|
เฟซบุ๊ก VS ทวิตเตอร์ ใครดีกว่าเชิงการตลาด
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(6 เมษายน 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
เมื่อเอ่ยชื่อของสื่อสังคมออนไลน์ คงไม่มีใครที่ขึ้นชื่อเกินกว่าเฟซบุ๊ก VS ทวิตเตอร์ ซึ่งสามารถดึงดูดความสนใจของสมาชิกทั่วโลกได้มากที่สุดในขณะนี้ แต่รายใดที่ดีกว่ากันในเชิงการตลาดยังเป็นสิ่งที่นักการตลาดสนใจกันอยู่
ประการแรก ประเด็นหนึ่งที่เป็นที่สนใจกันมาก คือ แม้ว่าเฟซบุ๊กจะเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่เป็นผู้นำในด้านจำนวนสมาชิก แต่สิ่งที่มีอยู่ในเฟซบุ๊กเป็นเพียงการพิสูจน์ถึงความเห็นของคนส่วนใหญ่เป็นหลัก แต่ไม่ได้บอกอะไรมากกว่านี้
ประการที่สอง นักการตลาดเป็นเจ้าของธุรกิจทั้งหลายยังตั้งข้อสงสัยว่าประโยชน์ที่เห็นชัดในเชิงประจักษ์ของสื่อสังคมออนไลน์ยังประเมินไม่ได้ชัดเจน หากไม่มีข้อมูลที่ให้รายละเอียดเชิงสถิติได้อย่างชัดเจนหรือพิสูจน์ตำนานของความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
คนที่ออกมาตอบประเด็นของประโยชน์ทางการตลาดก็พบว่ายังมีความเห็นที่แตกต่างกันออกไป
อย่างเช่น ซีเอ็นเอ็น ให้ความเห็นว่า เฟซบุ๊ก ทำท่าว่าจะมีความสามารถในการทำกำไรทางการตลาดได้มากกว่าทวิตเตอร์
แต่หากเป็นความเห็นของ บริษัท บิซิเนส อินไซเดอร์ แล้ว กลับระบุว่าทวิตเตอร์ทำงานทางการตลาดให้แก่ตนได้ดีกว่าเฟซบุ๊ก เช่นเดียวกับบริษัท อีเว่นไบร์ท ที่ระบุว่าทวิตเตอร์สามารถเพิ่มยอดจำหน่ายให้แก่ตนในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาราว 80 เซ็นต์ต่อชิ้น ขณะที่เฟซบุ๊กได้เพิ่มยอดจำหน่ายโดยเฉลี่ย 1.34 ดอลลาร์ต่อชิ้น
ข้อดีของเฟซบุ๊ก คือ ได้ผลตอบแทนที่มีบูรณาการโดยรวมดีเพราะสมาชิกในแวดวงที่กว้าง ขณะที่ทวิตเตอร์ก็มีกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกันออกไป แม้ว่าจะสามารถบูรณาการได้น้อยกว่า และประเด็นที่เกี่ยวข้องจำกัดกว่า
อย่างไรก็ตาม มุมมองทางการตลาดได้ให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องที่น่าสนใจ
ประการแรก จากที่บริษัทวิจัย บิซิเนส อินไซเดอร์ ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลราว 1 ล้านลิงก์ในกรณีของทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ พบว่า การแบ่งปันลิงก์ของเฟซบุ๊กคิดออกมาแล้วเฉลี่ยเพียง 3 คลิก ขณะที่ทวิตเตอร์สามารถสร้างลิงก์เฉลี่ยได้ 19 คลิก ซึ่งมากกว่า
ประการที่สอง ทวิตเตอร์มีแนวโน้มที่จะได้ประโยชน์แก่ผู้ประกอบการที่เป็นการตลาดขนาดเล็กได้ดีกว่า และนักการตลาดที่เป็นบริษัทย่อยๆ ในกลุ่มหลายๆ บริษัท ตลอดจนบล็อกเกอร์ได้ดีกว่า ในขณะที่เฟซบุ๊กอาจจะกว้างเกินไปจนไม่สามารถมุ่งเน้นกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์อย่างเฉพาะเจาะจงได้
ประการที่สาม ในกรณีที่กลุ่มเป้าหมายไม่ใช่ลูกค้าผู้บริโภคคนสุดท้ายโดยตรง หากแต่เป็นฐานของลูกค้านอกกลุ่มผู้บริโภค เช่น ธุรกิจที่ขายข่าวสาร หรือ อี-นิวส์ และกิจการเอนเตอร์เทนเมนต์ก็ได้ใช้ประโยชน์จากการที่ไม่ต้องมีภาระหนัก หรือโอเวอร์โหลด เกินไปในการแสวงหาข้อมูล ด้วยการติดตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญสื่อสารสังคมออนไลน์และงานเผยแพร่ผลการวิเคราะห์ที่กล่าวถึงธุรกิจของตน หรือได้ประโยชน์ในการติดตามแนวโน้มของสภาพแวดล้อมทางการตลาดระดับประเทศหรือระดับโลก
ประการที่สี่ ในธุรกิจที่เพิ่งเริ่มพัฒนางานการตลาดเชิงรุก ให้ความเห็นว่าไม่ค่อยจะคุ้มค่าในการลงทุนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์เอง แต่จะสามารถประหยัดทั้งต้นทุนและเวลาได้ดีกว่าหากหาทางเอาต์ซอร์สงานการตลาดโซเชียลมีเดียให้ผู้ที่ชำนาญโดยเฉพาะกรุยทางให้
ประการที่ห้า กิจการที่มีธุรกิจในระดับท้องถิ่นหรือตลาดโดยเฉพาะเจาะจง (Niche) ก็สามารถใช้ประโยชน์จากการสุ่มดูจากบล็อกการตลาดบนสื่อสังคมออนไลน์ หรืองานเผยแพร่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อมูลไปประกอบการตัดสินใจในเชิงธุรกิจ
ประการที่หก มีการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในช่วงที่กิจการมีการจัดแคมเปญงานโฆษณาและส่งเสริมการขายได้พบว่า การเข้าไปใช้หน้าของเฟซบุ๊กเพจค่อนข้างมีประสิทธิภาพเพียงระดับหนึ่ง และควรจะเพิ่มช่องทางผ่านเว็บไซต์อื่น เช่น Tumbler, LinkedIn เป็นต้น
ทั้งนี้ ประโยชน์ที่เกิดขึ้นในทางการตลาดจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์ทั้ง 2 รายการยังขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่เกี่ยวข้องด้วย เพราะประเด็นที่เป็นที่สนใจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่คงอยู่กับที่ตลอดไป
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|