ธนาคารธนชาตในมิติใหม่ “เราจะแข่งกับใครก็ได้ในประเทศนี้”

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

อาจจะเร็วเกินไป หากจะบอกว่าธนาครธนชาตมุ่งหมายจะเป็นหนึ่งในผู้นำธนาคารพาณิชย์ แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเป็นสถาบันการเงินน้องใหม่ที่ทะยานจากธนาคารขนาดเล็กกลายไปเป็นแบงก์ขนาดใหญ่ เป็นเรื่องน่าจับตามองไม่น้อย

“เราพร้อมแล้วในฐานะธนาคารอันดับ 5 ของประเทศไทย เรามีฐานธุรกิจครบเครื่อง และเชื่อว่าเราจะเจริญเติบโตในทุกด้าน” เป็นคำกล่าวของสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)

ด้วยคำกล่าวที่ฮึกเฮิมของแม่ทัพ สมเจตน์ น่าจะสร้างขวัญและกำลังใจให้พนักงานกว่า 16,844 คน ซึ่งได้รวมพนักงาน 2 องค์กร คือธนาคารธนชาต กับธนาคารนครหลวงไทย

ธนาคารธนชาตเป็นอีกหนึ่งธนาคารลูกครึ่งมีผู้ถือหุ้นหลักอยู่ 2 กลุ่ม คือ บมจ.ทุนธนชาต ที่มีกลุ่มบริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่มเจ้าของธุรกิจ มาบุญครองเป็นผู้ถือหุ้นหลัก ส่วนสโกเทียแบงก์ ประเทศแคนาดาถือหุ้นในธนาคารธนชาตร้อยละ 48.99 โดยเริ่มเข้ามาถือหุ้น ตั้งแต่ปี 2550

หลังจากที่ธนาคารธนชาตเข้าซื้อกิจการธนาคารนครหลวงไทยอย่างเป็นทางการเมื่อปีที่ผ่านมาและต้องใช้เวลากว่า หนึ่งปีเพื่อรวมทรัพย์สิน พนักงาน ระบบไอที และส่งแผนปฏิบัติการให้ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุมัติในไตรมาสแรกของปีนี้

เป้าหมายการเข้าซื้อกิจการธนาคาร นครหลวงไทยของธนาคารธนชาต เพื่อเป็นธนาคารที่ให้บริการการเงินครบวงจร และเป็นธนาคารขนาดใหญ่เทียบเท่ากับธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารกสิกรไทย เพราะก่อนหน้านี้ธนาคารธนชาตตระหนักดีว่าบริการการเงินทุกประเภทหากมีส่วนแบ่งการตลาดน้อยกว่าร้อยละ 10 จะทำให้ตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก

หากธนาคารมีเป้าหมายใหญ่ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นแบงก์ขนาดเล็กต่อไป

ตลอดระยะเวลาการทำธุรกิจของธนาคารธนชาตกว่า 30 ปีที่ผ่านมา มีจุดแข็งคือเป็นผู้ให้บริการเช่า-ซื้อรถยนต์ ปัจจุบันเป็นผู้นำให้บริการด้านนี้และมีส่วน แบ่งการตลาดร้อยละ 25-26 ขณะที่ธนาคาร นครหลวงไทยมีจุดแข็งที่จำนวนสาขา มีลูกค้าสินเชื่อกลุ่มองค์กรและเอสเอ็มอี

สิ่งที่ธนาคารนครหลวงไทยมีเป็นสิ่งที่ธนาคารธนชาตต้องการมาเสริมจุดอ่อน

ดังนั้นการรวมกิจการของทั้งสอง ธนาคาร ทำให้ธนาคารธนชาตเพิ่มบุคลากร ของธนาคาร สาขา ตู้เอทีเอ็ม แม้กระทั่งสินทรัพย์ก้าวกระโดดเป็น 872,654 ล้านบาท กลายเป็นอันดับ 5 ของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย

ธนชาตแบ่งลูกค้าออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือลูกค้ารายย่อย และกลุ่มลูกค้าองค์กร และเอสเอ็มอี ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับองค์กรได้กลุ่มละร้อยละ 50

รายได้อย่างละครึ่งที่มาจากรายย่อย และองค์กร เป็นสิ่งที่ธนาคารส่วนใหญ่ปรารถนา โดยเฉพาะลูกค้ารายย่อย เพราะ ข้อดีของการมีรายย่อยจำนวนมากจะช่วยกระจายความเสี่ยง และได้รับผลตอบแทนมาก

ที่ผ่านมาธนชาตจะมีรายได้ของทั้งรายย่อยและรายใหญ่เท่ากันก็ตาม แต่ในอนาคตธนาคารจะขยายไปยังกลุ่มลูกค้าราย ย่อยเพิ่มขึ้น เพราะมองว่าจะทำให้ธุรกิจโต อย่างจีรังมากกว่า

แม้สมเจตน์จะกล่าวว่าธนาคารมีความพร้อม มีธุรกิจครบเครื่อง แต่เขาก็ยอมรับว่าดีเดย์ของธนาคารธนชาตจริงๆ คือไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ เพราะจากนี้ไปอีก 7 เดือน ธนาคารยังอยู่ในกระบวนการแผน ควบรวม โดยมีทีมเข้ามาช่วยในการควบรวมในครั้งนี้ทั้งหมด 30 ทีม อาทิ ทีมโอเปอ เรชั่น ทีมไอที ทีมสื่อสาร ทีมอบรม และทีมที่ถูกจัดตั้งขึ้นมีผู้บริหาร 300 คนของทั้งสองธนาคารร่วมกันปฏิบัติแผนดังกล่าว

ในช่วงเวลาควบรวมกิจการ ทั้งสองธนาคารยังคงเปิดให้บริการไปตามปกติ แต่ธนาคารธนชาตได้เริ่มปรับดอกเบี้ยเงินฝากระหว่างธนาคารนครหลวงไทยและธนาคารธนชาตให้เท่ากัน แม้ว่าเอกสารจะยังคงใช้แตกต่างกันอยู่ในปัจจุบัน

ผู้บริหารยืนยันว่าในเดือนตุลาคมจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะสาขา ของนครหลวงไทยจะถูกปรับโฉมใหม่ให้กลายเป็นสาขาธนชาตทั้งหมดโดยมีสีส้มเป็นสัญลักษณ์ จากทั้งหมดมีสาขารวมกัน 678 แห่ง

ส่วนลูกค้าจำนวน 3,800,000 รายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งที่มีบัญชีเงินฝาก บัตรเครดิต บัตรเอทีเอ็มของนครหลวงไทย ก็สามารถนำไปใช้บริการในสาขาธนชาต และต่อไปในอนาคตบริการทุกประเภทจะเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ของธนชาตทั้งหมด

ด้านระบบไอที สโกเทียแบงก์ได้เข้า มาช่วยวางระบบเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา และธนาคารได้พัฒนาระบบให้เชื่อมโยงกันได้ และนับว่าเป็นเรื่องโชคดีที่ระบบคอร์แบงก์กิ้งของทั้งสองธนาคารใช้ระบบคล้ายกันคือ ของบริษัท Silver Lake ประเทศมาเลเซีย แต่ธนชาตได้นำระบบไอทีของไอบีเอ็มเข้ามาเสริมเพิ่มเติม และระบบเหล่านี้จะทำให้ ลูกค้าของธนาคารทั้งสองแห่งสามารถฝาก-ถอนได้ทุกสาขา รวมถึงบริการอื่นๆ

ส่วนด้านบุคลากรอยู่ระหว่างการผสมผสานของ 2 องค์กร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บอกว่า สำนักงานใหญ่ในห้างสรรพสินค้ามาบุญครองพนักงานธนชาตและนครหลวง ไทยเริ่มทำงานร่วมกัน

สมเจตน์บอกว่าการรวมพนักงานได้มีการพูดคุยตั้งแต่ปี 2553 โดยเฉพาะ ผู้จัดการสาขาที่นพดล เรืองจินดา รองกรรมการผู้จัดการ รับผิดชอบดูแลสาขาทั้งหมด ในปีนี้จะต้องเดินสายพูดคุยอีกครั้ง เพราะนอกจากบริการด้านการเงินในสาขา แล้วยังมีผลิตภัณฑ์เช่าซื้อและอื่นๆ ขายผ่านสาขา เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน

แม้สมเจตน์จะเอ่ยปากเรื่องจำนวนบุคลากรเกือบ 7 หมื่นคนที่หลายคนมองว่า มีจำนวนมาก และอาจก่อให้เกิดการคัดพนักงานออกบางส่วน ในความเห็นของเขามองว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่โต และพนักงานจะถูกปรับให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม และวัดผลการทำงานด้วยระบบเคพีไอ (KPI: Key Performance Indicator) เป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพการทำงาน

เขามั่นใจว่ามาตรฐานเคพีไอจะช่วย ตัดระบบพวกพ้อง ทำให้พนักงานไม่หลุดกรอบหรือหลงประเด็น ช่วยทำให้บริหารงานอย่างเป็นธรรม

สมเจตน์มองว่าธุรกิจบางส่วนของธนาคารมีความจำเป็นต้องใช้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะธุรกิจเช่า-ซื้อรถยนต์ เพราะธุรกิจเหล่านี้ต้องสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า

ในส่วนของพนักงานเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ธนาคารได้สื่อสารกับพนักงาน 4-5 ครั้งต่อเดือนเพื่อสร้างความเข้าใจถึงทิศทางของธนาคาร

ด้านลูกค้า ธนาคารได้ส่งหนังสือเปิดผนึกถึงลูกค้าไปเมื่อปีที่แล้วเพื่อชี้แจงการควบรวมกิจการจะไม่ส่งผลกระทบต่อบริการที่ลูกค้าใช้อยู่ และหลังจากนี้ธนาคาร จะส่งจดหมายไปยังลูกค้าอย่างต่อเนื่องและ ข้อความจะเข้มข้นเพื่อรับประกันบริการ รวมทั้งสอบถามถึงความกังวล และต้อง การความช่วยเหลืออย่างไร

ส่วนบริษัทในเครือทั้ง 5 แห่ง ที่ดำเนินธุรกิจคล้ายกัน คือในฝั่งของธนชาต ประกอบด้วย

1. บริษัทหลักทรัพย์ธนชาต จำกัด (มหาชน)

2. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ธนชาต จำกัด

3. บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด

4. บริษัท ธนชาตประกันชีวิต จำกัด

5. บริษัท ธนชาตกรุ๊ปลีสซิ่ง จำกัด

ในส่วนของธนาคารนครหลวงไทยประกอบด้วย 5 แห่ง คือ

1. บริษัทหลักทรัพย์ นครหลวงไทย จำกัด

2. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน นครหลวงไทย จำกัด

3. บริษัทสยามซิตี้ประกันภัย จำกัด

4. บริษัท ประกันชีวิตนครหลวงไทย จำกัด

5. บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน)

บริษัทในเครือที่ดำเนินธุรกิจซ้ำซ้อน กัน ธนชาตได้ดำเนินการควบรวมบริษัทหลักทรัพย์ทั้งสองแห่งไว้ด้วยกันเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ด้วยการโอนพนักงานและระบบบัญชีทั้งหมด

ส่วนธุรกิจประกันชีวิตในนครหลวงไทยจะถือหุ้นร้อยละ 100 ก็ตามอยู่ระหว่าง การพิจารณาต่อไป ด้านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนอยู่ระหว่างดูความชัดเจนของนโยบาย คาดว่าจะใช้เวลาอีก 2-3 เดือน ส่วนอีก 2 บริษัท คือบริษัทราชธานีลิสซิ่ง และบริษัทประกันชีวิตนครหลวงไทย จำกัด ธนาคารนครหลวงไทยไม่ได้ถือหุ้นใหญ่ ธนาคารธนชาตจะเจรจากับผู้ถือหุ้นใหญ่ก่อนแล้วจะพิจารณาต่อไปว่าจะดำเนินธุรกิจ ไปในทิศทางใด

จะเห็นได้ธนาคารธนชาตเลือกควบรวมกิจการธุรกิจหลักทรัพย์เป็นบริษัทแรก ทั้งนี้เป็นเพราะว่านครหลวงไทยถือหุ้น อยู่ร้อยละ 100 ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าตลาดทุนมีโอกาสอย่างมาก โดยเฉพาะในปัจจุบันมีการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันธุรกิจหลักทรัพย์จะเปิดเสรีในเร็วๆ นี้ และเป็นช่องทางหนึ่ง ที่จะเพิ่มรายได้ให้กับบริษัท

ส่วนบริษัทในเครือที่นครหลวงไทยไม่ได้ถือหุ้นใหญ่ ธนาคารยังไม่ได้ตัดสินใจ กำหนดทิศทางธุรกิจในระยะอันสั้น เพราะ ต้องการให้ผู้ถือหุ้นใหญ่จากภายนอกเป็นผู้ตัดสินใจก่อนลำดับแรก

การรวมความเชี่ยวชาญของธนาคาร ธนชาต ซึ่งมีความเชี่ยวชาญลูกค้ารายย่อย ธนาคารนครหลวงไทยเชี่ยวชาญด้านลูกค้า ภาคธุรกิจและสโกเทียแบงก์มีประสบการณ์ ด้านการค้าระหว่างประเทศและระบบงานที่เป็นมาตรฐานสากล กับคำกล่าวของซีอีโอ สมเจตน์ ที่บอกว่า “เราพร้อมแล้วที่จะแข่งขันกับใครก็ได้ในประเทศนี้”

สมเจตน์และทีมผู้บริหารระดับสูงที่ขึ้นมาบริหารงานในธนาคารเกือบทั้งหมด ล้วนมาจากทีมธนชาตและผู้ถือหุ้นสโกเทียแบงก์ ดูเหมือนจะกระตือรือร้นในเวทีใหม่ไม่น้อย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.