"รอยัล ออร์คิด เริ่มเปิดฉากขึ้นมาอย่างน่ายำเกรง แต่ภายในระยะเวลาเพียงปีเศษความน่ายำเกรงก็แปรสภาพเป็นแค่เสือกระดาษ
ทุกอย่างเริ่มส่อเค้าว่าจะยุ่งเหยิงไปอีกนานแต่ก็จบลงด้วยการเปลี่ยนแปลงอย่างนุ่มนวล
ชนิดที่คงจะหาไม่ได้ที่ไหนอีกแล้ว"
โดยทั่วๆ ไปของการเปลี่ยนแปลงชนิดถอนยวงหรือการผลัดแผ่นดินนั้น มักจะต้องติดตามมาด้วยความเจ็บปวดและความยุ่งยาก
ความเจ็บปวดของผู้ต้องจากไป
และความยุ่งยากของผู้ที่จะต้องเข้ามา
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตลอดจนการเปลี่ยนแปลงในวงการธุรกิจดูเหมือนว่าจะหลีกเลี่ยงสิ่งนี้ได้ยาก
จะโชคดีอยู่บ้างก็ตรงที่เจ็บปวดและยุ่งยากน้อยที่สุดเท่านั้น
พิจารณาในแง่นี้แล้ว กรณีโรงแรมรอยัล ออร์คิด ซึ่งเพิ่งจะผ่านการเปลี่ยนแปลงใหญ่ไปเมื่อเร็วๆ
นี้ก็คงต้องถือว่าเป็นกรณีที่ออกจะโชคดีเอามากๆ
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2528 เป็นวันแรกที่กลุ่มเชอราตันส่งทีมบริหารของตนเข้ามาในรอยัล
ออร์คิด และเป็นวันสุดท้ายที่กลุ่มแมนดาริน อินเตอร์เนชั่นแนล จะต้องจากไปอย่างเป็นทางการ
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้เป็นที่ยอมรับกันว่า "SMOOTH" หรือนุ่มนวลอย่างยิ่ง
ทั้งที่ก่อนหน้านี้หลายเดือนรอยัล ออร์คิด มีแต่บรรยากาศที่เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย
โดยเฉพาะการตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตข้างหน้า
รอยัล ออร์คิด เป็นกิจการโรงแรมที่ลงทุนไปทั้งสิ้นกว่า 1,200 ล้านบาท เจ้าของคือบริษัทอิตัล-ไทย
อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม
2526 และสร้างเสร็จสมบูรณ์จริงๆ เมื่อต้นปี 2527
ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ๆ ของรอยัล ออร์คิด ประกอบด้วยบริษัทการบินไทย (33%)
บริษัท อิตัล-ไทย ของนายแพทย์ชัยยุทธ กรรณสูต (15%) และบริษัทฮ่องกงแลนด์
(15%)
อิตัล-ไทย และฮ่องกงแลนด์นั้น ปัจจุบันเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของโรงแรมโอเรียนเต็ล
เพราะฉะนั้นเมื่อสร้างโรงแรมรอยัล ออร์คิดขึ้นมา จึงได้ตกลงกันว่าจะให้บริษัท
แมนดาริน อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทลูกของฮ่องกงแลนด์ ซึ่งสามารถบริหารโรงแรมโอเรียนเต็ล
จนประสบความสำเร็จได้รับการวางอันดับเป็นโรงแรมที่ดีที่สุดของโลกหลายปีติดต่อกัน เป็นผู้บริหารรอยัล
ออร์คิด ด้วยอีกแห่งหนึ่ง
รอยัล ออร์คิด เป็นโรงแรมระดับดีลักซ์ ขนาด 776 ห้อง ตั้งตระหง่านอย่างสวยงามอยู่ริมฝั่งเจ้าพระยา
ตรงบริเวณที่ดินซึ่งเดิมเคยเป็นสำนักงานสาขาของธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แถวท่าน้ำสี่พระยา
ที่ดินผืนนี้บริษัทอิตัล-ไทย ได้ซื้อไว้และให้โรงแรมทำสัญญาเช่าต่ออีกทอดหนึ่ง
การก่อสร้างดำเนินงานโดย บริษัทอิตัล-ไทย คอนสตรัคชั่น ตั้งแต่ต้นจนจบ
"เรียกว่าอิตัล-ไทยของหมอชัยยุทธรับเละไปหลายต่อ เฉพาะกำไรจากค่าก่อสร้างก็คงจะมากกว่ามูลค่าหุ้นที่ลงไปในรอยัล
ออร์คิด แล้วมั้ง…" มีบางคนตั้งข้อสังเกตให้ฟัง
การมีกลุ่มเจ้าของเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการธุรกิจไม่ว่าจะเป็นการบินไทย อิตัล-ไทย
หรือฮ่องกงแลนด์ และการได้ผู้บริหารอย่างแมนดาริน ซึ่งสร้างชื่อกระฉ่อนโลกมาแล้วจากโอเรียนเต็ล
ทำให้รอยัล ออร์คิด ในยุคเริ่มต้นเป็นที่น่าครั้นคร้ามมากในวงการโรงแรม
อาจจะมีจุดอ่อนอยู่บ้างตรงถนนเข้าออกซึ่งคับแคบเกินไป แต่หลายคนก็เชื่อมั่นว่าโรงแรมแห่งนี้จะเป็นโรงแรมที่ประสบความสำเร็จอีกแห่งหนึ่ง
โดยเฉพาะน่าจะดีกว่าอีก 3 โรงแรมใหญ่ที่เกิดขึ้นมาในช่วงใกล้ๆ กัน
"เราจะเบรกอีเวนต์ปีหน้า…" แกรม แลร์ด ผู้จัดการทั่วไปคนแรกของรอยัล
ออร์คิด บอกกับ
"ผู้จัดการ" เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2526 ซึ่งคงพอสะท้อนได้ว่า
กลุ่มผู้บริหารจากแมนดารินเองก็เชื่อมั่นมากเช่นกัน
แต่พอถึงปลายปี 2527 อันเป็นช่วงที่แกรม แลร์ด ประกาศว่า รอยัล ออร์คิด
จะเริ่ม เบรกอีเวนต์
ก็ปรากฏว่าสถานการณ์ดูจะกลับเป็นตรงกันข้าม กลายเป็นเกือบจะ BROKE เอา
รอยัล ออร์คิด แถลงผลประกอบการปีแรกออกมาว่าขาดทุน และแกรม แลร์ด ต้องพ้นจากตำแหน่งที่เขารับผิดชอบอยู่และถูกย้ายไปสิงคโปร์
"มันมีหลายสาเหตุ จะไปโทษว่าแมนดาริน ไม่มีฝีมือเสียทีเดียวก็คงไม่ได้
มันมีเรื่องของภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาซึ่งส่งผลกระทบมาถึงธุรกิจโรงแรมและธุรกิจท่องเที่ยวทั่วโลกรวมอยู่ด้วย…"
มือบริหารโรงแรมมีชื่อคนหนึ่งพูดถึงสิ่งที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์
จะอย่างไรก็แล้วแต่ สิ่งที่เกิดขึ้นกับรอยัล ออร์คิดนี้ ผู้ที่ดูจะไม่พอใจมากที่สุด
ก็คือ การบินไทย และเมื่อไม่พอใจสัมพันธภาพที่เคยเริ่มต้นมาด้วยดีระหว่างการบินไทยกับแมนดารินก็เริ่มจืดจางลงไปเรื่อยๆ
"เป็นธรรมชาติระหว่างตัวเจ้าของและผู้บริหารอยู่แล้วที่จะต้องมองหน้ากันไม่ติดหากธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จ
โดยเฉพาะยิ่งการบินไทยเขาออกใหญ่โตมีเครือข่ายกว้างขวางทั่วโลก ส่วนกลุ่มแมนดารินเป็นเพียงกลุ่มบริหารโรงแรมกลุ่มเล็กๆ
เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว การบินไทยก็คงจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปเกรงอกเกรงใจแมนดาริน…"
คนวงในเล่าให้ฟัง
รอยัล ออร์คิด ในช่วงปลายปี 2527 จึงเป็น รอยัล ออร์คิด ที่ค่อนข้างจะอลเวงมาก
และในที่สุดสถานการณ์ก็จะจบลงด้วยข่าวประกาศถอนตัวของกลุ่มแมนดาริน
แต่ถ้ามองกันอีกแง่หนึ่ง มันก็เป็นการเริ่มต้นของการตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไรกับ
รอยัล ออร์คิด ?
กลุ่มอิตัล-ไทย และกลุ่มฮ่องกงแลนด์ได้เสนอว่า ควรจะให้ CHAIN HOTEL กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นผู้บริหารแทนแมนดาริน
ส่วนการบินไทยในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดกลับเห็นว่า ควรบริหารกันเอง
โดยการบินไทยจะจัดตั้งบริษัทหนึ่งและจ้างมืออาชีพเข้ามารับผิดชอบ
ในช่วงต้นๆ ดูเหมือนว่าเสียงของผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างการบินไทยจะดังกว่าเสียงของอิตัล-ไทย
และฮ่องกงแลนด์ เพราะฉะนั้นการติดต่อทาบทามมืออาชีพในวงการโรงแรมก็เริ่มขึ้นอย่างเงียบๆ
กำธร จาตุรจินดา ผู้จัดการทั่วไปของโรงแรมมณเฑียร เป็นคนหนึ่งที่ถูกผู้บริหารระดับสูงของการบินไทยทาบทามให้มาเป็นผู้จัดการทั่วไปที่รอยัล
ออร์คิด การทาบทามครั้งนี้กำธร มีความมั่นใจถึงกับยอมลาออกจากมณเฑียร และไม่ปฏิเสธเมื่อมีข่าวในคอลัมน์ซุบซิบบนหน้าหนังสือพิมพ์
"ก็คนที่อยู่ใกล้ๆ กับกำธรนั่นแหละที่เป็นคนนำข่าวนี้ไปบอกหนังสือพิมพ์"
ผู้ที่ทราบเรื่องดีแย้มออกมา
กำธรเองมั่นใจถึงขนาดเดินเข้าไปดูห้องที่ตัวเองจะนั่งในรอยัล ออร์คิด
แต่ยังไม่ทันที่กำธรจะได้เข้ามาในรอยัล ออร์คิด เรื่องก็หักมุมไปเป็นการเปิดให้
CHAIN HOTEL เสนอเงื่อนไขเข้าบริหารโรงแรมรอยัล ออร์คิด ท่ามกลางความงุนงงของหลายๆ
คน รวมทั้งตัวกำธรเองด้วย
แหล่งข่าวระดับสูงคนหนึ่งเปิดเผยว่า จุดแห่งการเปลี่ยนแปลงนั้นก็คือการที่การบินไทยอาจจะลืมไปว่ายังมีผู้ถือหุ้นกลุ่มอื่นๆ
อีก ซึ่งเมื่อรวมเสียงกันแล้วจะดังกว่าการบินไทยมากนัก ส่วนแหล่งข่าวในการบินไทยบอกกับ
"ผู้จัดการ" ว่า เป็นเรื่องที่มีบางคนเข้าใจไขว้เขวไปเอง การบินไทยได้วางทางออกไว้
2 ทาง ตั้งแต่ต้นแล้ว คือทางหนึ่งจะให้ CHAIN HOTEL บริหาร ส่วนอีกทางหนึ่งจะบริหารเอง
และก็ได้ศึกษาถึงความเหมาะสมทั้งสองทางพร้อมๆ กันไป ซึ่งในที่สุดการบินไทยก็ลงความเห็นว่าควรจะเลือกทางแรก
เมื่อเปิดให้มีการเสนอตัวเข้ามานั้น ปรากฏว่ามีหลายกลุ่มให้ความสนใจ อย่างเช่น
กลุ่มเวสเทิร์น ซึ่งปัจจุบันบริหารโรงแรมอยู่ในสิงคโปร์ เกาหลี ไต้หวัน เป็นกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งในระดับโลก
กลุ่มเชอราตัน กลุ่มเมอริเดียนของฝรั่งเศส เป็นต้น
หลักเกณฑ์ในการพิจารณาได้กำหนดไว้ 5 ประการใหญ่ ๆ ด้วยกัน คือ
หนึ่ง - จะพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายด้านการบริหาร การตลาด และค่าใช้จ่ายอื่นๆ
ทั้งหมด
สอง - พิจารณาถึงชื่อเสียง ประสบการณ์ โดยเฉพาะในตลาดยุโรป อเมริกาและในระดับภูมิภาคเดียวกันกับประเทศไทย
สาม - ผลงานที่ผ่านมา
สี่ - ข้อตกลงเกี่ยวกับความร่วมมือกับการบินไทย โดยเฉพาะในเรื่องการเดินทางจากต่างประเทศเข้ามาพัก
ห้า - มีความพร้อมและมีความตั้งใจมากน้อยแค่ไหน? หากจะต้องเข้ามาถือหุ้นบางส่วนในรอยัล
ออร์คิด
หลักเกณฑ์ที่วางไว้นี้ที่ดูจะน่าสนใจที่สุดก็เห็นจะเป็นเกณฑ์ข้อสุดท้าย
"เราวางไว้เพราะเราเห็นว่าขณะนี้เรามีผู้ถือหุ้นบางรายเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นของอีกโรงแรมหนึ่งอยู่ด้วย
ก็คงจะไม่เหมาะสม เพราะธุรกิจมันจะมีการแข่งขัน เราจึงต้องการให้ผู้ที่จะเข้ามาช่วยรับซื้อหุ้นจากรายนั้นไป…"
คนของการบินไทยชี้แจงให้ฟัง
พิจารณาจากข้อเสนอที่ได้ยื่นเข้ามานั้น ดูเหมือนว่าข้อเสนอของกลุ่มเชอราตันกับกลุ่มเวสเทิร์นจะติดอยู่ในกลุ่มที่น่าสนใจที่สุด
แต่กลุ่มเชอราตันก็เฉือนเวสเทิร์นไปได้อย่างหวุดหวิดในท้ายสุด
เชอราตันเป็นกลุ่มธุรกิจโรงแรมที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลกถึง 466 โรงแรม
ใน 60 ประเทศ และในเมืองไทยเชอราตันมีโรงแรมที่ต้องบริหารอยู่แล้ว 1 แห่ง
คือโรงแรมเชอราตันที่ถนนสุริวงศ์ ซึ่งขณะนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงแรมตะวันนา
เชอราตัน ถึงขณะนี้โรงแรมดังกล่าวยังมีสัญญาอยู่กับเชอราตันอีก 29 เดือน
"เชอราตันเชื่อว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ในระยะเวลาอีกประมาณ 2 ปี ข้างหน้านี้
อาจจะทำให้ผู้ถือหุ้นของรอยัล ออร์คิด ไม่คัดค้านก็ได้ หากเชอราตันจะขอต่อสัญญาการบริหารกับโรงแรมตะวันนา
เชอราตัน"
โรเบิร์ท โฮลเต้น ประธานภาคพื้นฮาวายแปซิฟิกและตะวันออกไกล ของกลุ่มเชอราตันแถลงออกมาในวันที่
1 กุมภาพันธ์ 2525 หรือวันแรกที่เชอราตันเข้ามาบริหารรอยัล โฮเทล
"ตะวันนา เชอราตัน เป็นโรงแรมแค่ 200 กว่าห้อง และผู้บริหารของเชอราตันเขาชอบพอเป็นอย่างดีกับตัวเจ้าของคือคุณสุรวงศ์
บุนนาค เพราะฉะนั้นเชื่อเถอะอย่างไรเสียเมื่อเลย 29 เดือนไปแล้วเขาต้องต่อสัญญาแน่
เขามีประสบการณ์มาจากหลายแห่งที่ต้องต่อสัญญาแน่ เขามีประสบการณ์มาจากหลายแห่งที่ต้องบริหารโรงแรมเกินกว่า
1 แห่ง ภายในเมืองเดียวกัน" ผู้สังเกตวงนอกคนหนึ่งแสดงความเห็น
ส่วนด้าน อาเธอร์ ไนโกร ผู้จัดการทั่วไปคนใหม่ของรอยัล ออร์คิด ซึ่งเชอราตันส่งเข้ามา
ก็ได้แถลงพร้อมๆ กันไปด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงด้านกลุ่มผู้บริหารครั้งนี้
เป็นการเปลี่ยนแปลงที่นุ่มนวลที่สุดอย่างที่เขาเองก็คาดไม่ถึง
"ขอยืนยันว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทั้งสิ้นภายในโรงแรมนี้ ยกเว้นตำแหน่งผู้จัดการใหญ่
รองผู้จัดการใหญ่ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ผู้อำนวยการฝ่ายอาหารและเครื่องดื่ม และหัวหน้าพ่อครัวใหญ่
เท่านั้น…?
"ก็คงจะเปลี่ยนกันแค่นั้นจริง ๆ แต่ที่ไนโกรไม่ได้พูดไว้ก็คือ จะต้องลงทุนอีกเกือบ
10 ล้านบาท เพื่อเปลี่ยนถ้วย จาน ช้อน มีด ไปจนถึงกระดาษเช็ดปาก เพื่อให้เป็นโลโก้ของเชอราตันเท่านั้นแหละ"
พนักงานระดับบริหารของรอยัล ออร์คิด กระซิบบอก
เชอราตันเข้ามาในรอยัล ออร์คิด ด้วยความเชื่อมั่นอย่างสูงมาก และเชอราตันคิดว่าจะสามารถเพิ่มอัตราการจองห้องพักกับโรงแรมได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า
20-25 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2528 นี้
คือตามวัฏจักรแล้ว ปี 2528 ธุรกิจการท่องเที่ยวมันจะค่อยๆ กระเตื้องขึ้นและมันจะดีมากๆ
ในปี 2529 หลังจากที่มันซบเซาตลอด 2-3 ปีนี้ จนจะถึงที่สุดแล้ว…"
ผู้ที่อยู่ในวงการโรงแรมกล่าวออกมาเป็นความเห็นที่เหมือนๆ กัน
สำหรับพนักงานของรอยัล ออร์คิด ปี 2528 นอกจากจะต้องเปลี่ยนป้ายยี่ห้อจากอันหนึ่งมาเป็นอีกอันหนึ่งแล้ว
ระบบและวิธีการทำงานก็ต้องเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือทีเดียว
"กลุ่มแมนดารินบริหารแบบอังกฤษ ส่วนเชอราตันเป็นอเมริกันแท้ ซึ่งวิธีการสั่งงาน
การตัดสินใจ ตลอดจนการจัดระบบงานต้องเปลี่ยนหมด แผนกจองห้องต้องเรียนรู้อย่างมหาศาล
เพราะเราเปลี่ยนจากกลุ่มที่มีสาขาไม่กี่แห่งเฉพาะในเอเชีย มาเป็นสี่ร้อยกว่าแห่งทั่วโลก
เวลาเทเล็กซ์จองห้องเข้ามา เฉพาะโค้ดอักษรย่อก็ต้องใช้สมุดคู่มือหนาเป็นร้อยๆ
หน้า" พนักงานระดับบริหารของรอยัล ออร์คิด กล่าว
สำหรับกลุ่มอิตัล - ไทย นั้น เชอราตัน คือแสงสว่างแห่งความหวังที่คงจะมีโอกาสดีกว่ากลุ่มแมนดารินในการส่งเสริมให้รอยัล
ออร์คิด ไปได้สวย เพราะเค้าหน้าตักของอิตัล - ไทยแท้จริง แล้วไม่ใช่รอยัล
ออร์คิด แต่กลับเป็นริเวอร์ซิตี้ ศูนย์การค้าระดับสูงที่เงียบราวป่าช้ามาตั้งแต่สร้าง และกุญแจสำคัญที่จะไขไปสู่ความสำเร็จของริเวอร์ซิตี้
ก็คือ รอยัล ออร์คิด ที่จะต้องคึกคักมีคนพักมากๆ
สำหรับการบินไทยนั้น เมื่อมีเชอราตันซึ่งเจ้าของคือกลุ่มไอทีแอนด์ที (IT
& T) ยักษ์ใหญ่ MULTI- NATIONALS ที่มีขอบข่ายทั่วโลก ก็พอจะเป็นคู่กายและคู่ใจระดับที่พูดกับการบินไทยได้รู้เรื่องและสามารถจะบลั๊ฟซึ่งกันและกันได้
ถ้าจำเป็นต้องทำหรือช่วยซึ่งกันและกันได้เช่นกัน เมื่อมีเช่นนี้ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ประเสริฐสุดแก่การบินไทยมิใช่หรือ
?