|
“ลอรีอัล” วาง 3 ยุทธศาสตร์ เพิ่มฐาน 10 ล้านคนใน 5 ปี
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(21 มีนาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
ลอรีอัลบุกหนักตลาดความงาม เปิดทีมผู้บริหารชุดใหม่ วาง 3 ยุทธศาสตร์ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Faster-Wider-Better” พร้อมอัดงบ 4 เท่า ทุ่มใช้สื่อดิจิตอลสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย ตั้งเป้าสยายปีกเพิ่มฐานลูกค้าคนไทยอีก 10 ล้านคน และขยายการเติบโตมากกว่าตลาดอย่างน้อย 3 เท่า พร้อมครองส่วนแบ่งเพิ่มจาก 10 เป็น 15% ภายใน 5 ปีนับจากนี้
สมรภูมิผลิตภัณฑ์เพื่อความงามร้อนทะลักจุดเดือด เมื่อยักษ์ “ลอรีอัล” เปิดเกมรุกบุกทุกตารางพื้นที่ความงาม ล่าสุดประกาศ 3 แนวทาง ภายใต้คอนเซ็ปต์ Faster-Wider-Better หลังเปิดตัวผู้บริหารชุดใหม่อย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นทีมผู้บริหารชุดแรกที่มีคนไทยมากถึง 5 คน โดยมีเป้าหมายครั้งใหญ่นั่นคือ การขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นอีก 10 ล้านคน ภายในปี 2558 จากตอนนี้ที่ลอรีอัลในเมืองไทยมีฐานลูกค้าอยู่ราว 5 ล้านคน ซึ่งถือเป็น 1 ในนโยบายจากลอรีอัลในฝรั่งเศสที่มุ่งเพิ่มฐานลูกค้าทั่วโลกเพิ่มขึ้นอีก 1,000 ล้านคนด้วย โดยไทยถือเป็น 1 ใน 15 ประเทศที่ถูกคัดเลือกจากบริษัทแม่ว่ามีผลต่อการเติบโตของลอรีอัลทั้งหมด
สำหรับ 3 กลยุทธ์ เริ่มกันที่ “Faster” หรือ “ความรวดเร็ว” หมายถึงการมุ่งผลักดันนวัตกรรมให้กับสินค้าทั้ง 19 แบรนด์ของลอรีอัลในเมืองไทย ที่แบ่งออกเป็น 4 แผนก ดังนี้ แผนกอุปโภค เช่น แบรนด์การ์นิเย่, แบรนด์เมย์เบลลีน แผนกความงามชั้นสูง เช่น แบรนด์ลังโคม ไบโอเธิร์ม แผนกผลิตภัณฑ์ช่างผมมืออาชีพ เช่น แบรนด์ลอรีอัล โปรเฟสชันนัล แบรนด์เคเรสตาส แบรนด์แมทริกซ์ และแผนกผลิตภัณฑ์เวชสำอาง ได้แก่ แบรนด์วิชี่ และแบรนด์ลาโรช-โพเซย์ โดยปัจจุบัน 2 แผนกแรกทำรายได้ 69% 15% ตามลำดับ ส่วน 2 แผนกหลังทำรายได้รวมกัน 16%
ทั้งนี้ มร.ฌอง ฟรองซัวส์ คูเว่ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า การพัฒนานวัตกรรมสินค้านั้น นอกจากต้องผลักดันออกมาให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในแต่ละกลุ่มแล้ว นวัตกรรมดังกล่าวจะต้องถูกผลักดันออกมาพร้อมกับราคาที่เหมาะสมกับผู้บริโภค ซึ่งเป็นไปตามแนวทาง “Trading Right” ด้วย เช่น แชมพูลอรีอัล ปารีส ก็มีจำหน่ายในราคา 20 บาท
ตามมาด้วยกลยุทธ์ที่ 2 “Wider” ที่มีเป้าหมายเพื่อขยายฐานลูกค้าของลอรีอัลให้กว้างขึ้นอีกอย่างน้อย 10 ล้านคน จากตอนนี้ที่มีฐานลูกค้าคนไทยอยู่ประมาณ 5 ล้านคน รวมไปถึงการเพิ่มส่วนแบ่งจาก 10% เป็น 15% ภายในปี 2558 ด้วย โดยยักษ์ความงามรายนี้จะมุ่งขยายช่องทางการจัดจำหน่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อทำความรู้จักและสร้างความเข้าใจให้ผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ ที่ปีนี้มีการแต่งตั้งตำแหน่ง “ดิจิตอล มีเดีย แมเนเจอร์” ขึ้นมา เพื่อสร้างสัมพันธภาพกับผู้บริโภคผ่านโลกดิจิตอล ซึ่งคาดว่าจะมีผู้บริโภคในเฟซบุ๊กเข้าเป็นแฟนเพจของลอรีอัลประมาณ 2% โดยแบรนด์ “วิชี่” ถือเป็นแบรนด์แรกที่โดดมาใช้สื่อดิจิตอลแบบเต็มตัว 100% เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายหลักจะเป็นกลุ่มวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์ใช้สื่อดิจิตอลตลอดเวลา
“ปีนี้บริษัทหันมาให้ความสำคัญกับสื่อดิจิตอลมากขึ้น โดยมีการเพิ่มงบประมาณขึ้นอีก 4 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อนสำหรับการใช้สื่อตัวนี้โดยเฉพาะ ทั้งนี้ ลอรีอัลก็จะผลักดันทุกแบรนด์ให้ใช้สื่อดังกล่าวมากขึ้นด้วย” เป็นคำกล่าวของกรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด
นอกจากนี้ เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง ทางลอรีอัลก็มีการจัดทีมพนักงานออกไปหาลูกค้าในต่างจังหวัดทุกเดือน เพื่อให้ทราบถึงพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าในแต่ละพี้นที่ เช่น การเยี่ยมชมร้านซาลอนทั้งที่เป็นลูกค้าและที่ยังไม่ได้เป็น เพื่อขยายกลุ่มเป้าหมายออกไปให้มากขึ้น โดยปัจจุบันแบรนด์แมทริกซ์สามารถเข้าสู่ร้านซาลอนได้กว่า 5,000 แห่งแล้ว นับจากเปิดตัวเมื่อ 2 ปีก่อนที่เข้าสู่ร้านซาลอนได้เพียง 1,000 ร้าน
สำหรับกลยุทธ์สุดท้าย “Better” ซึ่งหมายถึง การมุ่งเป็นองค์กรที่ดีนั้น มนัสฤดี สุวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) บอกว่า การเป็นองค์กรที่มุ่งเน้นความรวดเร็วทั้งในด้านผลิตภัณฑ์และการทำงาน ส่งผลให้บริษัทเน้นไปที่การมุ่งเป็นองค์กรที่น่าทำงานสำหรับพนักงาน ด้วยกระบวนการคัดสรรบุคลากรที่มีประสิทธิภาพและกว้างขวางยิ่งขึ้น (Better Recruitment) เพื่อดึงดูดผู้สมัครที่มีความสามารถและหลากหลาย ทั้งจากมหาวิทยาลัยที่มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกันอยู่แล้ว และการขยายไปในมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดในปีนี้อย่าง ขอนแก่น เชียงใหม่ ในการคัดเลือกพนักงานเพื่อมาร่วมงาน เพื่อให้เกิดความหลากหลายขึ้นในองค์กร นอกจากนี้ สำหรับบุคลากรภายในองค์กร ลอรีอัลยังมีการมอบโปรแกรมการฝึกอบรมที่ทันสมัยและโอกาสความก้าวหน้าในการทำงานให้แก่พนักงานทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค อีกทั้งบริษัทยังมุ่งให้ความสำคัญในการสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงานและการดูแลพนักงานด้วยหัวใจ
และนี่คือ 3 แนวทางที่ลอรีอัลจะใช้บุกตลาดความงาม ที่ไม่เพียงต้องการขยายฐานผู้ใช้และคว้าส่วนแบ่งตลาดให้ได้ตามเป้าหมายเท่านั้น ดูเหมือนว่าลอรีอัลยังมองไกลถึงการเป็นผู้นำความงามในทุกแผนกด้วย โดยปัจจุบันตลาดผลิตภัณฑ์ความงามมีมูลค่า 57,000 ล้านบาท แบ่งเป็น กลุ่มอุปโภค 33,000 ล้านบาท กลุ่มความงามชั้นสูง 5,800 ล้านบาท กลุ่มซาลอน 2,400 ล้านบาท และ กลุ่มเวชสำอาง 1,800 ล้านบาท
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|