|
Zeitgeist กลยุทธ์ใหม่ของกูเกิล
โดย
นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
ปัจจุบันมีการใช้บริการค้นหาข้อมูลผ่านเว็บไซต์กูเกิลถึง 4 พันล้านครั้งต่อวัน ทำให้กูเกิลมองเห็นโอกาสและสร้างไซต์ไกสต์ (Zeitgeist) เครื่องมือค้นหาข้อมูลเชิงลึก เพื่อให้องค์กรและผู้ประกอบการนำไปสร้างมูลค่าเพิ่ม
ความเคลื่อนไหวของกูเกิลล่าสุดในประเทศไทย จัดประชุม Insight and Innovation Executive Forum ในกรุงเทพฯ ร่วมกับสถาบันองค์ความรู้แห่งเอเชีย (AKI) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)
ไซต์ไกสต์ หมายถึงจิตวิญญาณแห่งกาลเวลา เป็นภาษาเยอรมัน มีความหมายสลับซับซ้อนและยุ่งยากเกินไป แต่หากตี ความง่ายๆ จะหมายถึงเหตุการณ์ทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะ ปรากฏการณ์สำคัญๆ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจผ่านไปทำให้จำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง กูเกิลจึงได้สร้าง เครื่องมือไซต์ไกสต์ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่สำรวจคำค้นหาที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากทั่วโลก หรือคำที่มาแรงจัดทำเป็นกราฟ แสดงข้อมูลต่างๆ เพื่อนำไปวิเคราะห์สร้าง บริการ สินค้าใหม่ๆ
จูเลี่ยน เพอร์ซาอูด กรรมการผู้จัดการกูเกิลตะวันออกเฉียงใต้ ได้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น บริการสายการบิน ที่ลูกค้านิยมใช้บริการ ไปเที่ยวประเทศอะไร ความถี่การเดินทาง กลุ่มเป้าหมาย สิ่งเหล่านี้สามารถทำให้โรงแรมเข้ามาร่วมทำกิจกรรมทำการตลาดกับสายการบินได้
ผู้ประกอบการสามารถดูกราฟของกูเกิลเพื่อเปรียบเทียบความนิยมของบริการ และสินค้าได้หลากหลายชนิด โดยเข้าไปในเว็บไซต์ http://www.google.com/insights/search/
ผลสำรวจของไซต์ไกสต์จะเป็นการ เปิดมุมมองใหม่ให้คนที่สนใจได้ย้อนนึกถึงเหตุการณ์สำคัญ และเทรนด์ที่มาแรงที่สุดในรอบปี
กูเกิลเปิดเผยไซต์ไกสต์ในประเทศไทย ปี 2553 หลายหัวข้อ เช่น คำค้นดาวรุ่งพุ่งแรงแห่งปี บันเทิง ข่าวเด่น กีฬา คนดังหน้าจอ ธุรกิจชั้นนำ
ดังเช่นคำค้นดาวรุ่งพุ่งแรงที่สุดใน ประเทศไทย อันดับหนึ่งคือ เพลงลูกเทวดา ของศิลปินสนุ๊ก สิงห์มาตร ศิลปินค่ายเพลง อาร์สยาม เครือกลุ่มอาร์เอส เป็นเพลงที่มีการค้นหาทั้งหมด 1,386,587 ครั้ง ซึ่งค่าย อาร์เอสก็ยอมรับว่า ปัจจุบันบริษัทมีรายได้ จากการดาวน์โหลดเพลงออนไลน์ถึง 80 เปอร์เซ็นต์
อภิรักษ์ โกษะโยธิน ประธานกรรมการสถาบันองค์ความรู้แห่งเอเชีย (AKI) กล่าวว่าการนำข้อมูล Insight ของกูเกิลมาใช้ ทำให้เห็นกระแสที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะในประเทศเอเชียในปัจจุบันมีความเคลื่อนไหวมากที่สุด และไซต์ไกสต์ได้นำข้อมูลใน 8 ประเทศในเอเชีย คือ จีน ฮ่องกง อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม
การสำรวจข้อมูลทำให้เห็นเทรนด์ต่อไปข้างหน้า และข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากกูเกิลจะมีผลต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะการซื้อสินค้า-บริการ รวมไปถึงการพัฒนาบริการด้านราชการ
ข้อมูลในออนไลน์ที่ใช้กันมากที่สุดมี 3 ส่วน บันเทิง เทคโนโลยี และสังคม
อภิรักษ์ได้ชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลของสังคมออนไลน์ เช่น ผลกระทบด้านสังคม พร้อมกับยกตัวอย่างกรณีเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศเฮติ คนไทยไม่รู้จักเฮติ แต่คนไทยต้องการช่วยเหลือ ทำให้รัฐบาลไทยตั้งหน่วยงานรับบริจาค แต่ไม่ได้รับความสนใจเท่ากับภาคเอกชนโดยเฉพาะกระแสที่พูดถึงเฮติในออนไลน์ทำให้มีเงินบริจาคถึง 100 ล้านบาท
ส่วนด้านบันเทิง คนไทยนิยมดูหนัง เกาหลี และไปท่องเที่ยว ซึ่งในความเป็นจริงเกาหลีเป็นประเทศอุตสาหกรรม เช่น ต่อเรือ และผลิตรถยนต์ แต่เกาหลีได้ปรับการออกแบบผลิตภัณฑ์ และการรวมเนื้อหา ต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน
จากผลสำรวจของไซต์ไกสต์ สถาบันเอเคไอ ได้นำข้อมูลมาต่อยอดเพื่อสำรวจความคิดเห็นคนกรุงเทพฯ จำนวน 600 คน คิดอย่างไรต่อการศึกษา บันเทิง ข่าวสาร เทคโนโลยี เมื่อปลายปีที่ผ่านมา
ผลสำรวจพบว่า ด้านการศึกษาต้อง การให้เด็กไทยคิดเป็น ส่วนด้านข่าวสาร ยังติดตามผ่านโทรทัศน์เป็นหลัก หรือร้อยละ 95 ในขณะที่ติดตามผ่านสังคมออนไลน์ร้อยละ 46
ด้านกีฬาคนไทยนิยมดูผ่านอินเทอร์ เน็ตถึงร้อยละ 43 มากกว่าชมผ่านโทรทัศน์ ที่มีร้อยละ 32 ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าคนไทย บางส่วนนิยมดูการแข่งขันฟุตบอลผ่านอินเทอร์เน็ต
อภิรักษ์ย้ำให้เห็นว่าอิทธิพลของออนไลน์จะเป็นคลื่นใหม่มาแรงโดยเฉพาะใช้เป็นช่องทางสร้างกระแสให้เกิดขึ้น
กระแสออนไลน์เปิดกว้างให้เกิดการ ปรับตัวกับทุกอาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการทำธุรกิจใช้ลดอุปสรรคในการติดต่อสื่อสารกับผู้คนภายนอก
แม้แต่นักการเมืองในปัจจุบันก็ได้เข้าไปใช้ออนไลน์เพื่อสื่อสารกับประชาชน เช่น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีที่ใช้เฟสบุ๊ก
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก่อนที่จะผลักดันธุรกิจจะต้องรู้ว่าผู้บริโภคต้องการอะไร
การโปรโมตไซต์ไกสต์ของกูเกิล แม้ว่าผู้บริหารจะปฏิเสธว่าไม่ได้หวังรายได้ แต่สร้างข้อมูลให้ลูกค้านำไปใช้วิเคราะห์เพื่อกำหนดแผนธุรกิจ
ทว่าไซต์ไกสต์จะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิผลจริงหรือไม่ จะฟังแต่คำกล่าวอ้างเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่ผู้ใช้ต้องทดลองเข้าไปใช้ว่าเป็นอย่างไร
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|