|
เราจะเลือกเอาอะไร... อาหาร หรือพลังงาน
โดย
พัชรพิมพ์ เสถบุตร
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
ความหวาดหวั่นในเรื่องอาหารและพลังงานที่นักวิชาการหลายคนตั้งข้อกังขาไว้ กำลังจะเกิดขึ้นแล้ว
ความต้องการพลังงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากการพัฒนาเศรษฐกิจ จากการเร่งรัดการพัฒนาสู่โลกนวัตกรรม จากการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน สิ่งเหล่านี้ล้วนต้องการเชื้อเพลิงและพลังงาน แต่แหล่งพลังงานกำลังเหือดหายลงไป ด้วย มีปริมาณจำกัด ประเทศจีนและอินเดียซึ่งกำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดด กำลังกระหายพลังงานเป็นอย่างยิ่ง
ในการจัดหาพลังงานมาป้อนความต้องการนั้น แบ่งออกเป็นสองทาง เส้นทาง หนึ่งคือ การพัฒนาพลังงานทดแทน (alternative energy) ถ้าเป็นพลังงานที่สามารถหมุนเวียนคืนรูปกลับมาใช้ใหม่ได้ ก็เรียกว่า พลังงานคืนรูป (renewable energy เช่น ลม แสงอาทิตย์ น้ำ) อีกเส้นทางหนึ่งคือการขุดเจาะเสาะหาแหล่งน้ำมันใหม่ๆ แม้ว่าอาจจะมีอยู่บ้าง แต่การ เข้าถึงแหล่งน้ำมันใหม่ๆ ก็ยากยิ่ง และยังมีปัญหาการเมือง ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม อุบัติภัย ล้วนเป็นมหันตภัยทั้งสิ้น ดังปรากฏให้เห็นอยู่ในหลายๆ ประเทศทุกวันนี้ ส่วนการใช้ นิวเคลียร์ผลิตพลังงานก็เป็นความเสี่ยงอย่างสุดๆ แต่ละเรื่องของการเสาะหาน้ำมัน เป็นเรื่องที่ควรจะนำมาเปิดเผยให้เข้าใจกัน จริงๆ เพื่อให้ประชาชนคนทั่วไปตระหนัก ถึงคุณค่าของพลังงานมากขึ้น
พลังงานทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดในปัจจุบันคือ biofuel
เราจะพึ่งพาแหล่งพลังงานแบบเดิม ต่อไปได้อีกนานแค่ไหน คำตอบในปัจจุบัน ก็คือ เราจำเป็นต้องหาแหล่งพลังงานทางเลือกในทุกๆ วิถีทางที่เราทำได้ โดยเร็วที่สุด ในขบวนทางเลือกทั้งหมด เชื้อเพลิง ชีวภาพ หรือ biofuel น่าจะมีความเป็นไป ได้กับการใช้งานในปัจจุบันมากที่สุด เพราะ มีความเหมาะสมในการผลิต การค้า การเศรษฐกิจและการบริโภคมากที่สุด เชื้อเพลิง ชีวภาพหรือเชื้อเพลิงที่ได้จากพืชผลที่มีอยู่ในท้องตลาดทุกวันนี้คือ แก๊สโซฮอล และไบโอดีเซล
แก๊สโซฮอลเป็นส่วนผสมของน้ำมัน เบนซินและเอทานอล (ที่ได้จากอ้อย มันสำปะหลัง) ไบโอดีเซลเป็นส่วนผสมของน้ำมันดีเซลและน้ำมันปาล์ม ทั้งสองประเภท กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะ เผาไหม้ได้ดีและมีราคาถูกกว่าน้ำมัน ค่ายรถยนต์ต่างๆ ก็ผลิตรถยนต์ออกมารองรับมากขึ้น กล่าวคือไม่มีปัญหาด้านการยอมรับ หรือ demand แต่ด้าน supply ซิ! เริ่มเห็น เค้าแห่งปัญหาปรากฏตัวขึ้นแล้ว
ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้
เนื่องจากการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพยังต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากพืชผลเศรษฐกิจ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง และผลปาล์ม แต่ พืชผลเหล่านี้ก็ยังเป็นพื้นฐานการกินอยู่ของคนจำนวนมาก แล้วเราจะให้น้ำหนักด้านใดก่อน
ไม่ว่านักปกครอง นักการเมือง จะออกมาพูดจายังไงก็ตาม สถานการณ์น้ำมัน ปาล์มขาดแคลนในเมืองไทย (หรือหายไปจากท้องตลาด) บ่งชี้ให้เห็นว่าปัญหาวิกฤติ ได้เกิดขึ้นแล้ว เมื่อมองเฉพาะหน้า เราอาจ จะโทษว่าเป็นเพราะการกักตุน หรือความไม่ชอบมาพากลของคนที่เกี่ยวข้องแต่ถ้าดูลึกลงไป ยังมีปัจจัยที่เหนือการควบคุมอีกหลายประการหลักๆ คือปริมาณและราคาผลผลิตพืชผลที่ผันผวนไม่แน่นอน บางครั้ง ผลผลิตออกมามากเกินไป บางครั้งน้อยเกิน ไป เหตุที่ทำให้เป็นไปเช่นนั้นก็เป็นอะไรที่เราควบคุมไม่ได้ ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ และธรรมชาติ อันได้แก่ น้ำท่วม น้ำแล้ง พื้นที่ดินเพาะปลูกที่จำกัด และผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการเพาะปลูกที่เร่งรัด
ความสมดุลระหว่างอาหารและพลังงาน-ทำได้ยากยิ่ง
ยิ่งมีประชากรเพิ่มขึ้น มีปากท้องมากขึ้น พืชผลเหล่านี้ก็จำต้องนำมาเป็นอาหารปะทังชีวิตก่อนตามหลักมนุษยธรรม แล้วพลังงานล่ะ! ถ้าขาดพลังงานขึ้นมา หมายถึงเศรษฐกิจหยุดชะงักและวิถีชีวิตของผู้คนก็ต้องย้อนกลับไปสู่สมัยหิน การวางหมากทำให้เกิดความสมดุลระหว่างอาหารและพลังงาน จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ยิ่ง แผนหลักและนโยบายของรัฐในเรื่องพลังงานและทรัพยากรจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ มากที่จะต้องนำไปปฏิบัติให้ได้จริงจัง มิใช่ คอยแต่จะขายผ้าเอาหน้ารอด แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวันหนึ่งๆ เท่านั้น เพราะพืชผลการเกษตรเกี่ยวข้องกับประชาชนคนไทย โดยตรง ส่วนเรื่อง 3G และนวัตกรรมด้าน อื่นๆ นั้นเป็นลำดับรองลงมาทั้งสิ้น
ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการเกิดภาวะโลกร้อนจากการปลูกพืชผลพลังงาน ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่จะต้องคำนึงถึง เพราะ การปลูกจะต้องใช้สารเคมีและมีการตัดไม้ทำลายป่าเป็นบริเวณกว้าง ปุ๋ยเคมีก่อให้เกิดก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซเรือน กระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ส่วนการทำลายป่าทำให้สูญเสียสภาพธรรมชาติที่ดูดกลืนก๊าซเรือนกระจกและรักษาความชุ่มชื้น ดังเช่นที่ได้เกิดขึ้นแล้วในอินโดนีเซีย และบราซิลอยู่ขณะนี้ ในอินโดนีเซีย ป่าฝน เขตร้อนที่หายากของโลก ถูกทำลายไปกลายเป็นสวนปาล์มเป็นบริเวณกว้างและในบราซิล ป่าอะเมซอนซึ่งถือว่าเป็นปอดของโลกก็ถูกหักร้างถางพงไปมากกว่าครึ่ง เพื่อปลูกอ้อย ถั่วเหลือง ที่บราซิลส่งออกไปสู่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก
ทางออกคือการค้นคว้าวิจัย และการบริหารจัดการที่ดี
ทางออกที่พอ จะเห็นได้ในเวลานี้สำหรับประเทศไทย คือนโยบายการจัดสรร การใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสมให้พื้นที่เพาะปลูกพืชน้ำมันไม่มากเกินไป ไม่น้อย เกินไป กล่าวคือไม่ไปเบียดบังพืชผลชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะที่เป็นอาหาร ส่วนในระยะ ยาว รัฐบาลจะต้องสนับสนุนการค้นคว้าวิจัย พืชพลังงานชนิดอื่นๆ มาเป็นทางเลือกแทน ปาล์ม อ้อย มันสำปะหลัง ที่เป็นอาหาร พืชทางเลือกเหล่านี้ได้แก่ สาหร่าย วัชพืช (เช่น ผักตบ) และกากของเสียชีวมวลต่างๆ (เช่น ขี้เลื่อย ฟาง หญ้า แกลบ)
ประเทศเพื่อนบ้านที่ก้าวไปไกลกว่า เรา ล้วนหาทางออกต่อปัญหานี้กันแล้ว มาเลเซียและสิงคโปร์เริ่มมีความเคลื่อนไหว ส่วนประเทศทางตะวันตกบางประเทศก็กำลังทำการศึกษาวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อจะผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากวัชพืชและของเสียซึ่งไม่ได้ใช้เป็นอาหาร
ข่าวในเว็บไซต์แห่งหนึ่งเผยว่า บริษัท Neste Oil ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติฟินแลนด์ได้ร่วมมือกับสิงคโปร์ สร้างโรงงาน ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพขนาดใหญ่ที่สุดในโลกขึ้นมา ที่ว่าใหญ่นี้มิใช่แต่เพียงขนาด! แต่รวมไปถึงขอบข่ายงานของการผลิต ซึ่งรวมไปถึงการผลิตที่เน้นถึงการใช้วัตถุดิบที่หลากหลายป้อนเข้าสู่โรงงาน เน้นวัตถุที่ไม่ใช่อาหาร เช่น สาหร่าย วัชพืช กากของเสียประเภทเส้นใย ซึ่งแน่นอนจะต้องมีการวิจัยที่ลงทุนสูง แต่ถ้าทำได้ก็สร้างผลกำไรมหาศาล ทั้งยังสามารถเอาชนะปัญหาเรื่องอาหารและพลังงานได้ด้วย
ประเทศไทยจำต้องลงทุนศึกษาวิจัยในด้านนี้อย่างจริงจังเช่นกัน รวมทั้งมีการทำแผนนำนโยบายไปปฏิบัติอย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างอาหารและพลังงานให้ได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|