เจ้าพ่อส่งออกบุกตลาดแอฟริกา เปิดศักราชใหม่ให้กับปี 2528


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2528)



กลับสู่หน้าหลัก

"ปฏิบัติการของธนาคารกรุงเทพร่วมกับผู้ส่งออกระดับเจ้าพ่อ ซึ่งสวนทางความเชื่อเก่าๆ ด้วยการบุกถึงตัวผู้ซื้อในทวีปแอฟริกา ตั้งเป้าขายกันให้ระเบิด…….."

วิจารณ์กันมานานเต็มทีว่า ตลาดส่งออกของไทยเรานั้นมีอยู่ค่อนข้างจะแคบมาก

คือมักจะวนเวียนค้าขายกันอยู่แถวๆ ญี่ปุ่น ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา ยุโรปตะวันตก กลุ่มประเทศอาเชียน และก็อีกไม่กี่สิบประเทศ

เมื่อตลาดมีอยู่อย่างจำกัด แต่การแข่งขันเพิ่มความเข้มข้นขึ้น จำนวนผู้แข่งก็มากขึ้น ในที่สุดรายได้จากการส่งออกก็เริ่มจะไม่ขยายตัวตามความคาดหวัง ดุลการค้าก็เริ่มจะเสียดุลหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี

เพราะฉะนั้นในวันหนึ่ง…ไม่นานมานี้ ทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนของไทยก็พบว่า จะต้องให้ความสนใจเรื่องการส่งออกกันอย่างจริงจัง โดยภารกิจหนึ่งในหลายๆ ภารกิจที่จะต้องเร่งรีบทำกันก็คือ การแสวงหาตลาดใหม่ๆ เพิ่มขึ้น

จากยุคที่รอให้ผู้ซื้อมาหาถึงบ้าน ก็คงต้องเปลี่ยนเป็นยุคที่จะต้องบุกให้ถึงตัวของผู้ซื้อกันแล้ว

และคงไม่ใช่หน้าที่ของภาครัฐบาลแต่ลำพังหรือเป็นด้านหลักอีกต่อไป หากต้องเป็นหน้าที่ของภาคเอกชนร่วมไปด้วย

ว่าแล้วในช่วงวันที่ 14-15 มกราคม ที่เพิ่งผ่านไปหมาดๆ นี้ คณะผู้แทนการค้าเป็นเอกชนล้วนๆ จำนวน 15 คนของไทย ก็ได้เปิดศักราชใหม่วงการส่งออกด้วยการบินไปเปิดความสัมพันธ์ทางการค้าขึ้นที่แอฟริกา ทวีปซึ่งในอดีตมีการติดต่อค้าขายโดยตรงกับประเทศไทยน้อยมาก และหลายๆ คนที่ทำงานด้านส่งออกมักจะพูดกันว่า "ถ้ามีตลาดอื่นๆ อยู่ จะไม่เสี่ยงค้าขายกับแอฟริกาเด็ดขาด"

คณะผู้แทนการค้าหรือ "เทรดมิชชั่น" ของไทยชุดนี้ ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกรุงเทพมี ดร.อำนวย วีรวรรณ และชาญชัย ลี้ถาวร ประธานกรรมการบริหารและกรรมการบริหารของธนาคารกรุงเทพ เป็นผู้นำทีมไปด้วยตัวเอง

ธนาคารกรุงเทพเป็นสถาบันภาคเอกชนสถาบันหนึ่งซึ่งประกาศตัวว่า จะให้การสนับสนุนทุกๆ ทางต่อนโยบายส่งเสริมการส่งออกของรัฐบาล และได้จัดกิจกรรมด้านนี้ไปแล้วหลายประการในรอบปี 2527 ที่ผ่านมา

การนำคณะผู้แทนการค้าไปเปิดตลาดแอฟริกาจึงต้องนับถืออีกก้าวหนึ่งของความพยายามที่จะปฏิบัติตามเจตนารมณ์ที่ประกาศไว้ และก็คงต้องนับเป็นก้าวสำคัญที่เสี่ยงต่อความล้มเหลวอย่างมากๆ ด้วย

แอฟริกาได้ชื่อว่า เป็นทวีปที่ยากจน ขาดแคลนทรัพยากร และถูกครอบงำโดยกลุ่มชาติมหาอำนาจ ประการนี้เองที่เป็นข้อจำกัดหากต้องการติดต่อค้าขายโดยตรง

กำจาย เอี่ยมสุรีย์ ประธานบริษัทกมลกิจ ซึ่งร่วมในคณะผู้แทนการค้าชุดดังกล่าวนี้บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า กลุ่มประเทศแอฟริกาเมื่อปี 2527 สั่งซื้อข้าวและข้าวโพดของไทยเป็นจำนวน 140,000 ตัน และ 700,000 ตัน ตามลำดับ ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับปริมาณการส่งออกผลผลิตการเกษตรทั้ง 2 อย่างนี้ไปยังต่างประเทศแล้ว ก็จะอยู่ในสัดส่วนราวๆ 1 ใน 3 ทางด้านข้าว และ 1 ใน 4 ทางด้านข้าวโพด

ดังนั้น แม้จะมีปัญหาที่เป็นข้อจำกัดอยู่ แต่กำจาย เอี่ยมสุรีย์ ก็ยังเชื่อว่า "แอฟริกาเป็นตลาดที่น่าสนใจอย่างมากทีเดียว มันยังมีลู่ทางที่จะทำให้การค้าขยายตัวออกไป ทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดต่อค้าขายกันโดยตรงมีความจำเป็นมาก ไม่ใช่ขายโดยผ่านนายหน้าหรือคนกลางดังที่ผ่านๆ มา…….."

คณะผู้แทนการค้าชุดเปิดศักราชบุกแอฟริกาได้บินตรงไปตั้งหลักที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นแห่งแรก วัตถุประสงค์ก็เพื่อพบปะบรรดานักธุรกิจและบรรดานายแบงก์สำคัญๆ ซึ่งทำการค้าอยู่กับหลายประเทศในแอฟริกาเสียก่อน

"พวกเราอยู่ที่ลอนดอน 3 วัน ก็ได้พบกับเทรดดิ้งคัมปานีหลายแห่ง นายธนาคารหลายคน เป้าหมายก็เพื่อรับทราบข้อมูลต่างๆ เพื่อใช้เป็นลู่ทางต่อไป" ดร.อำนวย วีรวรรณ เปิดเผยให้ฟัง

จากลอนดอนคณะผู้แทนการค้าของไทยก็เดินทางไปประเทศเคนยา ซึ่งประเทศเคนยานี้เป็นตลาดสำคัญแห่งหนึ่งของทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะในเขตที่เรียกกันว่า แอฟริกาตะวันออก

จากการเปิดเผยของหลายคนที่ร่วมทีมก็คงพอสรุปได้ว่า คณะผู้แทนการค้าของไทยได้มีโอกาสเข้าพบประธานาธิบดีเคนยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเกษตร และคณะกรรมการหลายชุดที่มีงานด้านการจัดซื้อและการนำเข้าของภาครัฐบาล

"เราได้เข้าพบเจรจากับคณะกรรมการจัดซื้อข้าวโพดของเคนยา ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐบาลเป็นผู้นำเข้าข้าวโพดผูกขาดอยู่รายเดียว เราก็ได้นำเอาบริษัทผู้ส่งออกข้าวโพดไปลงทะเบียนไว้ เมื่อไหร่ที่เขามีการเปิดประมูลซื้อ เขาก็จะได้เรียกเราเข้าร่วมประมูลด้วย…." ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ แห่งบริษัท ฮ่วยชวนค้าข้าว รายงานให้ทราบ

"จะมีการสั่งซื้ออะไรบ้าง ถ้าเอาแน่นอนจริงๆ ก็คงต้องรอให้เขาเปิด แอล/ซี เข้ามาเสียก่อนก็คงอีกเดือนสองเดือนนี้ ตอนนี้อย่าเพิ่งพูดรายละเอียดดีกว่า….." ดร.อำนวย ในฐานะผู้นำทีมบอก "ผู้จัดการ" พร้อมกับยืนยันว่า สินค้าที่ได้เสนอขายไปนั้นล้วนอยู่ในราคาที่สู้กับคู่แข่งได้ อีกทั้งได้เสนอระยะเวลาการชำระเงินให้ถึง 1 ปีด้วย

"ปกติการค้าทั่วไปเขาจะให้กัน 6 เดือน แต่เราเสนอเงื่อนไขที่ดีขึ้นไปอีกคือ ให้ได้ถึง 1 ปี นอกจากนี้บรรดาธนาคารหลายแห่งในยุโรปซึ่งมีสำนักงานอยู่ในแอฟริกา เขาก็ยินดีมากหากมีการเปิดแอล/ซี เข้ามาซื้อสินค้าจากประเทศไทย เขาก็จะให้คำรับรองของแอล/ซีที่เปิดเข้ามา……"ดร.อำนวยกล่าวเสริม

และเพื่อให้การเดินทางไปเปิดตลาดแอฟริกาครั้งนี้ประทับตราตรึงใจไปนานๆ คณะผู้แทนการค้าไทยได้ถือโอกาสบริจาคข้าวโพดเข้ากองทุนขจัดความอดอยากของประธานาธิบดีเคนยาไปเป็นจำนวน 50 ตัน มูลค่าประมาณ 2 แสนบาท โดยทุกคนที่ร่วมไปในคณะนี้ช่วยกันเฉลี่ยค่าใช้จ่ายเป็นส่วนๆ ธนาคารกรุงเทพในฐานะหัวเรือใหญ่ก็ควักจ่ายไป 6 หมื่นบาทเศษๆ

ถือเป็นน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ จากคนไทย ก่อนเดินทางกลับ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.