|
Renewable Beautiful Japan!
โดย
สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
2011 Tohoku Earthquake and Tsunami นอกจากจะสร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินแก่ผู้คนอย่างกว้างขวางในทันทีแล้ว ผลกระทบจากภัยพิบัติครั้งนี้ยังส่งผ่านแรงสั่นสะเทือน เสมือนเป็น aftershocks ให้เกิดเป็นแรงตระหนักตื่น ในระดับนานาชาติด้วยเช่นกัน
ผลพวงจากแผ่นดินไหว Tsunami และกัมมันตภาพรังสีที่แพร่กระจาย หลังจากกลไกด้านความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขัดข้อง และต่อเนื่องด้วยภาพของเตาปฏิกรณ์ปรมาณูเกิดเพลิงไหม้และระเบิดในเวลาต่อมา กลายเป็นประหนึ่งการตั้งคำถามต่ออนาคตของโลกในการใช้พลังงานบนเส้นทางนี้ไปโดยปริยาย
การที่ญี่ปุ่นมีข้อจำกัด ด้านทรัพยากรธรรมชาติ และ ต้องพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศเพื่อหล่อเลี้ยง การจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างมหาศาล ทำให้ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศหนึ่งเดียวที่ผ่านประสบ การณ์เลวร้ายด้านปรมาณู แต่กลับต้องหันมาให้ความสนใจกับเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าพลังงาน ปรมาณู กลายเป็นยุทธศาสตร์ หลักด้านพลังงานแห่งชาติมาตั้งแต่เมื่อปี 1954
ผลพวงของการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดของ ญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มีอัตราการบริโภคพลังงานอย่างมหาศาลและต่อเนื่อง ในลักษณะ ที่เพิ่มขึ้นทวีคูณ ตลอดทุกช่วง 5 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษ 1960-1970 อัตราการบริโภคพลังงานของญี่ปุ่นเติบโตสูงกว่าการเติบโตของ GNP ด้วยซ้ำ
นอกจากนี้ วิกฤติการณ์น้ำมันสองครั้งในช่วงทศวรรษ 1970 (1973 และ 1979) กลายเป็นแรงกระตุ้นให้ญี่ปุ่นวางมาตรการเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน (energy security) เพื่อเป็นหลักประกันการเติบโตทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งเป็น เหตุให้พลังงานนิวเคลียร์ ยิ่งเบียดแทรกขึ้นมาในสังคมญี่ปุ่นอย่างมีนัยสำคัญในเวลาต่อมา
ตัวเลขที่น่าสนใจไม่น้อยก็คือ ในขณะที่ญี่ปุ่นมีประชากรเทียบได้เพียงร้อยละ 3 ของประชากรโลกทั้งหมด แต่ญี่ปุ่นกลับบริโภคพลังงานมากถึงร้อยละ 6 ที่โลกนี้ผลิตได้
ขณะที่ทางเลือกเรื่องพลังงานนิวเคลียร์ในระดับสากล ถูกท้าทายจากเหตุการณ์ Three Mile Island (TMI) ในรัฐเพนซิล วาเนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1979 หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์ Chernobyl ในยูเครน เมื่อปี 1986 แต่ดูเหมือนว่าภายใต้ความจำเป็นแห่งชาติในมิติของ ความต้องการใช้พลังงาน ทำให้โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นไม่ได้รับแรงคัดง้างหรือผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวมากนัก
แม้จะมีกลุ่มผู้เคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ตั้งข้อสังเกตจาก ปรากฏการณ์ดังกล่าว รวมถึงการตั้งประเด็นคำถามเกี่ยวกับงบประมาณค่าใช้จ่ายในการลงทุน ก่อสร้าง รวมถึงปัญหาการกำจัด กากนิวเคลียร์ก็ตาม
ขณะเดียวกัน การรับรู้ว่าด้วยมาตรฐานความปลอดภัยแบบญี่ปุ่นได้ถูกทำให้เชื่อว่าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นมีความปลอดภัย โดยสามารถเติบโตและขยายบทบาทได้ตลอดช่วงเวลากว่า 3 ทศวรรษนับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 จนถึง ปัจจุบันด้วย
ญี่ปุ่นอาจเริ่มต้นก้าวเดินบนหนทางนิวเคลียร์ช้ากว่าประเทศ พัฒนาอื่นๆ แต่ภายในเวลาไม่นานญี่ปุ่นกลับกลายเป็นประเทศที่มีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มากเป็นอันดับสามของโลก ด้วยจำนวนเตาปฏิกรณ์รวม 55 แห่ง จะเป็นรองก็แต่เพียงสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีเตาปฏิกรณ์ปรมาณูมากที่สุดรวม 104 แห่ง และฝรั่งเศสที่มีอยู่ 59 แห่ง
การผลิตกระแสไฟฟ้าของญี่ปุ่นนอกจากจะพึ่งพิงพลังงานนิวเคลียร์กว่าร้อยละ 25-26 แล้ว ญี่ปุ่นยังต้องอาศัยการนำเข้าถ่านหิน (Coal) ในการผลิตไฟฟ้าอีกกว่าร้อยละ 27 ก๊าซธรรมชาติ ในรูปของ LNG (Liquefied Natural Gas) อีกร้อยละ 26 และน้ำมัน (Oil) อีกร้อยละ 13 โดยสามารถพึ่งพาพลังงานจากเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ หรือการนำพลังงานลมและแสงอาทิตย์มาใช้ ได้รวมเพียงร้อยละ 9-10 เท่านั้น
ญี่ปุ่นเคยประกาศแนวคิดว่าด้วย Beautiful Japan ในสมัย Shinzo Abe เป็นนายกรัฐมนตรี (26 กันยายน 2006-26 กันยายน 2007) โดยวางเป้าหมายในการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ด้วยการพยายามปรับระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Co2 emission) จากระดับที่เป็นอยู่เมื่อปี 2000 ให้เหลือร้อยละ 25 ภายในปี 2020 และลดลงให้ได้ร้อยละ 54 ภายในปี 2050 รวมถึงลดลงร้อยละ 90 ภายในปี 2100
เป้าหมายดังกล่าวดำเนินไปโดยมีพลังงานนิวเคลียร์ เป็นกลไกสำคัญสำหรับอนาคตของญี่ปุ่น ภายใต้ความเชื่อที่ว่า “พลังงานนิวเคลียร์สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึงร้อยละ 14 ต่อปี”
ซึ่งนั่นหมายความว่าญี่ปุ่นจะพึ่งพิงพลังงานนิวเคลียร์ในระดับที่สูงถึงร้อยละ 60 ภายในปี 2100 จากที่เป็นอยู่ในระดับ ร้อยละ 10 ในปัจจุบัน ขณะที่พลังงานที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (renewable energy) ได้รับการกำหนดบทบาทไว้เพียงระดับร้อยละ 10 จากระดับปัจจุบันที่ร้อยละ 5 โดยญี่ปุ่นจะลดการพึ่งพิงพลังงานฟอสซิล (fossil fuels) จากระดับร้อยละ 85 ให้เหลือเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น
อย่างไรก็ดี ยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของญี่ปุ่นซึ่งเคยวางน้ำหนักและมีเข็มมุ่งหลักอยู่ที่พลังงานนิวเคลียร์ อาจกำลังเผชิญกับความท้าทายสำคัญอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
เพราะภายหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ฟุกุชิมะ-ไดอิชิ (Fukushima Dai-ichi) ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อเนื่องไปสู่ประเด็นมาตรฐาน ความปลอดภัยและความคุ้มค่าทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แห่งอื่นๆ ที่มีอยู่ในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังส่งผลสะเทือนอย่างยิ่งในระดับโลกด้วย
“พลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานทางเลือกที่ใช้สมองน้อยที่สุด” เป็นทัศนะที่นักวิชาการด้านพลังงานทดแทนและนักอนุรักษ์ จำนวนไม่น้อยเห็นพ้องกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว
มูลเหตุที่เป็นเช่นนั้น ในด้านหนึ่งเป็นเพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดำเนินไปโดยมีเป้าประสงค์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการใช้พลังงานในแต่ละสังคม ที่มักจะแยกส่วนจากบริบททางสังคมอื่นๆ
แตกต่างจากการพัฒนาวิจัยแหล่งพลังงานทดแทนที่ต้องตระหนักถึงห่วงโซ่ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการใช้พลังงานให้คุ้มค่าต่อเนื่องถึงกันอย่างรอบด้าน
ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีความท้าทายภูมิปัญญาและจิตสำนึกร่วมของ ผู้คนในสังคมมากกว่ามาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงว่าด้วยการเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) ซึ่งเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับ ฐานโครงสร้างประชากร ญี่ปุ่นจำเป็นจะต้องแสวงหาและพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าที่พร้อมจะรองรับภาระทางสังคมที่เปลี่ยนไปนี้
บางทีวิกฤติและปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากมหาวินาศภัยในครั้งนี้ อาจเป็นโอกาสให้ญี่ปุ่นได้หันกลับมาพิจารณาและทบทวน ยุทธศาสตร์และนโยบายว่าด้วยพลังงาน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคมญี่ปุ่นครั้งใหญ่ทั้งระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดและพลังงานที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (Renewable Energy) อย่างจริงจังให้มากขึ้น
ทั้งนี้ เพื่อสร้างญี่ปุ่นให้กลับมารุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี เป็น Renewable Japan ขึ้นมาอีกครั้ง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|