|
ถึงเวลาช้างปีนเขา
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(6 เมษายน 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
ไทยเบฟฯ ทุ่ม 50 ล้าน จัดเรียลิตี้โชว์ หนุนคนไทยพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ หวังยกระดับภาพลักษณ์แบรนด์เครื่องดื่มช้างสู่อินเตอร์ จากการปีนเขา
ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ มาร์เก็ตติ้ง ผู้ทำตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และปราศจากแอลกอฮอล์ตราช้าง เปิดเผยว่า ได้เตรียมจัดกิจกรรมการตลาดควบคู่ไปกับการสร้างตราผลิตภัณฑ์ช้าง ให้มีความเป็นสากล (อินเตอร์เนชั่นแนลแบรนด์) มากขึ้น ล่าสุด บริษัทใช้งบกว่า 50 ล้านบาท ร่วมกับพันธมิตร สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 จัดโครงการ “ไทย เอเวอเรสต์ 2011 ไลฟ์ ยัวร์ ดรีม” คิดใหญ่...กล้าใช้ชีวิต
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ตราช้างเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนหลัก รัฐพล ทรัพย์มนู คนไทยที่เตรียมพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ พร้อมสนับสนุนด้านเวลาในการออกอากาศของสกู๊ป 30 ตอน ทางช่อง 5 หลังข่าว รวมทั้งช่องไทย โกลบอล เน็ตเวิร์ค เพื่อเผยแพร่ทั่วโลกเป็นระยะเวลา 1 เดือน นับแต่ปฏิบัติภารกิจ เริ่มเดือน พ.ค. และสิ้นสุดเดือน พ.ค.นี้
“บริษัทเข้าไปเป็นผู้สนับสนุนเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์เสริม เครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ประกอบการเดินทางและปีนเขาเอเวอเรสต์ อาทิ เสื้อกันหนาว แจ็กเกต ฯลฯ ที่จะมีตราผลิตภัณฑ์ช้างซึ่งเป็นคอร์ปอเรตแบรนด์ติดไปด้วยเพื่อสนับสนุนให้คุณรัฐพล ปฏิบัติภารกิจได้สำเร็จถึงจุดสูงสุดของยอดเขาเอเวอเรสต์ ซึ่งมีความแตกต่างไปจากภารกิจนอร์ธโพลของคู่แข่ง” ฐาปน กล่าว
จากแนวทางดังกล่าวสอดรับกับแผนการทำตลาดในปีนี้ ที่บริษัทมุ่งขยายการทำตลาดในต่างประเทศมากขึ้น จากปัจจุบันผลิตภัณฑ์ตราช้าง และกลุ่มสุราทำตลาดใน 24 ประเทศทั่วโลก
เขาระบุต่อว่า บริษัทได้วางยุทธศาสตร์นำผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เบียร์ช้าง และกลุ่มสุรา วิสกี้แบรนด์ต่างๆ รวมทั้งกลุ่มเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ อาทิ ชาเขียวพร้อมดื่มโออิชิ ขยายตลาดในต่างประเทศมากขึ้นนับจากนี้ หลังบริษัทเปิดตลาดในต่างประเทศอย่างจริงจังในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่ผลิตภัณฑ์เบียร์ช้างอยู่ในตลาดไทยมานาน 15 ปี
ปัจจุบันได้จัดตั้งสำนักงานเพื่อดูแลตลาดต่างประเทศ ในเบื้องต้น 7 แห่ง ที่เป็นตลาดหลัก คือ สหรัฐอเมริกา 2 แห่ง, อังกฤษ/สกอตแลนด์, ฮ่องกง, มาเลเซีย, สิงคโปร์ และกัมพูชา ปัจจุบันตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งในและต่างประเทศ มีการแข่งขันดีมาก (เฮลตี้ คอมเพตทิชั่น) ทั้งจากผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบรนด์ไทย ที่รุกตลาดต่างประเทศ เช่น กรุงลอนดอน ในปีที่ผ่านมามากขึ้น และสร้างการรับรู้ตราผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแบรนด์ไทยให้กับชาวต่างชาติได้ เป็นต้น
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเบียร์ไทยภาพรวมในปี 52 ได้ปรับจากการลดสต๊อกสินค้า (ดี-สต๊อกกิ้ง) ไปสู่การพัฒนาสินค้าสู่ตลาดที่มีคุณภาพ สดใหม่ ส่งผลให้ภาพรวมอุตฯ ดังกล่าวถดถอย ขณะที่ปี 53 ผลิตภัณฑ์ช้างได้กลับมาแข็งแรงในตลาดทั้งจากยอดขายและส่วนแบ่งตลาด จากการปรับกระบวนการต่างๆ ทำให้ในปี 54 นี้ บริษัทได้วางแผนเชิงรุกในตลาดต่างประเทศมากขึ้น หลังพบว่าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีอัตราการเติบโตยอดขายสินค้าในต่างประเทศสูงมากกว่าหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ จากฐานรายได้ที่ยังเล็กอยู่ เทียบกับยอดขายในประเทศ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|