ซีอีโอใหม่ HSBC


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

เป็นธรรมเนียมของธนาคารเอชเอสบีซีจะต้องมีซีอีโอคนใหม่มาทุกๆ 2 ปี ล่าสุดคือแมตทิว ล็อบเนอร์ วัยเพียง 39 ปี

ล็อบเนอร์ก้าวเข้ามารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย เมื่อเดือนมกราคม 2554 เขาร่วมงานกับธนาคารสัญชาติอังกฤษที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด 123 ปี

เขาเริ่มต้นทำงานกับกลุ่มเอชเอสบีซี ณ สำนักงานกรุงชิคาโก สหรัฐอเมริกา รับผิดชอบบริหารงานด้านสินเชื่อรายย่อย ก่อนได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง ณ สำนักงาน ใหญ่ของเอขเอสบีซี ในกรุงลอนดอน รับผิดชอบกำกับดูแลธุรกิจระหว่างประเทศในภูมิภาคยุโรปและตะวันออกกลาง

ในปี 2552 เขาย้ายมารับตำแหน่งผู้อำนวยการบริหารด้านธุรกิจลูกค้าองค์กรและธุรกิจระหว่างประเทศ ฝ่ายพาณิชย์ธนกิจ ในฮ่องกง

ก่อนร่วมงานกับเอชเอสบีซี เคยรับตำแหน่ง Associate Principal ที่บริษัท แมคคินซีย์ แอนด์ คอมปะนี รับผิดชอบทีมงาน กำกับดูแลนโยบายธุรกิจด้านบุคคลธนกิจสินเชื่อรายย่อย และธุรกิจประกัน ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นกรรมการสมาคมธนาคารนานาชาติ นอกจากร่วมงานกับภาคเอกชน เขาได้ทำงานในภาครัฐ กองทัพเรือสหรัฐอเมริกา

ด้านการศึกษา เขาจบระดับปริญญาโทด้านวิทยาศาสตร์ จากสถาบัน Massachusetts Institute of Technology และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีเกียรตินิยม ด้านวิทยาศาสตร์ จากสถาบันวิชาการทหารเรือของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ปัจจุบัน สมรสแล้วและมีบุตรธิดา 3 คน

ประสบการณ์ทำงาน 7 ปีในธนาคารเอชเอสบีซี และเป็นองค์กรที่สามารถสร้างผลกำไรอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2553 ธนาคารมีกำไรก่อนหักภาษี เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 36 เป็น 18.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก (ยกเว้นฮ่องกง) มีกำไรก่อนหักภาษี ในปี 2553 เติบโตร้อยละ 29 เมื่อเทียบ กับปีที่ผ่านมา หรือคิดเป็นมูลค่า 5.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ และปล่อยสินเชื่อเติบโตร้อยละ 27

สำหรับสถานภาพในประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคเอเชียด้วยกันมีอัตราการเติบโตใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะในปีที่ผ่านมาจีดีพีโตร้อยละ 7-8 ทำให้เห็นว่า สถานการณ์การเมืองไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจมากนัก

ก่อนหน้านี้ล็อบเนอร์มองว่า ประเทศไทยจะยังมีอัตราการ เติบโตจีดีพีเติบโตร้อยละ 5 ซึ่งมองสูงกว่าสถาบันการเงินในประเทศไทย เพราะวิเคราะห์จากการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงการลงทุนและธุรกิจส่งออกยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง

แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิในญี่ปุ่น อาจต้องทบทวน ตัวเลขจีดีพีใหม่อีกครั้ง เพราะธุรกิจส่งออกของประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นของผู้ประกอบการญี่ปุ่น ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์

สิ่งที่ท้าทายสำหรับล็อบเนอร์คือการนำบริษัทในประเทศไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศ เน้นลูกค้าระดับกลางและระดับ องค์กรขนาดใหญ่ สอดคล้องกับนโยบายของธนาคาร

แต่อีกสิ่งหนึ่งน่าจะเป็นเรื่องใหม่ของเขาต้องมาดูแลในฐานะซีอีโอคนแรก หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้ธนาคารต่างชาติเปิดสาขาได้ และธนาคารได้เปิดแห่งแรกที่สาขา ทองหล่อ เพื่อให้บริการลูกค้าบุคคลด้านสินเชื่อ และบัตรเครดิต โดยเฉพาะสามารถชำระค่าบัตรเครดิตด้วยเงินสดหรือเช็คผ่านเครื่องอัตโนมัติ 24 ชั่วโมง

นับว่าเป็นครั้งแรกของธนาคารที่ได้เพิ่มช่องทางการติดต่อ สื่อสารให้กับลูกค้าเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ต้องติดต่อสำนักงานใหญ่ บนถนนพระราม 4 เพียงแห่งเดียว

ภารกิจของล็อบเนอร์นับจากนี้อีก 2 ปีในเมืองไทย เป็นเรื่องท้าทายสำหรับเขาไม่น้อย เพราะโลกธุรกิจเปลี่ยนแปลงบ่อย จนบางครั้งไม่สามารถคาดเดาอะไรได้มากนัก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.