The Great Lessons จาก Kanto สู่ Hanshin ถึง Tohoku

โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

โศกนาฏกรรมจากเหตุแผ่นดินไหวที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะฮอนชู ประเทศญี่ปุ่นหรือเขต Tohoku ด้วยระดับความรุนแรง (Magnitude) 9.0 เมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา นับเป็นแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นและรุนแรงเป็นอันดับ 5 ของโลก

ความรุนแรงของแผ่นดินไหวส่งผลให้เกิดคลื่นสึนามิความเร็วถึง 800 กม.ต่อชั่วโมง ความสูง 10-20 เมตร โถมเข้า หาพื้นที่ชายฝั่งอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมงถัดมา โดยจังหวัดมิยากิและจังหวัดฟุกุชิมะเป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายหนักที่สุด ขณะที่แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวครอบคลุมพื้นที่ตลอดแนวชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก นับตั้งแต่เหนือสุดของเกาะฮอนชูลงมาถึงโตเกียว

แม้ตัวเลขความเสียหาย ณ ขณะปัจจุบันยังไม่สามารถประเมินได้แน่ชัด

แต่ยอดผู้เสียชีวิตที่พุ่งขึ้นทุกขณะนับหมื่นคน จำนวนผู้ไร้ที่อยู่อาศัยอีกนับแสน รวมทั้งความเสียหายอย่างหนักที่เกิดขึ้นกับสนามบินเซนได โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะ โรงกลั่น น้ำมัน ท่าเรือ ระบบคมนาคมขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรม พื้นที่เกษตรกรรม รวมไปถึงทรัพย์สินของประชาชน ได้รับการประเมิน ในเบื้องต้นว่า จะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 2 ของจีดีพีของญี่ปุ่นเลยทีเดียว

เขต Tohoku หรือที่ตามรากศัพท์ในภาษาญี่ปุ่นหมายถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วยเขตปกครองในลักษณะจังหวัด (prefecture) รวม 6 จังหวัด ไล่เรียงตั้งแต่อาโอโมริ (Aomori) อิวาเตะ (Iwate) อะกิตะ (Akita) ยามากาตะ (Yamagata) มิยากิ (Miyagi) และฟุกุชิมะ (Fukushima) นับเป็นเขตที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมากแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น โดยเศรษฐกิจของ Tohoku มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 6.4 ของจีดีพี ญี่ปุ่นทั้งประเทศ

ความสำคัญของ Tohoku อีกประการหนึ่งอยู่ที่ Tohoku ได้ถูกกำหนดให้เป็น Industrial Hubs ในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ เหล็ก การกลั่นน้ำมัน อุปกรณ์สื่อสาร และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งภาพความเสียหายที่ได้พบเห็นจากซากรถยนต์เกลื่อนกลาด และเปลวเพลิงที่โหมกระหน่ำโรงกลั่นน้ำมันคงเป็นประจักษ์พยานในเรื่องดังกล่าวได้ดี

แม้สังคมญี่ปุ่นจะมีแผนรองรับกับเหตุวินาศภัย และได้พัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องภัยธรรมชาติมาอย่างต่อเนื่อง แต่นั่นก็มิได้เป็นหลักประกันว่าจะไม่มีความเสียหายเมื่อปรากฏเหตุร้ายแรงขึ้นจริง

ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ประกอบด้วยหมู่เกาะใหญ่น้อย ในเขตภูเขาไฟตามแนว Pacific Ring of Fire และตั้งอยู่บนแนวแยกเลื่อน (Fault line) ทำให้ในแต่ละปีมีเหตุแผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่น ที่ตรวจนับได้มากถึงกว่า 1,000 ครั้ง ด้วยแรงสั่นสะเทือนและผลกระทบขนาดต่างๆ กัน การเรียนรู้ที่จะปรับแต่งสภาพความเป็นอยู่ให้สอดคล้องกับวิถีแห่งธรรมชาติ ในระดับสังคมชุมชนรากหญ้าของญี่ปุ่น ด้วยการสร้างบ้านเรือนที่ประกอบ ด้วยฝาไม้ และวัสดุน้ำหนักเบา จึงกลายเป็นภาพที่ชินตา

แต่จุดเปลี่ยนที่ก่อให้เกิดเป็นเค้าโครงของ platform ในเชิงยุทธศาสตร์ว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาวินาศภัยในระดับชาติของญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภัยพิบัติครั้งร้ายแรงที่ได้รับการขนานนามในฐานะ The Great Kanto Earthquake ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน 1923

The Great Kanto Earthquake สร้างความสูญเสียอย่าง มหาศาลและครอบคลุมพื้นที่ของ Tokyo Yokohama รวมถึง Chiba Kanagawa และ Shizuoka โดยผลของแผ่นดินไหวก่อให้เกิดเหตุเพลิงไหม้กระจายอยู่ทั่วพื้นที่กรุงโตเกียว และพื้นที่โดยรอบ ส่งผลให้มีบ้านเรือนถูกทำลายเสียหายมากกว่า 570,000 หลังคาเรือน ทำให้ประชาชนกว่า 2 ล้านคนไร้ที่อยู่อาศัยหรือต้อง อพยพออกจากพื้นที่

ภายหลังเหตุการณ์สงบลง ญี่ปุ่นพยายามจัดวางแผนแม่บท เพื่อการป้องกันภัยไม่ให้เกิดความสูญเสียจากเหตุรุนแรงในอนาคต ด้วยการวางโครงข่ายถนนและรถไฟ รวมถึงบริการสาธารณะอื่นๆ ในกรุงโตเกียวขึ้นใหม่ พร้อมกับการเสนอผังเมืองใหม่ให้มีสวนสาธารณะในจุดต่างๆ กระจายทั่วกรุงโตเกียว เพื่อใช้สำหรับเป็นสถานที่หลบภัยและศูนย์อพยพในกรณีที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวหรือวิบัติภัยอื่นๆ ในอนาคต

ขณะที่อาคารที่ทำการของหน่วยงานภาครัฐแต่ละแห่งยังได้รับการออกแบบอย่างเข้มงวดให้มีมาตรฐานความแข็งแรงที่สูงขึ้น ควบคู่กับการวางระบบสาธารณูปการพื้นฐานสำรองไว้ สำหรับการแปลงสภาพเป็นที่พักพิงชั่วคราวเพื่อรองรับการอพยพของประชาชนด้วย

ก่อนที่ภัยแห่งสงครามโลกครั้งที่ 2 จะขยายตัวเข้ามาสร้างความเสียหายให้กับกรุงโตเกียวและประเทศญี่ปุ่นอีกครั้ง โดยมี Hiroshima และ Nagasaki เป็นประจักษ์พยานแห่งความโหดร้ายของสงครามบนแผ่นดินญี่ปุ่น

ประสบการณ์ที่ได้รับจากการเผชิญหน้ากับความสูญเสียครั้งใหญ่ถึง 2 ครั้ง ทั้งจากธรรมชาติและน้ำมือของมนุษย์ในช่วงเวลาห่างกันเพียง 2 ทศวรรษดังกล่าว กลายเป็นประหนึ่งบททดสอบพิสูจน์ความสามารถ ที่เปิดโอกาสให้ญี่ปุ่นได้กำหนดทิศทาง การพัฒนาและวิธีจัดการกับวินาศภัยในเวลาต่อมา

ความกังวลใจประการสำคัญของสังคมญี่ปุ่นเกี่ยวกับเหตุแผ่นดินไหว ในยุคหลัง The Great Kanto Earthquake อยู่ที่การคาดหมายของนักวิทยาศาสตร์และนักธรณีวิทยา ซึ่งระบุถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ที่ได้รับการกล่าว ถึงในฐานะของ Big One เพราะจะมีความรุนแรงในการทำลายสูง และอาจเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทั้งในเขตมหานครกรุงโตเกียวและปริมณฑลโดยรอบของเขต Kanto เลยทีเดียว

ขณะเดียวกันองค์ความรู้เกี่ยวกับ Tsunami ที่ได้พัฒนาขึ้นเป็นลำดับ นอกจากจะทำให้ประชาคมนานาชาติประสานความร่วมมือกันในการสร้างระบบเตือนภัยล่วงหน้า เช่นในกรณี ของ Pacific Tsunami Warning System: PTWS แล้ว

การป้องกันภัย Tsunami ที่เป็นรูปธรรมของญี่ปุ่น ยังปรากฏออกมาในรูปของการลงทุนสร้างเขื่อน และกำแพงคอนกรีต (breakwater) เป็นแนวยาวครอบคลุมชายฝั่งในพื้นที่เสี่ยงภัยรวมระยะทางกว่า 15,065 กิโลเมตร จากชายฝั่งทะเลทั้งหมดของ ประเทศที่มีระยะทางรวม 34,840 กิโลเมตร

และเมื่อระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเข้าสู่ยุคสมัยของยุคหลังสงครามเย็น (Post Cold War Era) ตั้งแต่ช่วงต้นของทศวรรษ 1990 ได้มีส่วนสำคัญผลักดันให้ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกพยายามที่จะแสดงบทบาทนำในเวทีประชาคมนานาชาติเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ

การประชุมภายใต้กรอบ United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC) หรือที่เรียกขานอย่างไม่เป็นทางการว่า Earth Summit ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในปี 1992 ที่เมือง Rio de Janeiro โดยมีวัตถุประสงค์อยู่ที่ความพยายามลดปริมาณการปล่อยสารเรือนกระจก (greenhouse gas emission) ดูจะเป็นตัวอย่างบทบาทของญี่ปุ่นในเวทีความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศที่เด่นชัดที่สุดกรณีหนึ่ง

ก่อนที่ข้อตกลงที่เกิดจากการประชุมภายใต้กรอบดังกล่าว ได้รับการเรียกขานในฐานะ Kyoto Protocol จากผลของการเจรจา ที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนธันวาคม 1997

ขณะที่การประชุมภายใต้กรอบของสหประชาชาติว่าด้วย World Conference on Disaster Reduction (UNWCDR) ครั้งแรกซึ่งได้จัดให้มีขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 1994 ที่ Yokohama ประเทศญี่ปุ่น ได้นำไปสู่ร่างแผนยุทธศาสตร์ระดับนานาชาติ ภายใต้ชื่อ Yokohama Strategy and Plan of Action for a Safer World สำหรับลดทอนผลกระทบจากวิบัติภัยจากธรรมชาติ ที่ก่อให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมากมายตลอดเวลาที่ผ่านมาด้วย

Yokohama Strategy ดังกล่าวนอกจากจะเปิดศักราชใหม่ในความพยายามของมนุษย์ที่จะอยู่ร่วมกับวิบัติภัยจากธรรมชาติหลากหลายรูปแบบด้วยความเข้าใจและปลอดภัยแล้ว กรณีดังกล่าวยังนับเป็นการเปิดโอกาสและพื้นที่ให้ญี่ปุ่นได้แสดงบทบาทนำ ในฐานะ The Big One ในเวทีระดับนานาชาติ ที่มีความพร้อมทั้งระดับเทคโนโลยี และปัจจัยทางเศรษฐกิจสำหรับสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าวอย่างไม่อาจปฏิเสธ

บททดสอบพิสูจน์ศักยภาพในการก้าวขึ้นเป็น The Big One ของญี่ปุ่นในระเบียบโลกใหม่ ภายหลังการประชุมดังกล่าว เดินทางเข้ามาตรวจสอบและท้าทายอย่างรวดเร็วในอีกไม่กี่เดือนถัดมา เมื่อเหตุแผ่นดินไหวครั้งร้ายแรงที่เมือง Kobe ในเขตจังหวัด Hyogo ซึ่งได้รับการขนานนามต่อมาว่า The Great Hanshin Earthquake เมื่อวันที่ 17 มกราคม 1995

แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้ส่งผลให้สิ่งปลูกสร้างและอาคารพังทลายทับถมร่างของประชาชน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากถึง 6,500 คน มีมูลค่าความเสียหาย ทางเศรษฐกิจได้รับการประเมินว่าอยู่ในระดับที่มากถึง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

เหตุการณ์ดังกล่าวได้ก่อให้เกิดคำถามและข้อท้าทายใหม่ๆ สำหรับสังคมญี่ปุ่นในเวลาต่อมา โดยเฉพาะกรณีว่าด้วยมาตรฐาน การก่อสร้างที่วิศวกรญี่ปุ่นเคยมั่นใจในความปลอดภัยได้รับการทบทวนใหม่ควบคู่กับการคิดค้นเพื่อสร้างแบบจำลองอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่มีความมั่นคงและสามารถรองรับรูปแบบการสั่นเคลื่อนจากเหตุแผ่นดินไหวในลักษณะต่างๆ สำหรับรองรับกับวินาศภัยที่มองไม่เห็นและคาดการณ์ไม่ได้นี้

การบูรณะและฟื้นฟู Kobe จากซากความเสียหายดำเนิน ไปอย่างรวดเร็ว และเสร็จสิ้นสมบูรณ์ลงด้วยระยะเวลาเพียง 5 ปี ซึ่งกรณีดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของญี่ปุ่นในการบรรเทาสาธารณภัยที่มิได้เกิดขึ้นเพียงเพราะระดับขั้นของพัฒนาการทางเทคนิควิทยาการที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเท่านั้น หากแต่ในด้านหนึ่งเป็นผลของการเก็บรับประสบการณ์เลวร้าย ที่เกิดขึ้นอย่างหลากหลายมาเป็นบทเรียนได้อย่างแหลมคม

การเก็บกู้ซากความเสียหายดำเนินไปอย่างมีแผนการ ควบคู่กับการเว้นร่องรอยความเสียหายในพื้นที่บางส่วนไว้สำหรับ จัดสร้างเป็นอนุสรณ์สถาน เพื่อให้ญาติของผู้เสียชีวิตได้มีโอกาสเข้าร่วมพิธีรำลึกเหตุการณ์

ขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องเตือนใจสำหรับผู้ที่ไม่ได้มีโอกาส ได้รับรู้ความรุนแรงและความสูญเสียจากเหตุแผ่นดินไหวในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการให้การศึกษาด้วย ซึ่งกรณีดังกล่าวย่อมยากที่จะเกิดขึ้นได้ หากไม่มีการเตรียมการและแผนแม่บทรองรับ ทั้งในระดับนโยบายและผู้ปฏิบัติการ

แต่ความเสียหายจากเหตุการณ์ที่ได้รับการเรียกขานในปัจจุบันว่า 2011 Tohoku Earthquake and Tsunami ดูจะเป็น กรณีที่มีบริบทเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ไปไกลกว่าที่สังคมญี่ปุ่นได้เตรียมการรองรับไว้อย่างมากทีเดียว

โดยเฉพาะความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้า พลังงานนิวเคลียร์ ฟุกุชิมะ ไดอิชิ ไม่เพียงแต่สั่นคลอนความน่าเชื่อถือของระบบการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของญี่ปุ่นเท่านั้น หากยังส่งผลกระเทือนต่อกระบวนการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน และการทบทวนการตรวจสอบทางการเมืองการบริหาร

บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้า TEPCO หรือ Tokyo Electric Power Company ถูกเปิดโปงว่ารายงานผลการตรวจสอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะที่เป็นเท็จ โดยอุปกรณ์กว่า 33 ชิ้นไม่ได้รับการตรวจสอบ และแผงจ่ายไฟฟ้าวาล์วควบคุมอุณหภูมิ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ สำคัญไม่ได้รับการตรวจสภาพมานานถึง 11 ปี และเป็นเหตุให้เมื่อเกิดแผ่นดินไหว เครื่องปั่นไฟในระบบหล่อเย็นไม่ทำงาน จนก่อให้เกิดความเสียหายตามมา

ที่สำคัญก็คือ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ TEPCO รายงานเท็จเรื่องการตรวจสอบความปลอดภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เพราะเมื่อ 9 ปีก่อน TEPCO ก็เคยรายงานเท็จ จนในที่สุดรัฐบาลญี่ปุ่นต้องสั่งปิดเตาปฏิกรณ์ 17 แห่งเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยมาแล้ว

ความเป็นไปและอนาคตของ TEPCO นับจากนี้กำลังถูกจับตามอง และมีความเป็นไปได้อย่างมากที่รัฐบาลญี่ปุ่นอาจเข้าครอบครองกิจการของ TEPCO เพื่อตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ หลังจากที่ TEPCO อาจต้องจ่ายเงินชดเชยความเสียหายครั้งนี้เป็นเงินมากถึง 4 ล้านล้านเยน

ขณะที่แผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มเติมอีก 14 แห่ง ซึ่งมีกำหนดจะสร้างเสร็จภายในปี 2573 ถูกคำสั่งให้ทบทวน หรือแม้กระทั่งระงับโครงการไปโดยปริยาย

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ จึงเป็นประหนึ่งลิ่มที่ตอกแทงเข้าไปทำลายความน่าเชื่อถือของระบบการบริหารจัดการของญี่ปุ่นอย่างรุนแรง

โดยเฉพาะเมื่อประกอบส่วนกับการรั่วไหลของกัมมันตภาพ รังสีที่ปนเปื้อนผลิตผลทางการเกษตรทั้งพืชผักและเนื้อสัตว์ รวมถึงน้ำนม ซึ่งผลักให้ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับปัญหารอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติพลังงาน วิกฤติด้านอาหาร หรือแม้กระทั่งวิกฤติทางการเมืองในระยะถัดจากนี้

รวมทั้งยุทธศาสตร์และทิศทางในแนวนโยบายว่าด้วยพลังงานของญี่ปุ่นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนไปพร้อมกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.