“ตรวจวัดอากาศ” เชื่อได้แค่ไหน

โดย ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

หลังจากเกิดประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษที่มาบตาพุด โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งพยายามสร้างความมั่นใจให้กับชุมชนในพื้นที่ด้วยการติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ส่วนใหญ่เป็นรูปแบบของการตรวจวัดสารอินทรีย์ระเหยง่ายแบบต่อเนื่อง (VOCs) พร้อมป้ายแสดงผลคุณภาพสิ่งแวดล้อม (Display Board) ขณะที่ส่วนนิคมอุตสาหกรรมจำนวนไม่น้อยในพื้นที่เป็นอุตสาหกรรมหนักที่ใช้วัตถุดิบทั้งธรรมชาติและสารเคมีหลากหลายประเภท ปัจจุบันเฉพาะในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มีสถานีที่ติดตั้งแล้วเสร็จราว 20 จุด จากจำนวนที่มีแผนจะติดตั้งตั้งแต่ปลายปี 2553 จำนวน 23 จุด ในจำนวนนี้เป็นผู้แทนชุมชนที่แสดงความต้องการขอติดตั้งชุดตรวจวัดและป้ายแสดงผลถึง 12 แห่ง

การตรวจวัดกลายเป็นหนึ่งในทางออกของการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษที่นิยมทำในพื้นที่ ทั้งที่เป้าหมายที่แท้จริงควรเป็นเรื่องของการจัดการกับปัญหามลพิษและเปลี่ยนแปลงพลังงานที่ใช้ในนิคมส่วนใหญ่เป็นพลังงานสะอาด น่าจะเป็นการแก้ปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อมที่ต้นตอและชัดเจนกว่า การติดตั้งสถานีตรวจวัดและรายงานคุณภาพอากาศ

อุปกรณ์ตรวจวัดเหล่านี้ แม้จะใช้งบประมาณไม่มาก แต่ต้องอาศัยความรู้และความเข้าใจในการใช้และดำเนินงานดูแลรักษาเพื่อให้ระบบทำงานได้อย่างเชื่อถือได้ เพราะการจะตรวจวัดได้แม่นยำนั้น เครื่องตรวจควรจะต้องมีคุณสมบัติพื้นฐานเหล่านี้ ได้แก่ มีความไวในการตอบสนองต่อก๊าซที่ตรวจวัดที่รวดเร็วแม่นยำ มีมาตรวัดที่แสดงค่าได้เที่ยงตรง มีความเสถียรไม่เสียหรือเสื่อมสภาพเร็ว มีความจำเพาะต่อก๊าซที่ตรวจวัดได้ และมีพิสัยการวัดที่เหมาะกับคุณภาพอากาศ เรื่องเหล่านี้ล้วนต้องอาศัยผู้ดูแลที่มีความเข้าใจและใช้งานเป็น เช่นกรณีของพิสัยหรือช่วงกว้างของการวัด เซ็นเซอร์แต่ละตัวสามารถวัดปริมาณก๊าซได้ตั้งแต่ช่วงกว้าง 10-50 ppm (part per million: ppm) ไปจนถึง 100-1,000 ppm ซึ่งเป็นช่วงที่แตกต่างกันมาก

ตัวป้ายแสดงผลเองก็ต้องมีความชัดเจนและให้ผู้พบเห็นเข้าใจง่าย หรืออาจจะต้องให้ความรู้หรือทำความเข้าใจถึงหลักการอ่านผลที่แสดงเสียก่อน

ดังนั้น สิ่งที่ชุมชนต้องตระหนักก่อนจะเชื่อมั่นในอุปกรณ์และการแสดงผลจึงต้องเข้าใจหลักการทำงานเบื้องต้นเหล่านี้ด้วย อีกทั้งไม่ควรลืมว่า นอกจากงบประมาณที่บริษัทจัดให้สำหรับติดตั้งสถานี ควรต้องมีงบประมาณในการดำเนินงานและการดูแลรักษาที่จะทำให้เครื่องมือเหล่านี้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาวต่อไปได้ด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.