาลี” มีอายุไม่ต่ำกว่า 1,000 ปี สมัยขอมเรืองอำนาจ มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ มีด้วยกัน 2 ส่วนคือ เมืองส่วน ใน ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปเกือบกลม มีทางเข้าออก 6 ช่องทาง พื้นที่ ภายในเป็นที่ราบลอนคลื่น มีสระน้ำ หนองน้ำ กระจายอยู่ทั่วไป พบซาก โบราณสถานกว่า 70 แห่ง เมืองส่วนนอกเป็นรูปสี่เหลี่ยม ผืนผ้า ต่อท้ายเมืองส่วนใน มีช่องทางเข้าออก 6 ช่องทาง มีสระน้ำกระจายอยู่ทั่วไป พบโบราณสถานกระจายอยู่แบบเดียวกัน
อาคารหลุมขุดค้นทางโบราณคดี จัดแสดงโครงกระดูกมนุษย์ และโครงกระดูกช้างที่ขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อปี พ.ศ.2531
ปรางค์สองพี่น้อง ลักษณะเป็นปรางค์ 2 องค์ ตั้งอยู่บนฐาน ศิลาแลงขนาดใหญ่ หันหน้าไปทางทิศตะวันตก มีประตูเข้าทางเดียวจากการขุดแต่งทางโบราณคดี พบทับหลังที่มีจำหลักเป็นรูป พระอิศวรอุ้มนางปารพดีประทับนั่งอยู่เหนือโคอศุภราช ลักษณะ ของทับหลังและเสาประดับกรอบประตูเป็นสิ่งกำหนดอายุของปรางค์ ราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 เป็นศิลปะขอมแบบบาปวนและนครวัด
โบราณสถานเขาคลังใน สร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ 11-12 ศิลปะการก่อสร้างคล้ายเมืองทวาราวดีอื่นๆ เพิ่มที่เก็บอาวุธ และสมบัติ
ปรางค์ศรีเทพ เป็นสถาปัตยกรรมศิลปะเขมร โดยพบชิ้นส่วนทับหลังรูปลายสลัก อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ศาลเจ้าพ่อ ศรีเทพ เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านทั่วไป
โดยจะมีงานบวงสรวงในวันขึ้น 2-3 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี สระน้ำโบราณ “สระแก้ว” อยู่นอกเมือง “สระขวัญ” อยู่ในบริเวณ เมืองส่วนนอก มีน้ำขังตลอดปี เชื่อกันว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์และมีการนำไปประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน
อาหารที่มีชื่ออีกอย่างของจังหวัดนี้ เมื่อมาแล้วไม่ควรพลาด ชิมขนมจีนหล่มเก่า โดยเฉพาะในการทำเส้นจะใช้ปลายข้าวเจ้าแช่น้ำให้อ่อนตัว แล้วนำไปโม่ให้เป็นแป้ง กรองด้วยผ้าขาวบางเอาน้ำออก นำแป้งที่เป็นก้อนไปต้มให้มีลักษณะครึ่งสุกครึ่งดิบ แล้วนำมาโขลกให้เกิดความเหนียว แล้วนำน้ำอุ่นผสมเพื่อให้เกิดความเหลวพอที่จะบีบผ่านรูกระบอกขนมจีน ซึ่งรูจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 มิลลิเมตร
นำแป้งที่ผสมกับน้ำอุ่นแล้ว ใส่กระบอกบีบลงในหม้อน้ำเดือดแป้งจะสุกลอยขึ้นมา ช้อนขึ้นมาใส่ลงในน้ำเย็นที่เตรียมไว้ แล้วจับเส้นให้เป็นก้อนขนาดพอคำแทนการจับเส้นเป็นหัวแบบขนมจีนทั่วไป บีบให้สะเด็ดน้ำ แสนจะนิ่มเหนียว
ขนมจีนหล่มเก่ารับประทานกับน้ำยา น้ำยาป่า น้ำพริก น้ำปลาร้า และผัก
จะเห็นมีขายทั้งในตัวเมือง ยกป้ายเชิญชวนให้ไปชิมอยู่หลายร้าน โดยเฉพาะที่หล่มเก่า หารับประทานได้มากมายหลายร้าน แล้วแต่ว่าผู้ทานจะถูกปากกับอาหารรสชาติของร้านไหนเท่านั้น
อาหารของกินที่ขึ้นชื่อลือชาไปทั่วประเทศ เห็นจะหนีไม่พ้น เมื่อรถยนต์วิ่งเข้าเขตอำเภอวิเชียรบุรี จะเห็นริมฝั่งถนนหล่มสัก-สระบุรี ตรงแยกทางเข้าอำเภอตลอดแนวยาวมากมายหลายร้านทั้ง 2 ฟากถนน จะลานตาไปด้วยร้านไก่ย่างและอาหารอีสานรสแซบ
ไก่ย่างวิเชียรบุรี เป็นไก่ย่างที่มีชื่อเสียงมาก รสชาติอร่อย เนื้อจะนุ่ม หนังจะกรอบ ว่ากันว่าเจ้าดั้งเดิมที่สร้างชื่อเสียงการเป็น ไก่ย่างวิเชียรบุรีและผู้คนนิยมรับประทาน “ไก่ย่างตาแป๊ะ-นายทรวง ซึ่งจ่าย” นั่นเองที่เป็นต้นตำรับอย่างแท้จริงมาสัก 50 ปีเห็นจะได้
ไก่ย่างวิเชียรบุรีมีขั้นตอนในการทำ โดยการนำไก่หมักกับเกลือ พริกไทย รากผักชี กระเทียม โขลกให้ละเอียด ใส่ซีอิ๊วขาวแล้วนำไปหมักไว้เพื่อให้เครื่องปรุงต่างๆ ซึมเข้าไปในเนื้อไก่ ย่างด้วยไฟอ่อน ทานกับน้ำจิ้ม โดยโขลกกระเทียมให้ละเอียด เกลือ และปรุงด้วยน้ำกระเทียมดอง
นอกจากอร่อยปากและอิ่มท้องแล้วยังได้คุณค่าสารอาหารประเภทโปรตีน ไขมันอีกด้วย
ถ้าเป็นเมื่อยุคก่อน หากพูดว่าจะไปเที่ยวสวิตเซอร์แลนด์เมืองไทยนั้น ผู้คนส่วนใหญ่จะนึกถึงว่า “เขาค้อ” แน่นอน
หากเป็นปัจจุบันต้องเดาก่อนว่าจะชวนไปไหน อาจจะนึก ไปถึงดอยอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เพราะทั้งภูมิ-ประเทศ อากาศ และดอกไม้เมืองหนาวหลากหลายพันธุ์ดูละลาน ตาไปหมด หรือแม้แต่พืชผักผลไม้เมืองหนาวสดๆ ใหม่ๆ ที่มีให้รับประทานตั้งแต่มื้อเช้าจนเข้านอนเลยทีเดียว
อาจจะนึกไปถึงเมืองสามหมอก ศูนย์โครงการจัดหมู่บ้านรวมไทย ตามพระราชดำริ (ปางตอง 2) จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ผู้คนเรียกกันติดปากว่า “ปางอุ๋ง” นั่นเอง
ปาง ภาษาพื้นถิ่นหมายถึง ที่พัก
คำว่า “อุ๋ง” หมายถึงอ่างเก็บน้ำ
ปางอุ๋ง คือบรรยากาศของอ่างเก็บน้ำธรรมชาติสวยงาม ขนาบไปด้วยขุนเขา อากาศที่หนาวเย็นมากๆ โดยเฉพาะแสงแดด ในยามเช้าจะเต็มไปด้วยไอน้ำ สายหมอก ลอยละล่องอย่างน่าอิจฉา และยังได้อารมณ์โรแมนติก
แต่วันที่ไปสวิตเซอร์แลนด์เมืองไทยที่เขาค้อนี้ มีผู้ที่คุ้นเคย ในพื้นที่เขาค้อไปด้วย โดยพาไปแถวป่าสนสองใบ สามใบ และแปลงดอกไม้ที่ปลูกแต่งได้สวยงาม
โดยมีวิถีชีวิตของชาวไทยภูเขาหลายเผ่าทั้งกะเหรี่ยง ม้ง ไทยใหญ่ มีการทำสวน ทำไร่ ทำให้สถานที่พักดูสวยงาม เห็ดหอม ดอกใหญ่ พืชผัก ผลไม้เมืองหนาว มีจำหน่ายให้นักชอปได้จับจ่าย ใช้สอยอย่างสนุกมือ แต่ต้องไม่ลืมที่จะนั่งจิบกาแฟสดรสชาติอร่อย พร้อมชมความงาม และสูดอากาศบริสุทธิ์ไปพร้อมๆ กัน
ว่ากันว่า แถบนี้คือไร่กาแฟพันธุ์อาระบิกาที่มีปลูกกัน
เขาค้อ เป็นชื่อเรียกรวมเทือกเขาน้อยใหญ่ของเทือกเขาเพชรบูรณ์ในเขตอำเภอเขาค้อ
เหตุที่เรียก “เขาค้อ” เพราะป่าบริเวณนี้เต็มไปด้วยต้นค้อ เนื่องจากภูมิอากาศบนเขาค้อเย็นตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในฤดูหนาว จะหนาวจัด
เขาค้อประกอบด้วยทิวเขาสลับซับซ้อนมากมาย ทำให้มีทัศนียภาพที่สวยงาม
ยอดเขาค้อมีความสูงประมาณ 1,179 เมตร เหนือระดับน้ำ ทะเล เขาย่าสูง 1,290 เมตร และเขาใหญ่สูง 865 เมตร ลักษณะป่าไม้ในแถบนี้ เป็นป่าไม้เต็งรังหรือป่าไม้ผลัดใบ ป่าสน และป่าดิบ และพันธุ์ไม้ตระกูลปาล์ม
สถานีทดลองเกษตรที่สูงเขาค้อ สถานีทดลองปลูกไม้เมือง หนาวของสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร เช่น พลับฝาด แมคคาเดนีเมีย มะกอกน้ำ กาแฟ
เนินมหัศจรรย์ วันที่ไปนั้น พนักงานขับรถยนต์เป็นคนในพื้นที่ พอถึง ณ เนินแห่งนี้จะดับเครื่องโชว์ทันที รถจะเริ่มถอยหลัง ขึ้นเนินได้เอง ปรากฏการณ์นี้เกิดจากภาพลวงตา เพราะในความเป็นจริง ความสูงของเนินจะมีระดับต่ำกว่าช่วงที่เป็นทางขึ้นเนินนั่นเอง
พิพิธภัณฑ์อาวุธ (ฐานอิทธิ) เป็นจุดที่เห็นทิวทัศน์ได้สวยงาม สถานที่แห่งนี้เคยเป็นฐานสำคัญทางยุทธศาสตร์ในอดีต ปัจจุบันจัดแสดงปืนใหญ่ ซากรถถัง อาวุธที่ใช้สู้รบกันบนเขาค้อ
อนุสรณ์สถานผู้เสียสละเขาค้อ อยู่บนยอดเขา เพื่อเทิดทูน วีรกรรมของทหาร ตำรวจ พลเรือน ผู้พลีชีพในการสู้รบเพื่อปกป้อง พื้นที่ในเขตรอยต่อ 3 จังหวัด เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และเลย
พระบรมธาตุเจดีย์กาญจนาภิเษก ยอดเจดีย์บรรจุพระบรม สารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา เจดีย์แห่งนี้ชาวเพชรบูรณ์สร้างขึ้นในวโรกาสครองราชย์ครบ 80 ปี เพื่อถวายเป็น พระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
น้ำตกศรีดิษฐ์ น้ำตกหินชั้นขนาดใหญ่ มีน้ำไหลตลอดปี ณ ที่แห่งนี้ เคยเป็นที่อยู่ของผู้ก่อการร้ายมาก่อน ทำให้มีสิ่งที่น่าสนใจ คือครกที่ใช้สำหรับตำข้าวโดยใช้พลังงานน้ำตก
นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น อนุสาวรีย์จีนฮ่อ พระตำหนักเขาค้อ สวนสัตว์เปิด
การเดินทางไปในครั้งนี้ได้พักค้างคืน ณ ตำบลแคมป์สน อำเภอเขาค้อ ลงจากเขาค้อถึงสามแยก ด้านซ้ายจะเป็นทางไปสู่จังหวัดพิษณุโลก เลี้ยวขวาไปสู่ที่พัก ซึ่งเมื่อเลี้ยวรถไปแล้วจะพบชุมชนตลาดเล็กๆ ซึ่งเล็งเห็นว่ามีร้านอาหารชื่อครัวเขาค้อตั้งอยู่ มองดูแล้วน่าเข้าไปรับประทาน เล็งไว้ก่อน มื้อเย็นต้องมาทานแน่
เคลื่อนรถยนต์ต่อไปเล็กน้อย ด้านซ้ายมือจะเป็นเนินลงสู่ที่พัก “ภูเสียดฟ้า”
ระหว่างถนนเข้าไปรีสอร์ต ผ่านแปลงผักกำลังผลิดอกออก ใบอย่างเขียวชอุ่ม แต่ที่มากไปกว่านั้น จะพบว่ามีรีสอร์ตที่สร้างขึ้น ไว้บริการแก่ผู้มาท่องเที่ยวมากจริงๆ และแล้วความสงสัยก็ทำให้ถึงบางอ้อในที่สุด ด้วยเหตุที่ว่าปัจจุบันมีคนเริ่มเข้ามาท่องเที่ยวโดยเฉพาะมาสักการะวัดพระธาตุผาแก้ว ซึ่งตั้งอยู่เนินเขาหมู่บ้าน ซึ่งลึกเข้าไปอีกเล็กน้อย ชื่อหมู่บ้านหางแดง นั่นเอง
ร้านอาหารครัวเขาค้อ เป็นอาหารประเภทผักพื้นเมือง อาหารปลา อาหารป่า ซึ่งมีบริกรมาแนะนำสัตว์บางชนิด ทำให้อยากลิ้มลองอยู่เหมือนกัน
แต่เมนูที่ร้านขึ้นป้ายไว้ว่าเป็นเจ้าแรกที่คิดทำขึ้นในประเทศ ไทยทีเดียว “ส้มตำยอดมะระทอดกรอบ”
ผัดเผ็ดหมูป่า ยังมีผัดเผ็ดสัตว์ที่แปลกๆ ให้รับประทานได้ที่นี่อีกหลายอย่าง
สตรอเบอรี่สดปั่น ทานแล้วติดใจ เคล็ดลับคือนำไปเข้าช่องฟรีซก่อน 1 วัน
นอกจากนี้ยังมีของฝากให้ได้ซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้าน ทั้งลูกผักแม้ว เห็ดหอม ผักต่างๆ สตรอเบอรี่ โดยเฉพาะข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ที่ตั้งชื่อได้ใจจริงๆ ข้าวลืมผัว ข้าวลืมเมีย ข้าวไร่คั่ว
เจ้าของร้านชี้ชวนนำมาให้ได้ลิ้มลอง จนหนุ่มสาวข้างโต๊ะสนใจขอลองบ้าง ยื่นให้สาวเจ้าลอง ทำเอาติดใจขออีก แต่หนุ่มที่มาด้วยบอก “พี่ครับพอแล้วครับ เดี๋ยวเค้าลืมผมครับ”
เพชรบูรณ์ยังคงเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์เช่นเดิม ไม่เสียชื่อจริงๆ
วัดพระธาตุผาแก้ว มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจคือ เมื่อปี พ.ศ.2547 ใช้ชื่อพุทธธรรมสถานผาซ่อนแก้ว วันที่ 1 กรกฎาคม 2553 คณะกรรมการมหาเถรสมาคมอนุมัติให้จัดตั้งเป็น “วัดพระธาตุผาแก้ว” โดยมีพระครูสังฆรักษ์ ปารมี สุรยุทโธ เป็นเจ้าอาวาส โดยได้มีญาติโยมมีจิตศรัทธาซื้อที่ดินถวาย เริ่มแรกจำนวน 25 ไร่ เพื่อก่อสร้างเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมแก่พระสงฆ์ และพุทธศาสนิกชน
ปัจจุบันที่ดินบริเวณวัดมีถึง 91 ไร่ ด้วยแรงศรัทธาจากชาว พุทธทั่วประเทศ ที่มาของ “ผาซ่อนแก้ว” สถานที่อันธรรมภูมิที่งดงาม มีธรรมชาติเป็นภูเขาสูงใหญ่เรียงราย ซ้อนกันโอบรอบบริเวณศาลาปฏิบัติธรรม
บนยอดเขาที่สูงตระหง่านนี้ มีถ้ำอยู่บนปลายยอดเขา ซึ่งมี ชาวบ้านในแถบนี้เห็นลูกแก้วลอยเหนือฟากฟ้าแล้วหายเข้าไปในถ้ำบนยอดผา
จึงมีความเชื่อว่าพระบรมสารีริกธาตุเสด็จมา ซึ่งถือว่าเป็น สถานที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นมงคล
วัดพระธาตุผาแก้ว ยึดหลักคำสอนโดยเน้นความเรียบง่าย โดยให้รู้จักฐานที่ตั้งของสติ ตั้งแต่กาย รูปธรรม นามธรรม คืออารมณ์ และจิตใจ ซึ่งอยู่กับเราตลอดเวลา เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในที่สุด
พระครูสังฆรักษ์ ปารมี สุรยุธโธ และพระศรีใบฎีกา อำนาจ ได้ร่วมกับคณะศิษยานุศิษย์ จัดสร้างเสนาสนะ กุฏิสงฆ์ อาคาร ปฏิบัติธรรม และบรรยายธรรม ตลอดจนอาคารที่พักของผู้ที่มาอบรมภาวนาจากทุกสารทิศและมีจำนวนมาก
เจดีย์ที่เห็นตั้งเด่นเป็นสง่า สวยงามแก่ผู้พบเห็น สร้างด้วย แรงศรัทธา ใช้เวลาสร้างแล้วเสร็จภายใน 2 ปีเศษ ด้วยทุกคนนำข้าวของเครื่องใช้ ถ้วย โถ โอชาม เช่น ชามเบญจรงค์ มาช่วยตกแต่งจนงดงาม ยังมีพระพุทธรูปหยกประดิษฐานไว้บนชั้นยอดสูงสุดของเจดีย์ให้ได้ขึ้นไปกราบไหว้บูชา
ปัจจุบันจะเห็นแรงกำลังศรัทธาแวะเวียนไปกราบไหว้ โดยเฉพาะในวันหยุดเสาร์อาทิตย์หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์
จนเกิดมีตลาดนัดย่อมๆ ของชุมชนหน้าวัด มีทั้งผัก ผลไม้ ข้าว น้ำตาล และของที่ระลึก แม้แต่มะขามหวานยังหาซื้อได้ เป็น การกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นทางหนึ่ง
เมื่อเข้าสู่บริเวณวัดนี้แล้วทำให้รู้สึกจิตใจสงบ เยือกเย็น ได้ความสุขที่บริสุทธิ์ เมื่อผู้คนเริ่มหันหน้าเข้าวัดกันมากขึ้นเช่นนี้แล้ว เพียงแต่ได้รักษาศีล 5 เช่น ไม่ดื่มสุราและของมึนเมา
อย่างน้อยๆ ค่าใช้จ่ายที่ลดลงโดยเฉพาะในเรื่องของสุขภาพ ที่ทุกคนใฝ่ฝันหาต้องการมีสุขภาพดี เรื่องนี้ได้แน่นอนเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|