ตุลาคม 2554 จากสีแดงกลายเป็นสีส้ม

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

ในเดือนตุลาคมนี้ธนาคารสาขานครหลวงไทยจะไม่เหลือร่องรอยให้เห็นอีกต่อไป เพราะสาขาทุกแห่งต้องปรับเป็นสาขาของธนาคารธนชาต

หลังจากธนาคารธนชาตได้ซื้อกิจการนครหลวงไทย ตลอดกว่าปีที่ผ่านมามีการปรับปรุงองค์กรหลายประการและหนึ่งในนั้นก็คือการปรับโฉมใหม่ของนครหลวงไทยไปเป็นสาขาของธนชาต เปลี่ยนจากสัญลักษณ์ที่เคยใช้สีแดงไปเป็นสีส้ม

นพดล เรืองจินดา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) บอกกับผู้จัดการ 360 ํ ถึงแผนการปรับปรุงสาขาว่า ภายในเดือนตุลาคมนี้สาขาทั้งหมด 678 แห่งทั่วประเทศที่เป็นของนครหลวงไทยบางส่วนจะปรับโฉมใหม่เป็นสาขาของธนชาตทั้งหมด

แผนการปรับปรุงสาขาเขาได้แจ้งกับผู้บริหารประจำสาขาและพนักงานกว่า 8,000-10,000 มาอย่างต่อเนื่อง โดยผ่านการสื่อสารหลากหลายประเภท เช่น อีเมล เอกสาร และรายงานผ่านรายการธนชาตทีวีแชนแนล

โฉมใหม่ของธนาคารเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการปรับปรุงสาขา เพราะระยะที่ผ่านมาธนาคารได้ปรับระบบการทำงานของนครหลวงไทยให้เหมือนกับธนาคารธนชาต โดยเฉพาะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลสาขา นครหลวงไทยจะเรียกว่า “เขต” ในขณะที่ธนชาต เรียกว่า “ฮับ” และธนาคารจะเปลี่ยนจาก “เขต” ให้กลายเป็น “ฮับ” ทั้งหมด

ธนาคารจะมีฮับกระจายอยู่ทั่วประเทศทั้งหมดมี 22 แห่ง มีซีอีโอทำหน้าที่ดูแลสาขา เพราะฮับ 1 แห่งจะดูแลสาขาตั้งแต่ 15-50 แห่ง และในแต่ละฮับจะมีหัวหน้าหลายฝ่าย เช่น หัวหน้าดูแลฝ่ายขาย หัวหน้าดูแลสาขา

สาขาของธนชาตและนครหลวงไทยพื้นที่ตั้งส่วนใหญ่จะไม่ได้อยู่ใกล้กัน เพราะสาขาธนชาตส่วนใหญ่อยู่ในห้างสรรพสินค้า ในขณะที่นครหลวงไทยตั้งอยู่ด้านนอก จึงกลายเป็นการเติมเต็มพื้นที่หายไป แต่ก็มีพื้นที่บางแห่งที่สาขาตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน

สมเจตน์ หมู่ศิริเลศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการธนาคารธนชาต ได้ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า กรณีสาขาทั้ง 2 แห่งตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน แต่อยู่ในย่านชุมชนอย่างเช่น เยาวราช ธนาคารก็จะเปิดทั้งสองแห่ง เพราะมองเห็นเป็นโอกาสมากกว่าการทับซ้อน เหมือนกับร้าน 7-11 อยู่ตรงข้ามกัน หรือไม่ห่างกันมากนัก สินค้าก็ยังขายดี

ที่ผ่านมาบริการหลักของสาขาธนชาตจะรับฝาก-ถอน ให้บริการบัตรเครดิต ในขณะที่บริการสินเชื่อยังไม่แข็งแกร่งเพราะให้บริการผ่านโทรศัพท์

แต่นครหลวงไทยมีจุดแข็งให้บริการสินเชื่อ สาขาสามารถปล่อยสินเชื่อบุคคลได้ถึง 5 หมื่นล้านบาท ดังนั้นธนชาตจะนำระบบการทำงานของนครหลวงไทยมาเป็นต้นแบบให้บริการสินเชื่อต่อไป รวมถึงเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่สินเชื่อด้านเอสเอ็มอี และสินเชื่อบ้านในสาขา

ส่วนวัน เวลา เปิดบริการของสาขา ธนาคารจะมี 3 รูปแบบ เปิด 5 วัน 6 วัน และ 7 วัน ส่วนเวลาจะแตกต่างกันไป เช่น 8.00 น. หรือ 8.30 น. ส่วนเวลาปิด 16.00 น. 16.30 น. หรือ 17.00 น. ทั้งนี้วันและเวลาที่เปิดแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสถานที่และชุมชนกลุ่มเป้าหมาย

นพดลยอมรับว่าสาขาธนชาตยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่อยู่ระหว่างการพัฒนาปรับปรุงทั้งในส่วนของระบบไอที และพนักงานที่จะต้องเรียนรู้ระบบการทำงานให้เป็นไปในรูปแบบเดียวกัน โดยเฉพาะธนาคารจะใช้รูปแบบสื่อสารกับพนักงานผ่านทีวีแชลแนล ทุกวันทำงาน วันละ 2 ครั้ง ก่อนและหลังทำงาน เพื่อให้พนักงานได้รับรู้ถึงนโยบาย ผลิตภัณฑ์ และข่าวสารความเคลื่อนไหวของธนาคาร

ก่อนหน้านี้นพดลบอกว่าเขามีความคิดต้องการปรับปรุงสาขาอย่างรวดเร็วและพร้อมกันทั้งหมดทั่วประเทศ แต่สโกเทียแบงก์ในฐานะพันธมิตรจะเตือนว่าการปรับเปลี่ยนสาขาจะต้องพานพบสิ่งใดบ้าง เพราะจากประสบการณ์การควบรวมกิจการของสโกเทียแบงก์ในต่างประเทศทำให้เขารู้ว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างไร ดังนั้น สโกเทียแบงก์จะเป็นส่วนหนึ่งที่ให้คำแนะนำได้เป็นอย่างดี

ด้วยความพร้อมทั้งเงินทุน บุคลากร และสาขา ทำให้นพดลมีเป้าหมายและอดไม่ได้ที่จะพัฒนาสาขาของธนชาตให้ทัดเทียมกับธนาคารไทยพาณิชย์ หรือธนาคารกสิกรไทย

งานนี้ต้องดูว่าพี่ๆ อย่างแบงก์ไทยพาณิชย์และกสิกรไทยจะต้อนรับน้องใหม่อย่างธนชาตในแบบไหน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.