อินเทอร์เน็ต: การปฏิวัติอุตสาหกรรมสมัยใหม่จริงหรือ?

โดย ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

เคยคิดไหมครับว่า เศรษฐกิจอเมริกันน่าจะพุ่งกระฉูดแบบวิ่งไล่ตามกันไม่ทัน จากการที่ประเทศสหรัฐอเมริกาดูเหมือนจะเป็นผู้นำในทุกๆ เรื่อง โดยเฉพาะการสร้างนวัตกรรมทางธุรกิจหลายต่อหลายอย่าง ที่สำคัญที่สุดก็คือ การถือกำเนิดของอินเทอร์เน็ต ที่ได้เปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต, การทำธุรกิจ และการติดต่อสื่อสารของคนทั่วโลกไปแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน นำไปสู่การสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ (New Economy)

เมื่อการณ์เป็นเช่นนั้นก็น่าจะทำให้เราไม่ต้องคิดมากมายว่า เศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาน่าจะล้ำหน้าประเทศ อื่นๆ ไปแบบไม่เห็นฝุ่น อย่างไรก็ตาม วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2008 ของประเทศสหรัฐอเมริกากลับทำให้เราเห็นว่า เศรษฐกิจ ของประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ได้ดีอย่างที่คิด ออกจะแย่กว่าเราเสียด้วยซ้ำถ้ามองในแง่หนี้สินต่อจีดีพี หรือตัวเลขทางเศรษฐกิจอีกหลายๆ ตัว นักเศรษฐศาสตร์ได้ศึกษาการเติบโตของเศรษฐกิจอเมริกันพบว่า แม้จะมีอินเทอร์เน็ตมาฉุดเศรษฐกิจอเมริกาแล้วก็ตาม แต่เศรษฐกิจของอเมริกาก็ไม่ได้ เติบโตมากมายอย่างที่พวกเขาคาดว่าจะเป็น คุณสงสัยเหมือนกันไหมครับว่าทำไม

Tyler Cowen อธิบายไว้ในหนังสือ The Great Stagnation ถึงเหตุผลที่ว่า ทำไมค่าเฉลี่ยค่าแรงของคนอเมริกันถึงเติบโตอย่างเชื่องช้านับจากทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา และกลับลดลงเสียด้วยซ้ำในช่วง ทศวรรษที่ผ่านมา Cowen ชี้ให้เห็นว่า นี่เป็นปัญหาของนวัตกรรมโดยแท้ โดยตลอด ช่วงทศวรรษ 1970 ประเทศสหรัฐอเมริกา เต็มไปด้วยเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมดาดๆ ที่มากระตุ้น GDP แต่ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา หรือหลังทศวรรษ 1970 ล้วนเป็นช่วงของ การถือกำเนิดของนวัตกรรมที่ส่งผลต่อการ เปลี่ยนแปลงของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นยาเพนนิซิลิน, การศึกษาฟรีสำหรับระดับอนุบาล, ห้องน้ำ, เครื่องบิน หรือรถยนต์ แต่ก็ล้วนพิสูจน์ได้ยากว่ามีผลในการฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศอุตสาหกรรมได้หรือไม่

อย่างไรก็ดี ในช่วงทศวรรษ 1970 ที่ผ่านมา ธุรกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ ผลิตเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์ที่มหัศจรรย์ และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของชีวิตคนเรา ไม่ว่าจะเป็นเครื่องคิดเลขแบบกราฟิก, ระบบประมวลผลข้อมูล (Data-processing systems), ระบบการเงินที่ทันสมัย, อุปกรณ์ติดตามตัว (GPS), ชิปซิลิกอน, เครื่องเอทีเอ็ม, โทรศัพท์มือถือ และนวัตกรรมอื่นๆ อีกมากมาย สำหรับอินเทอร์เน็ตที่ถือว่าเป็น การปฏิวัติทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสารที่มากที่สุดนับตั้งแต่กูเทนเบิร์ก (Gutenberg) ผลิตเครื่องพิมพ์เครื่องแรกของโลกขึ้นมานั้นกลับไม่ได้ส่งผลต่อการเติบโตของจีดีพีของประเทศสหรัฐอเมริกาเลย หรือคำตอบ ก็คือ เหล่านักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ก็เชื่อว่าการถือกำเนิดของอินเทอร์เน็ตมีผลต่อการเติบโตของจีดีพีอย่างแน่นอน แต่ผลที่ได้นั้นกลับไม่มากมายอย่างที่พวกเขาคาดหวังกัน

ย้อนกลับไปเมื่อ 25 ปีที่ผ่านมา การถือกำเนิดของคอมพิวเตอร์ที่น่าจะมาเขย่าการเติบโตของการใช้งานในบ้านและธุรกิจของคนอเมริกัน ซึ่งเหล่านักเศรษฐ-ศาสตร์ก็ให้ความสนใจและคาดหวังว่าคอมพิวเตอร์น่าจะกลายมาเป็นพลังขับดันการเติบโตของเศรษฐกิจได้ทุกหัวระแหง แต่สัญญาณการเติบโตของผลิตผล (Productivity) ที่มาหนุนเนื่องการเติบโต กลับมีเพียงเล็กน้อย

แน่นอนว่า คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงความเป็นไป ของธุรกิจจำนวนมากรวมถึงอุตสาหกรรมต่างๆ หลากหลายอุตสาหกรรม แต่สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกลับเดินไปในทางเดียวกัน โดยอัตราการเติบโตของจีดีพีก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกับผลิตผลด้วยเช่นเดียวกัน ในปี 1987 Robert Solow ได้เคยกล่าวเอาไว้ว่า “คุณอาจจะเห็นความ เป็นยุคสมัยของคอมพิวเตอร์ผุดขึ้นอยู่ทั่วๆ ไปรอบๆ ตัวคุณ ยกเว้นก็แต่สถิติของผลิต ผลเท่านั้นที่มองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง”

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ก็มีการ พยายามนำเอาทฤษฎีต่างๆ มาอธิบายสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น โดยมีคำเรียกเฉพาะสำหรับสถานการณ์นี้คือ Productivity Paradox โดยเป็นสถานการณ์ที่ว่า เทคโน โลยีใหม่ๆ ได้ทำให้บริษัทและอุตสาหกรรม บางส่วนเกิดความได้เปรียบในการแข่งขันขึ้น แต่กลับไปส่งผลต่อบางบริษัทหรือบางอุตสาหกรรมให้ความได้เปรียบของพวกเขาลดลง นั่นทำให้หักลบแล้วการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้จึงมีผลโดยรวมทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ยกตัวอย่างเช่น การนำเอาคอมพิว เตอร์มาใช้งานในบริษัทหรืออุตสาหกรรมนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่สามารถเอามันมา ทดแทนแรงงานทั้งหมดได้ นั่นคือ คอม พิวเตอร์ไม่สามารถมาแทนแรงงานคนได้ทั้งหมด เพราะงานบางอย่างอาจจะต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัวที่เทคโนโลยีปัจจุบันยังไม่สามารถทำให้คอมพิวเตอร์มาทำงานแทนแรงงานคนได้

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ก็ตั้งคำถามว่า จริงๆ แล้วมันอาจจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งหรืออาจจะนานพอสมควรหรือเปล่า กว่าที่การนำเอานวัตกรรม ใหม่มาใช้จะสามารถทำให้เกิดผลิดอกออก ผลมาให้เห็นกันได้ ในอดีตนั้นมีหลักฐานที่ชัดเจนว่า ไอทีหรือเทคโนโลยีสารสนเทศมีแนวโน้มที่จะต้องการระยะเวลาฟักไข่พอสมควรกว่าที่จะส่งผลให้เห็นถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นได้ อย่างกรณีเครื่อง พิมพ์ของกูเทนเบิร์ก แม้ว่าเทคโนโลยีเครื่อง พิมพ์จะเข้าไปถอนรากถอนโคนเปลี่ยน แปลงวิธีการบันทึกและการส่งข่าวสารและข้อมูลต่างๆ แต่นักเศรษฐศาสตร์ก็ไม่สามารถหาหลักฐานที่เป็นชิ้นเป็นอันได้ว่า เทคโนโลยีเครื่องพิมพ์นี้ได้ทำให้รายได้ต่อหัวของประชากรหรืออัตราการเติบโตของจีดีพีเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหนในช่วงศตวรรษ ที่ 15 ถึง 16

ประเด็นหนึ่งที่นักเศรษฐศาสตร์มองเกี่ยวกับยุคทองของอินเทอร์เน็ตที่มาถึงประมาณช่วงปลายทศวรรษ 1990 ก็คือ ระหว่างปี 1995-1999 อัตราการเติบโตของ ผลิตผลได้เติบโตแซงหน้าช่วงเศรษฐกิจบูม ในช่วงปี 1913-1972 ไปแล้ว ซึ่งอธิบายได้ว่า อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ได้นำมาซึ่งการสร้างเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) ขึ้นมา อย่างไรก็ดี ช่วงของการ เติบโตแบบก้าวกระโดดนั้นกลับผ่านไปอย่าง รวดเร็ว และจากงานวิจัยบางฉบับก็พบว่า การเติบโตในช่วงปีดังกล่าวนั้นกลับไม่ชัดเจนหรือไม่กว้างขวางเท่าที่คาดคิดไว้ อย่างงานของ Robert Gordon ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์นก็พบว่า เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่มีผลต่อการกระตุ้นผลิตผลของการผลิตในกลุ่มสินค้าทนทาน ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าพวกคอมพิวเตอร์และเซมิคอนดักเตอร์ สรุปคือ เราสามารถกล่าวได้ว่า คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตไม่สามารถนับว่าเป็นประดิษฐ-กรรมที่ยิ่งใหญ่ของช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ต่อเนื่องถึงต้นศตวรรษที่ 20 ได้ มิพักต้องพูดถึงการเป็นประดิษฐกรรมที่จะมาปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคใหม่

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอีกหลายๆ งานที่วิเคราะห์ออกมาว่า อินเทอร์เน็ตไม่ได้เป็นการมาปฏิวัติเปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเราอย่างที่หลายๆ คนคิด อินเทอร์เน็ต ไม่ได้เป็นเหมือนการปฏิวัติการเกษตรหรือการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นมาช่วงหลาย ร้อยหลายพันปีที่ผ่านมา แน่นอนว่า พวกเรา ล้วนได้รับความเพลิดเพลินใจจากการถือกำเนิดของอินเทอร์เน็ต คุณภาพชีวิตของหลายคนก็มีแนวโน้มที่จะได้รับการพัฒนาขึ้น ที่สำคัญอินเทอร์เน็ตได้มาเปลี่ยนแปลง วิธีการค้นหา, การซื้อ และการขายสินค้าและบริการ แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้หมายถึง ว่ามันได้เปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจแบบที่ถนนหนทางเคยสร้างให้เกิดขึ้น

เรากล่าวได้ว่า อินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ได้มีส่วนในการลดต้นทุนให้เหลือศูนย์หรือให้ต่ำที่สุด และมีศักยภาพที่จะลดความต้องการใช้แรงงาน เหมือนที่เราสามารถอ่านบทความนี้ฟรีได้บนเว็บ โดย ที่เว็บไซต์ไม่จำเป็นต้องอาศัยเงินสนับสนุน จากการรับสมัครสมาชิก แต่อยู่ได้ด้วยโฆษณาบนเว็บแทน นอกจากนี้เราสามารถ อ่านข่าวออนไลน์ต่างๆ ได้ฟรี เพราะราคา ค่าสมาชิกที่ลดต่ำจนเหลือศูนย์ แต่การแข่งขันโฆษณาบนเว็บกลับเป็นไปอย่างดุเดือด นอกจากนี้เทคโนโลยีที่พึ่งพิงเว็บและ คอมพิวเตอร์ก็ล้วนไม่ได้ต้องการแรงงานมากมาย โดยสำนักงานสถิติแรงงานของสหรัฐอเมริกาคาดการณ์ว่า การจ้างงานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศจะมีแนวโน้มลดลงในปี 2018 เมื่อเทียบกับการ จ้างงานในอุตสาหกรรมนี้ในปี 1998

นั่นหมายความว่า อินเทอร์เน็ตไม่ได้สร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจในรูปตัวเงินอย่างที่เราคิดๆ กัน เมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงการเติบโตด้านเทคโนโลยีที่ผ่านมาที่มีผลต่อการเติบโตของรายได้ตลอด ทั่วระบบเศรษฐกิจ โดยเมื่อมองถึงเว็บแล้ว ข้อสมมุติฐานในลักษณะเดียวกันกลับไม่เกิดขึ้น ธุรกิจที่เคยมีรายได้มหาศาล กลับเติบโตอย่างเชื่องช้า แต่ธุรกิจเล็กๆ กลับได้ผลประโยชน์มากมายจากอินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์

แต่เราก็ไม่สามารถเอาเรื่องรายได้มาอธิบายทุกอย่างได้หมด สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ นำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า บางทีอาจจะไม่ใช่เรื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่ดี แต่เป็นเรื่องของวิธีการวัดการเติบโตมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น ในอุตสาหกรรมเพลง เมื่อพิจารณาเรื่องรายได้และจีดีพี ถ้าเราทุกคนหยุดซื้อซีดีเพลง นั่นย่อมทำให้อุตสาห-กรรมเพลงหยุดชะงัก แต่พวกเราก็ไม่ได้ฟังเพลงน้อยลง แต่อีกนัยหนึ่ง เรากลับฟังเพลงมากขึ้นๆ นั่นคือ การมีตัวเลือกให้บริโภคมากขึ้นๆ ถือว่ามีความหมายมากกว่า แม้ว่ามันจะไม่สามารถแสดงออกมาในรูปตัวเลขที่เราอยากจะเห็นก็ตาม นั่นคือ ถ้าเอาเรื่องจีดีพีเป็นหลักในการคำนวณ อุตสาหกรรมดนตรีอาจจะแทบสูญสลายไป แต่ในความเป็นจริงเพลงซึ่งเป็นประเด็นหลักยังอยู่ เพลงไม่ได้สูญหายไปไหน ซึ่งกล่าวได้ว่า ถ้าเรามัวแต่สนใจเรื่องตัวเลขเงิน เราจะละเลยสิ่งที่ผู้บริโภคจริงๆ บริโภคอยู่

ดังนั้น สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ทำคือ การหาส่วนเกินผู้บริโภค (consumer surpluses) ซึ่งจะเป็นตัววัดมูลค่าที่ผู้บริโภค ต้องการจะจ่ายให้กับสินค้าหรือบริการนั้นๆ ลบด้วยจำนวนเงินที่จ่ายไปจริงๆ นั่นคือสิ่งที่พอจะนำมาใช้ในการคำนวณว่าอินเทอร์ เน็ตให้อะไรกับระบบเศรษฐกิจจริงๆ บ้าง

การที่อินเทอร์เน็ตจะเป็นการปฏิวัติความเป็นไปของมวลมนุษยชาติในลักษณ์เดียวกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมจึงยังคงเป็นที่ถกเถียง และคงจะต้องถกเถียงกันไปอีกนานพอสมควร

อ่านเพิ่มเติม:
1. Cowen, T. (2011), “The Great Stagnation: How America Ate All The Low-Hanging Fruit of Modern History,Got Sick, and Will (Eventually) Feel Better, A Penguin eSpecial from Dutton.
2. Lowrey, A. (2011), “Freak, Geeks, and GDP,” March 8, 2011, http:// www.slate.com/id/2287531/
3. Gordon, R. J. (2000), Does the New Economy measure up to the great inventions of the past?, NBER Working Paper Series, Working Paper 7833, http://www.nber.org/papers/w7833


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.