|
อากาศวิปริตพ่นพิษ แอร์ช้ำ! ยอดวูบ 3 แสนเครื่อง
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(6 เมษายน 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
*แอลจีอัดโปรโมชั่นซื้อแอร์แถมมือถือ
*ส่วนอีเลคโทรลักซ์สั่งจัดพอร์ตสินค้าใหม่
*ด้านสตีเบลปลื้มยอดขายน้ำอุ่นโตเพิ่ม 30%
* อุตุฯ รับมีโอกาสเกิดความหนาวระลอกใหม่
Climate change หรือการเปลี่ยนแปลงใดๆ จากสภาพภูมิอากาศ อันเป็นผลทางตรง หรือทางอ้อมจากกิจกรรมของมนุษย์ ที่ทำให้องค์ประกอบของบรรยากาศเปลี่ยนแปลงไป นอกเหนือจากความผันแปรตามธรรมชาติตามปรกติ กำลังส่งผลอย่างรุนแรง ทั้ง แผ่นดินไหว,ไฟป่า, พายุไซโคลน ซึ่งเกิดขึ้นไปทั่วโลก ล่าสุดกับเหตุการณ์สึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น
ขณะเมืองไทยก็เกิดเหตุประหลาด เมื่อมีฝนตกใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา และอุณหภูมิก็ลดต่ำลงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทั้งที่ก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่วันอากาศยังร้อนระอุ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ
นี่คือ ภาวะโลกร้อนที่เริ่มเข้ามาใกล้ตัวคนไทยมากขึ้นทุกที...
แต่สำหรับเจ้าของธุรกิจและนักการตลาดหลายคน อาจจะต้องกุมขมับ โดยเฉพาะสินค้าที่มีช่วงพีคของยอดขายในช่วงฤดูร้อนอย่าง “เครื่องปรับอากาศ”
“สินเมธ อิ่มเอม” หัวหน้ากลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศ บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด บอกกับ “ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์ ว่า จากสภาพอากาศแปรปรวนที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ตลาดรวมของเครื่องปรับอากาศในเมืองไทย จากเดิมคาดว่าจะมียอดขายสูงถึง 1.6 เครื่องในปี 54 อาจจะเติบโตแค่ 1.3 ล้านเครื่อง หรือลดลงกว่าเดิม 3 แสนเครื่องจากที่ประมาณการไว้
“ปีที่ผ่านมายอดขายตลาดรวมผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศไทยโตถึง 1.5 ล้านเครื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากปรากฏการณ์เอลนินโญ่ (ปริมาณน้ำน้อย แห้งแล้ง) แต่ปีนี้อากาศไม่ร้อนเท่าที่ควรเนื่องมาจากปรากฏการณ์ลานินญ่า (ปริมาณน้ำมาก ฝนตกมาก) ที่เกิดขึ้นมากในทวีปเอเชีย”
หัวหน้ากลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศ ชี้ว่า ปัจจัยลบสำหรับตลาดเครื่องปรับอากาศ ไม่เพียงแค่สภาพอากาศที่แปรปรวนเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึง ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อโดยภาพรวมหดตัวลงไป ทำให้ยอดขายในเดือนมีนาคม ลดลง 10-15% แต่ทว่าแอลจีก็ยังรักษายอดขายเติบโตกว่าปีที่แล้วได้ 5% ซึ่งเป็นผลมาจากการแย่งแชร์จากคู่แข่งได้ ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 22% จากเดิม 17%
สินเมธ เผยต่อว่า ท่ามกลางปัจจัยลบที่รุมเร้า ทำให้แอลจีต้องปรับกลยุทธ์พิเศษเพื่อกระตุ้นยอดขายมากขึ้น ซึ่งมีทั้งหมด 3 แนวทางด้วยกัน โดยแนวทางแรก คือ การจัดโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขาย ทั้งการยืดเวลาผ่อนชำระ 0% ออกไป บางโมเดลจากที่มีแคมเปญผ่อนชำระ 0% จาก 6 เดือนก็เพิ่มขึ้นเป็น 12 เดือน โดยเฉพาะรุ่น Inverter และบางช่องทางยังสนับสนุนผู้จัดจำหน่ายแถมรังคลอบท่อสายแอร์ ที่สำคัญยังได้รุกกิจกรรม ณ จุดขาย ด้วยการเพิ่มจำนวนจังหวัดในการจัดคาราวานโรดโชว์ จากเดิม 35 จังหวัด เพิ่มเป็น 50 จังหวัด ซึ่งจะมีโปรโมชั่นซื้อแอร์แถมโทรศัพท์มือถือแอลจี 1 เครื่อง รวมทั้งกิจกรรมเล่นเกมต่างๆ โดยจะจัดกิจกรรมลักษณะนี้ไปถึงสิ้นเดือน พ.ค.
แนวทางที่สองคือ เน้นการขายคุณภาพแทนปริมาณ โดยโฟกัสไปที่เครื่องปรับอากาศรุ่น Inverter V 4D มากขึ้น และแนวทางสุดท้าย ก็คือ จัดตั้งทีมขายเจาะไปตามโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างตามแนวรถไฟฟ้า คาดว่าจะสร้างสัดส่วนการขายจากกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเป็น 20% จากเดิม 15% ทั้งนี้ สินเมธคาดว่า ยอดขายรวมทั้งปีจะเติบโตได้ 20% ซึ่งเป็นการปรับลดจากประมาณการยอดขายเดิมที่ตั้งไว้ช่วงต้นปี 30%
ด้าน “สุทธิ มโนกิจจรูญมั่น” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้อีเลคโทรลักซ์ได้ปรับนโยบายด้วยการวางพอร์ตสินค้าให้ครอบคลุมทุกเทศกาล
“สภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้หลายค่ายพลิกความคาดหมาย จากเดิมช่วงนี้เป็นหน้าขายแอร์ แต่สภาพอากาศไม่ได้ร้อนอย่างที่คิด กลับหนาวจัด ในแง่การตลาดจึงต้องประเมินสถานการณ์ตลอดเวลา ต่อไปการตลาดจะขายตามเทศกาลไม่ได้ แต่จะต้องขายได้ตลอดทั้งปี” สุทธิ กล่าว และว่า การวางพอร์ตสินค้าให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ทั้งเครื่องทำน้ำอุ่น เครื่องซักผ้า อบผ้า และเครื่องปรับอากาศ จะเป็นแนวทางที่ช่วยได้ระดับหนึ่ง ทำให้สามารถขายสินค้าได้ตลอดทั้งปี ไม่ว่าอากาศจะแปรปรวนยังไง
“การวางพอร์ตโฟลิโอสินค้าครอบคลุม เหมือนกับการมีสรรพาวุธในคลังพร้อม ไม่ว่าอากาศจะเป็นแบบไหนก็ไม่กระทบ อยู่ที่ว่าจะหยิบตัวไหนมาเล่น”
สุทธิ กล่าว และเสริมด้วยว่า นอกจากสภาพอากาศที่เอื้อต่อตลาดเครื่องทำน้ำอุ่นแล้ว ปัจจุบันการทำตลาดเครื่องทำน้ำอุ่นเองก็เริ่มเปลี่ยนไป เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มมองว่าเครื่องทำน้ำอุ่น เป็นสินค้าที่มีความจำเป็นมากขึ้น อีกทั้งร้านค้ามองว่าเครื่องทำน้ำอุ่นเป็นสินค้าที่ไปกับแอร์ได้ ทำให้จากเดิมที่ขายได้ในช่วงเดียว คือฤดูหนาว ก็ขยายโอกาสในการขายนอกฤดูมากขึ้น
“ทุกวันนี้คนนอนในห้องปรับอากาศ พอตื่นขึ้นมาจะไปอาบน้ำ จึงทำให้นึกถึงเครื่องทำน้ำอุ่น” สุทธิ ย้ำถึงโอกาสครั้งใหม่ของเครื่องทำน้ำอุ่น ซึ่งปัจจุบันอีเลคโทรลักซ์มีสินค้าออกทำตลาด 2 รุ่น ได้แก่ รุ่นสแตนดาร์ด และพรีเมียม โดยจะใช้เป็นหัวหอกในการทำตลาดต่อเนื่องจนถึงปลายปีนี้
ส่วน “นพพล ผาสุกดี” ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท สตีเบล เอลทรอน เอเชีย จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องทำน้ำอุ่น-น้ำร้อน สัญชาติเยอรมัน แบรนด์ “สตีเบล เอลทรอน” บอกว่า สภาพอากาศที่แปรปรวนในช่วงนี้ ทำให้เป็นโอกาสของตลาดเครื่องทำน้ำอุ่น และสตีเบลฯ มากขึ้น สะท้อนได้จากยอดขายในงานโฮมโปร 3 วัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา มีการเติบโตเพิ่มขึ้น 30% นอกจากนี้ หากเทียบยอดขายในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. ปี 2554 กับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ยังพบว่ามียอดขายเติบโตขึ้น 15%
ต้นปีที่ผ่านมา สตีเบลฯ ได้มีการปรับโมเดลการขายใหม่ จากการจำหน่ายเฉพาะช่วงฤดูหนาว มาเป็นขายได้ทุกฤดูกาล เหตุจากสภาพอากาศที่หนาวนานขึ้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมา และมองว่าผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องซื้อเครื่องทำน้ำอุ่นเฉพาะฤดูหนาวเท่านั้น ดังนั้นสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปช่วงนี้จึงช่วยซัปพอร์ตโมเดลการขายใหม่ของสตีเบลฯ มากขึ้น
นพพล บอกว่า การทำตลาดของสตีเบลฯ หลังจากนี้ จะเดินเครื่องสร้างการรับรู้และความเข้าใจกับผู้บริโภคถึงวิธีการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นได้ทุกฤดู เพื่อให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เครื่องทำน้ำอุ่น โดยเลือกจะใช้พนักงานขาย ณ จุดขาย เป็นช่องทางในการสื่อสารถึงผู้บริโภค ควบคู่กับการสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งจากแนวทางการปรับโมเดล พร้อมเดินหน้าให้ความรู้กับตลาด เชื่อว่าจะยังคงรักษาการเติบโต 10-15%
อย่างไรก็ดี นักวิชาการจากกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า นับจากนี้จนถึงเดือนพฤษภาคม อุณหภูมิสูงสุดโดยเฉลี่ยจะต่ำกว่าค่าปรกติเล็กน้อย ขณะที่ปริมาณฝน สูงกว่าค่าปรกติเล็กน้อย โดยเฉพาะภาคกลางตอนบนและกรุงเทพฯ นั้นจะมีอุณหภูมิระหว่าง 33-35 องศาเซลเซียส โดยภาคเหนือและภาคใต้จะมีอุณหภูมิสูงสุดประมาณ 32-34 องศาเซลเซียส สำหรับภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 32-32.4 องศาเซลเซียส
เขายอมรับว่า ฤดูร้อนในปีนี้อากาศจะเย็น และมีฝนตกชุกกว่าปีที่แล้ว ที่มีอากาศร้อนมากกว่าค่าเฉลี่ย และปริมาณน้อยกว่าค่าเฉลี่ย ในตอนเช้า และตอนกลางคืน อากาศจะหนาวเย็น แต่ช่วงกลางวันอุณหภูมิสูงเหมือนฤดูร้อนตามปรกติ ทว่าจะมีบางวันที่เกิดพายุฝนอย่างรุนแรง หรือมีอุณหภูมิลดลงต่ำเหมือนกับฤดูหนาว
ทั้งหมดนี้มาจากมวลอากาศเย็นจากจีนที่เคลื่อนตัวลงมาพร้อมกับกระแสลมตะวันตกเคลื่อนผ่านบริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงเคลื่อนลงมาปกคลุม ซึ่งจะเกิดมาพร้อมๆ กันพอดี
ส่วนอากาศหนาวจะกลับมาอีกรอบหรือไม่นั้น เจ้าหน้าที่กรมอุตุฯ ยอมรับว่า มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะเกิดความหนาวเย็นระลอกใหม่ รวมทั้งโอกาสที่จะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง อย่างไรก็ตาม อยากให้ติดตามข่าวสารจากกรมอุตุนิยมวิทยาต่อไป เพราะการที่จะเกิดคลื่นความหนาวเย็นหรือพายุฝนนั้นจะต้องดูว่าศูนย์กลางของการเคลื่อนตัวที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงเพียงใด
รศ.ดร.ธีรพันธ์ โล่ห์ทองคำ
5 กลยุทธ์รับมือ
Climate change
ภาวะอากาศแปรปรวนที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ส่งผลกระทบกับกลุ่มสินค้าที่ทำการตลาดตามฤดูกาล เพราะไม่มีใครรู้ฤดูกาลจะผันผวนต่อไปอีกขนาดไหน จะหยุด หรือเริ่มต้นใหม่อย่างไร
รศ.ดร.ธีรพันธ์ โล่ห์ทองคำ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ธรู เดอะไลน์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์การตลาด ได้ออกมาแนะนำถึงการปรับกลยุทธ์การตลาดเพื่อรับมือ Climate change ซึ่งมีด้วยกัน 5 แนวทาง
1.หันมาปรับแผนการตลาดให้ขายได้ทั้งปี ด้วยการ Educate กลุ่มเป้าหมายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งความเชื่อและพฤติกรรมในการใช้สินค้าได้ทั้งปีแทนที่จะใช้ตามฤดูกาล อาทิ สินค้ากลุ่มโลชั่น จากเดิมเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ผิวชุ่มชื่นสำหรับหน้าหนาว แต่ภายหลังก็สามารถ Educate ตลาดจนกลายเป็นครีมบำรุงที่ใช้ได้ทั้งปี
2.ออกนวัตกรรมใหม่ ทั้งสินค้าและบริการ เพื่อกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความสนใจ อยากเปลี่ยนสินค้ามาทดแทนของเดิม อาทิ แอร์ จากเดิมที่เน้นความเย็นหรือประหยัดไฟอย่างเดียว ก็พัฒนามาเป็นแอร์ที่สามารถฟอกอากาศได้ภายในตัว
3.เน้นสินค้าเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ อาทิ หันไปจับตลาดพรีเมียม โดยใช้สินค้าที่มีเทคโนโลยี หรือรูปลักษณ์ที่หรูหรา มีระดับ ซึ่งจะช่วยขยายตลาดออกไปให้กว้างขึ้น และยังเป็นทางเลือกใหม่ของความต้องการ
4.ใช้ช่องทางการขายหรือกระจายสินค้าใหม่ๆ อาทิ รุกเข้าไปยังตลาดออนไลน์ ด้วยการให้รายละเอียดข้อมูลของสินค้า ทั้งคุณภาพ ราคา การให้บริการอย่างครบถ้วน โดยที่กลุ่มเป้าหมายไม่ต้องเสียเวลาไปเลือกหาตามจุดขาย ซึ่งตอบรับกับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่
5.ใช้วิธีแก้ปัญหาเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็น การลด แลก แจก แถม หรือแคมเปญลุ้นโชค เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าหันมาซื้อผลิตภัณฑ์มากขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|