อนาคตลิเบียยุคหลัง Gaddafi


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

ลิเบียจะฟื้นฟูประเทศที่ถูกทำลายโดยผู้นำที่ไม่เคยถูกท้าทายอำนาจมานาน 40 ปีได้อย่างไร

Muammar Gaddifi ผู้นำลิเบีย ถูกท้าทายอำนาจครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ลิเบียถูกตัดแยกออกเป็นส่วนๆ เมื่อฝ่ายต่อต้านยึดเมืองได้ทีละเมือง

หาก Gaddafi ถูกโค่นอำนาจ สิ่งที่น่าวิตกคือลิเบียยุคหลัง Gaddafi จะเป็นอย่างไร ในเมื่อตลอด 40 ปีภายใต้การปกครองของเขา Gaddafi ได้ควักตับไตไส้พุงของลิเบียออกมาจนกลวงโบ๋ ฝ่ายค้านถูกกำจัดออกไปจากสังคมลิเบียจนหมดสิ้น ระบบการเมือง ของลิเบียมีแต่ความว่างเปล่าไม่เหลืออะไรเลย

นั่นหมายความว่าชาวลิเบียที่ได้รับอิสรภาพใหม่จะต้องเขียนอนาคตโดยเริ่มต้นขึ้นจากศูนย์

ลิเบียจะต้องตั้งต้นใหม่หมดหลังยุค Gaddafi ต้องเริ่มต้น สร้างระบบทุกอย่างใหม่ ตั้งแต่ด้านพลเรือน ระบบการเมือง ระบบ กฎหมาย ไปจนถึงระบบศีลธรรม ที่ประกอบกันขึ้นเป็นสังคมและรัฐบาล

แต่สิ่งที่ยังไม่มีความชัดเจนเลยคือ ผู้นำคนใหม่ของลิเบียจะมาจากที่ใด บางทีบรรดาหัวหน้าเผ่าต่างๆ อาจจะรวมตัวกันหนุนหลังหนึ่งในพวกเขาให้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำใหม่ หรือบางทีผู้นำฝ่ายค้านที่หนีไปต่างประเทศอาจจะกลับมา แต่อาจจะไม่ได้กลับมา อย่างอัศวินม้าขาว แต่กลับมาเป็นช่างผู้ที่จะต้องก่ออิฐถือปูนวางรากฐานใหม่ให้แก่ลิเบีย

หรือบางทีอาจเป็นโอกาสให้หนุ่มสาวลิเบีย ที่พกดีกรีการศึกษามาจากเมืองนอก หรือผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ได้ผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำ มีแม้กระทั่งข่าวลือว่า ทายาทของราชวงศ์ลิเบียในอดีตอาจกลับคืนมาปกครองลิเบียใหม่

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การจะทำให้ลิเบียกลับมายืนได้อีกครั้ง หากหมดยุค Gaddafi จะเป็นกระบวนการที่เชื่องช้าและยากลำบาก คล้ายๆ กับที่เคยเกิดขึ้นกับเหล่าประเทศบริวาร ในยุโรปตะวันออกของอดีตสหภาพโซเวียต หลังจากที่โซเวียตสิ้นชื่อ ถ้าหากอำนาจทาง การเมืองไม่ถูกฟื้นฟูโดยเร็ว ก็อาจเกิดการนองเลือดขึ้นได้ในลิเบีย

ลิเบียไม่มีทางเลือก เมื่อเทียบกับตูนิเซีย และอียิปต์ แม้ว่าการลุกฮือของประชาชนในสองประเทศนั้นจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับชาวลิเบียก็ตาม เพราะสภาพภายในของลิเบียไม่เหมือนใครเลย และลิเบียขาดแผนที่เดินทางในการวางระบบพลเรือนใหม่

ทำไมลิเบียจึงตกอยู่ในสภาพที่แทบไม่เหลืออะไรเลย ทั้งระบบโครงสร้างและประสบ การณ์ทางการเมืองอย่างนี้ได้ ลิเบียเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร คำตอบ ทั้งหมดดูเหมือนจะเริ่มต้นและจบลงที่ Gaddafi แต่เพียงผู้เดียว

Gaddafi ขึ้นครองอำนาจในลิเบีย โดยผ่านการทำรัฐประหารที่ไม่มีการนองเลือดเมื่อปี 1969 ขณะที่เขาอายุได้เพียง 27 ปี แรงบันดาลใจที่เกิดจาก Gamal Abdel Nasser ประธานา ธิบดีอียิปต์ในขณะนั้น ซึ่งมีแนวคิดชาตินิยมอาหรับ และคิดจะฟื้นฟูเกียรติยศศักดิ์ศรีของโลกอาหรับ ส่งอิทธิพลมาถึงการปฏิวัติลิเบียในช่วงทศวรรษแรกที่ Gaddafi ขึ้นครองอำนาจในลิเบีย และเป็นที่ชัดเจนตั้งแต่แรกเริ่มที่เขาขึ้นครองอำนาจว่า Gaddafi ไม่ปลื้มการทูตแบบนุ่มนวล

แต่ก็แทบจะไม่มีใครคาดคิดไปถึงว่า Gaddafi จะแข็งกร้าว และเดินหน้าชนกับทั้งประชาชนของเขาเองและกับโลกได้ถึงขนาดนั้น

Gaddafi ปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะปฏิรูปลิเบีย เขาต้องการสร้างชุมชนที่ปกครองโดยชนเผ่า ในประเทศที่เคยถูกปกครองด้วยระบบกษัตริย์ที่มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับตะวันตก มาตั้งแต่ที่ลิเบียได้รับเอกราชในปี 1951

สิ่งที่ Gaddafi ต้องการจัดตั้งขึ้นคือระบบการเมืองที่เขาเรียกว่า Jamahiriya เป็นระบบการเมืองที่ปกครองโดยตรงโดยชนเผ่า โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางอย่างสถาบันต่างๆ ของรัฐ แต่เมื่อ เป็นที่ชัดเจนว่า ลิเบีย ซึ่งในขณะนั้นเป็นสังคมที่กระจายอำนาจ ไม่สนใจแนวคิดระบบการเมืองแบบรวมศูนย์อำนาจของเขา Gaddafi จึงออกสิ่งที่เรียกว่า สมุดปกเขียว Green book

กลางทศวรรษ 1970 Gaddafi ออก Green Book ที่บรรจุ ปรัชญาทางการเมืองของเขา เป็นพิมพ์เขียวที่เสนอการปรับโครงสร้างลิเบียในทุกด้านทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม โดยหลักการแล้วลิเบียจะกลายเป็นประเทศประชาธิปไตยทดลอง

แต่ในความเป็นจริง ลิเบียกลับกลายเป็นรัฐตำรวจ ซึ่งความ เคลื่อนไหวทุกอย่างของประชาชนถูกจับตามองโดยระบบความมั่นคงและคณะกรรมาธิการที่ดูแลการปฏิวัติของ Gaffafi ซึ่งขึ้นตรงต่อ Gaddafi ล่าสุดในการลุกฮือของชาวลิเบีย Gaddafi กล่าวหาว่า กลุ่มชาวลิเบียที่ทรยศต่อเขาใน Cyrenaica หรือภาค ตะวันออกของลิเบียว่า เป็นคนจับกุม Omar al-Mukhtar วีรบุรุษ แห่งชาติของลิเบีย และทำให้ทหารมูจาฮีดินของลิเบียพ่ายแพ้

ส่วนในสมุดปกเขียว Gaddafi กล่าวหาว่า ฝ่ายต่อต้านเขาทำให้ศัตรูของลิเบีย คือสหรัฐฯ กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง และฝ่ายค้านในลิเบีย แทรกซึมระบบ Jamahiriya ของเขา กลายเป็น ข้ออ้างในการกำจัดผู้ที่ขวางทาง แม้กระทั่งฝ่ายค้านที่หนีออกนอก ลิเบียไปแล้ว ก็ยังหนีไม่พ้นชะตากรรม ต้องถูกตามล่าโดยหน่วยล่า สังหารของ Gaddafi ซึ่งมีหน้าที่ลอบยิงคนที่ Gaddafi เรียกว่า “หมาหลง” ผู้ประท้วงที่ต่อต้านเขาในครั้งนี้ ก็ถูก Gaddfi ตราหน้าว่าเป็นสุนัขหรือแมลงสาบ ที่จะต้องถูกกำจัดให้สิ้นซาก

ผลกระทบจาก Green Book ของ Gaddafi ร้ายแรงมาก ลิเบียบดขยี้ฝ่ายค้านทั้งหมดลงได้ภายในช่วงกลางทศวรรษ 1970 นับเป็นการถอนรากถอนโคนกลุ่มที่อยู่ตรงข้ามกับเขาได้ทั้งระบบ กิจกรรมใดๆ ที่ถูก Gaddafi มองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง จะต้องถูกลงโทษด้วยความตาย

นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ลิเบียยุคหลัง Gaddafi จะไม่มีฝ่ายค้านที่พร้อมจะเข้าเติมเต็มสุญญากาศทางอำนาจ ซึ่งไม่เหมือน กับในสภาพการณ์ในอียิปต์ ที่ฝ่ายค้านมีความพร้อมมากกว่า ถ้าหากจะมีใครที่พอจะขึ้นมาแทนที่ Gaddafi ได้ ก็คงจะมีแต่บรรดา เผ่าต่างๆ ของลิเบีย Warfalla, Awlad Busayf, Magharha, Zuwaya, Barasa และ Gadafa เผ่าที่เล็กที่สุดและเป็นเผ่าของ Gaddafi

ไม่แน่ว่าลิเบียยุคหลัง Gaddafi เผ่าต่างๆ เหล่านี้จะสามารถเป็นรากฐานของการสร้างระบบการเมืองขึ้นมาใหม่ในลิเบียก็ได้

ด้วยคุณสมบัติที่เผ่าสามารถก้าวขึ้นมาเป็นสถาบันทางการเมืองได้นี้เอง ทำให้ Gaddafi กลัวว่า เผ่าต่างๆ จะรวมตัวกันกลายเป็นกลุ่มต่อต้านระบอบของเขา ดังนั้น ในช่วง 2 ทศวรรษแรกในสมัยปกครองของเขา Gaddafi จึงพยายามลบอิทธิพลของ เผ่า โดยอ้างว่า พวกเขาเป็นองค์ประกอบที่ล้าสมัยไปแล้วในสังคม สมัยใหม่ของลิเบีย

แต่เมื่ออำนาจของเผ่าต่างๆ ทนทานเกินกว่าที่ Gaddafi จะหักลงได้ บวกกับเกิดกระแสต่อต้านการปกครองของเขาอย่างรุนแรงในช่วงทศวรรษ 1980-90 ทำให้ Gaddafi ต้องกลับลำ หันมาปรองดองกับเผ่าต่างๆ ไม่ว่าเขาจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม

Gaddafi ก็ฉลาดพอที่จะจัดตั้ง Social Leadership People’s Committee เป็นเครื่องมือในการที่เขาจะเลือกผู้อาวุโส ของเผ่าต่างๆ ซึ่งหลายคนเป็นผู้นำทางทหารด้วย เข้าสู่องค์กรนี้ด้วยตัวเอง ทำให้ Gaddafi สามารถควบคุมเผ่าต่างๆ ได้ รวมทั้ง คุมกองทัพของลิเบียได้ด้วย

ช่วงปลายทศวรรษ 1970-80 เป็นช่วงที่ Gaddafi สำแดงเดช ทั้งในเรื่องการก่อการร้าย การเผชิญหน้ากับประธานาธิบดี Reagan หลังจากสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดลิเบียในเดือนเมษายน 1986 ลิเบียเริ่มถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลกหลังจากถูกมาตรการลงโทษ จากนานาชาติ

กรณี Lockerbie ที่ลิเบียถูกกล่าวหาว่าระเบิดเครื่องบินเหนือเมืองดังกล่าว ได้ปิดฉากลิเบียบนเวทีโลก ทำให้ลิเบียสูญเสีย ความชอบธรรมทั้งหมดในเวทีระหว่างประเทศ Gaddafi พยายาม ใช้กรณีระเบิดปลุกระดมคนลิเบียให้ออกมาชุมนุมแสดงพลังครั้งใหญ่ แต่ชาวลิเบียส่วนใหญ่เฉยเมย ซึ่งก็เป็นเพราะตัว Gaddafi เองที่ทำให้คนลิเบียเป็นเช่นนั้น พลังการปฏิวัติของ Gaddafi กำลังจะตายลงอย่างรวดเร็ว

แต่มาตรการลงโทษของนานาชาติกระทบลิเบียอย่างรุนแรง แม้ว่า Gaddafi จะยังคงมีอำนาจมากพอ และสามารถปราบปราม การลุกฮือของชาวลิเบียที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1990 ลงได้ แต่กระแสต่อต้าน Gaddafi พุ่งสูงถึงจุดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนใน
ลิเบีย

หนทางที่จะต้านกระแสต่อต้านนี้ ลิเบียจะต้องตกลงกับชาติ ตะวันตกให้ได้ เพื่อให้ยุติมาตรการลงโทษที่กำลังส่งผลกระทบต่อลิเบียอย่างหนัก เพื่อที่ลิเบียจะได้มีเวลาฟื้นฟูบูรณะโครงสร้างพื้นฐานด้านการผลิตน้ำมันที่เก่าแก่ล้าสมัย ทำให้ชาวลิเบียมีสิทธิ์เดินทางไปประเทศอื่นๆ ได้อีกครั้ง

เมื่อลิเบียประกาศยกเลิกการมีอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูงในครอบครองในเดือนธันวาคม 2003 หลังจากการทูตแบบลับๆ ที่ริเริ่มโดยอังกฤษ Saif al-Islam บุตรชายคนหนึ่งของ Gaddafi กลายเป็นจุดสนใจ ด้วยการแสดงตัวเป็นนักปฏิรูปที่พร่ำพูดว่าลิเบีย จำเป็นต้องมีระบบการเมืองแบบเปิด Saif ผู้นิยมแต่งกายด้วยสูทแบบตะวันตก ซึ่งตรงกันข้ามกับบิดาของเขา ทำให้ภาพของลิเบีย ใหม่ที่ทุกคนอยากจะเห็น ดูเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา เขากลายเป็นที่รักของสื่อตะวันตกในทันที Saif ผู้พกดีกรี Ph.D. จาก London School of Economics ได้ภาพของการเป็นผู้นำการปฏิรูปไปสู่บิดาผู้เผด็จการของเขา

แต่ความโปรดปรานในตัว Saif และแนวคิดการปฏิรูปของเขา ซึ่งเอาเข้าจริงก็หาความเป็นรูปธรรมไม่ได้ หมดลงทันที หลังจากเกิดการลุกฮือในลิเบียครั้งล่าสุดนี้ เมื่อ Saif ออกทีวีโดยใช้ถ้อยคำที่แข็งกร้าวไม่ต่างไปจากบิดาของเขา และประกาศว่า จะเริ่มการเจรจาแห่งชาติกับฝ่ายต่อต้าน ทั้งๆ ที่กองกำลังที่ภักดีต่อบิดาของเขากำลังเข่นฆ่าชาวลิเบีย

แท้จริงแล้ว Saif ก็ไม่ต่างอะไรกับบิดาของเขา ที่ไม่เคยมองเห็นความจริง และไม่เคยเข้าใจความหมายของการลุกฮือที่เมือง Benghazi และ Cyrenaica หรือภาคตะวันออกของลิเบีย Gaddafi ไม่เคยคิดว่า ระบอบของเขาจะมีวันจบสิ้น

การลุกฮือที่ Benghazi ได้เติมเชื้อให้พลังงานทางการเมือง มากพอ จนปลดปล่อยความโกรธแค้นให้กระจายไปทั่ว Cyrenaica หรือภาคตะวันออกของลิเบีย เป็นความโกรธแค้นที่มีต่อระบอบการปกครองที่บริหารเศรษฐกิจผิดพลาด และทำให้ชาวลิเบียต้องเสื่อมเกียรติในเวทีโลกมานานกว่า 4 ทศวรรษ

ภายในไม่กี่วันหลังการลุกฮือที่ Benghazi ลิเบียแตกแยกออกมาเป็นสองส่วน Cyrenaica หรือภาคตะวันออก ซึ่งมี Benghazi เป็นเมืองหลัก ถูกยึดโดยฝ่ายต่อต้าน ทำให้ Gaddafi เหลือเพียง Tripolitania หรือภาคตะวันตก ซึ่งมีกรุง Tripoli เป็นหลัก

เมื่อเกิดการเผชิญหน้าระหว่างการปฏิวัติเก่าที่นำโดย Gaddafi กับการปฏิวัติครั้งใหม่โดยพลังประชาชน คำถามที่ไม่มี ใครตอบได้มานานหลายปีในลิเบีย จึงกลับมาอีกครั้ง นั่นคือ ลิเบียที่ไม่มี Gaddafi จะเป็นเช่นไร ตลอด 42 ปีที่ Gaddafi ครองอำนาจอย่างยาวนาน เขาใช้นโยบายแบ่งแยกแล้วปกครอง ซึ่งไม่เพียงทำให้ฝ่ายต่อต้านรวมตัวกันไม่ติด แต่ยังทำให้สถาบันทั้งทาง การเมืองและสังคมของลิเบียอ่อนแอ

ลิเบียที่ไม่มี Gaddafi คงจะเหลือแต่เพียงความว่างเปล่าทางการเมือง ลิเบียจำเป็นต้องสร้างประเทศที่ทันสมัย ที่ซึ่งชาวลิเบียเป็นพลเมืองที่แท้จริง มีสิทธิและหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็น แต่อุปสรรคนั้นใหญ่หลวงนัก หลังจากที่ Gaddafi ทำลายระบบทุกอย่างทางสังคมของลิเบียลง ใช้เผ่าต่างๆ เป็นเครื่องมือให้ขัดแย้งกันเอง และไม่ยอมสร้างคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาสานต่อ การเมืองของลิเบีย บวกกับสถาบันด้านการบริหารปกครองและข้าราชการที่อ่อนแอ

ลิเบียใหม่ที่ถูกทิ้งโดย Gaddafi คงจะต้องเผชิญกับปัญหาที่หนักหน่วงต่อไปอีกนาน และยังไม่รู้ว่า ผู้นำใหม่ของลิเบีย จะมาจากที่ใด สถาบันต่างๆ ในลิเบียจะฟื้นตัวได้เร็วเพียงใด เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มต่างๆ แก่งแย่งอำนาจกันเอง สรุปแล้วลิเบีย ใหม่คงจะยังเป็นประเทศที่อ่อนแอต่อไปอีกนานพอดู

งานหนักของผู้นำใหม่ลิเบียไม่ว่าจะเป็นใคร คือการพยายามหาวิธีให้กลุ่มต่างๆ ในสังคมลิเบีย หันหน้าเข้าหากันให้ได้ จนถึงบัดนี้ กลุ่มสังคมต่างๆ ในลิเบียแทบไม่มีสิ่งใดร่วมกันเลย นอกจากการมีส่วนในความร่ำรวยที่มาจากการขายน้ำมันของลิเบีย แต่ผลประโยชน์ในด้านอื่นๆ กลับขัดแย้งกัน ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายแบ่งแยกและปกครองของ Gaddafi โชคร้ายอีกอย่างคือ แทบไม่มีโมเดลดีๆ ให้ลิเบียได้เดินรอยตามเลย

สภาพของลิเบียยุคหลัง Gaddafi ซึ่งคงจะเต็มไปด้วยกลุ่ม ต่างๆ ที่ไม่เคยมีความสัมพันธ์กัน และต่างแย่งกันเรียกร้องสิทธิ์เสียงของตัวเอง น่าจะไปคล้ายกับสภาพของประเทศในคาบสมุทร Balkans ซึ่งอยู่ในยุโรป มากกว่าจะคล้ายกับอียิปต์หรือตูนิเซียที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกันกับลิเบีย

Balkans อาจจะเป็นแบบอย่างในการสร้างลิเบียใหม่ ถ้าเป็นเช่นนั้น ประชาคมโลกอาจจะเข้าไปมีบทบาทอย่างมากในการสร้างลิเบียใหม่ เหมือนกับที่เคยมีบทบาทใน Balkans มาแล้ว โดยนานาชาติได้เข้าไปช่วย Balkans สร้างประเทศใหม่ ทั้งการให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคและด้านความมั่นคง โดยการส่งกองกำลังความมั่นคงเข้าไปประจำการ

ความผิดพลาดของ Gaddafi ได้ทำลายล้างลิเบียในทุกระดับ ไม่ว่าผู้นำใหม่ของลิเบียจะเป็นใครก็ตาม เขาจะต้องเรียนรู้ บทเรียนจากความผิดพลาดนั้น และจะต้องเดินหน้าต่อไปอย่างแน่วแน่ ด้วยการใช้การประนีประนอมและภูมิปัญญา สองสิ่งซึ่งระบอบการปกครองของ Gaddafi ไม่เคยมีมาก่อน

แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.