|

จับตา Southern Corridor เมื่อทั้ง ADB และออสเตรเลียร่วมแรงผลักดัน
โดย
เจษฎี ศิริพิพัฒน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
Southern Corridor ถือเป็นระเบียงเศรษฐกิจที่มีระดับการพัฒนาทิ้งห่างจากโครงการอื่นๆ ใน GMS แต่เมื่อจีนประกาศเดินหน้าก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงผ่านลาวและไทย ทั้งออสเตรเลียและ ADB ก็ไม่อาจอยู่เฉยสำหรับการเร่งรัดเดินหน้าโครงการทางด้านใต้ในหลายช่องทาง
เว็บไซต์สถานีวิทยุเอเชียเสรี ภาคภาษาเวียดนาม รายงานว่าเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงได้จัดประชุมกันที่ประเทศกัมพูชา เพื่อเร่งพัฒนาแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนล่าง (Southern Economic Corridor)
เนื่องจากการเชื่อมประสานการขนส่งผ่านแดนระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงตอนล่าง ปัจจุบันยังคงมีระยะห่างเปรียบเทียบกับระเบียงเศรษฐกิจสายอื่นๆ ประเทศเหล่านี้จึงตัดสินใจร่วมมือกัน 9 ขอบเขต ภายใต้ความช่วยเหลือของธนาคารพัฒนาเอเชีย และอีกบางชาติ
เร่งพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตอนล่าง
การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเมื่อวันพุธที่ 9 มีนาคม โดยบรรดาประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ได้จัดประชุมพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตอนล่าง ภายใต้ความช่วยเหลือทางการเงินจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และหน่วยงานพัฒนาระหว่างประเทศของออสเตรเลีย
ตัวแทนประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบด้วยไทย พม่า ลาว เวียดนาม จีน และกัมพูชา ได้จัดประชุมขึ้นที่กรุงพนมเปญ ภายใต้การเป็นประธาน ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา Cham Prasidh และการประชุมนี้ดำเนินต่อไปจนถึงวันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม
Cham Prasidh กล่าวว่า บรรดาประเทศบนแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนล่าง เป็นระเบียงเศรษฐกิจที่มีบทบาทสำคัญอีกสายหนึ่ง ในโครงการร่วมมือทางเศรษฐกิจของประเทศอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion : GMS) โดยระเบียง เศรษฐกิจอีก 2 สาย ประกอบด้วยระเบียงเศรษฐกิจสายตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) และระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor)
เขาย้ำว่า ถึงแม้การแลกเปลี่ยนสินค้า ความร่วมมือพัฒนากับท้องถิ่นต่างๆ ภายในประเทศและกับบรรดาประเทศในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงเปิดกว้าง เป็นหนึ่งในบรรดาประตูหันสู่ระเบียงเศรษฐกิจตอนล่าง แต่ก็กำลังมีระยะห่างค่อนข้างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับระเบียงเศรษฐกิจ 2 สายดังกล่าว อย่างไรก็ดี ระเบียงเศรษฐกิจตอนล่างก็กำลังพัฒนาและมีความคืบหน้าค่อนข้างมาก
Cham Prasidh เสริมว่า ระยะห่างนี้ไม่เพียงเพื่อให้ประเทศต่างๆ เชื่อมประสานยานพาหนะขนส่งต่างๆ เช่น ทางรถไฟ แต่ทางน้ำและทางอากาศต้องมีการ เสริมสร้างความร่วมมือกันด้วย
Thomas Crouch รองหัวหน้ากิจการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของธนาคาร พัฒนาเอเชีย (ADB) กล่าวในที่ประชุมว่า วัตถุประสงค์ของการจัดประชุมประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ว่าด้วยการพัฒนา บนแนวระเบียงเศรษฐกิจ คือเพื่อแก้ไขปัญหาที่ยังเหลืออยู่และเร่งความคืบหน้าการพัฒนาบนแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนล่างระหว่างประเทศอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง
เขาบอกว่าปัญหาเหล่านี้ประกอบด้วยการวิจัย คัดสรรรูปแบบ วางระเบียบการค้า และการขนส่ง การพัฒนายกระดับ ผลิตภัณฑ์ การรวบรวมนักธุรกิจ และพัฒนาเขตท่องเที่ยว
Thomas Crouch กล่าวเพิ่มเติมว่า “ถึงแม้ระยะห่างยังมีค่อนข้างมากเกี่ยวกับปัญหาการขนส่งบนแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนล่าง เปรียบเทียบกับแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก และแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ พวกเรากำลังเร่งลดระยะห่างนั้น และปัจจุบันระเบียงเศรษฐกิจนี้กำลังพัฒนาค่อนข้างเร็ว”
นานาชาติช่วยเหลือ
ตามการแถลงของธนาคารพัฒนาเอเชีย นับถึงปลายปี 2553 ธนาคารพัฒนา เอเชียได้ช่วยเหลือทางการเงินประมาณ 4,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แก่ 55 โครงการ ตามรายการความร่วมมือพัฒนาประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ด้วยค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้นประมาณ 11,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ออสเตรเลียช่วยเหลือด้านการเงินประมาณ 43.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อ พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตอนล่างกับประเทศ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยเฉพาะความร่วมมือพัฒนาชายหาดบนแนว ระเบียงตอนล่างในกัมพูชาและเวียดนาม นอกจากนั้น ออสเตรเลียยังช่วยเหลือค่าใช้จ่ายกว่า 302 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขอบเขตโครงสร้างพื้นฐานชนบท ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนและการค้าในประเทศอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง
Sok Chenda เลขาธิการสภาพัฒนากัมพูชา ยอมรับในที่ประชุมว่า กัมพูชาจะได้รับประโยชน์มากจากโครงการ พัฒนาดังกล่าว เขาย้ำว่า “พวกผมไม่เพียงต้องการเชื่อมประสานการขนส่งผ่านแดนกับประเทศอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง แต่พวกผมยังต้องการเชื่อมประสานทั้งการประกอบการผลิตและการบริการ”
แนวระเบียงตอนล่างของอนุภูมิภาค ลุ่มแม่น้ำโขงไหลผ่าน 41 จังหวัด แขวง และนครของลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งจะเชื่อมกับอีก 2 มณฑลของ จีน คือมณฑลหยุนหนัน และมณฑลกว่างสี
ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบด้วยจีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ในช่วงปี 2535 ด้วยความช่วยเหลือจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) 6 ประเทศสมาชิกของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงประกาศโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคโครงการหนึ่ง เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การก่อสร้างและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ประกอบด้วย 9 ขอบเขตเร่งด่วน คือ เกษตรกรรม การพลังงาน สิ่งแวดล้อม การพัฒนาทรัพยากรบุคคล โทรคมนาคม การท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมขนส่ง และการสร้างความสะดวกทางการค้า
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|