Aftershocks: ผลกระทบจากแรงสั่นไหว

โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

ความรุนแรงของเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิ รวมถึงมหันตภัยจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เป็นผลให้ธุรกิจและโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากในเขต Tohoku ต้องปิดทำการหรือหยุดการผลิตลงชั่วคราว ซึ่งการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงเหตุการณ์แผ่นดินไหว และระยะเวลาในการคลี่คลายความเสียหายในบางพื้นที่ ย่อมส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นชะลอตัวไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สำนักวิจัยหลากหลายสถาบันต่างประเมินความเสียหายจากเหตุการณ์ครั้งนี้ไปในทิศทางที่ใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นการประเมินภาพรวมทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 1/2554 ในมิติที่เชื่อกันว่าจะหดตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า และจะกลับมาขยายตัวรวมถึงเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง จากผลของการที่รัฐบาลญี่ปุ่นต้องเร่งบูรณะและฟื้นฟูความเสียหายของระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

ผลกระทบในระยะกลางถึงระยะยาวจากปรากฏการณ์ดังกล่าว อาจเป็นแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นต่อประเด็นด้านเสถียรภาพทางการคลังของญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นว่าด้วยแหล่ง เงินทุนที่รัฐบาลจะใช้เพื่อฟื้นฟูความเสียหาย ซึ่งอาจมาจากการออกพันธบัตรรัฐบาลหรือการใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศ

เพราะการออกพันธบัตรรัฐบาลจะยิ่งกระทบต่อสถานะ “หนี้สาธารณะ” ของญี่ปุ่นที่ปัจจุบันมีระดับสูงถึงกว่าร้อยละ 200 ของจีดีพีอยู่แล้ว แต่หากใช้ช่องทางทุนสำรองระหว่างประเทศอาจมีความเกี่ยวข้องกับการขายสินทรัพย์ที่ถืออยู่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะสินทรัพย์ในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอาจจะมีผลต่อทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดการเงินได้

นอกจากนี้ภายใต้ความเชื่อมโยงของระบบเศรษฐกิจโลก กรณีที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น ซึ่งมีขนาดทางเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกย่อมส่งผ่านแรงกระเพื่อมให้เกิดขึ้นกับทุกภาคส่วนที่ปฏิสัมพันธ์และเกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างไม่อาจเลี่ยงเช่นกัน

ภายใต้การคาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ของญี่ปุ่นในปีนี้ จะเกิดการชะลอตัวลงประมาณ 0.2 เปอร์เซ็นต์จากที่ประมาณการไว้ที่ 1.7 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากภาคการส่งออก ของประเทศได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ตลอดจนธุรกรรมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ในภาพรวมจำเป็นต้องได้รับการเยียวยาจากความเสียหายที่เกิดขึ้น

ในมิติดังกล่าวนี้ การส่งออกและนำเข้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น อาจประสบปัญหาหยุดชะงักชั่วคราว โดยเฉพาะสำหรับผู้ส่งออกไทย ในกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ที่มีลูกค้าที่ตั้งโรงงานอยู่ในพื้นที่ประสบภัยอาจมีคำสั่งซื้อลดลง

ขณะเดียวกัน โรงงานในไทยที่ต้องอาศัยชิ้นส่วนนำเข้าจาก ญี่ปุ่น อาจมีความล่าช้าของการขนส่งสินค้าและกระทบต่อสายการ ผลิตในไทยได้ ซึ่งหากสถานการณ์เป็นเพียงช่วงสั้น ผลกระทบน่าจะจำกัดอยู่ในระดับที่ภาคธุรกิจสามารถรับสภาพและปรับตัวได้

อย่างไรก็ดี ผลกระทบในระยะที่ยาวออกไป ได้เปิดให้เห็น โอกาสจากความต้องการสินค้าบางชนิดที่อาจเพิ่มขึ้น โดยสินค้าที่อาจได้ประโยชน์ คาดว่าจะเป็นกลุ่มวัสดุ เช่น ผลิตภัณฑ์เหล็ก ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์พลาสติก จากผล ของความต้องการใช้ในงานก่อสร้างและบูรณะฟื้นฟูความเสียหาย

นอกจากนี้ สินค้าเครื่องจักรกลก็อาจเป็นอีกกลุ่มที่จะมีความ ต้องการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าประเภทลิฟต์ บันไดเลื่อน ซึ่งใน กลุ่มสินค้าเหล่านี้มีบริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิต เพื่อส่งออกกลับไปยังญี่ปุ่นอยู่แล้ว ทั้งนี้ สินค้ากลุ่มนี้มีสัดส่วนรวม กันประมาณร้อยละ 10 ของการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่น

ขณะที่กลุ่มยานยนต์และกลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งอาจมีบริษัทลูกค้าในญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว ทำให้มีการชะลอการสั่งซื้อไปบ้าง โดยสินค้าหมวดยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นสินค้าส่งออกสำคัญ 2 กลุ่มแรกที่ไทยส่งออกไปยังญี่ปุ่น มีสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 37 ของการส่งออกทั้งหมด ของไทยที่ไปยังญี่ปุ่น

แต่โดยภาพรวมการส่งออกรถยนต์ในปีนี้น่าจะยังขยายตัวสูงตามส่งออกรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่มีการโยกย้ายฐานการผลิตจากญี่ปุ่นมายังประเทศไทย นอกจากนี้ หลังจากเหตุการณ์คลี่คลายอาจมีความต้องการสินค้ายานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป เพื่อทดแทนทรัพย์สินที่เสียหาย ผลโดยรวมจึงอาจไม่เปลี่ยนแปลงภาพแนวโน้มการส่งออกในปีนี้มากนัก ในส่วนของสินค้าหมวดอาหาร จะเป็นกลุ่มสินค้าที่ความ ต้องการอยู่ในระดับสูง เพราะพื้นที่ Tohoku เป็นแหล่งผลิตสินค้า เกษตรที่สำคัญ ความเสียหายต่อภาคเกษตรที่มีความรุนแรง จะทำให้มีความต้องการนำเข้าอาหารจากไทยเพิ่มขึ้น

แต่ในทางกลับกัน ผลพวงจากกัมมันตภาพรังสีที่รั่วไหลออกมาปนเปื้อนผลิตผลทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่างกว้างขวาง อาจส่งผลให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องการนำเข้าสินค้า จากญี่ปุ่นได้รับผลกระทบพอสมควร และบางทีอาจทำให้ต้องมีการจัดวางกลยุทธ์ทางการตลาดกันใหม่ไม่น้อยเลย

ทั้งนี้ หลายฝ่ายเชื่อว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่น่าจะส่งผลกระทบในทางลบต่อแผนการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทย โดยการลงทุนโดยตรง หรือ FDI (Foreign Direct Investment) จากญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นการลงทุนระยะยาว

ขณะเดียวกัน ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นนี้อาจมีผลให้บริษัทญี่ปุ่นต้องตระหนักถึงการเตรียมตัวรับมือกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจาก แผ่นดินไหว ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกำหนดเป้าหมายการลงทุนนอกประเทศญี่ปุ่นเพื่อกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ โดยไทยก็อาจเป็น เป้าหมายหนึ่งในการเป็นฐานการผลิตของบริษัทญี่ปุ่นในภูมิภาคอาเซียน

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจอยู่ที่ญี่ปุ่นเป็นผู้ลงทุนรายสำคัญอันดับ 1 ของไทย โดยในปี 2553 ที่ผ่านมา มีโครงการลงทุนจาก ญี่ปุ่นที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม การลงทุน หรือบีโอไอ มูลค่า 104,442 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 35 จากปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 44 ของโครงการลงทุน จากต่างประเทศทั้งหมด

หากวลีที่ว่า “ในวิกฤติมีโอกาส” ซึ่งได้ยินได้ฟังบ่อยครั้งในห้วงยามที่เกิดสถานการณ์พิเศษจะมีส่วนจริงอยู่บ้าง การวางแผน และการปรับตัวเพื่อรองรับโอกาสที่จะเกิดขึ้นนี้ ก็คงเป็นสิ่งที่ต้องตระหนักอย่างยิ่ง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.