|
เสียงจากดอยไตแลง บันทึกชนเผ่ากลางประชาคมอาเซียน
โดย
เอกรัตน์ บรรเลง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
แม้พม่าเลือกตั้งใหญ่ไปแล้วและกำลังอยู่ระหว่างการฟอร์มรัฐบาลใหม่ ภายใต้โครงร่างภายนอกที่ดูเหมือนเป็นประชาธิปไตย แต่การยอมรับจากชนชาติพันธุ์ต่างๆ ก็ยังไม่เกิดขึ้น กลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อโครงการพัฒนาต่างๆ การเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียนในอีก 4 ปีข้างหน้า
“เมื่อพี่ต้องไปรบ น้องที่อยู่ทางบ้าน ก็อย่าได้นอกใจพี่” เป็นถ้อยคำออดอ้อนจากปากของพระเอกจ้าดไต หรือพระเอกลิเกไทใหญ่ที่สวมใส่รองเท้าบูท ชุดพรางทหาร ขึ้นร้องลิเกหน้าม่าน ก่อนที่ฝ่ายหญิง จะร้องตอบด้วยถ้อยวจีที่ให้คำมั่นต่อผู้เป็น สามีว่า จะยึดมั่นในความรัก รอจนกว่าเขา จะกลับมาจากสนามรบ
นั่นเป็นบทร้องลิเกไทใหญ่ หรือจ้าดไต ที่ประยุกต์เอาเรื่องราวการต่อสู้เพื่อ นำเอาชนชาติไตหรือไทใหญ่ 1 ในหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า และเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดถึง 68% ของประชากรในรัฐฉานไปสู่อิสรภาพ ประกาศเอกราชเหนือ แผ่นดินไต แยกตัวออกจากการปกครองของรัฐบาลพม่า
(ประชากรส่วนอื่นของรัฐฉาน ประกอบด้วยปะหล่อง 7% ปะโอ 7% ว้า 5% ที่เหลือจะเป็นขะฉิ่น ทนุ อางซา ลาหู่ อาข่า โกก้าง ปะหล่อง ลีซอ ยางดำ ต่องเลอ และแขก)
แน่นอน... ด้วยน้ำเสียงออดอ้อนเว้าวอน ที่แม้ว่ารูปร่างหน้าตาทั้งพระเอก-นางเอก จะไม่หล่อเหลา อินเทรนด์วัยรุ่นในปัจจุบันก็ตาม แต่ก็ได้รับเสียงปรบมือ เป่าปากแสดงความพออกพอใจจากขุนศึก ทหารราบ กองทัพรัฐฉาน (Shan State ARMY: SSA) ที่ต่างมาเฝ้าดูอยู่หน้าโรงลิเก 1 ในมหรสพที่จัดขึ้นในงานฉลองครบรอบ 64 ปี “วันชาติไทใหญ่” บริเวณลานหน้าอนุสาวรีย์เจ้าเสือข่านฟ้าและเจ้ากอนเจิง 2 วีรบุรุษชาวไทยใหญ่ ณ ดอยไตแลง พรมแดนพม่า ตรงข้ามอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน
เป็น “ดอยไตแลง” ที่แปลความว่า แสงสว่างของชาวไต หรือไทใหญ่ ยอดเขาสูงเด่นที่เป็นเหมือนเส้นเขตแดนไทย-พม่าแห่งนี้ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา (2554) พลิ้วสะบัดไปด้วยธงชาติไตที่มีสีเหลือง หมายถึงศาสนาพุทธ สีเขียว หมาย ถึงอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ สีแดง หมายถึงความเป็นชาติไต และวงกลมสีขาว อยู่ใจกลาง ที่หมายถึงความรักสงบ
ที่นี่... เป็นฐานที่มั่นใหญ่ของกองทัพ รัฐฉาน (SSA) รวมถึงเป็นศูนย์บัญชาการสภาฟื้นฟูรัฐฉาน (RCSS: Restoration Council of Chan State) ถือเป็นศูนย์ กลางอำนาจของไทใหญ่ ภายใต้การนำของ พล.ท.เจ้ายอดศึก หนุ่มใหญ่ชาวไทใหญ่ หรือคนไต วัย 53 ปี ลูกชายคนโตของครอบครัวไต จากตอนกลางของรัฐฉาน ที่ต้องออกจากบ้านมาจับปืนสู้กับทหารพม่า มาตั้งแต่อายุ 16 ปี
โดยช่วงแรกเจ้ายอดศึกเข้าร่วมกองทัพสหปฏิวัติรัฐฉาน หรือ SURA (Shan United Revolution Army) ภายใต้การ นำของเจ้ากอนเจิง (โมเฮง) ที่ต่อมาเข้ารวมกลุ่มกับกองทัพเมิงไต (เมืองไต) ของ “ขุนส่า” ราชายาเสพติดในอดีต จนกระทั่ง ปี 1996 (2539) ขุนส่าสละบัลลังก์ หันไปสวามิภักดิ์กับรัฐบาลทหารพม่า เจ้ายอดศึก จึงแยกตัวออกมาตั้งกองทัพรัฐบาลของตนเองขึ้น จากกำลังพลระดับ 600-800 คนในอดีต ปัจจุบัน SSA มีกำลังทหารที่ประเมินกันว่าอาจจะมากถึง 20,000 นาย แล้ว ที่จะร่วมต่อสู้ประกาศเอกราชเหนือแผ่นดินรัฐฉาน หรือ Shan State
พร้อมกับการร่วมมือกับพันธมิตรที่ ต่อต้านรัฐบาลพม่า ทั้งปะโอ ละหู่ มอญ ว้า ฯลฯ เดินงานการเมืองเรียกร้องให้พม่า ปฏิบัติตามสนธิสัญญาปางโหลง (อ่านรายละเอียดใน “ปางโหลง...สัญญาที่ถูกลืม” ประกอบ) ที่ถูกรัฐบาลทหารพม่าฉีกทิ้งอย่าง ไม่ไยดี จนนำมาสู่ความมืดมนทางการเมืองของพม่ามาจนถึงทุกวันนี้
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ของทุกปี ถือเป็น “วันชาติไทใหญ่” ซึ่งปีนี้ พล.ท.เจ้ายอดศึก ผู้นำ SSA ได้เปิดพื้นที่ดอยไตแลง จัดงานฉลองโอกาสครบรอบ 64 ปีวันชาติไทใหญ่อีกครั้ง ท่ามกลางแขกเหรื่อ ซึ่งเป็นผู้นำทาง การทหาร ผู้นำทางการเมือง ของกลุ่มชาติ พันธุ์ต่างๆ ในพม่า ที่ต่างเดินทางมาร่วมในงานนี้อย่างคับคั่ง
บนยอดดอยไตแลงวันนั้น กลางไอหมอกสีขาว สายลมเย็นยะเยือก พัดผ่านยอดเขาทอดยาวสลับซับซ้อนของรัฐฉาน นอกจากจะเต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของชาติพันธุ์ไทใหญ่แล้ว ยังมากไปด้วยสีสัน วิถีวัฒนธรรมชนชาติไต รวมไปถึงการปลุกเร้าความฮึกเหิมให้กับกำลังพล ตลอดจนความชื่นชมยินดีที่ระบายเต็มใบหน้า ในโอกาสที่ญาติพี่น้องผู้ร่วมอุดมการณ์ที่ไปทำมาหากินไกลบ้าน ได้กลับมาพบพานกันอีกครั้ง
ปีนี้ดูเหมือนจะมีชาติพันธุ์ไทใหญ่ที่ไปทำมาหากินแดนไกล กลับมาเยือนยอด ดอยไตแลงอย่างหนาตา บ่งชี้ถึง “ใจที่มุ่งมั่นในรัฐชาติ” ของพวกเขาว่ามีอยู่อย่าง เข้มข้นเช่นกัน
พลพรรคไทใหญ่ ซึ่งบางคนเดินทาง มาไกลจากกรุงเทพฯ ชลบุรี ระยอง อุบล ราชธานี เลย ฯลฯ ต่างบอกทำนองเดียว กันว่า วันชาติไทใหญ่ปีนี้ ต่างจากปีก่อนๆ พวกเขามองเห็นเส้นทางสู่อิสรภาพ มองเห็นโอกาสแห่งชัยชนะ ด้วยเห็นถึงความพร้อมใจจากญาติมิตรร่วมกลุ่มไทใหญ่ด้วย กันเอง ที่พร้อมใจกันมาร่วมงานนี้ แม้จะต้องเดินทางไกลนับพันๆ กิโลเมตรก็ตาม
“เราว่ายังพอมีโอกาส ที่ผ่านมามันมีแต่การสู้รบ ทำให้คนไตบางส่วนไม่ค่อยเห็นด้วย แต่ขณะนี้เราเดินงานการเมืองด้วย ทำให้เชื่อว่ามีโอกาสที่จะเดินไปถึงเป้าหมาย ได้” ดม หนุ่มไทย เชื้อสายไต (ไทใหญ่) ที่เดินทางกลับมาร่วมงานวันชาติไทใหญ่ในปีนี้ด้วย บอกกับผู้จัดการ 360 ํ
เช่นเดียวกับชุมชนบนดอยไตแลงที่ขยายใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ มีชาวไทใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากรัฐบาลพม่าเข้ามาอยู่ร่วมมากขึ้น สังเกตได้จากบ้านเรือนที่สร้าง ขึ้นด้วยไม้ไผ่สาน มุงหญ้าคาและสังกะสี กระจายไปตามแนวสันเขา มีทั้งโรงพยาบาล ขนาด 20 เตียง สามารถถอนฟัน ทำคลอด ผ่าตัดเอากระสุนปืนออก ห้องแล็บตรวจเชื้อ มาลาเรีย HIV วัณโรค มีจานดาวเทียมที่รับข่าวสารทั่วโลกผ่านทางวิทยุ โทรทัศน์ ตลอดจนสถานีวิทยุคลื่น FM 103.25 MHz ที่ถ่ายทอดเสียงไปไกลถึงรัฐฉานตอนกลาง
นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนนานาชาติดอยไตแลง รองรับลูกหลานคนรุ่นใหม่ของ ชาวไต รวมถึงกลุ่มเด็กกำพร้าชาวไทใหญ่ ที่ SSA รับเข้ามาดูแล ส่งให้เรียนหนังสือ ที่ล่าสุดมีนักเรียนมากกว่า 800 คนแล้ว ซึ่งที่ โรงเรียนแห่งนี้เจ้ายอดศึกพร้อมผู้นำ SSA ได้ร่วมกันจัดหลักสูตรการเรียนการสอนขึ้น มา มีการสอน 3 ภาษาคือ ภาษาไต ภาษา ไทย และภาษาอังกฤษ โดยประยุกต์ตำราเรียนของหลายประเทศเข้าด้วยกัน เช่น ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา ฯลฯ เป็นต้น
จะยกเว้นก็เพียงวิชาประวัติศาสตร์ชนชาติไตเท่านั้น ที่พวกเขาได้เขียนตำราเรียนขึ้นมาเอง เพื่อบ่มเพาะความรู้เรื่องความเป็นมาของชาติพันธุ์ให้กับชาวไตรุ่นใหม่ รับกับเป้าหมายความเป็นเอกราชเป็น อิสระจากการปกครองของรัฐบาลพม่า
เจ้ายอดศึกย้ำว่า รัฐฉานเป็นประเทศที่มีอาณาบริเวณและขอบเขตชัดเจน คำว่าประชาชนในรัฐฉาน หมายถึงประชาชนชาติพันธุ์ไต ชาติพันธุ์ว้า ชาติ พันธุ์อาข่า ชาติพันธุ์ลาหู่ ชาติพันธุ์ปะโอ ชาติพันธุ์ปะหล่อง และชาติพันธุ์อื่นๆ ที่ก่อกำเนิดในรัฐฉานทั้งหมด วันชาติไตไม่ใช่เกี่ยวข้องเฉพาะเพียงประชาชนในรัฐฉานเท่านั้น แต่เกี่ยวพันถึงประชาชนในสหภาพพม่าทั้งหมดด้วย
พร้อมกับเรียกร้องให้ประชาชนชาวไทยใหญ่และกลุ่มชาติพันธุ์รวมตัวเป็น กลุ่มเดียวกัน เพื่อทวงคืนเอกราชจากพม่า แม้ว่าพม่าจะผ่านการเลือกตั้งครั้งใหญ่ แต่เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ได้รับการยอมรับ เนื่องจากประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
นั่นหมายถึงความมุ่งมั่นที่จะประกาศเอกราชให้กับผืนแผ่นดินรัฐฉาน ประกาศอิสระจากสหภาพพม่า แม้ว่าพม่าจะผ่านการเลือกตั้งทั่วไปครั้งประวัติศาสตร์ ไปแล้วเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา รวมถึงได้ตัวผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี คือ พล.อ.เต็ง เส่ง อดีตนายกรัฐมนตรีแล้วก็ตาม
แต่เจ้ายอดศึกมองว่า นั่นเป็นเพียงเหล้าเก่าในขวดใหม่เท่านั้น เพราะกว่า 90% ของผู้บริหารและผู้ได้รับการเลือกตั้ง ล้วน แต่เป็นอดีตนายทหาร เป็นคนของกองทัพ ที่ถอดชุดทหารมาสวมชุดพลเรือน ดังนั้นการต่อสู้กับรัฐบาลพม่าของ SSA ก็จะยังคงดำเนินต่อไป ตราบใดที่พม่ายังละเมิดสิทธิมนุษยชน ตราบใดที่พม่ายังลิดรอนสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ และตราบใดที่พม่า ยังไม่ยอมปฏิบัติตามสนธิสัญญาปางโหลง
(อ่านเรื่อง “ปางโหลง...สัญญาที่ถูก ลืม”ประกอบ)
ทั้งนี้ “สหภาพพม่า” อยู่ในองคา พยพหนึ่งของประชาคมอาเซียน (AEC) ที่กำลังจะเริ่มต้นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในอีก 4 ปีข้างหน้า หรือในปี 2558 นับเป็นตัวอย่างหนึ่งของความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ตลอดจนความแตกต่างทางรายได้ของประชากร ที่กล่าวได้ว่าเป็นอุปสรรคสำคัญ ของ AEC
(อ่านเรื่อง “พม่า จุดเปลี่ยนอาเซียน?” เรื่องจากปกนิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2553 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)
พม่ามีกลุ่มชาติพันธุ์อีกหลากหลายกลุ่ม ที่ได้ต่อสู้เพื่อพยายามแยกตัวเป็นเอกราชจากพม่า โดยยึดมั่น “สัญญาปางโหลง” เป็นเป้าหมายหลัก ทั้งกลุ่มมอญ กลุ่มกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย (DKBA) กลุ่มกะเหรี่ยงคริสต์ (KNU) กะเหรี่ยงคะยา (KNPP) ปะโอ ลาหู่ ว้า ฯลฯ
เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตัวแทนชนกลุ่มน้อยไม่ต่ำกว่า 12 กลุ่ม ทั้ง ที่เป็นกองกำลังติดอาวุธที่เคยทำสัญญาหยุดยิง และไม่ทำสัญญาหยุดยิงกับรัฐบาลพม่า รวมถึงตัวแทนจากกลุ่มการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ได้ประชุมร่วมกันที่ชายแดนไทย-พม่าด้านจังหวัดตาก และมีมติที่จะเป็นพันธมิตรร่วมมือกันในการต่อสู้กับรัฐบาลพม่า
โดยที่ประชุมได้มีมติตั้งชื่อกลุ่มว่า Union Nationalities Federal Council หรือ UNFC และได้แต่งตั้ง พล.อ.มูตู ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กองทัพสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงอิสระ (Karen National Union: KNU) เป็นประธานกลุ่ม พล.ท.โก โซ แซง จากองค์กรคะฉิ่นอิสระ (Kachin Independence Organization: KIO) เป็นรองประธานคนที่ 1 พล.ต.อาเบล ทวิต จากพรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี ได้รับเลือกเป็นรองประธานคนที่ 2 และหงษ์สา จากพรรครัฐมอญใหม่ (New Mon State Party: NMSP) เป็นเลขาธิการฯ
นอกจากนี้ ยังมีการแต่งตั้งคณะกรรมการกลางระดับสูงจำนวน 6 คน และคณะกรรมการกลางที่เป็นสมาชิกของกลุ่มอีก 10 คน
การประชุมครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่องค์กรคะฉิ่น (KIO) องค์กรการเมืองของ กองทัพเอกราชคะฉิ่น (Kachin Indepen-dent Army) พรรครัฐมอญใหม่ (NMSP) และกองกำลัง Shan State Army เหนือ (SSA-N) ได้จับมือร่วมเป็นพันธมิตรกัน
บทบาทของ UNFC เพื่อประสานงานและทำงานร่วมกันระหว่างชนกลุ่มน้อย นอกจากนี้ ชนกลุ่มน้อยทั้งหมดที่มีอยู่ไม่น้อยกว่า 12 กลุ่ม ยังเห็นด้วยที่จะมีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใช้ในกลุ่ม รวมทั้งการ จัดตั้งหน่วยงานทางการเมือง อย่างเช่นหน่วยงานด้านกฎหมาย หน่วยงานด้านกิจการภายใน รวมไปถึงหน่วยงานด้านการต่างประเทศ ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่า หน่วยงานเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของกลุ่ม UNFC
ภายใต้เป้าหมายเพื่อให้มีสิทธิความเสมอภาค และการปกครองตนเอง ของชนกลุ่มน้อยในพม่า และเพื่อให้เกิดประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐในพม่าอย่างแท้จริง รวมไปถึงการร่วมมือกันต่อสู้กับรัฐบาลพม่า
ซึ่งความเคลื่อนไหวของกลุ่มชาติ พันธุ์เหล่านี้ยังมีผลต่อโครงการลงทุนขนาด ใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่พ้น
โครงการที่ได้รับผลกระทบจากความเคลื่อนไหวครั้งนี้ อาทิ โครงการท่อก๊าซธรรมชาติของจีน จากทะเลอันดามัน พาดผ่านรัฐอาระกันของพม่า ขึ้นไปถึงมณฑลหยุนหนันของจีน ซึ่งบางส่วนต้องผ่านพื้นที่ “รัฐฉาน” ที่ SSA มุ่งมั่นที่จะประกาศเป็นพื้นที่รัฐชาติของพวกเขาอยู่
โครงการพัฒนาเส้นทางคมนาคม ทั้งถนน เส้นทางรถไฟ จากชายแดนจีน ด้านลุ่ยลี่ เขตปกครองตนเองชนชาติไต-จิงโพ่แห่งเต๋อหง มณฑลหยุนหนัน เข้าสู่ชายแดนพม่าด้านลาเฉียว มัณฑะเลย์ เนปิดอว์ และจะทะลุไปถึงทะเลอันดามัน และมหาสมุทรอินเดียที่ล้วนต้องพาดผ่านเขตอิทธิพลของกองกำลังของคะฉิ่น และ SSA
(อ่านเรื่อง “เต๋อหง ช่องทางสินค้าจีนที่ไทยไม่อาจมองข้าม” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2552 และเรื่อง ““สาละวิน” ลุ่มน้ำแห่งความหวังที่กว้างใหญ่” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนกันยายน 2553 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)
รวมไปถึงโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย ที่บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อป เม้นท์เพิ่งประมูลได้ ที่หนีไม่พ้นต้องเข้าไปดำเนินงานในพื้นที่อิทธิพลของกลุ่มมอญ
แม้กระทั่งโครงการพัฒนาเส้นทาง East-West Economic Corridor (EWEC) ในเขตพม่า ที่ต้องผ่านพื้นที่อิทธิพลของกะเหรี่ยงพุทธ-กะเหรี่ยงคริสต์ ซึ่งกำลังเกิด การสู้รบกับรัฐบาลพม่ามาตั้งแต่ปลายปี 2553 จนถึงขณะนี้ ซึ่งโครงการพัฒนาเส้นทางคมนาคมช่วงนี้ถือเป็นข้อต่อสำคัญของ เส้นทางเชื่อมยุโรปตะวันออกเข้าสู่อินเดีย บังกลาเทศ พม่า ผ่านไทย เข้าสู่ลาว เวียดนาม และไปสู่ทะเลที่ท่าเรือดานังหรือ เชื่อมเข้าสู่จีนด้านตะวันออกที่มณฑลกวางสี
“จะทำอะไรต้องถามเราก่อน แต่ถ้าถามตอนนี้ ผมยังไม่อนุญาต” เป็นคำยืนยันถึงเจตนารมณ์ของเจ้ายอดศึก ผู้นำกองทัพรัฐฉาน (SSA) และประธานสภาฟื้นฟูรัฐฉาน (RCSS) เมื่อถูกถามถึงโครงการลงทุนขนาดใหญ่จากกลุ่มทุนจากหลากหลายประเทศที่กำลังถาโถมเข้ามาในพม่ามากขึ้นเรื่อยๆ
เจ้ายอดศึกย้ำว่า รวมถึงการรวมกลุ่มประชาคมอาเซียน ก็ต้องถามพวกเขาด้วย เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคม เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการต่างๆ ไม่ใช่คุยกับรัฐบาลพม่าฝ่ายเดียว ไม่เช่นนั้นก็คงไม่มีใครบอกได้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นกับโครงการลงทุนเหล่านั้น
เพราะอย่างน้อยเมื่อมีการวางท่อก๊าซผ่านรัฐฉานก็ต้องมีชาวไทใหญ่ถูกไล่ที่ ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ระบบสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ถูกทำลายลงไป
ถามว่า ใครจะมาดูแล! เพราะพม่า ไม่ได้มองว่า คนเหล่านี้เป็นประชาชนพม่าเลย ทั้งที่พวกเขาเป็นเจ้าของพื้นที่ เป็นเจ้าของทรัพยากรนั้นๆ
เขาบอกว่า ที่ผ่านมาอาเซียนมองเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในพม่ามาก เกินไป ละเลยที่จะดูแลเรื่องปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นอย่างดาษดื่นในพม่า กฎบัตรอาเซียนที่มีอยู่ ตอบคำถามเฉพาะด้านธุรกิจ ละเลยปัญหา สังคม ความเป็นอยู่ของประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่มีอยู่หลากหลาย ทั้งในพม่าเอง และประเทศภาคีของอาเซียน
“อาเซียนควรจริงจังกับปัญหาเหล่านี้มากขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการรวมกลุ่มประชาคมอาเซียนแน่นอน”
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|