|

ทางแพร่งด้านพลังงาน บทพิสูจน์ที่แท้จริงของญี่ปุ่น
โดย
สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
แม้ว่าความพยายามที่จะแสวงหาแหล่งพลังงานทดแทน หรือแม้กระทั่งพลังงานทางเลือกของญี่ปุ่นเป็นประเด็นที่ครอบงำและเป็นปัจจัยที่กำหนดทิศทางให้กับแนวนโยบายสาธารณะมาอย่างต่อเนื่อง แต่ดูเหมือนว่าวิกฤติครั้งล่าสุดนี้จะช่วยปลุกให้ทั้งสังคมญี่ปุ่นและประชาคมนานาชาติได้ตระหนักตื่นมากกว่าครั้งใดๆ
ในเอกสารว่าด้วยยุทธศาสตร์และแนวทางปฏิบัติว่าด้วยวิเทโศบายด้านพลังงาน ของญี่ปุ่น ซึ่งเผยแพร่ออกมาตั้งแต่เมื่อปี 2004 ระบุว่า ญี่ปุ่นมุ่งหมายที่จะพัฒนาและ เสริมสร้างกลไกในการตอบสนองต่อกรณีฉุกเฉินในระดับสากลว่าด้วยระบบปริมาณน้ำมันสำรองตามมาตรฐานของ International Energy Agency (IEA)
ขณะเดียวกันญี่ปุ่นพร้อมที่จะร่วมมือ อย่างแข็งขันภายใต้กรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคทั้ง ASEAN+3 และ Asia-Pacific Economic Cooperation (APEC) ซึ่งญี่ปุ่นพร้อมตอบสนองต่อความจำเป็นด้านพลังงานที่อาจเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียอย่างแข็งขัน ควบคู่กับการสานสัมพันธ์กับประเทศในตะวันออกกลางและประเทศผู้ผลิตพลังงานในภูมิภาคอื่นๆ รวมถึงประเทศที่อยู่ในเส้นทางลำเลียงพลังงานเหล่านี้ด้วย
ประเด็นสำคัญในเอกสารนโยบายระหว่างประเทศดังกล่าว ยังระบุถึงความพยายามที่จะส่งเสริมมาตรการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนา และใช้ประโยชน์ จากแหล่งพลังงานทางเลือก ซึ่งรวมถึงการสนองตอบต่อประเด็น ว่าด้วยการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
“ประเด็นว่าด้วยพลังงานจะต้องได้รับการบรรจุเป็นประหนึ่งเป้าหมายของ 3Es คือทั้ง Economic growth, Energy security และ Environment protection ซึ่งญี่ปุ่นจะแสดงบทบาท นำในการส่งเสริมความร่วมมือระดับนานาชาติเพื่อพัฒนาและใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานทางเลือก” เอกสารระบุ
รูปธรรมชัดเจนที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าว ได้หมายรวม มิติในการสร้างเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น ซึ่งมีบทบาทอย่างสำคัญในโครงสร้างพลังงาน ของญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งย่อมหมายถึงความพยายามที่จะส่งออกเทคโนโลยีด้านพลังงานเหล่านี้ออกไปสู่นานาประเทศด้วย
ขณะเดียวกัน ภายใต้ข้อกำหนดของพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ว่าด้วยการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ญี่ปุ่นจะดำเนินการเพื่อส่งเสริมให้ประเทศกำลังพัฒนาให้ความสนใจต่อพลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ ควบคู่กับการส่งเสริม Clean Development Mechanism เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้
หากแต่วิกฤติจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่น อาจส่งผลให้ทางเลือกว่าด้วยพลังงานจากก๊าซธรรมชาติในรูปของ LNG (Liquefied Natural Gas) กลายเป็นคำตอบในระยะสั้นสำหรับญี่ปุ่นในห้วงยามที่ยากลำบากในปัจจุบัน
ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ญี่ปุ่นมีทรัพยากรธรรมชาติอย่างจำกัด ทำให้ญี่ปุ่นจำเป็นต้องแสวงหาหนทางในการได้มาอย่างเพียงพอเพื่อตอบสนองต่อการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการพัฒนาเทคโนโลยีในระดับต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรณีดังกล่าว ดำเนินไปทั้งในบริบทของนโยบายแห่งรัฐและกิจกรรมของภาคธุรกิจเอกชน
ประเด็นที่น่าสนใจประการหนึ่งอยู่ที่ญี่ปุ่นเป็นผู้นำเข้าก๊าซ ธรรมชาติในรูปของ LNG มากที่สุดรายหนึ่งของโลก โดยมีสัดส่วนการนำเข้า LNG มากถึงร้อยละ 66 ของปริมาณการซื้อขาย LNG ในตลาดโลกในช่วงทศวรรษ 1990 ก่อนที่สัดส่วนดังกล่าวจะลดลงเหลือร้อยละ 48 ในช่วงปี 2002 หลังจากที่นานาประเทศหันมาให้ความสนใจในการใช้ LNG มากขึ้น
โดยเฉพาะเกาหลีใต้ที่เร่งพัฒนาเศรษฐกิจและกลายเป็นผู้นำเข้า LNG อันดับสองของโลก ขณะที่จีนและอินเดียเริ่มลงทุน สร้าง terminal เพื่อนำเข้า LNG และคาดว่าทั้งสองประเทศนี้จะกลายเป็นผู้บริโภค LNG รายใหญ่ในอนาคตอันใกล้
LNG เป็นแหล่งพลังงานสำคัญที่เติมเต็มความต้องการใช้พลังงานของญี่ปุ่นในสัดส่วนที่มากถึงร้อยละ 12 โดย LNG ที่นำเข้ามานี้กว่า 2 ใน 3 ถูกลำเลียงเข้าสู่กระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า โดย Tokyo Electric Power Co. (TEPCO) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการไฟฟ้ารายใหญ่ของญี่ปุ่น ระบุว่าในอนาคตอันใกล้การผลิตกระแส ไฟฟ้าของญี่ปุ่นจะอาศัย LNG ในสัดส่วนที่มากถึงร้อยละ 40 ซึ่งใกล้เคียงกับการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยเตาปฏิกรณ์ปรมาณูเลยทีเดียว
หาก TEPCO และโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ทั้งหลายที่ญี่ปุ่นมีอยู่ในขณะนี้จะไม่ถูกตั้งข้อรังเกียจจากปรากฏการณ์ที่น่าสะเทือนขวัญครั้งนี้เสียก่อน
ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นพยายามเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานด้วยการประกาศนโยบายว่าด้วยการขนส่งก๊าซธรรมชาติจากเดิมที่อยู่ในรูปของเหลว (Liquefied Natural Gas: LNG) มาสู่การใช้เทคโนโลยีแบบใหม่ที่จะทำก๊าซธรรมชาติอยู่ในรูปของแข็ง (solidified natural gas) หรือในรูปของ natural gas hydrate (NGH) แทน
มาตรการดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อข้อเท็จจริงที่ว่า การลงทุนในแหล่งก๊าซธรรมชาติในรูปของ LNG ส่วนใหญ่ต้องใช้งบประมาณในการลงทุนมหาศาลในกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการลงทุนพัฒนาแหล่งก๊าซขนาดกลางและเล็กที่มีอยู่อย่างหนาแน่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปโดยปริยาย และเป็นแรงผลักดันให้เกิดการวิจัยทางเทคโนโลยี NGH ขึ้นมา
นโยบายว่าด้วยการขนส่งก๊าซในรูปของ NGH ในด้านหนึ่งก็คือการประกาศความพร้อมของญี่ปุ่นที่จะเข้าครอบครองและลงทุนพัฒนาแหล่งก๊าซขนาดกลางและเล็ก ซึ่งภายใต้เงื่อนไข ของความคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจยังไม่ได้รับการพัฒนาไปโดยปริยาย ซึ่งหากเทคโนโลยีว่าด้วย NGH สามารถลงหลักปักฐานใน เชิงธุรกิจ นั่นก็หมายความว่าญี่ปุ่นจะสามารถรุกเข้าไปครอบครอง แหล่งก๊าซขนาดกลางและเล็กเหล่านี้ได้ก่อนคู่แข่งขันรายอื่น
นี่เป็นเพียงตัวอย่างของการพัฒนาและกำหนดยุทธศาสตร์ ชาติ เพื่อสนับสนุนความจำเริญเติบโตอย่างยั่งยืนจากระดับขั้นของเทคโนโลยีที่มุ่งเน้นไปที่การสร้างหลักประกันที่มั่นคงเพียงพอ สำหรับตอบสนองความต้องการและสร้างประโยชน์สุขให้กับผู้คน ในชาติ ที่มีมิติเชื่อมโยงกับระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างยากที่จะแยกออกจากกันได้
นอกจากนี้ ความพยายามที่จะพัฒนาพลังงานชีวภาพ (biofuel) ให้เป็นแหล่งพลังงานทดแทน fossil fuel ที่นับวันจะลดปริมาณลง และการแสวงหามาตรการเพื่อการใช้พลังงานสะอาด (clean energy) ซึ่งสอดรับกับข้อกำหนดของพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ได้เผยให้เห็นข้อจำกัดและโอกาสสำหรับอนาคตใหม่ไปพร้อมกัน
ในมิติของพลังงานสะอาดและพลังงานที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่นั้น ญี่ปุ่นให้การสนับสนุนและพยายามเร่งความสนใจ ของผู้คนในสังคม โดยตั้งเป้าหมายให้ร้อยละ 70 ของบ้านที่ปลูกสร้างใหม่ ติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ ภายใต้มาตรการด้านภาษีและเงินช่วยเหลือในการติดตั้งด้วย
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจมากประการหนึ่งก็คือ ญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้ผลิตแผงพลังงานแสงอาทิตย์รายใหญ่ของโลก และเป็นประเทศที่มีการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยญี่ปุ่นนับเป็นประเทศที่สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Photovoltaic electricity) ได้มากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากเยอรมนี
ขณะที่โครงการโรงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Solar Ark ในจังหวัดกิฟุ (Gifu Prefecture) ซึ่งเปิดตัวในห้วงเวลาเดียว กับที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดงาน World Expo 2005 ที่จังหวัดไอจิ (Aichi) ภายใต้แนวความคิด Nature’s Wisdom เป็นตัวอย่างหนึ่งในความพยายามของญี่ปุ่นที่จะสื่อสารและประกาศตัวเป็นผู้นำในเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์นี้
ญี่ปุ่นวางเป้าหมายว่าพลังงานแสงอาทิตย์จะเข้ามามีบทบาทในโครงสร้างพลังงานของชาติมากขึ้นเป็นลำดับ โดยพลังงานแสงอาทิตย์จะต้องสามารถรองรับความต้องการใช้พลังงานในระดับครัวเรือนได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ภายในปี 2050 เลยทีเดียว
สังคมญี่ปุ่นผ่านประสบการณ์และช่วงเวลาที่ยากลำบาก ทั้งจากภาวะสงคราม รวมถึงภัยพิบัติจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น The Great Kanto Earthquake ในปี 1923 หรือ The Great Hanshin Earthquake ในปี 1995 ซึ่งแต่ละครั้งที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้พิสูจน์ให้ทั่วโลกได้ประจักษ์ถึงความสามารถของญี่ปุ่นในการเผชิญกับวิกฤติและฟื้นตัวขึ้นมาดำรงสถานะและบทบาทนำในเวทีโลก ภายในระยะเวลาที่รวดเร็ว
ผลกระทบจาก 2011 Tohoku Earthquake and Tsunami ในครั้งนี้ จึงอาจเป็นเพียงบททดสอบอีกบทหนึ่งก่อนการฟื้นตัวกลับขึ้นมาใหม่ของสังคมญี่ปุ่นเท่านั้น
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|