จากตะวันโมบายสู่ "ฮัทชิสัน"

โดย ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

การกลับมาใหม่ของ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ระบบ 1900 ที่เคยได้ชื่อว่า มีลูกค้าน้อยที่สุด

ในช่วงหลายเดือนมานี้ ชิตชัย นันทภัทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทตะวันโมบายเทเลคอม ต้องใช้เวลาเกือบทั้งหมดไปกับการเดินทางไปหลายประเทศ เพื่อพบปะพูดคุย ร่วมฟังสัมมนาเกี่ยวกับวิวัฒนาการของโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่ฮัทชิสัน เทเลคอมมิวนิเคชั่น จัดขึ้นให้กับผู้บริหารทั่วโลก ที่จะสามารถบินไปหาความรู้ได้ตลอดเวลา

นั่นเพราะในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ CDMA ของบริษัทตะวันโมบายจะเปิดตัวสู่ตลาดอีกครั้ง ด้วยโฉมหน้าใหม่ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น และชื่อ brand ของสินค้าใหม่ ที่จะใช้ชื่อว่า "ไอโมบาย" ที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของฮัทชิสัน เทเลคอมมิวนิเคชั่น เจ้า ของกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จากเกาะฮ่องกง

ก่อนหน้านี้ ตะวันโมบายเทเลคอม เป็นเอกชนเพียงไม่กี่รายที่สามารถ ก้าวล่วงเข้าสู่ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งยังเป็นตลาดที่ยังถูกผูกขาดโดยเอกชน เพียงแค่ 2 ราย เธียร ปฏิเวชวงศ์ อดีตผู้บริหารของเลนโซ่เพจจิ้ง ที่เคยสร้างตำนานขายเพจเจอร์ในราคาบาทเดียว อาศัยประสบการณ์และความคุ้นเคยกับการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ยื่นขอเป็นตัวแทนทำตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ระบบ CDMA ให้กับกสท. โทรศัพท์เคลื่อนที่ ระบบ CDMA เป็นระบบดิจิตอลที่พัฒนามาจากระบบแอมป์ 800 แบนด์ A ซึ่งเป็นระบบอนาล็อก ที่นับวันความนิยมของระบบนี้จะลดลงไปเรื่อยๆ กสท. จึงต้องการนำคลื่นความถี่ 800 เมกะเฮิรตซ์ ที่มีอยู่นำไปพัฒนาไปสู่ระบบดิจิตอล เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ และด้วยการขาดประสบการณ์ในเรื่องการตลาด จึงมอบหมายให้ เอกชนเป็นผู้ดำเนินการส่วนนี้ ส่วนเรื่องการลงทุนในเรื่องของการสร้างเครือข่าย (network) เป็นหน้าที่ของ กสท.

แต่เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องของเครือข่ายที่ยังไม่สามารถให้บริการได้ทั่วประเทศ ให้ บริการได้เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ประกอบกับเป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่ต้องให้ความรู้ แก่ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ CDMA จึงไม่เป็นที่นิยมในตลาด มีผู้ใช้บริการลูกค้าที่ใช้บริการเพียงไม่กี่พันราย ชื่อของตะวันโมบาย จึงแทบไม่เป็นที่รู้จักในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่

ยิ่งมาเจอกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจด้วยแล้ว ทำให้เธียรตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ 65% ของตะวันโมบาย ให้กับบริษัท ไอ-โมบาย โฮลดิ้ง ซึ่งสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทนี้ประกอบ ไปด้วย ฮัทชิสัน เทเลคอมมิวนิเคชั่น อินเวส เมนท์ จากฮ่องกง 49% ส่วน 10% ถือในนาม บุคคล คือ วิรัตน์ โอวารินท์ และประยงค์ บุญสูง และที่เหลืออีก 41% เป็นผู้ถือหุ้นฝ่ายไทย คือ บริษัทจีเอ็มพาร์พี นอกจากนี้ กสท.ยังได้อนุมัติเปลี่ยนเงื่อนไขจากการเป็นผู้ลงทุนสร้าง network เองมาใช้วิธีเช่าต่อจากบริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) โดยให้บริษัท ไอ-โมบาย โฮลดิ้ง เป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่าย และค่าเช่าทั้งหมดแทน กสท. ซึ่ง กสท.ยังคงสภาพการเป็นเจ้าของเครือข่ายให้บริการและดำเนินโครงการ ทั้งนี้ บริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) นั้น มีฮัทชิสัน เทเลคอมมิวนิเคชั่น จำกัด เป็นเจ้าของและเป็นผู้ก่อตั้ง การเปลี่ยนแปลงเงื่อน ไขเหล่านี้ จึงเท่ากับเป็นการปรับเปลี่ยนทั้งรูปแบบและเงื่อนไขของสัมปทานและผู้รับสัมปทาน ที่จะถูกเปลี่ยนไปอยู่ในมือของผู้ให้บริการโทร ศัพท์เคลื่อนที่ข้ามชาติอย่าง ฮัทชิสัน เทเลคอม มิวนิเคชั่น ที่จะเข้ามาเป็นทั้งผู้สร้างเครือข่ายและให้บริการแบบเต็มตัว ฮัทชิสัน เทเลคอมมิวนิเคชั่นเป็นเจ้าของ กิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ระบบ CDMA เป็นรายแรกๆ ของโลก ที่ให้บริการระบบดังกล่าวอยู่ในฮ่องกง ออสเตรเลีย สิงคโปร์ เกาหลีและ เคยเป็นเจ้าของกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในนาม ของ "ออเรนจ์" ในประเทศอังกฤษ ก่อนจะขาย กิจการนี้ไปให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ในประเทศเยอรมนี การรุกเข้ามาในไทย เป็นส่วนหนึ่งในการขยายเครือข่ายธุรกิจ โทรศัพท์เคลื่อนที่ระดับภูมิภาค เพื่อทำให้ระบบ CDMA แพร่หลายเหมือนอย่างที่ระบบ GSM ที่ใช้ไปทั่วโลกแล้ว ถึงแม้ว่า ฮัทชิสันจะมีธุรกิจวิทยุติดตาม ตัว ธุรกิจอินเทอร์เน็ต คือ การเปิดเว็บไซต์ lemononline.com แต่การเข้าสู่ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ในไทย นับเป็นความพยายามที่มีมานานของฮัทชิสัน หากไม่เป็นเพราะวิกฤติเศรษฐ กิจแล้ว การเข้ามาของฮัทชิสันในช่วงเวลาดังกล่าว อาจทำได้ไม่ง่ายดายนัก ที่มากไปกว่านั้น ก็คือ การที่ฮัทชิสันนั้น เปรียบตัวเองไม่ต่างอะไรกับฟรานซ์เทเลคอม หรือดอยช์เทเลคอม ซึ่งเคยเป็นรัฐวิสาหกิจแต่ต่อมาได้แปรรูปเป็นบริษัทเอกชนที่ต้องการรุก ขยายการลงทุน เพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจในหลายประเทศ สิ่งที่ฮัทชิสันต้องการมากไปกว่านี้ ก็คือ การเป็น strategic partner ของ กสท. และองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) ซึ่งฮัทชิสันหวังว่า การเข้าสู่ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อน ที่จะเป็นใบเบิกทางให้เขาก้าวไปสู่เป้าหมายเหล่านี้ได้ไม่ยากนัก

แต่สิ่งที่ท้าทายสำหรับฮัทชิสันในเวลานี้ ก็คือ การที่ต้องช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีผู้ให้บริการรายเก่า 2 ราย เป็นผู้ครองตลาดส่วนใหญ่อยู่ในเวลานี้ รวมถึงผู้ให้บริการหน้าใหม่อย่าง WCS ที่เตรียมจะลงแข่งขันในช่วงปลายปีนี้

และนี่ก็คือ สาเหตุที่ฮัทชิสันต้องดึงเอาชิตชัย นันทภัทร์ ผู้บริหารเก่าแก่ของล็อกซเล่ย์ มานั่งเก้าอี้ กรรมการผู้จัดการ บริษัทตะวันโมบายเทเลคอม สิ่งที่ฮัทชิสันจะได้มา นอกเหนือจากประสบการณ์ของผู้บริหารคนไทยอยู่ในตลาดโทรคมนาคมมานานแล้ว ยังรวมไปถึงการ ที่จะได้ล็อกซเล่ย์มาเป็นพันธมิตร เพื่อช่วยในเครือข่ายระบบจัดจำหน่ายและระบบบริการ ที่ จะเกื้อกูลธุรกิจระหว่างกันได้

ถึงแม้ว่า ล็อกซเล่ย์จะไม่ได้เป็น 1 ใน ผู้ถือหุ้นในโครงการดังกล่าว แต่การที่ฮัทชิสันมีสายสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มล็อกซเล่ย์มายาวนาน ในการร่วมทุนทำธุรกิจวิทยุติดตามตัวในนาม "ฮัทชิสัน" ที่เปิดให้บริการมา 10 ปี มีการลงทุน ในเรื่องของระบบ call center ที่จะสามารถใช้ประโยชน์ให้กับธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้

"มันเป็นความสมบูรณ์แบบที่ฮัทชิสันจะได้รับจากซินเนอยีธุรกิจร่วมกันกับล็อกซเล่ย์ เพราะสิ่งเหล่านี้จะถูกใช้เป็นจุดแข็งของเรา" ชิตชัยกล่าว สำหรับฮัทชิสัน นอกเหนือจากเรื่องของ เทคโนโลยี CDMA ที่ทำมาแล้วในหลายประเทศ ทั่วโลก ประสบการณ์ในด้านการตลาด และใน ธุรกิจค้าปลีก ที่ฮัทชิสันเป็นเจ้าของปาร์คแอนด์ ชอป และร้านค้าปลีกวัตสัน ที่เปิดให้บริการและมีสาขาจำนวนมากแล้วในไทย ชิตชัยเชื่อว่า สิ่งเหล่านี้จะทำให้ฮัทชิสัน ไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ แต่จะสามารถอาศัยเครือข่ายช่องทางจัดจำหน่ายเหล่านี้ ให้เป็นประโยชน์กับกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของฮัทชิสัน และจะถูกใช้เป็นจุดแข็งอย่างหนึ่งของฮัทชิ สัน เพราะปัจจุบันกลไกการค้าเครื่องลูกข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นธุรกิจที่เปิดกว้างไม่ได้ผูกขาดกับผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่งอยู่แล้ว

"เวลานี้หวังว่าจะขายเครื่องแล้วได้กำไร มันก็หมดยุคไปแล้ว ต้องไปดูเรื่องแอร์ไทม์ และ เทคโนโลยีมากกว่าการแข่งขันทำให้ทุกอย่างเป็น ไปตามกลไก" ถึงแม้ว่าเรื่องของเทคโนโลยีจะไม่ใช่เรื่อง ที่น่าเป็นห่วงสำหรับฮัทชิสัน เนื่องจากระบบ CDMA จะมีข้อดีในเรื่องของเทคโนโลยีของระบบที่ใช้การส่งสัญญาณด้วยรหัส (code) ซึ่งจะทำให้สามารถรองรับกับปริมาณการใช้งานได้มากกว่าระบบอื่นๆ และยังสามารถพัฒนาไปสู่ระบบ 2.5 G ที่บริษัทเอ็นทีทีโดโคโมนำไปให้บริการและเตรียมจะเปิดบริการ w-cdma ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ เราเปิดให้บริการกันยายนนี้ แต่สิ่งที่น่าห่วงสำหรับฮัทชิสันนั้น ไม่เพียงแต่ CDMA กลับเป็นสิ่งใหม่ที่ผู้บริโภคแทบ ไม่รู้จักภาพลักษณ์ของตะวันโมบายเทเลคอมกลายเป็นเรื่องความจำเป็นที่ฮัทชิสันต้องเปลี่ยน ชื่อบริการ (re-brand) ใหม่ จากตะวันโมบายมา เป็น i-mobile เพื่อล้างภาพเดิมๆ ของการให้บริการในอดีต ที่ฮัทชิสันต้องทำอย่างเข้มงวด งบประมาณกว่า 10,000 ล้านบาท จะถูกใช้สำหรับการวางเครือข่ายและการตลาด ที่ จะต้องครอบคลุมการให้บริการ 20 จังหวัด ซึ่ง รวมไปถึงการที่ต้องเพิ่มทีมงานจาก 100 คน เป็น 700-800 คน เพื่อรองรับกับงาน โดยมีกำหนดเปิดให้บริการในเดือนกันยายน 2544 เ ป้าหมาย ของพวกเขา คือ การมียอดขายปีละ 2-3 แสน

"ก็เหมือนกับธุรกิจวิทยุติดตามตัว มีผู้ให้ บริการถึง 6 ราย แต่ทำไมคนใช้ฮัทชิสันทั้งๆ ที่ เครื่องลูกข่ายก็ใช้ยี่ห้อเดียวกัน ก็เพราะว่าเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ไม่เหมือนกัน" ชิตชัยกล่าวถึงประสบการณ์ในธุรกิจวิทยุติดตามตัว ที่เขาเชื่อว่า ไม่แตกต่างไปจากธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป้าหมายของชิตชัย ไม่ใช่แค่การมีส่วน แบ่งในตลาดเท่านั้น แต่ต้องการเป็นผู้กำหนดมาตรฐานของการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งเป็นมิติใหม่ที่ฮัทชิสันเชื่อว่า จะทำให้พวก เขาแทรกตัวอยู่ในตลาดโทรศัพทเคลื่อนที่ของ เมืองไทย อันเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ของ การสร้างเครือข่ายขึ้นทั่วโลก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.