|
Greener Enterprise: ต้องเข้าใจโยงใยที่ซ่อนเร้น
โดย
ดร. เมธาคุณ ตุงคะสมิต
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
ก่อนจะคุยเรื่องอื่น ผมต้องขอเป็นกำลังใจให้กับชาวญี่ปุ่นทุกคนที่ประสบเคราะห์กรรมจากพลังของธรรมชาติ ภาพเหตุการณ์ที่เราเคยเห็นเป็นเพียงฉากหนึ่งในหนังแอนิเมชั่น กลับกลายเป็นเรื่องจริงที่สะเทือนใจคนทั้งโลก
ทั้งหมดทั้งปวงนี้เป็นสิ่งเตือนใจให้เราต้องตั้งตนอยู่ ในความไม่ประมาท นั่นอาจ เป็นเพราะพวกเราเผ่ามนุษย์ได้ทำร้ายโลกด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือรู้แล้วก็ยังคงทำร้ายโลกต่อไปด้วยกรอบวิธีคิดอันคับแคบ
ใช่หรือไม่ว่า...โยงใยที่ซ่อนเร้นในธรรมชาตินั้นมีอยู่อย่างสลับซับซ้อน หากพวกเรา เผ่ามนุษย์ผลีผลามเข้าไปตัดโยงใยของธรรมชาติโดยขาดการทำความเข้าใจและเรียนรู้อย่างอหังการ
บทเรียนของผมครั้งนี้ได้จากการกวาดใบไม้หน้าบ้านครับ
เรื่องมีอยู่ว่า เจ้าต้นหูกระจงหน้าบ้านที่ปลูกติดถนนซอย ซึ่งเธอช่างใหญ่โตเป็นร่มเงาที่พึ่งพาได้ทั้งคนธรรมดาและทั้งหมาจรจัด แต่พอถึงคราหน้าแล้งทีไร เธอต้องสลัดใบเพื่อสงวนน้ำและความชื้นไว้เพื่อความอยู่รอด
นี่ถ้าเธอเติบโตในป่า ใบที่ร่วงหล่นของเธอคงจะทำหน้าที่ปกคลุมผืนดินรอบๆ เพื่อกักเก็บความชื้นและค่อยๆ ย่อยสลายกลายเป็นธาตุอาหารและแหล่งพักพิงของสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยที่อยู่บนดินและใต้ดินลงไป
ธรรมชาติสร้างทุกส่วนของเธอขึ้นมาให้มีประโยชน์ในทุกๆ ด้านตามฤดูกาล ที่เปลี่ยนผัน...ใช่ครับ ธรรมชาติไม่เคยสร้างส่วนใดที่เป็น “ส่วนเกิน” หรือ “ขยะ” เลย หากเธอได้อยู่ถูกที่ถูกทาง
ในป่าไม่เคยมีใครต้องกวาดใบไม้ไปทิ้ง หรือแม้กระทั่งซากสัตว์ที่ล้มตาย ก็ล้วนแต่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตรุ่นต่อไป ไม่เคยมีใครต้องเข้าไปจัดการ ไม่เคยมีการ ผลักภาระให้ใครแต่ประการใด นี่คือคุณลักษณะของระบบนิเวศวิทยา ที่เรียกว่า “Self Organization”
แต่ต้นหูกระจงหน้าบ้าน ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของผม เพราะเป็นต้นไม้ “ประดับ” บ้านที่สวยงามและให้ความร่มรื่น ตอนนี้กลับสร้างภาระให้ผมต้องมากวาดใบไม้ใต้ต้นแทบจะทุกวัน
ด้วยเพราะใต้ต้นหูกระจงเป็นถนนคอนกรีตที่มนุษย์สร้างขึ้น...
ใบที่แห้งเหี่ยวร่วงหล่นจึงกลายเป็นขยะกองโต ที่สร้างภาระให้ต้องเก็บกวาดทุกวัน...
ต้องซื้อถุงขยะพลาสติก สีดำมาใส่ใบไม้กองโต...ไปใส่ถังขยะพลาสติกสีเขียว...
เพื่อรอรถขยะสีเขียว...ที่ใช้น้ำมันดีเซลสีดำ...ปล่อยควันโขมงมาตามเก็บไปทิ้งที่กองขยะไกลบ้าน
แน่นอนล่ะ...ใครสักคนที่กองขยะจะต้องฉีกถุงดำออกเพื่อแยกใบไม้ออกจากพลาสติกอีกต่อหนึ่ง
ช่างเป็นตัวอย่างของวิธีคิดแบบแยกส่วนที่สร้างงานที่ไม่จำเป็นให้กับคนอีกหลายคน กระทั่งต้องสูญเสียพลังงานโดยใช่เหตุ
ผมในฐานะของผู้ใต้บังคับบัญชา ผบ.ทบ. (ผู้บัญชาการที่บ้าน) ได้แต่กวาดใบไม้ไปนึกวิเคราะห์ไปแล้วก็หัวเราะไปคล้ายคนบ้า...
เพราะได้บทเรียนโดนใจว่า การทำงานกับธรรมชาติโดยขาดการเรียนรู้โยงใยที่ซ่อนเร้นนั้น ที่สุดแล้วก็คือการสร้างปัญหาและการผลักภาระต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด...ส่งผลถึงการสร้างมลภาวะปริมาณมหาศาลในโลกยุคปัจจุบัน
ไม่ต้องพูดไปไกลถึงการสร้างตึกรามบ้านช่อง ถนนหนทาง โรงงานอุตสาห-กรรม โดยขาดการทำความเข้าใจและเชื่อมโยงกับธรรมชาติรอบๆ หรอกครับ แค่สวนหย่อมไม่กี่สิบตารางวาในบ้านเราก็เริ่มมีปัญหาให้แก้ไขแล้ว ต้องตัด ต้องเล็ม ต้องเก็บใบไม้เศษไม้ ต้องจับหนอน ต้องบี้มด ต้องใส่ปุ๋ย ต้องฉีดยาฆ่าแมลง เพียง เพื่อให้สวนหย่อมของเราสวยงามเป็นที่ชื่นตาเจริญใจ เพียงนิดเดียวแค่นี้ก็ต้องสร้างภาระให้กับธรรมชาติไม่มากก็น้อย
หากย้อนดูแนวคิดการเกษตรแบบประณีต อันเป็นผลของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ใช้วิธีการปลูกต้นไม้และเลี้ยงสัตว์ให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมและพึ่งพา อาศัยกันเป็นลูกโซ่ เช่นปลูกพืชหลายอย่าง เพื่อป้องกันศัตรูพืช ซากพืชเอาไปเลี้ยงสัตว์ มูลสัตว์เอาไปทำปุ๋ยและก๊าซชีวภาพ แม้จะใช้พื้นที่ไม่มาก แต่ก็สร้างระบบที่ครบวงจรไม่ผลักภาระและยั่งยืน เสมือนหนึ่งเป็น Greener Enterprise ในอุดมคติจริงๆ
การวางแผนหรือการออกแบบที่นำ ปัจจัยพื้นฐานทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น ระบบนิเวศวิทยา พฤติกรรมสังคม ทรัพยากรในพื้นที่มาเป็นโจทย์ตั้งต้น ล้วนเป็นจุดเริ่ม ที่สำคัญที่สุดของ Greener Enterprise
ใช่ครับ...ตามตำราท่านบอกไว้ว่า การออกแบบที่ดีเป็นส่วนสำคัญที่จะการันตี ความเป็น Greener Enterprise
แต่ผมขอเพิ่มเติมอีกนิดนะครับ... ว่าความเข้าใจในโยงใยธรรมชาติที่ซ่อนเร้น อยู่ในกิจกรรมทุกกิจกรรมขององค์กรต้องมาก่อนการออกแบบ
เพราะความยั่งยืนของ Greener Enterprise นั้นขึ้นอยู่กับว่า เราสามารถเข้าใจบทบาทขององค์กรที่มีต่อธรรมชาติและสังคมมากน้อยเพียงใดด้วยนะครับ
ยิ่งถ้าเราคิดการใหญ่ เรายิ่งต้องทำความเข้าใจโยงใยที่ซ่อนเร้นในธรรมชาติให้มากขึ้นและหลากหลายมิติอีกด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|